ผมขี่จักรยาน ‘เป็น’ ปีนี้เป็นปีที่ 22 แล้ว ใครก็ตาม ก่อนจะขี่จักรยานเป็น ล้วนต้องเคยล้มมาก่อน บางคนอาจล้มจนนับครั้งไม่ถ้วน ล้มจนท้อแล้วหันหลังให้จักรยานไปเลยก็มี
แต่วินาทีแรกที่มือเริ่มจับแฮนด์ได้มั่นคง สองเท้าส่งแรงขับให้ล้อหมุนไปได้โดยสมดุล วินาทีนั้นคงเป็นช่วงเวลาแห่งชัยชนะ และความสำเร็จที่ภูมิใจที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตวัยเด็กของใครหลายๆ คน รวมถึงผม ผมเริ่มขี่จักรยานสามล้อตั้งแต่อายุ 2 ขวบ และเริ่มขี่สองล้อ ‘เป็น’ หลังจากเพียรพยายามฝึกฝนกว่า 1-2 ปี (หลังจากได้แผล 2-3 รอยที่ยังพอหลงเหลือให้ระลึกถึงตอนโต)
บ้านผมสมัยนั้น พวกพ้องน้องพี่มักมารวมตัวกันตอนเย็นๆ โดยเฉพาะช่วงวันศุกร์ – เสาร์ พวกเรามักหาอะไรเล่นตามประสาเด็กๆ กิจกรรมหนึ่งที่นิยมเล่นกันก็คือ การตั้งแก๊งค์แข่งซิ่งจักรยาน วิธีเล่นมีตั้งแต่แข่งความเร็วทั่วไป แข่งทรงตัวบนอานจักรยานให้นานที่สุด โดยล้อแทบไม่ขยับ แข่งขี่จักรยานปล่อยมือ ที่เด็ดสุดคือ แข่งถีบบันไดจักยานเพียงครั้งเดียว ใครเคลื่อนไปได้ไดไกลที่สุดชนะ วัดแรงน่อง + ความไหลลื่นของล้อจักรยาน ฯลฯ
วัยเด็ก พวกเราหลายคนเห็นจักรยานเป็นของเล่นแสนสนุก พอโตขึ้นโอกาสจับแฮนด์ขี่จักรยานกลับน้อยลง แต่จักรยานลองได้ขี่เป็นแล้ว ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน ไม่มีใครต้องกลับไปหัดขี่ใหม่เลยสักคน แต่จะมีกี่คนตัดสินใจใช้จักรยานเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน
ผมเองพอโตขึ้นก็เริ่มถอยห่างจากจักรยานเหมือนวัยรุ่นทั่วไป มุมมองที่เคยเห็นว่าจักรยานคือของเล่น ก็เปลี่ยนเป็นเพียงของใช้ และใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงสำหรับการเดินทางที่ดีจริงๆ การขี่จักรยานเหนื่อยน้อยกว่าและเร็วกว่าเดินหลายเท่านัก โดยเฉพาะบ้านหลังสุดท้ายในซอยลึกแบบพอดีๆ ที่ไม่มีวินมอเตอร์ไซค์ประจำซอย แต่ก็ไกลเกินไปหน่อยถ้าจะเดิน อย่างบ้านของผม จักรยานช่วยประหยัดเวลาได้มาก ถ้าเดินอย่างเร็วๆ ผมใช้เวลา 15 นาทีถึงป้ายรถเมล์ แต่ถ้าขี่จักรยานจะเหลือเพียง 2-3 นาทีเท่านั้นเอง แต่ขี่ได้เฉพาะไปใกล้ๆ บ้าน เพราะไม่กล้าจอดจักรยานทิ้งไว้
เมื่อหลายปีก่อน สมัยผมเป็นเด็กมัธยมปลาย ความคิดที่จะขี่จักรยานไปเรียนก็เกิดขึ้น
คงเริ่มจากสภาพซอยลึกที่ต้องเดินไกล แถมต้องเบียดเสียดตอนอยู่บนรถเมล์ เดินทางไป – กลับ ระหว่างบ้านกับโรงเรียน วันละ 2 เวลาเช้าเย็น วันไหนรถติดมากๆ ต้องใช้เวลากว่า 40 นาทีบนรถเมล์ จนแทบคิดว่า ลงเดินน่าจะถึงก่อน
สภาพจราจรมักย่ำแย่มากในตอนเช้า จุดพีคสุดคือตอนที่ใกล้จะสายเต็มทนแล้วแต่รถเมล์คันที่รอมานานกว่า 20 นาที ดันวิ่งผ่านหน้าไปโดยไม่จอดรับผู้โดยสารเพราะคนแน่นจนรับใครขึ้นรถไม่ได้อีก แล้ว
จากความคิดเล่นๆ แบบประชดรถติดว่า เดินไปอาจถึงเร็วกว่า ก็เริ่มเป็นจริงเป็นจังขึ้น ยิ่งวันไหนได้ขึ้นรถเมล์อย่างยากเย็นหนักหนา ผมมักโหนรถเมล์อย่างครุ่นคิดถึงแผนการแก้ไขปัญหารถติดต่างๆ นานา แต่พอถึงที่หมายก็เลิกคิดทุกที
เหตุการณ์ล่วงเลยถึงตอนเรียนมหาวิทยาลัย ไปใช้ชีวิตอยู่หอแถวรังสิต 2 ปี ปัญหารถติดหัวเสีย เลยเบาบางลง แต่ช่วงเรียนปี 3-4 ผมต้องย้ายมาเรียนที่ท่าพระจันทร์ ปัญหารถติดจึงกลับมากวนใจอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ผมไม่ได้แค่ยืนเครียดบนรถเมล์เหมือนเคยแล้ว
