in on January 26, 2017

นากเมืองกรุง

read |

Views

กรุงเทพของเรายังมีนากอาศัยอยู่

นากกรุงเทพเริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อกลางปีที่แล้ว ช่วงที่สิงคโปร์โพสต์เรื่องนากกลางเมืองกันเยอะๆ

นากสิงคโปร์เป็นนากใหญ่ขนเรียบ อพยพหนีโครงการพัฒนาฝั่งมาเลเซียข้ามมาอยู่สิงคโปร์ ซึ่งหวนกลับไปฟื้นฟูชายตลิ่งพื้นที่ชุ่มน้ำขึ้นมาใหม่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา กลายเป็นบ้านให้นากอาศัยได้ เดินข้ามถนนดำผุดดำว่ายกันหน้าตึกมารีน่าเบย์แซนด์ กลายเป็นความภาคภูมิใจของคนสิงคโปร์ เมืองดีจริงมีนากอยู่ได้ ดีแก่คน และดีแก่ชีวิตอื่น

เพราะนากเป็นสัตว์นักล่าแห่งแหล่งน้ำ ที่ที่นากอยู่ได้จึงบ่งชี้ถึงระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์

พอแชร์นากสิงคโปร์กันในโซเซียลมีเดีย อาจารย์ศุภณัฐ กาหยี หรือครูท็อฟฟี่ ครูวิชาชีวะจากโรงเรียนรัฐแห่งหนึ่งในเขตบางขุนเทียน ก็โพสต์รูปนากใหญ่ขนเรียบหลายตัวให้ชาวเน็ตดู เป็นนากที่อาศัยหากินแถวโรงเรียน

โอ้ว! ไม่ได้ล่ะ ต้องไปดูให้เห็นกับตา

จุดชมนากอยู่บนระเบียงอาคารโรงเรียน มองลงไปจะเห็นบึงที่เดิมเป็นบ่อปลา แต่ปัจจุบันมีพงหญ้าพงพืชขึ้นเป็นหย่อมๆ กลายเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างดี ซึ่งทางโรงเรียนเก็บไว้เป็นแก้มลิงบรรเทาน้ำท่วม มีแนวคันดินเต็มไปด้วยไม้ป่าชายเลนอย่างโกงกางใบเล็กขึ้นหนาแน่น คาดว่านากใช้อาศัยเป็นรังนอนเหนือน้ำเพราะคุณครูสังเกตว่าเช้าๆ มันจะออกมาจากบริเวณนั้นออกไปหากินตามบ่อปลารอบๆ โรงเรียน เย็นก็ว่ายกลับมา

เฝ้าอยู่นานไม่ยักเห็นนาก เห็นแต่เหี้ยตัวเบิ้มเลื่อนตัวไปบนผิวน้ำอย่างสง่างามสมเป็นมังกรแห่งบางกอก และเห็นนกมากมาย ไม่ใช่แค่นกกระเต็น นกกวัก นกอัญชัญ นกยาง แต่มีนกกระสาแดงด้วย

ลองเปลี่ยนที่เฝ้าดูไปเป็นหลังบ้านพักครูริมบึง ติดกับบ่อปลานอกโรงเรียน ไม่ได้คาดหวังอะไร แต่แล้วอยู่ๆ ครูประสาน เจ้าของบ้านพักก็ชี้ให้ดูจุดดำๆ สองจุดว่ายเป็นคลื่นเข้ามา ยกกล้องขึ้นส่องก็เห็นเป็นนากชัดเจน มันว่ายเข้ามาตรงหน้าเห็นเรายืนดูมันอยู่ มันก็หยุดดูเรา หันหน้ามามองตากันครู่หนึ่งแล้วมันก็ทำหน้าเหมือนยิ้มให้ก่อนจะว่ายลับตาเข้าไปยังดงไม้บนคันดิน

นาทีนั้นหัวใจพองบาน ขอบคุณทุกสิ่งทุกอย่าง ขอบคุณธรรมชาติ (พระเจ้าของเรา) ขอบคุณคณะครูและทุกคนในโรงเรียนนี้ที่ทำให้นากรู้สึกปลอดภัยไม่ตื่นตระหนกกลัวเรา ขอบคุณนากที่ให้ความไว้วางใจ

เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้เห็นนากใหญ่ขนเรียบในธรรมชาติ ตัวมันใหญ่เท่าหมา

เราหวนกลับไปอีกครั้งพร้อมคุณบุษบง กาญจนสาขา ผู้เชี่ยวชาญนากแห่งประเทศไทย ได้เห็นทั้งฝูงสี่ตัววิ่งเล่นตากแดดบนคันดินโล่งๆ ดูจะเป็นที่ประจำของมัน ไว้ใช้เกลือกกลิ้งถูไถหลังจนคันดินตรงนั้นเตียนโล่งอยู่จุดเดียว ไถเสร็จก็พากันลงน้ำดำผุดดำว่ายอยู่เป็นนาน

นี่คือเสน่ห์ของนาก มันเป็นสัตว์ขี้เล่น

เราไม่แน่ใจว่ายังคงมีนากอาศัยอยู่ในพื้นที่แถบนั้นแค่ไหน ที่แน่ๆ คือมันหากินตามบ่อปลาชาวบ้าน เรายังไม่มีโอกาสได้พบคนเลี้ยงปลา แต่เท่าที่ทราบจากครูโรงเรียนนี้ คนทำบ่อปลายังไม่ว่าอะไร ถือว่าปลาเยอะแยะแบ่งกันกิน

