ช่วงปีสองปีมานี้ความนิยมวิ่งเทรลพุ่งสูงอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน วัดจากยอดสมัครในการวิ่งรายการสำคัญที่เหล่านักวิ่งแฟนพันธุ์แท้ยอมนั่งเฝ้าหน้าจอรอกรอกใบสมัครออนไลน์ตอนเที่ยงคืนเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่พลาด ล่าสุดรายการ The North Face 100 ในวันแรกของการรับสมัครมีผู้สมัครถึง 1,600 คน คิดเป็น 50 เปอร์เซนต์ของจำนวนที่รับทั้งหมด และการวิ่งระยะสั้น 10 กิโลเมตร และ 25 กิโลเมตรเต็มอย่างรวดเร็ว
คนทั่วไปอาจสงสัยว่าทำไมวิ่งเทรลจึงกลายเป็นการวิ่งยอดนิยม ทั้งๆ ที่เป็นการวิ่งที่ยากลำบาก เพราะต้องวิ่งในสภาพพื้นที่ที่ขรุขระและสูงชัน ระยะทางหลายสิบกิโลเมตร กินเวลาข้ามวันข้ามคืน บางสนามวิ่งกันถึง 200 ไมล์หรือ 500 กิโลเมตรหรือหลายวันหลายคืน
เมื่อถามไถ่นักวิ่ง มักได้คำตอบใกล้เคียงกันว่า การวิ่งเทรลคือ “ความฝันขั้นกว่า” ของนักวิ่งผู้รักความท้าทาย สันติ ยิ่งแก้วหรือ ปุ๊ ชายหนุ่มที่ทำงานในองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผู้หลงไหลการออกกำลังกายอย่างเข้มข้นและหลากหลาย ทั้งชกมวย ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ การเดินป่า และการวิ่งประเภทต่างๆ บอกว่า สำหรับเขาการวิ่งเทรลคือการต่อยอดและเสริมทักษะความแข็งแกร่งทางกายและใจขั้นสูง แม้เขาจะเคยผ่านการลงแข่งขันไตรกีฬาที่ต้องใช้ทั้งทักษะว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และวิ่งประกอบกัน แต่ยังไม่กล้าลงวิ่งเทรล เพราะต้องฝึกการวิ่งในทางชันให้มากกว่านี้
ด้านอานนท์ นาคนงนุช หรือมังกร หนุ่มออฟฟิศผู้มีหัวใจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เคยเข้าร่วมการวิ่งเทรลหลายสนามบอกว่า การวิ่งเทรลแตกต่างจากการวิ่งทางเรียบตรงที่มีภูมิประเทศหลากหลาย ทั้งภูเขาและต้นไม้ อากาศจึงดีกว่า เขาเบื่อการวิ่งทางเรียบจึงหันมาวิ่งเทรล เริ่มวิ่งระยะทาง 30 กิโลเมตร โดยใช้วิธีวิ่งบ้างเดินบ้าง ถ้าเหนื่อยมากก็หยุดเดิน และไม่มีตารางฝึกฝนที่แน่นอนเหมือนนักวิ่งเทรลมืออาชีพ บางคนให้สมญานักวิ่งแบบนี้ว่า “สายฟรุ้งฟริ้ง”
เมื่อย้อนไปดูการวิ่งเทรลในบ้านเราพบว่าผู้จัดมักเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์กีฬาชื่อดัง โดยจัดงานต่อเนื่องมาหลายปีในเส้นทางเดิม นักวิ่งกลุ่มเก่าจึงเริ่มมองหาสนามที่แตกต่างและแปลกใหม่ เมื่อผสมกับกระแสการวิ่งออกกำลังกายและกระแส “ออกสู่ธรรมชาติ”ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างหนาแน่นจากนักวิ่งกลุ่มใหม่จึงเริ่มมีการเปิดเส้นทางวิ่งเทรลใหม่ๆในพื้นที่ป่าเขาซึ่งกลายเป็นเป็นกระแสร้อนมาตั้งแต่ปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปีนี้เนื่องจากบางเส้นทางวิ่งเข้าไปในเขตป่าที่มีความอ่อนไหวทางระบบนิเวศเช่นเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและพรรณไม้ต่างๆ
