in on February 8, 2017

ศักยภาพแห่งความช้า

read |

Views

มนุษย์สายพันธุ์โฮโมเซเปี้ยนวิวัฒนาการมาบนโลกร่วมสองแสนปี

เราเคลื่อนไหวบนสองขาของตัวเองและสี่ขาของสัตว์พาหนะมาช้านาน กว่าจะหันมาเพิ่มสปีดเดินทางด้วยรถไฟและรถยนต์เมื่อ 100-200 ปีก่อน และเริ่มเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ทมาเมื่อ 60 ปีนี้ จนบินเจ็ทกันทั่วไปเป็นปกติมากๆ ในช่วง 30 ปีหลัง รู้จักภาวะ “เจ็ทแลค” ร่างกายปรับเวลาไม่ได้ไวเท่าการเคลื่อนที่กันเป็นธรรมดา

แต่สปีดของชีวิตมาเปลี่ยนเกียร์พรวดพราดที่สุดในยุคดิจิตอลกับอินเทอร์เน็ตในช่วง 20 ปีหลัง และสุดๆ กับการแพร่หลายของสมาร์ทโฟนในช่วงเวลาเพียง 10 ปีที่ผ่านมาเท่านั้นเอง

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสปีดวิถีชีวิตชนิดก้าวกระโดดลิ่วที่เกิดขึ้นในระยะเวลาไม่ถึงชั่วชีวิตคน เป็นปรากฏการณ์ที่หลายคนกำลังสนใจและพูดถึง มันเปลี่ยนวัฒนธรรมและการทำงานอย่างรวดเร็วจนคนจำนวนมากรับมือไม่ได้ ปรับความคิดไม่ทัน เกิดความเครียดความกลัวไปทั่วโลกอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน จนเกิดปฏิกิริยาพยายามยื้อยุดฉุดสังคมไม่ให้แปรเปลี่ยนไปจากสิ่งที่คุ้นชิน

แต่ถ้าเราคิดว่าวิถีชีวิตเปลี่ยนเร็วจนคิดตามไม่ทัน ทั้งๆ ที่ความคิดนั้นรวดเร็วได้กว่าสายฟ้าแลบ ก็อยากชวนพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของเราเอง ความแตกต่างระหว่างสปีดการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตกับสปีดการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยายิ่งห่างไกลกันมากมายหลายดีกรี ร่างกายเราวิวัฒนาการมากับวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับธรรมชาติรอบตัว ดำเนินไปในอัตราความเร็วหนึ่งมาเป็นเวลาเกือบสองแสนปี พลันเจ้าร่างกายแบบเดิมต้องใช้ชีวิตในอีกวิถีหนึ่ง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเราจะปรับตัวได้ไม่ทัน

คำว่า “ปรับตัว” ในที่นี้หมายถึงการปรับตัวทางชีวภาพ ไม่ใช่ปรับตัวทางความคิดและพฤติกรรม เป็นการปรับตัวที่เราจัดการเองไม่ได้ ยกเว้นว่าจะจินตนาการออกแบบตัดต่อพันธุกรรมมนุษย์อะไรกันเองในห้องแล็บ

ประเด็นก็คือไม่ว่าเราจะชอบใจหรือไม่ แต่เรายังคงเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง มีพื้นฐานทางชีวภาพที่วิวัฒนาการร่วมกับสรรพชีวิตอื่นภายใต้กฎเกณฑ์ธรรมชาติในโลกนี้

แค่ขึ้นเรือบินเจ็ทเรายังเจ็ทแลค ร่างกายปรับเวลาไม่ได้ นับประสาอะไรกับการเปลี่ยนแปลงในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

ฉันเคยเขียนไว้ในคอลัมน์นี้ถึงความต้องการทางชีวภาพของเรา ที่พึ่งพิงปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติและชีวิตอื่นๆ แต่วันนี้อยากจะชวนมาสำรวจการทำงานของร่างกายเราเอง

 

เรารู้จักมันดีแค่ไหน?

ทุกคนรู้ดีว่าถ้าไม่ใช้ขานานๆ กล้ามเนื้อขาจะลีบและยืนทรงตัวไม่ได้ แต่เรายังมีอวัยวะอะไรอีกในร่างกายที่ไม่ได้ใช้ขณะจ้องจอกระตุ้นเร้าด้วยสารพัดข้อมูลโฉ่งฉ่าง?

