ถ้าจู่ๆ มีคนชวนคุณไปปั่นจักรยานค้างแรมในป่าที่ห่างไกลผู้คน ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ ไม่มีทั้งไฟฟ้า และน้ำประปา เส้นทางปั่นก็ไม่ได้สวยแบบแหล่งท่องเที่ยว ไม่มีวิวชมพระอาทิตย์ ไม่มีทะเลหมอก และเอาจริงๆ ทางที่ไปๆ มาแต่ละครั้งมักใช้เวลาเข็นพอๆ กับเวลาปั่นเสมอ ฟังดูแล้วน่าสนใจไหมครับ
ผมมีพี่ที่รู้จักคนหนึ่ง (แกคงไม่อยากให้เอ่ยนาม) คลั่งไคล้การออกทริปแบบนี้มาก เมื่อหลายปีก่อนพี่ท่านนี้เคยชวนผมขึ้นเหนือไปเปิดโลกของแกมาแล้วหนหนึ่ง ผมก็บังเอิญมีจังหวะว่างพอดี จึงตกปากรับคำลองไปร่วมปั่นดูด้วยอยากจะรู้นักว่า แกติดใจอะไรนักหนากับการปั่นจักรยานไปนอนในป่าลึก
ก่อนเดินทางราว 1 เดือน แกส่งรายการสิ่งที่ต้องมีสำหรับออกทริปมาให้ รายการไม่มากมายเท่าไหร่ แต่อ่านจบก็รู้สึกคล้ายกับว่า เหมือนเรากำลังจะต้องไปเข้าค่าย รด.(ค่ายรักษาดินแดน) แต่ครั้งนี้เป็นภารกิจที่ต้องเอาจักรยานไปด้วย หม้อสนาม เปลมุ้ง มีดพก เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการไปเที่ยวสไตล์นี้
วิชาลูกเสือ ผูกเปลนอน ก่อไฟ หุงข้าวด้วยฟืน ก็ต้องรื้อฟื้นขึ้นมาอีกหน ผมซึ่งพอจะชอบอะไรแบบนี้เป็นทุนเดิม ก็พลอยนึกสนุกซักซ้อมอยู่หลายสัปดาห์ ย้อนกลับมาฝึกทักษะการพึ่งตนเอง ผมรู้สึกว่ามันเป็นศาสตร์และศิลป์มากๆ เราต้องละเอียดอ่อนใช้ผัสสะในการเรียนรู้หลายอย่าง อย่างการหุงข้าวด้วยหม้อไฟฟ้า เราแค่ใส่ข้าวใส่น้ำตามขีดเสียบปลั๊กและกดหนึ่งที รอไปจนหม้อเด้งก็ได้ข้าวสวยร้อนๆ กิน แต่การหุงแบบดั้งเดิมด้วยฟืน แค่จะเริ่มต้นก่อไฟก็ต้องรู้หลักการ ใช้ทักษะการสำรวจหาวัสดุรอบตัวที่จะมาเป็นเชื้อไฟให้ฟืนติด กิ่งไม้เล็กๆ หน้าตาคล้ายกัน อันหนึ่งหยิบจากพื้นดิน อีกอันหักจากกิ่งแห้งคาต้น ก็มีความแตกต่างกันแล้ว เพราะความชื้นในเนื้อไม้ไม่เท่ากัน
จะหุงข้าวให้ได้ข้าวสุกไม่ไหม้ ไม่ดิบ ต้องหัดสังเกตตั้งแต่เมล็ดข้าวสาร การใส่น้ำ ความแรงของไฟ ดูหยดน้ำ ไอน้ำ และการดมกลิ่น ต้องใช้ประสาทสัมผัสหลายอย่าง ซึ่งต้องลงมือปฎิบัติฝึกฝนเอง กว่าจะหุงข้าวได้ดี ดูยุ่งยากมีขั้นตอนเยอะแยะ แต่ในรายละเอียดเหล่านั้นมันกลับมีเสน่ห์ไม่ใช่น้อย