ผมบอกตัวเองว่า ถึงคราวที่ต้องลงมือทำอะไรสักอย่างแล้ว
ช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์หนึ่ง ผมปัดฝุ่นจักรยานแม่บ้านคันเก่าสนิมเขรอะ จูงไปซ่อม เปลี่ยนยาง อะไหล่ต่างๆ อาบน้ำ ขัดสนิมให้พอดูได้ และไปซื้อแผนที่กรุงเทพฯ มากางเพื่อวางแผนการเดินทาง เพราะจากคำขู่ของใครหลายๆ คน เรื่องอันตรายบนท้องถนน ทำให้กังวลในใจลึกๆ กลัวตายกับกลัวหมดแรงกลางทาง ผมเลยหาทางที่สั้นที่สุด เน้นขี่ทะลุเข้าออกซอยแทนขี่บนถนนใหญ่แทน
คืนนั้นคงทั้งเพลียทั้งตื่นเต้น รู้สึกเหมือนว่ากำลังจะเป็นอิสระจากการถูกคุมขังมานานหลายปี ต่อไปนี้เราจะกำหนดเวลาในการเดินทางของเราเอง อยากเร็วมากก็แลกกับแรงเหงื่อมาก น่าสนุกนะครับ
เช้าวันรุ่งขึ้น พอเตรียมตัวพร้อมก็จับจักรยานขี่ออกถนนใหญ่ไปแบบเงียบๆ (กลัวผู้ใหญ่ที่บ้านห้าม แน่ล่ะ ใครๆ ก็บอกว่าอันตราย)
จากบ้านสู่ปากซอย รถไม่ค่อยมี ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอออกสู่ถนนใหญ่ ก็เจอโจทย์แรก
‘สี่แยกท่าพระ’ แยกนี้มีทั้งอุโมงค์และสะพานข้าม ความจริงแล้วไม่น่าตื่นเต้นเท่าไหร่ถ้าเราไม่ต้องเลี้ยวขวาข้ามแยก ถ้าไม่คุ้นเคย การถีบรถไปเลนขวาเพื่อเลี้ยวตามกฎจราจรเป็นเรื่องเสียวไม่ใช่เล่น ดังนั้นผมจึงตัดสินใจจูงจักรยานข้ามทางม้าลายตอนรถติดไฟแดงแทน ปลอดภัยแน่นอน
หลังจากข้ามแยกมาได้ก็มาสู่บทเรียนที่สอง ‘ฟุตบาท’
เพื่อให้ปลอดภัยที่สุด ผมคิดว่าการขี่บนฟุตบาทน่าจะดี เห็นมีทางลาดขึ้นลงตลอด คิดว่าไม่น่ามีปัญหา แต่ฟุตบาทบ้านเรา บางทีมีทางลาดขึ้น แต่ไม่มีทางลาดลง หรือบางทีทางลาดก็ชันมากจนต้องลงจูง จักรยานเลยทำให้ผมรู้จักกับฟุตบาทแถวบ้านดีขึ้นกว่าตอนนั่งรถเมล์เยอะ
เวลาอยู่บนถนนใหญ่ก็ขี่บนฟุตบาท พอถึงซอยลัดก็ปั่นเข้าซอย การขี่ในซอยให้ความรู้สึกสบายกว่า เพราะรถในซอยวิ่งช้ากว่ามาก ไม่รู้สึกเป็นอุปสรรค ได้ร่มเงาของตึกช่วยบังแดดให้ด้วยซ้ำ
‘สะพาน’ ก็เป็นอีกจุดที่หลายคนกลัวแรงขาสู้ไม่ไหว แต่สำหรับผม การปั่นจักรยานข้ามสะพานไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าเราวางแผนเส้นทางดีๆ เลือกสะพานที่ไม่ชันมาก ยิ่งพอมีฟุตบาทให้ปั่นขึ้นได้อย่างสะพานพุทธฯ ก็ยิ่งดี ได้ชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยาสวยๆ ลมพัดโกรกตัว ขาลงก็วิ่งฉิวได้ เหมือนได้พักเหนื่อย สนุกด้วยซ้ำ แรงขาวัยรุ่นอย่างเราๆ แม้ใช้จักรยานแม่บ้านไร้เกียร์ก็ยังผ่านมาได้อย่างสบายๆ
ช่วงแรกเป็นช่วงเรียนรู้ พอขี่ไปขี่มา ทุกอย่างเริ่มเข้าที่ เส้นทางเริ่มลงตัว ทุกวันนี้ผมขี่จักรยานจากบ้านที่ท่าพระ ทะลุ 3 ซอย ข้ามถนน 2-3 ครั้ง ข้ามสะพานข้ามคลอง 1 สะพาน ก็ถึงสะพานพุทธ ตรงไปทางปากคลองตลาดก็ถึงที่ทำงาน เลยไปอีกหน่อยก็ถึงมหาวิทยาลัย
วันแรกถึงมหาวิทยาลัย ผิดคาดครับ ใช้เวลาไม่ได้เร็วกว่านั่งรถเมล์เลย เพราะวันแรกๆ ต้องเรียนรู้ปรับตัว พอคุ้นทาง ทุกอย่างเริ่มลงตัว ก็ยิ่งทำเวลาได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เหนื่อยน้อยลง รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น และที่สำคัญที่สุด ความเครียดจากการเดินทางแบบเดิมหายไป
อุปสรรคสำหรับจักรยานในกรุงเทพยังมีอยู่อีกมาก แต่บวกลบคูณหารแล้ว ผมว่า ‘คุ้ม’ ผมเลยขี่จักรยานถึงทุกวันนี้ จนจำราคาตั๋วรถเมล์ไม่ได้แล้ว
ที่มา : คอลัมน์ bike lane นิตยสาร a day กันยายน 2554