ถ้าถามว่าสถานที่อันเป็นอัตลักษณ์ของโตเกียวคืออะไร บางคนอาจนึกถึงหอโตเกียว ซึ่งดูเหมือนหอไอเฟิลปลอมๆ สีส้ม หลายคนนึกถึงทางข้ามม้าลายชิบูย่า แต่สำหรับฉัน ความทรงจำวิเศษสุดของโตเกียวคือป่าเมจิจิงกุ
ฉันไม่ได้อ่านโลกเหงาหรือคู่มือนำเที่ยวใดๆ ก่อนไป เจอมันโดยบังเอิญตั้งแต่อาทิตย์แรกที่ไปถึง เล่าให้ฟังก็คงถูกหาว่าเวิ่นเว่อร์ คือฉันแวะไปหาร้านขายของมือสองแห่งหนึ่งแถบฮาราจูกุ ได้ของแล้วคิดจะเดินเล่นดูเมือง ไม่รู้ไปทางไหนดี ลองปล่อยให้ร่างกายพาไปเอง ถึงสะพานแห่งหนึ่ง ก็รู้สึกเหมือนมีพลังอะไรบางอย่างดูดใจให้เดินข้ามไป พลันฉากข้างหน้าก็เปิดออก เป็นดงไม้สูงใหญ่ มีประตูซุ้มไม้ยักษ์ ขนาบด้วยต้นการบูรยักษ์ยิ่งกว่า สูงราว 40 เมตร ผู้คนจำนวนมากยืนถ่ายรูปประตูดูตัวจิ๋วนิดเดียว
ฉันตกหลุมรักดงไม้นี้ทันที
ตั้งแต่นั้นก็แวะไปอีกหลายครั้ง เข้าไปสำรวจพื้นที่ส่วนต่างๆ เท่าที่เขาอนุญาตให้เข้าได้ และพบว่ามันเป็นป่าสุดวิเศษ เต็มไปด้วยพรรณพืชหลากหลาย ขึ้นซับซ้อนหลายชั้น มีการบูร เกาลัด ก่อ เอลม์ และไม้ผลัดใบอีกหลายชนิดเป็นไม้เด่น มีลำธารธรรมชาติที่ผุดจากตาน้ำใต้ดินไหลผ่านในป่า นกเยอะแยะเจี๊ยวจ๊าว นกหัวขวานแคระญี่ปุ่นเห็นได้ไม่ยากเลย มันเป็นป่าที่มีสภาพดีกว่าป่าทั่วๆ ไปในชนบท แต่มันดันอยู่ใจกลางเมืองตึกสูงจอแจ เป็นหลุมหลบภัยกลางกรุง
คนส่วนใหญ่มาเพื่อเยี่ยมชมศาลเมจิจิงกุตรงกลาง สักการะทำบุญสะเดาะเคราะห์แล้วก็เดินกลับทางเดิม ข้างในป่าไม่ค่อยมีคนเท่าไหร่ แต่จะอยู่ในป่าหรือบริเวณศาล เมจิจิงกุก็สงบเย็นสบายใจ ไม่เหมือนวัดตัวฤิทธิ์คลั่กๆ หลายแห่ง
อัศจรรย์ที่สุดคือเมื่อ 100 ปีก่อน พื้นที่นี้ไม่ได้เป็นป่า ประวัติศาสตร์ของมันไม่ธรรมดาเลย
เราคงจำจักรพรรดิหนุ่มน้อยในหนังเรื่องลาสต์ซามูไรกันได้ เด็กคนนั้นคือจักรพรรดิเมจิ ผู้นำพาญี่ปุ่นออกจากยุคขุนนางโบราณสู่ยุคฟื้นฟูใหม่เป็นประเทศอุตสาหกรรมพร้อมเทคโนโลยีก้าวหน้า ประคองญี่ปุ่นให้รอดพ้นจากการคุกคามอำนาจตะวันตก จนกลายเป็นประเทศเข้มแข็ง ท่านเป็นสะพานเชื่อมจากญี่ปุ่นเก่าสู่ญี่ปุ่นใหม่ เมื่อจักรพรรดิสวรรคตลงในปี 1912 และรัฐบาลตัดสินใจสร้างสุสานให้ที่กรุงเกียวโต ประชาชนจึงเรียกร้องให้สร้างศาลเพื่อสักการะบูชาในกรุงโตเกียว
ศาลที่มีป่าล้อมรอบเป็นแนวทางปฏิบัติแต่โบราณ เป็นความเชื่อดั้งเดิมว่าเทพจะจุติสู่โลกผ่านยอดไม้สูง ลงมาสิงสถิตอยู่ตามต้นไม้ใบหญ้า น้ำ หิน สรรพสิ่งในธรรมชาติทั้งปวง ป่าเหล่านี้ถือว่าเป็นป่ารุกขเทพผู้พิทักษ์ศาล ห้ามมิให้แม้แต่จะเก็บใบไม้เพียงหนึ่งใบโดยไม่มีเหตุผลอันควร
รัฐบาลเลือกพื้นที่ทุ่งนาและทุ่งหญ้า 70 เฮคเตอร์ (ราว 437 ไร่) ซึ่งมีเพียงสนไพน์แดงเป็นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่บ้างในย่านโยโยกิ มอบหมายให้นักวิชาการด้านป่าไม้และภูมิทัศน์ สถาปัตย์เป็นผู้นำโครงการในปี 1915 บุคลากรหลัก ได้แก่ ดร.เซโรกุ ฮอนด้า ดร.ทาคาโนริ ฮองโก และลูกศิษย์เอก เคจิ อูเอฮารา