ปีนี้เส้นทางวิ่งเทรลในป่าที่ถูกกล่าวขานและสร้างวิวาทะระหว่างคนอนุรักษ์ป่าและนักนิยมวิ่งเทรลมากที่สุดคือเส้นทางตะนาวศรี ในเขตอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ที่ผู้จัดโฆษณาความพิเศษของเส้นทางนี้ไว้ว่า “คุณจะต้องไต่ขึ้นภูเขาถึง 2 ลูก ซึ่งมีความสูงถึง 1,127 เมตรจากระดับน้ำทะเล ระหว่างทางคุณจะได้สัมผัสธรรมชาติอย่างแท้จริง ต้นไม้น้อยใหญ่ที่เขียวขจี ร่มรื่น เสียงหมูป่าที่ได้ยินมาเป็นระลอก เสียงลำธาร น้ำไหลจากน้ำตก 9 ชั้น คุณจะได้รองน้ำธรรมชาติที่สะอาด บริสุทธิ์ดื่ม ซึ่งผ่านการตรวจวัดมาตรฐานแล้วว่าสามารถดื่มได้อย่างปลอดภัย มีสะพานไม้ไผ่ให้คุณข้ามอย่างตื่นเต้น เมื่อสามารถเดินขึ้นไปถึงยอดเขาแหลมแล้ว จะได้สัมผัววิวบนยอดเขาแบบ 360 องศา”
แน่นอนว่าเหล่านักวิ่งล้วน “ฟิน” ในความอุดมสมบูรณ์และความงามของธรรมชาติ ทว่าผลที่ตามมากลับทำให้ทั้งนักอนุรักษ์และนักวิ่งที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ พื้นที่นี้อยู่ในการดูแลของกรมธนารักษ์ ซึ่งต่อมาจัดทำเป็นอุทยานธรรมชาติวิทยา แรกเริ่มเดิมทีทางฝ่ายอุทยานธรรมชาติวิทยาให้เหตุผลการเปิดเส้นทางวิ่งนี้ว่าเพื่อใช้การวิ่งเป็นการทำแนวกันไฟไปด้วยในตัว แต่ข้อความและคลิปวิดีโอในเฟสบุคของทัศน์พล ฅนพิทักษ์ป่า เผยให้เห็นว่าการเปิดเส้นทางวิ่งเทรลรบกวนแหล่งอยู่อาศัยของสัตว์ป่าสงวนอย่างเลียงผาและกวาง เป็นการเปิดเส้นทางให้เหล่าพรานป่าออกล่าสัตว์ได้ง่ายขึ้น และฤดูแล้งที่ผ่านมาไฟป่าก็ยังคงเผาผลาญสองข้างทางอยู่ดี ดูเพิ่มเติมที่นี่ >>> คลิ๊กเพื่อเปิดวีดีโอ
อีกหนึ่งเส้นทางวิ่งเทรลที่เหล่านักวิ่งกล่าวขานในเชิงลบมากที่สุดแห่งปีคือเส้นทางหมู่บ้านคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช ด้วยเป็นที่รู้กันว่าคีรีวงเป็นหมู่บ้านที่อากาศดีที่สุดในประเทศไทย ที่นี่จึงเป็นเป้าหมายของนักวิ่งเทรลทั่วประเทศ แต่ก่อนการวิ่งจะเริ่มขึ้นก็มีกระแสต่อต้านจากคนในพื้นที่ว่าเป็นการวิ่งในสวนผลไม้และเส้นทางสัญจรของชาวบ้านโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากชุมชน ตามมาด้วยการโพสต์ข้อความการแสดงความไม่พอใจความไม่พร้อมของผู้จัด (ดูเพิ่มเติมที่นี่ >>> อ่านเพิ่มเติม) แม้การวิ่งจะผ่านไปได้เมื่อปลายกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ตามเวบเพจต่างๆ ก็ยังมีนักวิ่งเข้าไปแสดงความเห็นในเชิงความไม่เหมาะสมของพื้นที่และความไม่เป็นมืออาชีพของผู้จัดอย่างคึกคัก (ดูเพิ่มเติมที่นี่ >>> อ่านรายละเอียด)
มังกรในฐานะผู้วิ่งในเส้นทางตะนาวศรีให้ความเห็นว่าเขาตัดสินใจลงวิ่งในสนามนี้เพราะทางผู้จัดให้ข้อมูลว่าเป็นการวิ่งเพื่อทำเส้นทางกันไฟป่าและเมื่อวิ่งแล้วก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับป่าที่อุดมสมบูรณ์แต่ต่อมาเมื่อรู้ว่าการวิ่งครั้งนั้นเป็นการรบกวนที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าก็ตกใจและรู้สึกผิดและคิดว่าจะไม่ลงวิ่งในสนามนี้อีกส่วนที่สนามคีรีวงเขาลงสมัครเพราะจากสื่อโฆษณาทำให้เข้าใจว่าทางผู้จัดพูดคุยและได้รับความเห็นชอบจากคนในพื้นที่แล้วแต่เมื่อมีข่าวคัดค้านก็ตัดสินใจไม่ไปวิ่ง
