in on December 21, 2016

ผัสสะภาวนา สัมผัสธรรมชาติ(2)

read |

Views

เมื่อเดือนที่แล้วเราพูดถึงแนวทางการฝึกฝนปลุกประสาทสัมผัสต่างๆ ในตัว เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์กับธรรมชาติ โดยยกระดับคุณภาพประสบการณ์ตรงให้ละเอียดขึ้น โยงใยได้ดีขึ้น ด้วยเทคนิคการปฏิบัติ “ผัสสะภาวนา” (sense meditation) มีฐานมาจากแนวทางปฏิบัติของชนเผ่าอาปาเช่ในอเมริกาเหนือ

จอน ยัง ผู้พัฒนาเทคนิคนี้ แนะนำให้ปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวัน โดยเราจะฝึกผัสสะภาวนาที่ไหนก็ได้ แต่ควรเลือกหาที่โปรดส่วนตัวใกล้ธรรมชาติที่เราเข้าถึงได้ง่ายๆ ทุกวัน อาจเป็นมุมในสวนสาธารณะ หรือแม้แต่ชานบ้านริมสวนตัวเอง หรือระเบียงคอนโดที่เราปลูกไม้กระถางก็ยังได้ หาที่นั่งในมุมที่ชอบ

จุดนี้จะเป็น “sit spot” เป็นมุมนั่งหรือมุมลับส่วนตัวของเรา ในวัฒนธรรมชนเผ่าอินเดียนแดงมันเป็นที่ที่แต่ละคนค้นพบความวิเศษในความสัมพันธ์กับธรรมชาติ แน่นอนว่ามุมนั่งประจำในเมืองกรุงของเราอาจไม่มีพลังธรรมชาติเทียบเท่ากับสถานที่ธรรมชาติหลายๆ แห่งนอกเมือง แต่การฝึกเป็นประจำจะช่วยให้เราสัมผัสธรรมชาติที่อื่นๆ ได้ง่าย

ถ้าใครเคยรู้สึกงงไม่รู้จะทำอะไรเมื่อไปเที่ยวธรรมชาติ นอกเหนือจากถ่ายเซลฟี่กับป้าย กระโดดแช้คกลางอากาศกับวิว หรือเบื่อหน่ายถ้ายัง “ไปไม่ถึง” จุดมุ่งหมายตระการตา ลองฝึกดู เป็นการเตรียมความพร้อมพื้นฐาน แต่เราก็ได้อะไรกับการฝึกมันตั้งแต่แรกเริ่มด้วย

การปฏิบัติแบ่งเป็น 5 ขั้นตอน ทั้งหมดไม่จำเป็นต้องใช้เวลานาน มีแค่ 10 นาที ก็ทำแค่ 10 นาที มี 5 นาทีก็ทำ 5 นาที

ขั้นตอนทั้งหมดถอดความแปลมาจากเทปของไบรอัน มาร์ติน ลูกศิษย์ของจอน ยัง อีกที แต่มีหยอดรายละเอียดขยายความเพิ่มเติมไปบ้างเล็กน้อย เพื่อความชัดเจน โดยเชื่อว่าไม่ได้บิดเบือนกระบวนการให้ผิดเพี้ยนไปจากต้นตำรับ

ขั้นที่ 1: หน้าประตู

เป็นการตั้งสติเตรียมพร้อมกับจุดเปลี่ยนผ่าน จากโลกประดิษฐ์ในอาคาร ไปสู่โลกภายนอก ให้หยุดครู่หนึ่งตรงนี้ รับรู้ความรู้สึก อาจมองออกไปเห็นสวนนอกหน้าต่าง สังเกตความรู้สึกในใจ แล้วค่อยๆ ตั้งใจเปิดประตูออกไป

ขั้นที่ 2: ก้าวแรก

เช็คอินกับสภาพรอบตัว เปิดรับสภาพดินฟ้าอากาศ ต้นไม้ สุ้มเสียงต่างๆ เมื่อภาวะจิตใจเริ่มปรับคลื่นเข้าหาธรรมชาติรอบตัว ภาวะตระหนักรู้ก็ถูกปลุกขึ้นมา

ขั้นที่ 3: เดิน

เดินช้าๆ ไปสู่มุมโปรด ค่อยๆ ก้าวเหยียบพื้น เช่นเดียวกับเมื่อเดินจงกลม แต่ให้เปิดรับรู้ความเป็นไปรอบตัวพร้อมกันไปด้วย มองดูสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว และค่อยๆ รับรู้ภาพใหม่ๆ เสียงใหม่ๆ เข้ามา

ขั้นที่ 4: นั่งในมุมโปรด (sit spot)

ถึงมุมโปรดแล้วก็นั่งลง หยุดความเคลื่อนไหวไว้ตรงนี้ ผ่อนคลายร่างกาย เราจะเริ่มด้วยฝึกทีละผัสสะ แล้วปลุกขึ้นมาใช้พร้อมกันเหมือนวาทกรบรรเลงวงออเคสตร้า