กว่าจะได้ออกเดินทาง ผมก็ฝึกฝนทักษะต่างๆ จนมั่นใจระดับหนึ่งล่ะ แต่พอเอาเข้าจริงทริปนั้นโหดเกินคาดระดับ 5 กระโหลกไขว้เพราะแค่วันแรกก็ใช้เวลาเข็นมากกว่าปั่นหลายเท่านัก ด้วยความชันระดับที่อาจต้องเรียกว่าปีนมากกว่าเข็น และพื้นทางที่ขรุขระ นอกจากนั้นระหว่างทางยังเจอไฟป่าที่ยังไม่มอด สุมคลอกร้อนระอุ แถมด้วยกลิ่นควันไฟคลุ้งไปทั้งดอย บางจุดยังต้องแบกจักรยานลุยน้ำข้ามลำห้วยน้ำเชี่ยว คืนแรกยังนอนงงๆ ว่านี่เรามาเที่ยวหรือมาทรมานร่างกายเล่น คืนที่ 2 น้ำดื่มที่เตรียมมาก็หมด ต้องหากรอกน้ำในลำธารกิน เด็กเมืองโดยกำเนิดอย่างผม ทีแรกก็ดื่มแบบกั๊กๆ แต่พอดูแล้วไม่มีทางเลือกอื่นก็ตัดสินใจดื่มไปเต็มที่ จึงได้รู้ว่าน้ำที่ว่าอร่อยนั้นรสชาติเป็นยังไง แต่จะโชคดีหรือโชคร้ายก็ไม่ทราบ พอผ่านพ้นคืนที่ 2 (จากที่วางแผนไว้ทั้งหมด 4 คืน)จักรยานเสือภูเขาที่ผมปั่นก็พังกลางคัน เป็นอันต้องจบทริปก่อนจะไปถึงป่าลึกจุดหมายของการเดินทาง
การออกทริปครั้งนั้น แม้จะสร้างประสบการณ์และทักษะใหม่ๆ มากมายให้เด็กเมืองอย่างผม แต่การไปไม่จบทริป ยังทำให้รู้สึกติดค้างในใจ จนเป็นที่มาของการเดินทางครั้งนี้เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา คราวนี้ผมจึงเป็นฝ่ายเอ่ยปากชวนพี่เขาเองเลย
ครั้งนี้เรามีเวลาเพียง 3 คืน คำนวณวันเวลาแล้ว แกตัดสินใจพาผมไปทางป่ากาญจนบุรี มุ่งขี่เข้าไปประชิดป่าพรมแดนไทยพม่า
บทเรียนจากครั้งที่แล้ว ทำให้ผมเน้นเตรียมจักรยานให้สมบูรณ์ที่สุด เพื่อไม่ให้พลาดท่าอีก ส่วนพี่แกก็ให้ข้อมูลว่าเส้นทางครั้งนี้โหดน้อยกว่าครั้งก่อนมากรถโฟร์วีลหรือมอเตอร์ไซค์ก็เข้าถึงได้ เพราะมันเป็นเส้นทางลำเลียงเสบียงและกำลังคนของหน่วยพิทักษ์ชายแดน เป็นทางเลียบลำธารไปเรื่อยๆ ฟังดูดีทีเดียว
แต่เช้าตรู่ของวันคริสต์มาส เราออกเดินทางโดยรถไฟฟรีสถานีธนบุรีมุ่งหน้าสถานีน้ำตก จ.กาญจนบุรี ใช้รถไฟทุ่นระยะและเวลา ให้ไปเริ่มปั่นใกล้ป่าที่สุด
กว่าจะไปถึงสถานีปลายทางก็บ่ายคล้อย เราแวะพักกินข้าวเตรียมเสบียงสำหรับมื้อเย็นเรียบร้อยแล้วก็มุ่งหน้าปั่นเข้าป่าในทันที จากตัวเมืองข้ามแม่น้ำแคว บ้านเรือนจากหนาแน่นก็เริ่มห่างกัน ผ่านสวน ไร่มัน แล้วก็เข้าเขตป่า ภายในไม่กี่ชั่วโมง
คืนแรกเราผูกเปลนอนในโรงรถของหน่วยงานภาครัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่สุดท้ายที่มีทั้งน้ำประปาและไฟฟ้า ตกกลางคืน อากาศเย็น ฟ้ามืดสนิทเพราะมีเพียงแสงไฟไม่กี่ดวงที่ใช้ส่องทางเท่านั้น เรามองชมดาวเห็นทางช้างเผือกได้เพลินๆ แต่นี่ยังไม่ใช่เป้าหมายของการบากบั่นมาครั้งนี้
