in on May 17, 2016

ศรัทธาเหนือราคาสัตว์

read |

Views

เมืองหลวงและเมืองบริวารที่มาเลเซียกำลังขยับขยายตัวโดยมีการก่อสร้างทั้งอาคารสูงบ้านเรือนและถนนหนทางที่จะต้องมารองรับการขยายตัวแม้ว่าผังเมืองของหมู่บ้านใหม่ๆเหล่านี้จะถูกออกแบบมาค่อนข้างดีในสายตาของคนที่มาจากกรุงเทพที่โตแบบตามใจฉัน” ด้วยว่าเมืองใหม่ที่สร้างแต่ละแห่งมีการออกแบบให้มีทั้งโรงเรียน ร้านค้าซุปเปอร์มาร์เก็ต ธนาคาร คลีนิค ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น ที่จะอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันแก่ผู้อยู่อาศัยทำให้ไม่ต้องเดินทางข้ามไปยังพื้นที่อื่นๆเพื่อกิจธุระเหล่านั้น

แต่แม้ว่าจะออกแบบมาดีอย่างไร ก็สร้างความหวั่นวิตกให้แก่นักอนุรักษ์และผู้ที่เป็นห่วงเป็นใยสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าไม่ได้ เพราะยิ่งโครงการเหล่านี้อยู่ห่างจากเมืองเดิมๆ มากเท่าไหร่ การตัดถนนและทางหลวงสายใหม่ก็จะเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข่าวล่าสุดที่เสือถูกรถชนตายบนทางหลวงเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สะเทือนใจและสะเทือนวงการอนุรักษ์ และหนักมากเมื่อพบว่าเสือตัวนั้นกำลังจะกลายเป็นแม่เสือ เพราะกำลังตั้งท้องอยู่ ความหวังที่จะเห็นการเพิ่มจำนวนเสือในมาเลเซียซึ่งกำลังดิ่งลงใกล้การสูญพันธุ์ จึงดับวูบไปต่อหน่าต่อตา ขณะนี้ คะเนกันว่ามีเสืออยู่ในป่าตามธรรมชาติราวๆ 250 – 340 ตัวและมีการประชดประชันกันไว้ล่วงหน้าว่าเมื่อถึงเวลาที่เสือสูญพันธุ์ไปจากมาเลเซียเมื่อนั้นอาจต้องมีการเปลี่ยนตราประจำประเทศ

ส่วนสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่น่าเป็นห่วงตามมาติดๆ ก็คงไม่พ้นเจ้าสมเสร็จที่มีเหลืออยู่ประมาณ 1,100-1,500 ตัว ตามข้อมูลที่รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออกมาแถลงเมื่อต้นเดือนเมษายนนี้ ที่น่าสนใจคือในแผนแม่บทฉบับที่ 11 ปี 2016 ถึง 2020 ได้ระบุงบประมาณในการอนุรักษ์ไว้ถึง 1.18 ล้านริงกิต โดยเน้นไปที่การป้องกันอุบัติเหตุบนทางหลวงที่เกิดขึ้นกับสมเสร็จ เพราะในช่วงระหว่างปี 2010 ถึง 2015 มีสมเสร็จถูกรถเฉี่ยวชนตายมากถึง 35 ตัว

นอกจากการขยายเมืองที่เป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์ป่าลดจำนวนลงแล้ว ก็ยังมีกลุ่มผู้ลักลอบจับสัตว์ป่าไปขายที่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สัตว์ป่าลดจำนวนลงอย่างฮวบฮาบ อย่างเช่น ตัวนิ่มหรือลิ่น ที่มีข่าวถูกลักลอบจับขายมากเป็นอันดับต้นๆ ทีเดียว โดยพบว่าในแต่ละปี มีตัวนิ่มไม่น้อยกว่า 1 แสนตัว ที่ถูกจับจากป่าในเอเชียและแอฟริกา ส่งไปขายให้ผู้บริโภคบางกลุ่มที่เชื่อว่าเกล็ดของตัวนิ่มสามารถนำมาใช้รักษาโรคต่างๆ ได้มากมาย ตั้งแต่เป็นสิวที่หน้าไปจนถึงมะเร็ง ทำให้ตัวนิ่มทั้ง 7 สายพันธุ์ที่พบทั่วโลก (เอเชีย 4 สายพันธุ์ แอฟริกา 3 สายพันธุ์) กระโดดขึ้นไปอยู่บนบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red List of Threatened Species) ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์โดยพร้อมเพรียง