เริ่มด้วยโสตประสาทก่อน ให้หลับตาลง เงี่ยฟังเสียงรอบตัว เสียงหายใจ เสียงนก นกเสียงแหลม นกเสียงแหบ นกเสียงเพลง เสียงหมาเห่า หมาเกาหลังหู เสียงลมพัด พัดแรงพัดเบาแค่ไหน? เสียงน้ำไหล ฯลฯ หาเสียงที่ไกลที่สุด และเสียงที่เบาที่สุดและไกลที่สุด ขยายวงรับรู้เสียงให้กว้างไกล

เมื่อจับทุกเสียงได้แล้ว ก็เปิดรับฟังเสียงทั้งหมดพร้อมๆ กัน

ถัดมาเป็นสัมผัสกาย ยังคงหลับตาอยู่ รู้สึกถึงน้ำหนักตัวที่ทิ้งลงสู่ดิน รู้สึกลึกเข้าไปข้างในร่างกาย สัมผัสอะไรได้บ้าง หัวใจเต้น ปอดหุบเข้าขยายออก กระแสไฟฟ้าวูบวาบ ระริกฟู่ๆ หรือสั่นสะเทือนในร่างกาย ผิวหนังด้านนอกสัมผัสอะไรได้บ้าง อุณหภูมิอากาศ? ละอองความชื้น?

กลิ่น ได้กลิ่นอะไรบ้าง กลิ่นดิน กลิ่นดอกไม้ กลิ่นน้ำ กลิ่นควัน ลองสูดหายใจฟุดๆ สั้นๆ เปรียบเทียบกับสูดหายใจลึกยาว ได้กลิ่นต่างกันไหม แต่ละวันกลิ่นต่างกันอย่างไร เทียบวันชื้นๆ กับวันแห้งๆ พยายามตามกลิ่นที่จับได้ มันมาจากไหน

รสสัมผัส กวาดลิ้นไปทั่วปาก ได้รสอะไรไหม ลองหายใจเข้า อากาศมีรสไหม

เมื่อประสาทสัมผัสต่างๆ ถูกปลุกขึ้นแล้ว ก็ลืมตาขึ้น แต่แทนที่จะเพ่งไปยังภาพข้างหน้า ให้ลองพยายามยืดขยายการรับรู้ไปยังชายขอบหางตา รู้เห็นการเคลื่อนไหวอะไรด้านข้างๆ นั้นบ้างไหม รู้เห็นสิ่งต่างๆ โดยไม่จับจ้องอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ สังเกตเห็นทั้งสิ่งที่อยู่ใกล้และสิ่งที่อยู่ไกลพร้อมๆ กัน ลองนับสิ่งที่อยู่ชายขอบหางตาโดยไม่หันไปมองมันตรงๆ

สุดท้าย เปิดรับรู้ผัสสะทั้งหมดในเวลาเดียวกัน รู้ตัวทั่วพร้อม ณ ปัจจุบันขณะ ขยายวงรัศมีแห่งความตระหนักรับรู้ออกไปให้กว้างไกล

นิ่งและตื่นเสมือนสัตว์ในดงไพร

ในจุดนี้หลายคนจะอยากนั่งวิปัสสนาต่อ หรืออาจเป็นจังหวะดีที่จะสะท้อนเรื่องส่วนตัวเงียบๆ ปล่อยให้ความคิดความรู้สึกมันผุดขึ้นมาเอง

ขั้นที่ 5: บันทึก

ไบรอัน มาร์ติน แนะนำให้จดบันทึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างผัสสะภาวนา สังเกตพบอะไร เรียนรู้อะไร อยากจะทดลองปฏิบัติอย่างไรในคราวหน้า

เขียนเล่ามาให้ลองฝึก แต่ไม่อยากให้เคร่งเครียด คือเราพบว่าเมื่อเราเริ่มพูดถึงการฟื้นความสัมพันธ์กับธรรมชาติขึ้นมาใหม่ คำถามที่มักตามมาคือจะเริ่มได้อย่างไร ซึ่งสำหรับคนที่ไม่เคยตัดความสัมพันธ์นั้นไปมาตั้งแต่เด็ก ก็นึกไม่ค่อยออกว่าควรแนะนำอย่างไรดี เพราะสิ่งที่แปลกสำหรับเราคือการตัดขาดจากมันไป

ตัวฉันและพี่น้องโชคดีที่มีแม่เป็นผู้เปิดประตูสู่โลกธรรมชาติมาตั้งแต่จำความได้ เราซึบซับมันมาโดยอัตโนมัติ ทุกครั้งที่แม่เปิดประตูบ้านพาเราออกไปเดินเล่น เพียงก้าวแรกเราก็ถึงแล้ว ความวิเศษ ความเบิกบานต่างๆ พรูเข้ามา และเรารับมันในทันที

สมัยเราเป็นเด็ก เราไม่มีหนังสือธรรมชาติท้องถิ่นให้รู้จัก เราจึงไม่รู้ข้อมูลอะไรมากจนโตแล้ว แต่รับรู้เสมอมาว่าเราเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตต่างๆ ที่แม่เปิดประตูพาไปหา

เราสัมผัสได้ ไม่เคยสงสัยเลย

อ้างอิง
  1. กรุงเทพธุรกิจ, ตุลาคม 2559
สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share