in on February 2, 2017

สนามเราเล่น

read |

Views

ฉันเพิ่งเคยได้ยินชื่อของคุณคนนี้

“แจ็ก คุก”

คุณคุกเป็นหนุ่มออฟฟิศ ทำงานอยู่ลอนดอน  โชคดีที่จากบนสำนักงานของเขามองเห็นต้นไม้ได้  ไม่ใช่แค่ต้นไม้ มันเป็นสวนสาธารณะทั้งสวน

เมื่อพ้นจากวัยเด็กมา หนุ่มคุกไม่ได้ปีนต้นไม้อีกเลยนาน 20 ปี  เขาคิดว่าที่คนเราหยุดปีนต้นไม้เพราะความอายและความกลัว  ทั้งนี้หมายถึงการปีนแบบอยากปีน ปีนเล่นซน ปีนพักผ่อน ปีนแบบไม่มีจุดประสงค์และอุปกรณ์พิเศษแบบรุกขกรรักษาต้นไม้หรือนักวิจัยซ่อมโพรงให้นกเงือกที่ต้องเรียนวิธีปีนกันโดยเฉพาะ

แต่คุก ผู้เขียนหนังสือ The Tree Climber’s Guide  ได้กลับมาปีนต้นไม้อีกครั้งเมื่อ 3 ปีก่อน เพราะเขาแค่อยากหาที่กินข้าวตอนพักกลางวัน  พอเขาเห็นต้นโอ๊คในสวนสาธารณะที่มีกิ่งไม้ทอดอยู่ต่ำๆ เขาก็เริ่มปีนขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงยอด  ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เขาก็ปีนต้นไม้ทุกวันจนแทบจะเรียกว่าหมกมุ่นทุ่มเท

แต่ในโลกยุคใหม่ ความที่การปีนต้นไม้ไม่ได้เป็นสิ่งธรรมดาสามัญเหมือนการวิ่งออกกำลังกายในสวน และคนก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เมื่อเห็นคนอยู่บนต้นไม้  ตอนแรกที่คุกปีนต้นสนสูง 12 เมตร จึงมีผู้หวังดีช่วยแจ้งตำรวจโดยคิดว่าเขากำลังจะฆ่าตัวตาย

เมื่อปีนต้นไม้ คุกสวมเสื้อผ้าธรรมดาและถอดรองเท้าเพื่อไม่ทำให้ต้นไม้บาดเจ็บเป็นรอย  เขาไม่มีเครื่องป้องกัน ไม่มีสลิง ไม่มีสิ่งใด  มันธรรมดาเหมือนตอนที่เราทุกคนปีนต้นไม้ในวัยเยาว์  ไม่ว่าคุกจะไปเมืองไหน ประเทศใด เขาต้องปีนต้นไม้  เขาบอกว่าไม่ว่าจะเป็นต้นสนในกลาสโกว์ หรือต้นโอ๊คในโรม ต้นไม้ล้วน “เสนอหนทางให้ไต่ขึ้นไป” อยู่เสมอ   หนังสือของเขาไม่ได้พูดแต่วิธีปีนต้นไม้ในเขตเมืองใหญ่ แต่ยังมุ่งให้คนค้นพบ “อินเนอร์ชะนี” ในตัวเองเป็นสำคัญ

คุกค้นพบความสุขของการปีนต้นไม้อีกครั้งจนหยุดไม่ได้ และต้องตกตะลึงเมื่อพบว่าเขาไม่ได้เป็นคนเดียวที่อยากนั่งกินข้าวกลางวันบนต้นไม้  หนหนึ่งเขาพบหนุ่มนักกฎหมายนั่งกินอาหารอยู่บนเรือนยอดไม้เหมือนกัน  ใครๆ ที่ต้องอยู่ในเมืองที่มีแต่ตึกสูง เห็นแต่กระจก โลหะ ปูน ย่อมโหยหาต้นไม้ ที่คุกบอกว่า “เป็นพื้นที่ที่เราปล่อยจินตนาการให้โลดแล่นได้”