วันรุ่งขึ้น ผมตื่นมาพร้อมกลิ่นข้าวสุกที่ลอยมาจากหม้อสนาม พี่เขาลุกขึ้นมาเตรียมอาหารตั้งแต่ฟ้ามืด เพื่อที่ฟ้าสว่างจนมองเห็นทางเมื่อไหร่ จะได้เดินทางต่อแกว่ายามเช้าเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการปั่น อากาศสดชื่น ไม่เจอแดด ออกเช้ามีเวลาเผื่อเหลือเฟือ เพื่อที่จะได้ไม่พลาดจุดหมายของวัน
ระหว่างทางปั่น (แต่ยังไม่วายต้องเข็นเป็นระยะๆ) เราต้องลุยผ่านลำธารเล็กๆ กว่าสิบครั้ง มีครั้งหนึ่งเจอฝูงวัวร่วม 20-30 ตัว ขวางอยู่ตรงหน้า ต่างฝ่ายต่างหยุดยืนนิ่ง ตาประสานตา ดูท่าทีว่าจะเอาไงต่อ ผมได้แต่แผ่เมตตาจิต แสดงตนว่าเราเป็นเพียงผู้มาเยือนไม่ได้คิดร้าย ส่วนพี่ผู้มากประสบการณ์ปั่นป่า แกเล็งหาทางหนีทีไล่ไว้เรียบร้อยแล้ว ในครู่อึดใจหนึ่ง คล้ายว่าจ่าฝูงวัวจะรับรู้ได้ว่าเราต่างไม่ใช่ศัตรูต่อกัน จึงตัดสินใจนำฝูงสวนทางเราไปโดยดี เป็นนาทีตื่นเต้น ที่ย้ำเตือนว่า ที่แห่งนี้ไม่ได้มีเพียงแค่มนุษย์
เมื่อเดินทางต่อไป เรายังเจอโป่งดินธรรมชาติตามข้างทาง เจอรอยเท้าสัตว์กีบ พบขี้ช้าง และอื่นๆ ยังความประทับใจมาไม่น้อย จนในที่สุดเราก็ถึงปลายทางในช่วงบ่าย คือหน่วยงานรัฐหน่วยสุดท้ายก่อนจะถึงพรมแดนไทย – พม่า ที่นี่มีห้องน้ำ ทีวี ลานสนามหญ้าและไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซล แต่พักเพียงเดี๋ยวเดียว พี่ก็ประสงค์มุ่งหน้าปั่นกลับทางเก่า ผมรู้ทันทีว่าคืนนี้เราจะไปนอนพักกันที่ตรงไหน
มันเป็นลำธารหนึ่งในสิบกว่าลำธารเล็กๆ ที่เราข้ามมา มีลานดงไผ่ ที่ล้อมรอบไปด้วยต้นไม้ทึบ น้ำใสไหลเย็น แต่ตื้นเพียงครึ่งแข้งเท่านั้น เปลี่ยว ไร้ผู้คน และดูยังไงก็ไม่ได้มีความสวยงามในแบบแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมแน่นอน มันเป็นลำธารเล็กๆ ธรรมดาในป่าลึกเท่านั้นเอง แต่ที่นี่แหละเป้าหมายของเรา
เย็นนั้นเราจัดเตรียมที่นอน และอาบน้ำเปล่าๆ ในลำธาร เพราะไม่อยากให้มีสารเคมีแปลกปลอมปนเปื้อนในธรรมชาติ จากนั้นก็ก่อไฟหุงอาหารท่ามกลางบรรยากาศเงียบสงัด มีเพียงเสียงน้ำกระทบหินในลำธารเท่านั้น
เมื่อเเสงอาทิตย์ลับฟ้า ที่นี่เปลี่ยนจากกลางวันสู่ความมืดมิดอย่างรวดเร็ว ไม่มีแสงไฟ และแสงดาวใดใดในคืนเดือนมืด แต่แล้วทันทีที่จะเข้านอน ปรากฏแสงสีเขียวอมเหลือง ลอยล่องจากผืนน้ำ มันกระพริบห่างๆ ต่างจากที่เคยเห็นใต้ต้นลำพู แต่แน่นอนว่ามันคือหิ่งห้อยนั่นเอง แสงเรื่อๆ ทยอยปรากฎออกมาเรื่อยๆ ริมลำธาร ตามดงไม้รอบจักรยาน และรอบๆ เปลเรา ท่ามกลางความมืดมิด ผมนอนหายใจเงียบๆ อยู่ในธรรมชาติที่มีหิ่งห้อยบินอยู่รอบกาย วินาทีนั้นเอง ผมรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติในตัวเรา อากาศที่เราแลกเปลี่ยน ความร้อนเย็นที่เราสัมผัส น้ำและสสารต่างๆ ในร่างกายเราล้วนคือธรรมชาติทั้งนั้น เราเป็นส่วนผสมของกันและกันตลอดมา และแล้วผมก็ผลอยหลับไปในที่สุด