Screen Shot 2559-05-17 at 3.39.30 PM

ส่วนสัตว์ปีกอย่างนกก็น่าเป็นห่วงไม่น้อยไปกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เล่ามา อย่างเช่น นกกระจาบธรรมดา ที่นอกจากจะถูกขโมยรังอันแสนสวย มาขายให้คนที่ชอบซื้อบ้านคน (ตัวอื่น มาแขวนประดับบ้านตัวเองแล้ว ตัวนกเองก็ถูกจับมาเป็นสัตว์เลี้ยงด้วยเช่นกัน เพราะเชื่อกันว่านกจะนำโชคลาภมาสู่เจ้าของ โอวอะไรคนเราจะหมดหนทางสู้ชะตาชีวิตของตัวเองถึงขนาดต้องพึ่งนกตัวน้อยๆ ขนาดนั้น ข้อมูลที่ทางกระทรวงทรัพยากรฯ ของมาเลเซียแจ้งไว้คือ ระหว่างปี 2012 ถึง 2015 นั้น มีการจับนกกระจาบไปขายมากถึง 739 ตัว และในปี 2016 นี้ ก็มีการจับนกเป็นของกลางได้ถึง 1,500 ตัว

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ มีสาเหตุมาสะกิดใจจากครั้งที่ผู้เขียนไปเที่ยวอินเดียตอนใต้ รัฐทามิลนาดู เมื่อ กลางเดือนมีนาคม นอกจากจะสนุกสนานไปกับการพาเด็กๆ เที่ยวและกินอย่างอินเดียแล้ว ยังสะดุดใจจากเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศรัทธาแห่งศาสนาและการอนุรักษ์ด้วย

ครั้งหนึ่ง นั่งรถบัสรอบเช้าจากเมืองมาดูไร (Madurai) ไปยังเมืองกันยากุมารี (Kanyakumari) ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ตรงปลายสุดติ่งของประเทศอินเดีย ระหว่างทาง ผู้เขียนเห็นนกยูงหลายตัวเกาะกิ่งตามพุ่มไม้ข้างทาง บางแห่งก็เห็นเดินอยู่บนลานในป่าโปร่งๆ โล่งๆ เท่าที่ดู ก็ไม่เห็นว่าจะมีใครเป็นเจ้าของ หรืออยู่ในรั้วที่มีขอบเขตว่าเป็นที่เลี้ยง มาได้ความทีหลังจากมัคคุเทศก์ที่วัดในเมืองทันจาวูร์ (Thanjavur) ช่วยอธิบายให้กระจ่างว่า เนื่องจากคนอินเดียทางตอนใต้ที่นับถือศาสนาฮินดู จะให้ความเคารพแก่นกยูงที่เป็นหนึ่งในพาหนะของพระศิวะ รวมทั้งนกยูงยังถือเป็นนกประจำชาติที่ทางรัฐบาลประกาศสงวนและห้ามล่า และด้วยแรงศรัทธาแก่กล้าเช่นนี้ นกยูงในธรรมชาติจึงมีให้เห็นได้ทั่วไปตามถิ่นที่เหมาะแก่การอาศัย ไม่ต้องคอยหลบๆ ซ่อนๆ จากนายพราน

นอกจากนี้ ขณะเดินดูวัดของศาสนาฮินดู นอกจากจะตื่นตากับประวัติความเป็นมาและงานแกะสลักจากหินก้อนใหญ่ๆ ทั้งหลายแล้ว ผู้เขียนก็ยังตื่นเต้นไปกับการที่ได้เห็นนกแก้วโม่ง เกาะอยู่ตามหน้าบันและยอดปราสาทของวัดตั้งหลายแห่ง โดยเฉพาะที่เมืองมาดูไร นกแก้วมีความสำคัญในฐานะที่เป็นสัตว์เลี้ยงของพระแม่มีนัคชี (บางทีก็เขียนเป็นไทยว่า มีนากษี มาจากคำภาษาอังกฤษว่า Meenakshi) ที่ชาวฮินดูเชื่อว่าสามารถขอพรจากพระแม่มีนัคชีช่วยให้ได้พบเนื้อคู่หรือมีบุตรได้นกแก้วที่เกาะอยู่บนไหล่ขวาเป็นสัตว์เลี้ยงประจำองค์และทำหน้าที่ประดุจกามเทพ

แน่นอนว่าความเชื่อและความศรัทธาเหล่านี้ ทำให้เรายังพบนกแก้วโม่งได้ทั่วไปตามวัดต่างๆ ในอินเดีย แม้ว่าพื้นที่รายรอบวัดจะเปลี่ยนไปเป็นบ้านเรือนและร้านค้าแล้วก็ตาม แต่เพราะนกแก้วเหล่านี้ ไม่เคยถูกรบกวนหรือไล่ล่าจากคนที่มาสักการะบูชา วัดจึงกลายเป็นเขตอภัยทานแบบที่ไม่ต้องมีป้ายประกาศ ใครจะเข้าไปจับขายก็คงไม่พ้นโดนรุมจับเองก่อน เพราะถือว่าเป็นการลบหลู่ความศรัทธาที่มีอยู่

ไม่เหมือนกับบ้านเราศรัทธาอย่างไรก็จับได้ ตัดได้ ขายได้ ตราบใดที่มีการตั้งราคาให้กับทุกตัว ทุกชิ้น ทุกกรณี

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: http://www.iucnredlist.org/
ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share