ดูคลิปคุกในโลกของต้นไม้ที่ http://www.jjcooke.com/the-trees

แจ็ก คุก ทำให้ฉันย้อนถามตัวเองว่าครั้งสุดท้ายที่ได้ปีนต้นไม้นั่นมันเมื่อไหร่กัน

คนรุ่นฉันยังได้ปีนต้นไม้ตอนเป็นเด็ก  โชคดีที่บ้านชานกรุงเทพฯ ของคุณตาคุณยายมีสวนขนาดเล็กและมีต้นมะขามหวาน มะขามเปรี้ยว และมะม่วงให้เด็กอย่างเราได้ปีน  การได้ปีนต้นไม้ต้องนับเป็นความสุขสมใจเด็กประถมต้น เพราะมันเท่ากับได้ผจญภัยสู่อีกโลกที่ล้อมรอบเราด้วยเปลือกไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ดอกไม้ และมะขามที่เราแกะฝักได้กินทันทีจากบนต้น  มันมีค่าพอๆ กับรอยกัดของมดแดงและรอยถลอกจากการครูดถูกับกิ่งไม้ที่สอนให้เรารู้จักระวังและอดทน ซึ่งนับเป็นเรื่องเล็กน้อยเหลือเกินเมื่อกับความพึงใจ ที่ไม่ใช่เพียงจากทิวทัศน์ที่เด็กเท่านั้นจะได้เห็น แต่มันหมายถึงการที่เราดูแลตัวเองได้ หยั่งรู้ถึงสมดุล รู้จักระมัดระวังตัวเองเมื่อถูก “ปล่อย” ให้ขึ้นไปบนต้นไม้และได้อยู่ในโลกที่พ้นไปจากผู้ใหญ่

การปีนต้นไม้ได้จึงนับว่าเป็นเรื่องเจ๋งของเด็ก  ยิ่งใครปีนได้สูงกว่าหรือปีนต้นที่ยากกว่าได้ ยิ่งเจ๋งเข้าไปอีกร้อยเท่า

แต่เด็กๆ ยุคนี้ไม่ได้โอกาสสัมผัสความเจ๋งดั้งเดิมแบบนั้นอีกแล้ว  เมื่อ 6 ปีก่อน จากการสำรวจของ Planet Ark องค์กรสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลีย พบว่าเด็กจำนวนน้อยกว่า  20% ได้ปีนต้นไม้ และแค่ 1 ใน 10 ของเด็กๆ ได้เล่นนอกบ้านสัปดาห์ละครั้งหรือน้อยกว่านั้น  เด็กๆ ได้รับบาดเจ็บเพราะตกเตียงของตัวเองมากกว่าจากการตกต้นไม้  และเด็กๆ เองก็เลือกเล่นอยู่ในบ้านเพราะมันมีปลั๊กไฟที่ต่อกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และของเล่นต่างๆ ได้

หลายปีที่ผ่านมาผู้ใหญ่ในโลกตะวันตกชักชวนให้เด็กได้ออกมาปีนต้นไม้และเล่นนอกบ้านอีกครั้ง  มีงานวิจัยที่พบว่าการออกไปเล่นนอกบ้านช่วยลดความเครียด ลดความดันเลือด เพิ่มพูนการฟื้นฟูตัวเอง ฯลฯ มากขึ้นเรื่อยๆ  และการปีนต้นไม้ก็ช่วยพัฒนาความเจริญทางกายและการทรงตัว เด็กได้เรียนรู้ความเสี่ยงที่ทำให้รู้จักทั้งความแข็งแรงและข้อจำกัดของตัวเองในคราวเดียวกัน  ที่สำคัญ การปีนต้นไม้ทำให้เด็กเชื่อมตัวเองกับธรรมชาติได้และช่วยให้เด็กค้นพบความสนใจใคร่รู้ในธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ได้

ในบ้านเรา พ่อแม่หลายคนเข้าใจและเห็นว่าการปีนต้นไม้สำคัญกับเด็กเป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์  เด็กสนุกกับการเรียนรู้ด้วยตัวเอง รู้จักวางแผนและเรียนรู้เส้นทางบนต้นไม้ ทั้งที่ปลอดภัยและที่จะได้เห็นวิวที่สวยงาม ได้อยู่ในโลกที่สัตว์บนต้นไม้ได้อยู่และได้เห็น ฯลฯ  อ่านความคิดเห็นที่สนุกสนานและมุมมองของพ่อแม่ที่ยินยอมให้เด็กปีนต้นไม้ได้เต็มที่ที่ >>> http://bit.ly/2kt4qBY

ว่าแต่ใกล้บ้านเรามีต้นไม้ที่พอปีนได้ คะเนดูว่ากิ่งใหญ่แข็งแรงพอไหม น่าจะปลอดภัยดีหรือเปล่า

เผื่อเราที่เป็นผู้ใหญ่จะได้กลับคืนสู่โลกของต้นไม้ และเด็กๆ จะได้ไม่ห่างจากต้นไม้อีกต่อไป

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: เพจ BNS BannaNatureSchool
หอยทากตัวนั้น

เป็นนักเขียนและบรรณาธิการหนังสือ

Email

Share