ในโหมดความเร็วจี๋ เราใช้แต่ผัสสะที่หยาบที่สุด โดนชัดที่สุด ยิ่งไปไว ยิ่งรับได้แต่สิ่งเด่นๆ แรงๆ

หลายคนที่หันมาใช้จักรยานแทนรถยนต์พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าชีวิตเปลี่ยนไป มีรายละเอียดมากขึ้น สังเกตเห็นรายละเอียดมากขึ้น สัมผัสได้ถึงชีวิตและสภาพแวดล้อมรอบตัว

แต่ถ้าเราช้าลงไปอีก ศักยภาพในการรับรู้ของเรายิ่งสูงขึ้น เพราะเราละเอียดขึ้น

ไม่กี่ปีมานี้ฉันเริ่มใส่ใจกับความสามารถในการรับรู้ทางกายของตัวเอง จริงๆ ฉันก็ตระหนักมานานแล้วว่าตัวเองสามารถสัมผัสพลังสั่นสะเทือนที่ละเอียดได้ค่อนข้างดี แต่ไม่ได้ใส่ใจกับมันมากนัก เพราะมองไม่เห็นประโยชน์ของมันนอกจากการรับรู้สุขภาพของตัวเอง และนำมาใช้เยียวยาตัวเองได้ แต่พอสังเกตดีๆ ก็พบว่าในบางจังหวะมันให้ข้อมูลของทิศทาง จึงเริ่มสำรวจและทดลอง เลยพบว่าถ้ายืนนิ่งๆ หลับตาตัดสิ่งรบเร้าออกไป และถามในใจว่าควรไปทางไหน สักพักจะปรากฎแรงสั่นสะเทือนยิบๆ แถวไหล่หรือคอด้านไหนด้านหนึ่ง และด้านนั้นจะเป็นทิศที่ถูกต้อง

เมื่อวันก่อนไปอบรมการสัมผัสพลังในธรรมชาติก็ทดลองดูอีก ในช่วงเช้าฉันคุยในคลาสเรื่องบทบาทของสรรพสิ่งในระบบนิเวศ โดยยกตัวอย่างนกปรอดหัวโขน พอตอนบ่ายวิทยากรให้ออกไปพูดคุยกับสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่รู้สึกมีแรงดึงดูดให้เข้าไปหา ฉันก็ออกไปยืนหลับตากลางสนามเพื่อสังเกตว่าร่างกายจะเรียกให้ไปทางไหน ครู่เดียวก็เกิดแรงสั่นสะเทือนยิบๆ ตรงท้ายทอย จึงหันหลังไป มีกอไผ่ ก็เดินไปยังกอไผ่ แล้วพบว่าในกอไผ่มีนกปรอดหัวโขนเกาะอยู่เคียงกันอยู่สองตัว และมันก็เกาะอยู่ตรงนั้นไม่บินหนีไปไหน แม้ฉันจะเดินเข้ามาใกล้ จนกระทั่งลาจากมันไป

ฉันไม่ได้มีพรสวรรค์พิเศษแปลกประหลาดมาจากไหน จริงๆ มันเป็นระบบผัสสะที่ตัวเองเพิ่งเริ่มพัฒนาด้วยซ้ำ ยังอ่อนหัดอยู่มาก มันเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ อวัยวะที่ลีบไปจากการไม่ใช้งานในวิถีชีวิตสมัยใหม่ ผัสสะพวกนี้เป็นเครื่องมือที่ชนเผ่าต่างๆ ที่ยังใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติดึงขึ้นมาใช้ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน

มันกระตุ้นเตือนให้ตระหนักว่าในตัวและรอบตัวเรามีข้อมูลและความรู้ให้เรารับมาพัฒนาปัญญาญาณได้มากมาย เพียงแต่เราต้องช้าลงและนิ่งขึ้น ใจเย็นฝึกฝนมันขึ้นมาใหม่

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ให้ทางออกไว้ในหนังสือ “ปัญญาอนาคต” ว่าการรับมือที่ดีที่สุดในภาวะการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างรวดเร็วนี้ คือการทำความรู้จักตัวเอง ค้นให้เจอถึงศักยภาพในตัวเอง และพัฒนาความถนัดนั้นให้เป็นเลิศ คุณก็จะมีที่ยืนท่ามกลางโลกหมุนเร็วติ้ว

คนทุกคนมีความแตกต่างไม่มากก็น้อยเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เอกลักษณ์นั้นทำให้เรามีบทบาทในนิเวศในสังคม แม้เพียงเล็กน้อยแต่ก็สำคัญ นกชนิดเดียวกัน แต่ปากยาวต่างเพียงครึ่งมิลลิเมตร ก็สามารถจิกผลไม้ในขนาดและรูปร่างจำเพาะได้ต่างกัน

เราเพียงแต่ต้องหยุดนิ่ง ช้าลงบ้างในบางขณะ เพื่อรู้จักตัวเอง เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงด้วยชีวภาพทั้งหมดในร่างกาย

แล้วเราจะค้นพบศักยภาพของตัวเอง

ขอยกบทกวีของ T.S.Eliot “At the still point of the turning world….there the dance is” — ณ จุดนิ่งกลางโลกหมุน..คือการเต้นรำ

ณ จุดนั้นเราดำรงอยู่ได้ในโลกโกลาหล


กรุงเทพธุรกิจ, กุมภาพันธ์ 2560

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share