แต่เมื่อพวกเราไปสอบถามชาวสวนแถวคลองบางมด เขตทุ่งครุ ซึ่งก็ได้ข่าวมีนากอาศัยอยู่เเละพบความขัดแย้งระหว่างคนกับนาก  แถวนั้นเป็นสวนมะพร้าวยกร่อง ชาวสวนจะเลี้ยงปลาไว้ตามร่องเพื่อให้ปลากินแหน จะได้ดูแลร่องน้ำให้สะอาดมีแดดส่องลงน้ำได้และได้เป็นรายได้เสริม แต่ปล่อยปลาลงไปเท่าไหร่ฝูงนากก็บุกกินเกือบหมด เดินสำรวจดูเห็นกองมูลจำนวนไม่น้อยเลย เห็นรอยตีนทับกันไปมาจนดูไม่ค่อยชัดว่าเป็นนากชนิดไหน แต่คิดว่าน่าจะเป็นนากเล็กเล็บสั้น ฟังคำบอกเล่าจากชาวสวนก็น่าจะเป็นตัวนี้ เขาว่าว่ามันตัวเท่าแมว หากินกลางคืน บางทียกฝูงลงกินปลาเป็นสิบตัวตอนตี 4 ต่างจากนากใหญ่ขนเรียบที่บางขุนเทียน ซึ่งหากินกลางวัน

ชาวสวนบางมดอยู่กับนากมาเนิ่นนานแล้ว แต่ปัญหาขัดแย้งระหว่างนากกับชาวสวนมาเข้มข้นจริงๆ จังๆ ขึ้นในช่วง 5 ปีหลังนี้ เมื่อพื้นที่ชุ่มน้ำถูกถมไปเป็นบ้านจัดสรรมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดวิกฤต คือจำกัดถิ่นอาศัยหากินมันให้แคบลงจนกลายเป็นปัญหาต่อคนที่ยังใช้ชีวิตกับพื้นที่ชุ่มน้ำวิถีเดิม

ถ้าเปิดกูเกิ้ล เอิร์ธ ดูจะเห็นได้ชัด พื้นที่ชุ่มน้ำย่านบางมดเหลืออยู่น้อยมาก เมื่อเทียบกับย่านบางขุนเทียน แต่ย่านบางขุนเทียนก็ใช่ว่าจะปลอดภัย มีถมที่สร้างนู่นนี่อยู่เรื่อยๆ กฎหมายผังเมืองที่เดิมมีเจตนาจะรักษาโซนฟลัดเวย์ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์สักเท่าไหร่เลย

เรายังไม่มีกฎหมายคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำในฐานะระบบนิเวศ ยกเว้นจะประกาศเป็นเขตพิเศษ ซึ่งก็ยังไม่มีเขตอนุรักษ์ธรรมชาติแบบนั้นในกรุงเทพ

แต่อนาคตของกรุงเทพอยู่ที่การรักษาและฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ หากเราจะรับมือกับความแปรปรวนที่มากับโลกร้อนและอัตราการจมน้ำของเมือง เพราะมันคือภูมินิเวศฐานเดิมของที่นี้ การออกแบบเมืองสอดรับกับธรรมชาติพื้นถิ่นเป็นพื้นฐานของการพัฒนาอย่างชาญฉลาด เป็น smart city 101 ของจริง ฉลาดที่จะปรับตัวน้อมรับพลังธรรมชาติ พร้อมกับรับบริการทางนิเวศ การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำและริมฝั่งแม่น้ำ กอบกู้โครงข่ายคูคลอง ไม่เพียงแต่ช่วยบรรเทาน้ำท่วม แต่ยังช่วยดักตะกอนบำบัดคุณภาพน้ำและอนุรักษ์พื้นที่หลบภัยวางไข่หากินของสัตว์น้ำ ดูแลนิเวศแหล่งน้ำให้สมดุล มีแมลงปอมากมายช่วยกินยุง ตัวหนึ่งกินได้วันละ 30-100 ตัว

ถ้านากสัตว์นักล่าอยู่ได้ แมลงปอ นก และแม้แต่ปลา อาหารของมัน ก็อยู่ได้เช่นกัน หากพื้นที่ชุ่มน้ำมีอาณาเขตและคุณภาพที่เหมาะสม

อยากจะบอกว่า นาทีนั้นที่นากหันมาสบตาเรา ความหวังต่างๆ ก็พรั่งพรูเข้ามาเต็มหัวใจ กรุงเทพของเรายังมีอนาคต มันยังสามารถมีพื้นที่ชุ่มน้ำดีๆ ไว้ดูแลเมืองและเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติแก่สังคม ให้เราได้สัมผัส ได้เข้าถึงปัญญามหาศาลที่แฝงตัวอยู่ในนานาชีวิต เรายังมีโอกาสนั้นอยู่ถ้าเราช่วยกัน

มูลนิธิโลกสีเขียวกำลังพยายามติดต่อนักวิจัยรุ่นใหม่ที่ทราบมาว่ากำลังศึกษาวิจัยนากชายฝั่งอ่าวไทยเพื่อปรึกษาหารือ และหวังว่าไม่นานเกินรอ เราจะได้ชวนคนเมืองที่สนใจมาร่วมคุยกันถึงแนวทางช่วยเหลือนากและบ้านของมันในเมืองกรุง


กรุงเทพธุรกิจ, มกราคม 2560

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: Ton Kumchoke
  2. ภาพจาก: สำนักข่าว PPTV
  3. ภาพจาก: ศุภณัฐ กาหยี
สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share