in on February 4, 2022

ระยะแห่งการให้เกียรติ

read |

Views

เมื่อการคืนดีกับธรรมชาติเป็นวาระสำคัญของสังคมโลก ฉันจึงเริ่มจัดคอร์ส Nature Connection 101 เป็นคอร์สพื้นฐานสั้นๆ สองวันครึ่งของมูลนิธิโลกสีเขียวให้ผู้คนได้พัฒนาแนวทางที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับธรรมชาติและสรรพชีวิตร่วมโลกรอบตัว

ครั้งล่าสุดที่จัดไปคือเมื่อสองอาทิตย์ก่อนช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่เชียงดาว

ไม่ได้จะเล่าเรื่องคอร์สทั้งหมดเพราะมันมีรายละเอียดมากมาย แต่อยากจะเล่าเรื่องน้องเพชร (นามสมมุติ)

เธอเป็นเด็กสาวหน้าใสอายุ 15 ที่บอกว่าตลอดชีวิตของเธอ เธอเห็นแต่สัตว์หนีเรา พวกมันตีห่างจากมนุษย์เสมอ

เด็กรุ่นเธอเติบโตมาในภาวะที่มนุษย์เป็นตัวน่ากลัวน่ารังเกียจแก่ปวงสัตว์มันเป็นภาวะที่ทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวโดยไม่รู้ตัว เพชรไม่ได้บอกว่าเธอเหงาหรือเศร้า แต่มันน่าสนใจว่าเธอสังเกตและพูดถึงปรากฎการณ์นี้ขึ้นมาเอง

อย่างไรก็ตาม ฉันออกจะดีใจที่เพชรพูดเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะกิจกรรมสุดท้ายในคอร์สเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้พอดี

สัตว์ไม่เหมือนกับต้นไม้ที่เราปฏิสัมพันธ์กันในวันแรกของคอร์ส มันวิ่ง มันบินหนีเราได้ ถ้าเราอยากจะเข้าใกล้สัตว์ เราต้องทำให้มันรู้สึกสบายใจกับเรา

ถ้าถามช่างภาพสัตว์ป่าอย่างคุณเต สมิทธิ์ สุติบุตร์ เขาจะบอกว่าเราต้องทำตัว “ต่ำช้า”คือย่อตัวเรี่ยเตี้ยติดดินและเคลื่อนไหวให้ช้าที่สุด ค่อยๆ คืบค่อยๆ เถิบ บางทีช่างภาพสัตว์ป่าเหล่านี้ใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อคืบเพียง 10 เมตร

แต่ไม่ว่าเราจะขยับช้าอย่างไร เมื่อสัตว์เห็นเราแล้ว เราจะต้องสังเกตว่ามันสบายใจกับเราในระยะไหน และเราต้องเคารพมัน ไม่พยายามล้ำเกินเส้นนั้น

อินเดียนแดงเรียกว่า“ระยะที่ให้เกียรติกัน”

พี่เชน ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ เรียกว่า “ระยะที่ได้รับอนุญาต”เป็นคำเรียกที่กลั่นกรองมาจากประสบการณ์ตรงสุดๆ เมื่อพี่เชนประจันหน้ากับเสือ มันครางคำราญเตือน แต่พี่เชนก็ค่อยๆ ก้าวเข้าไปอีกหนึ่งก้าวพร้อมกล้องในมือ มันเป็นก้าวที่ยังไม่ได้รับอนุญาต เสือจึงกระโจนเข้าใส่

เรื่องราวต่อมาเป็นอย่างไร ไปหาหนังสือพี่เชนอ่านต่อได้เอาเอง

ฉันเคยทดลองกับนกกระเรียน (ซึ่งปลอดภัยกว่าเสือมากนัก) ฉันลองเดินช้าๆ ตัวโด่ๆ ไม่ต่ำเตี้ยเข้าหามัน มันก็รู้ และปล่อยให้เดินเข้าไปจนถึงระยะสิบกว่าเมตร จากนั้นทุกก้าวที่ฉันก้าว มันจะก้าวออก รักษาระยะสิบกว่าเมตรนั้นไว้ นั่นคือระยะที่มันอนุญาตให้ในขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม ในการเข้าถึงระยะที่ให้เกียรติ นอกจากจะเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ แล้ว พลังงานที่เราส่งออกไปก็สำคัญ เราจะต้องไม่ล็อกเป้าพุ่งตรงเข้าหามัน เพราะจะเป็นแรงปรารถนาน่าตกใจ

รุ่นพี่คนหนึ่งที่ถูกส่งไปเรียนฟินนิชชิ่งสกูลขัดเกลากุลสตรีที่สวิสเซอร์แลนด์เคยเล่าให้ฟังถึงการเรียนจับผู้ชาย โรงเรียนเขาสอนว่าถ้าเห็นชายหนุ่มที่อยากได้ในงานปาร์ตี้ เธอจงอย่าแสดงความสนใจเขา แต่ให้ใส่ใจโปรยเสน่ห์กับทุกๆ คนในห้องยกเว้นชายหนุ่มคนนั้น แล้วเขาจะสนใจเธอเอง

ก็ไม่แน่ใจว่าเกมจับผู้ชายใช้ได้ดีแค่ไหน แต่ทั้งสัตว์และผู้ชายก็คงคล้ายๆ กันที่พร้อมจะเผ่นเมื่อสัมผัสกับแรงพุ่งที่เข้มข้นเกินไป

