in on February 9, 2017

ถุง ตะลุ้งตุ้งแฉ่

read |

Views

ควันหลงตรุษจีนปีนี้ มาพร้อมกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับถุงพลาสติก หลังจากที่มีการประกาศห้ามไม่ให้ห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตทั้งหลายใช้ถุงพลาสติกใส่ของให้กับลูกค้าทุกวันเสาร์ พอในปี 2017 นี้ ทางรัฐสลังงอร์ (Selangor) ได้ประกาศให้ทุกวันเป็นวัน No Plastic เป็นอันได้เวลา…บ๊าย บายถุงพลาสติก…

ผู้เขียนรู้สึกดีใจเล็กน้อย ที่ขยับจากสัปดาห์ละหนึ่งวัน มาเป็นทุกวัน ด้วยหวังว่าคนที่นี่จะฉุกคิดได้ว่าควรจะเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าตั้งนานแล้ว แต่ความดีใจยังไม่ทันถึงขีดสุด ความสงสัยก็วิ่งเข้าแทรก ด้วยปริมาณของส้มแมนดารินที่พะเนินเทินทึกในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าส่วนมากจะเป็นการขายยกลัง ทำให้ไม่ต้องใส่ถุงพลาสติกเพื่อหิ้วออกจากร้าน แต่พอเปิดลังออกมาก็จะพบว่าส้มแต่ละผลนั้น ถูกห่อหุ้มด้วยถุงใบเล็กๆ สีชมพูเข้ม หรือไม่ก็ถุงใสๆ มียี่ห้อของบริษัทที่นำเข้าพิมพ์อยู่บนถุง จะกินซักผลก็ต้องกระชากถุงเหล่านี้ทิ้งไปเฉยๆ

 

เรื่องการยกเลิกแจกถุงใส่ของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตนี้ เคยเขียนถึงเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่รัฐสลังงอร์ประกาศห้ามแจกถุงพลาสติกในวันเสาร์ ตอนนั้นคุณย่าของเด็กๆ ยังอยู่ด้วยกันที่บ้านนี้ หน้าที่หลักซึ่งแกอาสาคือเป็นคนผูกถุงขยะทิ้ง สัปดาห์ละ 3 วัน และต้องหาถุงใบใหม่มากรุถังขยะ พอผู้เขียนซื้อของจากซุปเปอร์มาร์เก็ตกลับเข้าบ้านโดยใส่มาในถุงผ้าหรือถุงกระสอบทั้งหลายที่มีอยู่ ก็จะถูกถามเชิงว่า “แล้วจะเอาถุงพลาสติกที่ไหนมากรุถัง” ตอนนั้นเลยต้องเจียดเวลาในวันธรรมดา ไปซื้อของอื่นๆ ที่ทำให้ได้ถุงกลับมาบ้านเพื่อมาฝากแม่สามี (ลูกสะใภ้บ้านนี้มีโจทย์ง่าย แค่เอาใจแม่สามีด้วยถุงพลาสติกก็พอแล้ว)

หลักการคิดเรื่องยกเลิกถุงพลาสติกและงดใช้กล่องโฟมของรัฐสลังงอร์ ถือว่าเป็นการหักดิบด้วยหวังว่าประชาชนจะจัดการปัญหาของตัวเองได้ ผู้เขียนสังเกตเห็นว่า ในโซนขายถุงขยะในซุปเปอร์มาร์เกตมีความกระชุ่มกระชวยอย่างเห็นได้ชัด รอบล่าสุดที่ไปดู พบว่านอกจากเจ้าของซุปเปอร์มาร์เกตจะผลิตถุงขยะยี่ห้อของตัวเองมาวางขายเพิ่มแล้ว ก็ยังพบอีกหลายหลายยี่ห้อ สีสัน และขนาดต่างๆ มากขึ้น หากการแก้ปัญหาไปจบลงด้วยการเปลี่ยนหน้าตาและวิธีได้มาของถุงขยะ จากฟรีเป็นจ่ายเงินเพิ่มแบบนี้ ปัญหาที่แท้จริงที่ว่ามีการใช้ถุงพลาสติกกันมากก็ไม่ได้หายไปไหนหรอก จะมีก็แต่เงินในกระเป๋าของเราหายไปมากขึ้น พร้อมๆ กับรายได้จากการขายถุงขยะของแต่ละห้างที่เพิ่มขึ้นด้วย

