in on July 26, 2016

พาไมโตคอนเดรียไปอาบป่า

read |

Views

เราพูดถึงนานาชีวิตที่อาศัยร่วมอยู่ในร่างกายเราไปหลายครั้งในคอลัมน์นี้ เรารู้แล้วว่าร่างกายของเราไม่ได้เป็นเพียงแค่ของเรา แต่มีจุลชีพอาศัยอยู่ด้วยในจำนวนมากกว่าเซลล์ของเราเอง มีบทบาทช่วยขับเคลื่อนกลไกต่างๆ ของร่างกาย จนต้องถือว่าร่างกายเราไม่ใช่แค่ “ร่างกาย” แต่เป็นระบบนิเวศประเภทหนึ่ง

แต่ความสัมพันธ์ของเรากับจุลชีพบางชนิดมันซับซ้อนแน่นแฟ้นยิ่งกว่าแค่การเป็นเพื่อนร่วมงานในระบบนิเวศ

หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับไลเคนอยู่บ้าง ไลเคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของชีวิตสองชนิด ได้แก่ ราและสาหร่าย ประกอบร่างขึ้นมาเป็นชีวิตตัวใหม่ มันเป็นตัวอย่างคลาสสิคของความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยให้ประโยชน์กันและกัน (symbiosis) โดยราเป็นตัวสร้างบ้านห่อหุ้มสาหร่ายและสาหร่ายเป็นตัวทำอาหารมาแบ่งกัน แต่เอาเข้าจริง ชีวิตที่ประกอบไปด้วยเซลล์หลายเซลล์ทุกชนิดบนโลกใบนี้ก็วิวัฒนาการความสัมพันธ์แบบนั้นเช่นกัน รวมถึงตัวเราเองด้วย

 

ในแง่นี้ เราก็เป็นเหมือนไลเคน

หุ้นส่วนชีวิตแนบแน่นของเราคือไมโตคอนเดรีย (mitochondria) ครั้งหนึ่งนานหลายๆๆ ล้านปีมาแล้ว มันเป็นชีวิตจำพวกแบคทีเรียที่เคยอาศัยอยู่โดดๆ แต่วิวัฒนาการเข้ามาอาศัยอยู่ในเซลล์ของสัตว์มีเซลล์ประเภทที่มีนิวเคลียสและผนังหุ้มเซลล์ (ซึ่งก็คือสัตว์หลายเซลล์) ปัจจุบันมันอยู่ในเซลล์ของเราเกือบทุกประเภทยกเว้นในเลือด พวกพืชก็มีวิวัฒนาการคล้ายกัน คือเอาสาหร่ายเขียวแกมน้ำเงินเข้าไปอยู่ด้วย วิวัฒนาการกลายเป็นคลอโรพลาสในเซลล์มัน ทำหน้าที่สังเคราะห์แสง

เรารู้ว่าไอ้ตัวเม็ดลายขีดยึกยือที่ดูเหมือนองค์ประกอบหนึ่งในเซลล์ของเรา แท้จริงแล้วเป็นญาติโบราณกับแบคทีเรียเพราะมันยังคงมีสารพันธุกรรมแบบเดียวกับแบคทีเรีย แตกต่างไปจากดีเอ็นเอของเราเอง มันอยู่ร่วมกับเราจนกลายมาเป็นองค์ประกอบอวัยวะเรา แต่มันยังคงมรดกดั้งเดิมของมันไว้อยู่ เช่นเดียวกับนางพจมานยืนหยัดในความเป็นพินิจนันต์ แม้จะแต่งงานร่วมหอครองบ้านทรายทองกับชายกลางสว่างวงศ์ก็ตาม

ไมโตคอนเดรียมีอำนาจฤิทธิ์เดชในบ้านพอๆ กับนางพจมาน มันคือแม่หญิงตัวจริง และขอเน้นว่าการส่งต่อมรดกพันธุกรรมไมโตคอนเดรียจากรุ่นสู่รุ่นก็ส่งกันทางแม่ บ้านทรายทองจึงสืบทอดเป็นของพินิจนันต์ร่วมกับสว่างวงศ์ตลอดไป

บทบาทของไมโตคอนเดรียคือเป็นเสมือนแบตเตอร์รี่พลังงานของเซลล์ มีหน้าที่แปรสสารอาหารให้เป็นพลังงานเคมีที่ร่างกายใช้ได้ โดยใช้ออกซิเจนเผาผลาญ มันจึงเป็นตัวควบคุมเมตาบอลิซั่มของเซลล์ เป็นแม่ครัวคุมเตา

กระบวนการเผาผลาญมีผลข้างเคียงคือปล่อยอนุมูลอิสระออกมาด้วย อนุมูลอิสระมีประโยชน์ในการจัดการกับความเจ็บป่วยบางด้าน ซึ่งไม่สามารถอธิบายตรงนี้ได้หมด แต่สะสมมากๆ มันก็ทำลายเซลล์ ความเร้าร้อนของวิถีนางไมโตฯ จึงสัมพันธ์กับความแก่ของเซลล์ มีบทบาทในการควบคุมวงจรชีวิตและความตายของเซลล์ด้วย

แต่ฤิทธ์เดชนางไม่ได้อยู่เพียงปลายจวักตวัดตะหลิว นางแสนจะอ่อนไหว เป็นตัวรับและตอบสนองต่อฮอร์โมนต่างๆ เราพบตัวรับสัญญานของนางในเซลล์อวัยวะต่างๆ รวมทั้งในหัวใจและสมองด้วย นางเป็นเจ้าเรือนคู่ครองที่เราควรดูแล ไม่ให้เหวี่ยงให้วีนเครียดเกินไป