การเข้าหาต้องช้าอย่างผ่อนคลายและนิ่มนวล อ้อมค้อมบ้างไรบ้าง

ในแบบฝึกหัดนี้ ผู้เรียนต้องหัดใช้หลายเทคนิคที่ฝึกมาตลอดคอร์สเพื่อเข้าหาสัตว์ ให้ดีควรเป็นสัตว์ที่หนีเก่งอย่างนกและแมลงปอ เริ่มตั้งแต่เปิดใจรับสารจากธรรมชาติ เปิดเรดาร์รับรู้ทิศทางที่ควรไป เดินเบาอย่างหมาจิ้งจอก มองกว้างด้วยหางตาอย่างนกฮูก จนเมื่อเจอสัตว์ที่อยากเจอ ก็ให้ประสานใจต่อกัน ทักทายและแนะนำตัวในใจ พร้อมกับสังเกตและเคารพระยะที่ต้องให้เกียร์ติกันเพื่อสร้างมิตรภาพ

หลายคนพบว่าเมื่อต่อใจกันได้ ระยะที่อนุญาตจะค่อยๆ ลดลง แมลงปอบางตัวลงมาเกาะมือ บางตัวมาบินมองหน้าตาต่อตา บางคนได้รับประสบการณ์พิเศษในความสัมพันธ์กับสัตว์ที่วิเศษจนฉันไม่สามารถเล่าตรงนี้อย่างสั้นๆ ให้เชื่อได้

สำหรับน้องเพชร จริงๆ แล้วเธอค่อยๆ สะสมประสบการณ์เข้าใกล้สัตว์มาตลอดสองวันในคอร์ส เป็นที่มาของการเอ่ยประโยคในต้นเรื่อง เพื่อบอกว่าที่นี่เป็นที่แรกที่เธอพบสัตว์อยู่ใกล้ๆ คน เมื่อให้ทำแบบฝึกหัดนี้ เธอจึงเดินไปยังต้นไม้ที่เห็นมีนกอยู่หลายตัว พอเธอไปถึง พวกมันก็ถอยกันไปอยู่ในพุ่มด้านใน น้องเพชรจึงนั่งลงอยู่เงียบๆ ตรงนั้น แล้วนกก็ค่อยๆ ขยับออกมา จนมาอยู่ตามกิ่งริมนอกรอบๆ ตัวเธอ รักษาระยะแต่ไว้วางใจ

มันทำให้เธอปิติสุข

มันเป็นภาวะที่ต่างจากอาการสโนว์ไวท์ของคนที่ไฝ่ฝันอยากเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์แสนดีของสรรพสัตว์ ตระเวนป้อนอาหารกระรอกตามสวนสาธารณะจนสัตว์เชื่อง เสียนิสัย บางทีก็เสียสุขภาพ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเพชรได้การยอมรับจากสัตว์ในโลกของมัน ภายใต้กติกาของมันเอง ไม่ใช่ในฐานะสัตว์เลี้ยงที่ผู้ให้อาหารคุมอำนาจศูนย์กลาง

ไม่มีใครเป็นชีวิตอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว เราล้วนพึงพาโยงใยกัน ความสัมพันธ์ระหว่างเราซับซ้อนกว่าแค่การถ่ายทอดพลังงานผ่านอาหารและลมหายใจอย่างที่เราเรียนในชั่วโมงวิทยาศาสตร์ แต่เรายังโยงใยกันด้วยพลังงานละเอียดของจิตใจ เมื่อเราเป็นที่ยอมรับจากชีวิตอื่น เราได้กลายเป็นหนึ่งในสมาชิกของสังคมวิเศษมหัศจรรย์ที่เรียกกันอย่างแห้งแล้งว่าระบบนิเวศ เราจึงเติมเต็ม

ฉันตั้งใจเก็บแบบฝึกหัดนี้ไว้เป็นกิจกรรมท้ายสุดของคอร์ส เพราะมองว่าถ้าชีวิตที่สามารถเผ่นหนีเราได้ยอมรับการปรากฎตัวของเรา เราโอเคแล้ว ได้บัตรสมาชิกโลกแล้ว

สมาชิกมนุษย์ไม่กี่คนส่งต่อถ่ายทอดกันในสังคมมนุษย์ กลายเป็นฐานรากของวัฒนธรรม มหาตมะคานธีพูดไว้โดนใจเหลือหลายว่า “ความยิ่งใหญ่ของชาติประเมินได้จากวิธีที่คนปฏิบัติต่อสัตว์”ความไว้วางใจที่สัตว์มีต่อเราเป็นตัวบ่งชี้ความเจริญของมนุษยชาติที่สำคัญตัวหนึ่ง (อีกตัวหนึ่งคือความไว้วางใจในหมู่มนุษย์เอง อินเดียอาจดีงามในการอยู่ร่วมกับสัตว์ แต่ยังต้องปรับปรุงมากมายในมิติระหว่างคนที่เหลื่อมล้ำมหาศาลในการแบ่งปันทรัพยากร)

ระยะห่างระหว่างคนและสัตว์หนีได้อย่างนกจึงเป็นไม้วัดที่น่าสนใจ เพราะพฤติกรรมของคนในสังคมประทับความทรงจำในหมู่สัตว์ ที่ไทเปเราถ่ายภาพนกได้ด้วยมือถือห่างกันแค่เมตรเดียว ที่ลาวระยะห่างถ่างออกไปหลายสิบเมตร มันบอกอะไร?

ลองสังเกตกันดูว่าในเมืองไทยระยะนั้นห่างแค่ไหน ทำไมเด็กรุ่นน้องเพชรจึงไม่มีประสบการณ์เข้าใกล้สัตว์ในธรรมชาติจนอายุ 15 ปี?

เริ่มต้นด้วยสังเกตและเคารพระยะให้เกียร์ติกัน เมื่อมิตรภาพพัฒนาขึ้น มันจะกระเถิบใกล้ขึ้นมาเอง

 


กรุงเทพธุรกิจ

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share