แต่ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีแห่งรัฐเนกรี ซิมบิลัน (Negeri Sembilan) ซึ่งเป็นรัฐที่อยู่ทางตอนใต้ติดกับรัฐสลังงอร์ยืนยันว่า ยังไม่อยากนำหลักการห้ามใช้ถุงพลาสติกโดยเด็ดขาดมาบังคับใช้ เพราะเข้าใจว่าจะเป็นการผลักภาระให้ประชาชนที่จะต้องเสียเงินเพื่อซื้อถุงพลาสติก (มาใส่ขยะ) แต่จะรณรงค์ให้คนหันมามีการรีไซเคิลมากขึ้น… อืมมม…คิดเพื่อประชาชนได้ดี แต่เสียดายที่แก้ปัญหาแต่ตรงปลายทาง

ส่วนรัฐยะโฮร์ (Johor) ได้กำหนดให้ปี 2017 นี้ เป็นปีที่วางโรดแมปเรื่องของถุงที่ผลิตจากวัสดุที่ย่อยสลายเองได้เช่นถุงกระดาษ และขยะที่ย่อยสลายเองได้ เพื่อนำมาใช้ในปีหน้าแทนการใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟม เพราะขยะ 1,800 ตัน ที่เก็บได้ในแต่ละวันนั้น พบว่าเป็นถุงพลาสติกและโฟมมากถึง 360 ตัน แนวคิดนี้ถือว่าไม่เป็นการหักดิบจนเกินไป และมีการหาทางเลือกมาให้คนใช้ก่อนที่ระงับการใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟมในปี 2018

 

ถึงตอนนี้ จะรู้สึกได้ทันทีว่าถุงพลาสติกและกล่องโฟมกลายเป็นผู้ร้าย เวลาหาทางแก้ปัญหา ใครๆ ต่างก็พากันมุ่งไปที่การกำจัดผู้ร้ายจนลืมนึกถึงพระเอกนางเอกและตัวประกอบทั้งหลายซึ่งก็คือเราๆ ท่านๆ นั่นแหละ ลืมไปว่าหากพระเอกนางเอกทั้งหลาย ยังไม่เข้าใจเรื่องการลดการบริโภค เลือกใช้อย่างฉลาด กินอยู่พอประมาณ (ไม่ใช่ประมาณว่าพอ) ต่อให้หาอะไรมาใส่ขยะแทนถุงพลาสติกได้แล้ว ปริมาณขยะและประเภทของขยะก็ยังคงเดิมหรืออาจมากกว่าเดิมตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป

เวลาที่ดูหนัง กว่า 80-90% ก็เป็นเพราะบทและการแสดงที่น่าสนใจของพระเอกหรือนางเอก (นานๆ อาจมีบ้างที่ดูเพราะตัวร้าย) พอมาถึงชีวิตจริง ไหงจึงพุ่งความสนใจไปที่ผู้ร้ายอย่างเดียว บางที ลองเปลี่ยนกระบวนการคิดแล้วมาจับประเด็นที่ทำให้ทุกคนเป็นพระเอก นางเอกกันบ้าง ให้รับบทลำบาก เช่น ลดสะะดวกสบายส่วนตัว ทำตัวลำบากนิดนึงด้วยการพกพากล่องใส่อาหาร ขวดน้ำติดตัว ไม่ต้องใช้ภาชนะชั่วคราวรองรับอาหารเพื่อความสะดวกสบายของเราตลอดเวลา เผื่อว่าหนังเรื่องโลกของเราจะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง มีโลกสวย ที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในจินตนการเท่านั้น

ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share