แผนของพวกเขาคือจะปลูกป่าด้วยพันธุ์ไม้พื้นถิ่นบริจาคกันมาจากทั่วญี่ปุ่น มันจะต้องเป็น “ป่าอมตะ” ที่ดูแลตัวเองได้ พร้อมกับปกป้องพื้นที่วัดจากควันเขม่ารถไฟ และจากฝุ่นฟุ้งกระจายจากสนามประลองยุทธของทหาร ต้องอยู่กับพื้นที่ชุ่มน้ำกลางทุ่งได้ และไม้บริเวณรอบวัดก็ต้องดูสง่างาม
เป็นโครงการที่วางแผนเป็นขั้นตอนยาว 150 ปี โดยมีโจทย์ว่ามันจะต้องแลดูเป็นป่าดีๆ ตั้งแต่แรกเริ่ม แผนเขาจึงลอกเลียนการทดแทนสังคมป่าไม้ตามธรรมชาติ โดยลงไม้โตเร็วสูงใหญ่ในกลุ่มไม้สนต่างๆ ขึ้นนำ พร้อมกับไม้ผลัดใบโตช้าค่อยๆ เติบโตขึ้นมาข้างใต้ร่ม จนกลายเป็นไม้ใหญ่หลักบดบังเหล่าสนไปในที่สุด
เมื่อแผนพร้อมก็เปิดรับบริจาคกล้าไม้และอาสาสมัครแรงงานในปี 1916 ในบัญชีรายงานระบุว่าได้รับพันธุ์ไม้ 365 ชนิดจำนวน 95,559 ต้น อาสาสมัครเยาวชน 110,000 คนผดลัดเข้ามาลงแขกงานส่วนต่างๆ ทั้งทำทางและลงต้นไม้ จนพัฒนาเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ดูแลป่าไม้ในเมืองตามหลักวัฒนธรรมเดิมของญี่ปุ่น ชื่อว่าฮิบิกิ (แต่เว็บไซต์เป็นภาษาญี่ปุ่นหมด ถ้ารู้แต่ภาษาอังกฤษอย่างฉันก็อย่าเสียเวลาไปค้นเลย)
ป่าเมจิมีกติกาที่ตั้งไว้และยังปฏิบัติตามถึงทุกวันนี้ คือ 1) ห้ามเด็ดใบไม้หักกิ่งไม้ใดๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นในส่วนการดูแลเส้นทางเดิน 2) ห้ามเดินฝ่าป่า เดินได้เฉพาะบนเส้นทางที่วางไว้ 3) ห้ามนำอะไรออกมาจากป่าเลย แม้แต่ใบไม้ร่วงใบเดียวก็ตาม แม้แต่เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลป่าก็ต้องปฏิบัติตามกติกานี้
ฉันก็ไม่รู้ ฝึกจำแนกพันธุ์ไม้ไปมือก็เอื้อมเด็ดใบไม้มาเทียบกับภาพในหนังสือ
ตอนที่ฉันไปเมื่อเดือนที่แล้ว ป่าเมจิจุงกุมีอายุได้ 99 ปี เข้าสู่สภาพสังคมป่าเต็มวัย (mature forest) จากเดิมที่ลงต้นไม้ไว้ 365 ชนิด ตอนนี้เหลือประมาณ 270 ชนิด ซึ่งก็เป็นไปตามคาด เอาไม้มาลง มันต้องแข่งกันบ้าง ถูกธรรมชาติทดสอบบ้าง ไม่รอดเหลือบ้างเป็นธรรมดา
นับว่าโชคดีมากที่รัฐบาลมอบหมายให้นักวิชาการมหาลัยเป็นแกนนำ แทนที่จะเชื่อข้าราชการผู้เสนอให้ปลูกป่าสนซีดาร์กับไซเปรสเพียงสองชนิด ถ้าใครอ่านบทความเมื่อเดือนที่แล้ว ก็คงจำได้ว่าไอ้แนวคิดปลูกสนสองชนิดนี้ได้กลายมาเป็นนโยบายป่าไม้ญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนกลายมาเป็นหายนะทางนิเวศในปัจจุบันกันอย่างไร
ป่าเมจิจิงกุสร้างขึ้นด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมอย่างลงตัว พลันให้นึกถึงสำนวนบู๊ลิ้ม “ความพยายามเป็นของมนุษย์ ความสำเร็จเป็นของฟ้าดิน” หากมนุษย์รู้จักเรียนรู้จากธรรมชาติ
ผู้คนที่ปลูกป่านี้ตายกันไปหมดแล้ว แต่มรดกล้ำค่าชิ้นนี้กำลังงอกงามตามฝัน
ชีวิตนี้ได้สร้างอะไรขนาดนี้ ก็คุ้มค่าที่เกิดมาจริงๆ