คืนนั้นเกือบจะเรียกได้เลยว่าเป็นที่คืนที่นอนสบายที่สุดในรอบปี ถ้าไม่ตื่นขึ้นมาเพราะความหนาวเสียก่อน แต่อย่างไรเสียมันก็เป็นคืนที่น่าจดจำ มันเป็นความสุขที่ได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ และเป็นคำตอบที่ชัดเจน และคลายข้อข้องใจ ว่าเหตุใด เราถึงยอมเหนื่อยแสนสาหัส เพียงเพื่อดั้งด้นเข้ามาค้างแรมในป่าลึกสักคืนหนึ่ง ทั้งที่จริงแล้วจะมาด้วยมอเตอร์ไซค์วิบากหรือรถโฟร์วีลก็ทำได้ไม่ยาก แต่จะสุขใจได้อย่างไร หากการโหยหาธรรมชาติของเรามันทำลายสิ่งที่เราต้องการเสียเอง
ปั่นจักรยานเข้าป่า น่าสนใจบ้างหรือยังครับ?
“อาบป่า” คืออะไร ?
คือการออกไปสัมผัสธรรมชาติในพื้นที่ป่าสมบูรณ์เพื่อฟื้นฟูสุขภาพ ทุกวันนี้ หมอในญี่ปุ่นสั่งให้คนไข้หลายรายไป “อาบป่า” แทนการสั่งยาเป็นกำๆเพราะได้ผลลัพธ์ที่ดีเหลือเชื่อ มันช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเราดีขึ้น ปรับปรุงคลื่นสมอง ทำให้เราอารมณ์ดีขึ้น มีความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิบะ ประเทศญี่ปุ่นพบว่า สาเหตุสำคัญมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ การแลกเปลี่ยนจุลชีพดีๆ ในอากาศ การสูดน้ำมันหอมระเหยจากต้นไม้ และการได้รับประจุไฟฟ้าขั้วลบจากสิ่งแวดล้อม ทั้ง 3 สิ่งปฏิสัมพันธ์ร่วมกันทำให้เรามีสุขภาพแข็งแรงขึ้นทั้งกายและใจ จนทุกวันนี้เกิดเป็นวัฒนธรรมดูแลสุขภาพในประเทศญี่ปุ่น ที่เรียกว่า“ชิรินโยกุ” หรือการ “อาบป่า” (Forest Bathing) เพื่อสุขภาพกายและจิตใจ
รู้จักการ ”อาบป่า” เพิ่มเติมได้ที่ https://greenworld.or.th/green_issue/เรา-ความสุข-เเละจุลินทรี/
จะอาบป่าทั้งทีควรต้องศึกษาหาข้อมูลให้ดีก่อนไป หาทางเลือกเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดำรงชีพอย่างรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด เพื่อรักษาทรัพยากรอันงดงามและทรงคุณค่าให้ยั่งยืนไปถึงคนรุ่นต่อๆ ไป เพราะนี่เป็นหน้าที่สำคัญของนักเดินทางที่รักธรรมชาติทุกคน
ที่มา: นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 384, เดือนกุมภาพันธ์