“นักวิ่งต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วมกับผู้จัด ไม่ใช่ว่าจ่ายเงินค่าวิ่งแล้ว เมื่อเกิดอะไรขึ้นก็ให้ผู้จัดเป็นผู้รับผิดชอบ หากไม่แน่ใจเรื่องเส้นทางว่าจะทำลายธรรมชาติหรือไม่ก็ไม่ควรเข้าร่วมตั้งแต่ต้น เพราะธรรมชาติใช้เวลาสร้างตัวขึ้นมานับร้อยปี พอเราเข้าไปวิ่งครั้งเดียว อาจต้องใช้เวลาฟื้นฟูอีกหลายปี” มังกรกล่าว
ยังมีเส้นทางวิ่งเทรลในป่าที่ถูกกล่าวถึงอีกหลายเส้นทางที่ไม่ได้หยิบยกมาพูดในที่นี่และหากเข้าไปดูความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์มักจะเห็นการตอบโต้กันไปมาระหว่างนักวิ่งเทรลมีอ้างว่าการวิ่งเทรลในแต่ละเส้นทางวิ่งกันแค่ปีละหนสองหนและหากสร้างผลกระทบกับป่าก็ไม่แตกต่างจากการเดินป่าหรือการตะลุยของรถออฟโรดแต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือเมื่อนักวิ่งเทรลนับพันคนวิ่งในเส้นทางแคบๆในช่วงเวลาเดียวกันขนาดของการรบกวนและทำลายล้างย่อมใหญ่กว่า
วิธีแก้ปัญหาคงไม่ใช่การสาดโคลนกันไปมาว่าใครทำลายธรรมชาติมากกว่ากัน แต่น่าจะเป็นการร่วมมือกันระหว่างผู้จัด นักวิ่งและเจ้าของสถานที่ในการวางแผนเลือกเส้นทางที่เหมาะสม และมีการจัดการเพื่อให้เส้นทางนั้นๆ ตอบโจทย์นักวิ่งที่ต้องการความตื่นเต้นและท้าทาย ขณะเดียวกันก็รบกวนธรรมชาติและชุมชนให้น้อยที่สุด
ถามว่าการวิ่งเทรลที่ดีควรเป็นอย่างไร ผู้จัดมืออาชีพอย่างกลุ่มวิ่งเทรลรอเชสเตอร์ นิวยอร์ค (#TrailsRoc) มีกฏกติกาที่เคร่งครัดเพื่อดูแลปกป้องเส้นทางวิ่งให้อยู่ในสภาพเดิม เช่น ไม่จัดเตรียมแก้วน้ำที่จุดบริการน้ำ นักวิ่งต้องนำขวดมาเติมน้ำเอง ส่วนจุดบริการอาหารจะเลือกอาหารที่ใช้บรรจุภัณฑ์น้อยที่สุด และมีช่วงเวลาพูดคุยกับนักวิ่งเรื่องการใช้ทางวิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่วิ่งลงไปข้างทาง ไม่ทิ้งขยะระหว่างทาง เพราะการคาดหวังให้คนหลายพันคนมีจิตสำนึกรักษาสิ่งแวดล้อมมาจากบ้านเหมือนๆ กันนั้นเป็นเรื่องยาก จึงต้องกำหนดกฏกติกาและบอกเล่าเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญ อย่างไรก็ตามผู้จัดยอมรับว่ายิ่งนักวิ่งมากเท่าไรโอกาสที่จะทำลายเส้นทางก็จะเพิ่มมากขึ้น เพราะนักวิ่งที่วิ่งเร็วมักจะวิ่งแซงคนวิ่งช้าโดยออกไปจากเส้นทางที่กำหนดไว้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือการมีทีมงาน “เก็บกู้” เพื่อทำให้เส้นทางวิ่งอยู่ในสภาพเดิมเหมือนก่อนวิ่งให้เร็วที่สุด ไม่ใช่วิ่งเสร็จแล้วก็ปล่อยให้ธรรมชาติหรือคนในชุมชนดูแลกันเอง
มันเจ๋งมากนะ หากเราสามารถบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายไปพร้อมๆ กับการไม่ทำร้ายหรือทำลายต้นไม้ใบหญ้าและสรรพชีวิต