ย้อนกลับไปทบทวนบทความในเดือนก่อนๆ ผู้เขียนอธิบายถึงประโยชน์ที่เราได้รับจากการออกไปอาบป่า ไปสูดอากาศที่มีประจุไฟฟ้าขั้วลบ สารระเหยจากพืช และจุลชีพดีๆ ที่เป็นมิตรแก่มนุษย์ การออกไปใช้เวลากลางแจ้งกับดงไม้ใบหญ้า จึงเป็นการดูแลไมโตคอนเดรียของเรา สร้างสมดุลย์แก่อนุมูลอิสระและฮอร์โมนในตัว ถ้าให้ดีก็ให้ร่างกายได้สัมผัสดินโดยตรง เช่น เดินเท้าเปล่าบ้าง มือจับดินบ้าง รับประจุไฟฟ้าและจุลินทรีย์ดีๆ จากดิน เอาใจนางพจมานฤิทธิ์มากให้ปรนนิบัติดูแลชายกลางในบ้านทรายทองของเราต่อไป อย่าให้โทรมเร็วนัก

อยากชลอความแก่ ต้องหมั่นพาไมโตคอนเดรียออกไปเดินเล่นในหมู่ดงไม้

เรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ของไมโตคอนเดรียในตัวเรากระตุ้นจินตนาการของนักเขียนหลายคน นำไปสร้างเป็นนิยายไซไฟหลอนๆ ประเภทคนถูกจิตสำนึกของไมโตคอนเดรียเข้าครอบครองบงการ เช่น เรื่อง A Wind in the Door และนิยายญี่ปุ่นเรื่องนางอีวาปรสิต หรือ Parasite Eve

อีกหลายคนมองว่าไมโตคอนเดรียมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติในมิติของคลื่นพลังงาน ในเรื่องสตาร์วอร์ จอร์จ ลูคัส ได้แรงบันดาลใจจากไมโตคอนเดรีย สร้างตัวมิดิคลอเรียนส์ขึ้นมาแทน บอกว่ามันเป็นอะไรที่คล้ายๆ กับไมโตคอนเดรีย มีบทบาทสัมผัสและรับพลังจักรวาล The Force ยิ่งมีมิดิคลอเรียนส์มาก ศักยภาพในการรับพลังยิ่งสูง พวกเจไดมีกันราว 2,500 ตัวต่อเซลล์ แต่อานาคิน สกายวอล์คเกอร์ หรือดาร์ค เวเดอร์ มีเจ้ามิดิคลอเรียนส์นี่ถึง 20,000 ตัวต่อเซลล์

อย่าเพิ่งด่วนปัดว่าเป็นเรื่องเพ้อเจ้อไปหมด ก็องค์ประกอบส่วนใหญ่ในอะตอมไม่ใช่สสาร แต่เป็นความว่างเปล่าและคลื่นพลังงาน

ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา เรามีหลักฐานข้อมูลจากงานวิจัยต่างๆ มากขึ้นที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางกายภาพของเรากับสรรพสิ่งในธรรมชาติ ตอกย้ำว่าเราต้องมีเวลาอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติและนานาชีวิตต่างสายพันธุ์ร่วมโลก หากเราจะมีสุขภาพกายที่ดี

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับธรรมชาติมันลึกซึ้งกว่านั้น แม้ทุกวันนี้เราจะไม่คิดว่าเราต้องการธรรมชาติอะไรนักหนา เพราะชีวิตผู้บริโภคของเราดูเผินๆ ก็ไม่ต้องอาศัยความใส่ใจใยดีหาความรู้อะไรกับธรรมชาติมากนัก แต่วิวัฒนาการของร่างกายเราปรับตัวช้ากว่าวัฒนธรรมติดเทอร์โบ วิถีชีวิตเปลี่ยนแล้ว แต่ร่างกายยังไม่เปลี่ยน

Edward Wilson นักนิเวศวิทยาชื่อดัง ผู้ประดิษฐ์คำว่า “ความหลากหลายทางชีวภาพ” และทำให้สังคมโลกเริ่มหันมาสนใจให้ค่ากับมัน เชื่อว่ามนุษย์มีจิตปฏิพัทธ์ใฝ่หาธรรมชาติ ถวิลหาความสัมพันธ์กับชีวิตอื่นๆ มันเป็นสัญชาตญานของเรา เป็นความทรงจำที่ฝั่งลึกอยู่ในดีเอ็นเอของเราจากกระบวนการวิวัฒนาการ ซึ่งก็หมายถึงวิวัฒนาการของไมโตคอนเดรียด้วย เขาตั้งชื่อทฤษฏีความสัมพันธ์นี้ว่า biophilia แปลอย่างประดักประเดื่อได้ว่า “ความใฝ่หาชีวภาพ”

เดือนหน้าจะเริ่มสำรวจเบาะแสข้อมูลเรื่องนี้และผลกระทบต่อสุขภาพจิตเรา

ระหว่างนี้ อย่าลืมพาไมโตคอนเดรียไปอาบป่าชมสวน นางไม่ใช่สาวไฮโซชอบห้าง นางยังรักบ้านเดิม


กรุงเทพธุรกิจ, กรกฎาคม 2559

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share