เมื่อปลายเดือนที่เเล้วกลุ่มอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ Big Trees จัดฉายหนังญี่ปุ่นเรื่อง Parks ที่สกาล่า เป็นหนังที่สร้างขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีสวนสาธารณะอิโนะคาชิระแห่งกรุงโตเกียว
สวนนี้กินพื้นที่กว้างขวางเกือบสี่แสนตารางเมตร คิดเป็น 240 ไร่ ถ้าเทียบกับสวนลุมฯ (360 ไร่) ก็เล็กกว่าบ้าง เดิมเป็นที่ดินของจักรพรรดิ มอบให้เป็นสมบัติส่วนรวมแก่โตเกียวเมื่อปี ค.ศ.1913 และเปิดออกสู่สาธารณะในปี 1917
ใจกลางสวนเป็นสระน้ำใหญ่รียาว ไหลลงสู่แม่น้ำคันดะ มีสะพานไม้ข้ามน้ำอยู่ตรงกลาง รอบริมน้ำปลูกซากุระไว้มากมายจนเมื่อมันออกดอกในต้นฤดูใบไม้ผลิ กลีบซากุระจะร่วงหล่นลอยเต็มผิวน้ำ ระบายสระเป็นสีชมพู แล้วยังไม้ใหญ่อื่นๆ อีกกว่าหมื่นต้นให้ความเขียวชอุ่มสดชื่นในหน้าร้อนผลัดใบเป็นสีต่างๆ ในฤดูใบไม้ร่วงถึงฤดูหนาวสวนกลายเป็นสีขาวและนกน้ำมากมายอพยพมาว่ายหากินกันเต็มสระ
แต่หนังไม่ได้โฟกัสที่ธรรมชาติความงามของสวน หรือการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล หรือแม้แต่ความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างคนเมืองกับสวน แม้ว่ามันจะเปิดปิดฉากด้วยการขี่จักรยานผ่านดงซากุระบานก็ตาม ภาพยนตร์เรื่อง Parks ฉลองสวนอิโนะคาชิระได้แยบยลกว่านั้น และน่าจะสะท้อนใจคนรุ่นใหม่กลุ่มใหญ่ได้ดี มันเป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ของมนุษย์สองยุคสมัยที่อาศัยในละแวกนี้และผ่านเข้ามาในสวนนี้ ในอดีตทศวรรษ 60 และในปัจจุบัน 2017 เพื่อคลายปมที่ติดขัดในชีวิตและคลี่พลังสร้างสรรค์ โดยที่ผู้คนทั้งสองรุ่นไม่ได้รู้จักกันตัวเป็นๆ
กระนั้น สวนก็ไม่ได้เป็นเพียงฉากหลังให้ตัวละคร แต่ทุกชีวิตถักทอโยงใยกันเป็นเนื้อผ้าผืนเดียว เป็นลวดลายในชีวิตที่ร่ายรำและทิ้งความทรงจำไว้ ณ สถานที่แห่งนี้ ด้วยความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อถีบเรือหงส์ในสระ เมื่อเดินข้ามสะพาน เมื่อได้ยินคนนั่งร้องเพลง
ใครอยากรู้พล็อตเรื่องไปกูเกิ้ลหาอ่านได้ หรือไปดูเองได้ที่สกาล่าและลิโด้ แต่ประเด็นที่อยากพูดถึงคือที่สุดแล้ว หนังเรื่องนี้เป็นเรื่อง sense of place ซึ่งก็ไม่รู้ว่าควรแปลเป็นไทยว่าอย่างไร จะประดิษฐ์ประดอยว่า “ผัสสะสถาน” ก็กระไรอยู่ มันเป็นความรู้สึกที่เรามีต่อสถานที่ที่หนึ่ง และความหมายของมันก็อาจจะแตกต่างไปสำหรับแต่ละคน ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราได้รับรู้ สังเกต หรือมีเรื่องราวเกิดขึ้นในที่นั้น สิ่งที่เราสัมผัสจะประทับเป็นความทรงจำกับสถานที่แห่งนั้น
เมื่อนึกย้อนไปความรู้สึกต่างๆ จะประดังเข้ามา กลิ่นดอกไม้ กลิ่นดินหลังฝน ไอแดดอุ่น เสียงกระดิ่ง เสียงนก เสียงคน รสอากาศที่ปลายลิ้น รสชาที่โคนลิ้น ภาพ สี แสง ความสุข ความเหงา ความเศร้า ความเบิกบาน ความสงบ
สัมผัส ณ สวนแห่งนั้น ในห้วงเวลาต่างๆ กัน ด้วยจริตและจังหวะชีวิตของคนต่างกัน ทำให้สวนอิโนะคาชิระเป็นสวนได้หลายสวน แม้มันจะมีอยู่แห่งเดียว หนังจึงชื่อว่า Parks เป็นพหูพจน์ ไม่ใช่เอกพจน์เจาะจง The Park
สวนอิโนะคาชิระเป็นทั้งพื้นที่สาธารณะร่วมกันของทุกคน และเป็นพื้นที่เก็บเรื่องราวความทรงจำส่วนตัวของแต่ละคน
ทำไม sense of place จึงสำคัญจนนำมาเป็นแก่นกลางของหนังฉลองสวน 100 ปี?
การรับรู้ทุกสัมผัสในชั่วขณะในท้องถิ่นหนึ่งเป็นวิถีทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นมากของญี่ปุ่น มันเป็นการเจริญสติ ให้คุณค่ากับปัจจุบันพร้อมกับตระหนักในอนิจจัง ลิ้มรสดื่มด่ำปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นและปล่อยมันไป มันออกมาในรูปแบบของฮานามิ ชมดอกไม้ที่บานเพียงไม่กี่สัปดาห์ กินอาหารท้องถิ่นในฤดูกาลที่บางครั้งสั้นเพียงเดือนเดียว กรุงโตเกียวแสนวุ่นวายก็มีเสียงเพลงเตือนขึ้นยามพระอาทิตย์ตก เพื่อให้คนหยุดพักหันไปชม
ยิ่งสังเกตได้มาก เรายิ่งรับรู้ได้มาก เป็นความรู้ที่ไม่ได้อยู่แต่ในหัวสมอง หากผ่านทุกประสาทสัมผัสทางกายเข้าสู่จิตใจ จนเกิดเป็นความตระหนักรู้ ยิ่งรู้จักพืชแต่ละต้น นกแต่ละชนิด เห็นมุมมองจากชีวิตมัน เกิดความเห็นอกเห็นใจต่อกัน เห็นพลังที่กำกับความเป็นไปของสรรพสิ่งในถิ่นนั้น ค้นคว้าและพิจารณาลึกซึ้งลงไปสู่ความเป็นมาตามกาลเวลา เป็น deep time story ของธรณี เป็นเรื่องเล่าดำลึกกาล จนเข้าใจในเรื่องราวที่เป็นไปก่อนเราเกิดกระทั่งมาเป็นส่วนหนึ่งในสถานที่แห่งนี้ sense of place ของเรายิ่งละเอียดและชัดเจน
เมื่อสามเดือนก่อนฉันได้ไปเยี่ยมเยือนสแตนด์ลีพาร์ค สวนสาธาณะสำคัญของเมืองแวนคูเวอร์ ได้ขี่จักรยานซอกแซกรอบสวน ถ้าประสบการณ์กับที่แห่งนั้นมีเพียงเท่านี้ ฉันก็คงมีเพียงความรู้สึกดีๆ กับการจัดการเมืองของเขา แต่ฉันยังได้ไปนั่งเฝ้าดูตัวบีเวอร์ออกหากินยามพลบค่ำ ได้สังเกตพื้นที่ชุ่มน้ำและป่าไม้รอบๆ ที่มันอยู่ เหมือนส่องผ่านรูหน้าต่างสู่ความเข้าใจในธรรมชาติดั้งเดิมของพื้นที่นั้น ฟันจอบมหัศจรรย์ของมันยังชวนให้คิดถึงคนที่รัก ชั่วขณะนั้นกับครอบครัวบีเวอร์จึงเป็นความทรงจำที่ประทับใจที่สุดกับที่นั่น มันกลายมาเป็นส่วนสำคัญที่สร้างคุณค่าและความรู้สึกโยงใยกับสแตนด์ลีพาร์ค บ้านของบีเวอร์ในเมืองใหญ่
ฝรั่งที่ดั้นด้นมาดูตัวเหี้ย มังกรดอกทองแห่งบางกอกที่สวนลุมพินี ก็คงรู้สึกคล้ายๆ กัน
เมื่อเรารู้จักถิ่นฐานที่สร้างเรา รู้ความสัมพันธ์ที่เรามีกับชีวิตและปรากฎการณ์รอบตัว รับรู้ความรู้สึกตัวเอง ทั้งบวกและลบ เราจึงรู้จักตัวเอง รู้ว่าเราเป็นใคร เล่าแบบไม่สปอยล์ว่านี่คือบทสรุปอย่างเนียนๆ ไม่สะกดออกมาโฉงฉางในตอนจบของหนัง
การรู้จักที่แห่งหนึ่งด้วยการซึมซับทั้งตัวและหัวใจ ทำให้เราแคร์ ช่วยให้เราสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมแก่กาลเวลาในสถานที่นั้น ทั้งในมิติของธรรมชาติและวัฒนธรรม
ในทางตรงกันข้าม สภาพแวดล้อมที่มีมาตรฐานเดียวเหมือนๆ กันไปหมดไม่ว่าจะตั้งอยู่ที่ไหน อย่างห้องโรงแรมห้างร้านค้าสาขาเครือห่วงโซ่ ให้ความสะดวกสบายที่คุ้นเคย แต่ไม่พาเราไปสู่รากและจิตวิญญานของที่ ไม่สามารถสร้าง sense of place ที่มีความหมายขึ้นมาได้
ภาษาอังกฤษมีสำนวน “There is no there there — ไม่มีที่นั่น ณ ที่นั้น” มาจากคำเขียนของเกอร์ทรูด สไตน์ หมายถึงการพัฒนาไร้จิตวิญญานรากถิ่น เป็นความโหลจืดชืด เป็นที่ไหนก็ได้ ไม่มีความหมาย ไม่มีความรู้สึก ไม่รู้จักตัวเอง
คนที่ไม่รู้จักถิ่นของตัวเอง เมื่อเดินทางไปสัมผัสสถานที่อื่นในต่างแดนที่สามารถนำเสนอ sense of place ของเขาได้จนผู้ไปเยือนเกิดความประทับใจ พอกลับมาบ้านก็เกิดแรงบันดาลใจจะสร้างสิ่งเดียวกันในบ้านเมืองตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยที่สร้างเอกลักษณ์ของท้องถิ่น กลายเป็นการพัฒนาไร้ราก สร้างปัญหามากมายตามมา รวมทั้งบดขยี้ลบเลือนความทรงจำของผู้อื่น
การพัฒนาเมืองที่เราอยู่ร่วมกัน ต้องอาศัย sense of place หลายๆ มิติ ไม่ใช่จากมุมมองของนักธุรกิจ ไม่ใช่จากมุมมองของรัฐเพียงฝ่ายเดียว
กรุงเทพธุรกิจ, กรกฎาคม 2560