หน้าร้อนมาอีกแล้วจ้า นอกจากจะลุ้นว่าเมษายนนี้ อุณหภูมิจะแตะ 40 องศาเซลเซียสที่ไหนและนานเท่าไร เราก็ยังต้องลุ้นเรื่องแล้งอีก
การประปาส่วนภูมิภาคยังกังวลอยู่ว่าเดือนพฤษภาคมปีนี้ ฝนอาจไม่มาก ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ฝนจะน้อยกว่าปกติไหม ได้ยินมาว่าปีสองปีนี้ต้องเฝ้าระวังเรื่องแล้งกันต่อไป โลกร้อนหนักหน่วงขึ้นทุกวัน ภาวะอากาศสุดขั้ว (extreme weather) เช่นฝนตกหนักกว่าปกติและมาผิดฤดู จนน้ำท่วมฉับพลัน เกิดสลับกับภัยแล้งและอากาศร้อน
ในยุคนี้ที่คนเกือบ 3 พันล้านคน (ก็เกือบจะครึ่งโลกแหละ) มีความลำบากลำบนเข้าถึงน้ำสะอาดได้ยาก แถมน้ำเท่าที่มียังปนเปื้อนอีกไม่น้อย การใช้น้ำแบบไม่คิดหน้าคิดหลังเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้อีกต่อไปแล้ว จะเป็นการดีหากชาวเราได้ทบทวนการใช้น้ำของเราเอาไว้บ้าง ในวันหนึ่งตั้งแต่ตื่นลุกจากที่นอนถึงเข้านอนกอีกครั้ง เราใช้น้ำไปกี่มากน้อย ลองหยิบกระดาษดินสอมาทดๆ ดูสักหน่อย
ถ้าคิดจะประหยัดน้ำอีกสักหน่อย—หมายถึงประหยัดไปเรื่อยๆ แหละนะ ไม่ใช่ประหยัดแต่ตอนหน้าร้อน—เราจะลดอะไรตรงไหนได้บ้าง บางคนว่าจะอาบน้ำให้เร็วขึ้น บางคนเปลี่ยนจากใช้สายยางฉีดล้างรถเป็นผ้าชุบน้ำจากถัง บางคนนานๆ ที ค่อยอาบน้ำหมา ฯลฯ
ที่จริงการอาบน้ำให้น้อยลงหรือหาวิธีลดน้ำชักโครก อะไรก็ตามเป็นสิ่งที่น่าดีใจอยู่ แต่ว่าเมื่อกว่าทศวรรษที่แล้ว ศาสตราจารย์ชาวดัตช์คนหนึ่งเกิดนึกขึ้นได้และคิดออกมาอย่างจริงจังว่า ที่จริงคนเราไม่ได้ใช้น้ำเท่าที่เราเห็นว่ามันเป็นน้ำหรอก ความจริงมันมีน้ำที่มองไม่เห็น (virtual water) หรือน้ำที่แฝงอยู่ในการผลิตอาหารและสินค้าอยู่เสมอ มากบ้างน้อยบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะมากจนเราต้องร้องฮ้า
ศาสตราจารย์ Arjen Hoekstra ที่ไม่รู้จะถอดชื่อออกมาเป็นคำไทยได้อย่างไรคนนี้บอกว่า น้ำที่เราใช้มากมายแล้วนั้น (สัก 300 ลิตรต่อวันได้มะ) ยังนับว่าเป็นเรื่องจิ๊บๆ หากเทียบกับน้ำที่มองไม่เห็นที่แฝงอยู่ในการผลิตเครื่องดื่ม อาหาร และสินค้าธรรมดาๆ ที่เราอุปโภคบริโภคอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ตั้งแต่ขั้นตอนแรกถึงขั้นตอนสุดท้าย โปรเฟสเซอร์ท่านนี้เองที่เป็นคนคิดคำว่า “รอยตีนน้ำ” หรือ Water Footprint อันหมายถึงปริมาณน้ำที่ใช้ทั้งหมด ทั้งเห็นทั้งแฝง
อย่างสเต็กสักชิ้นที่เรากินแค่ 1 กิโลกรัม แต่ต้องใช้น้ำตลอดกระบวนการมากกว่า 15,000 ลิตร ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ไปกับการปลูกพืชอาหารสำหรับวัว
แต่ละประเทศการใช้น้ำผลิตอาหารและสินค้าแตกต่างกันไปตามปัจจัยเงื่อนไขหลายอย่าง แต่อาจารย์ Hoekstra ก็คำนวณปริมาณน้ำแฝงจากการผลิตในเนเธอร์แลนด์เป็นหลัก ดังรายการตัวอย่างต่อไปนี้ :
กระดาษเอสี่ 1 แผ่น 10 ลิตร / แอปเปิล 1 ผล 70 ลิตร / กาแฟอินสแตนต์ 1 แก้ว 80 ลิตร / ขนมปัง 1 แผ่นกับชีส 1 ชิ้น 90 ลิตร / กาแฟสด 1 ถ้วยใช้น้ำ 145 ลิตร / บุหรี่ 1 มวน 155 ลิตร / เบียร์ 1 แก้วไพน์ 170 ลิตร / น้ำส้ม 1 แก้ว 170 ลิตร / ไข่ 1 ฟอง 200 ลิตร / นม 1 แก้ว 200 ลิตร / หนัง 1 กิโลกรัม 1,700 ลิตร / แฮมเบอร์เกอร์ 1 อัน 2,400 ลิตร / เสื้อยืด 1 ตัว 2,700 ลิตร / กางเกงยีนส์ 1 ตัว 7,000 ลิตร / รองเท้าหนัง 1 คู่ 8,000 ลิตร / สเต็ก 1 จาน 15,000 ลิตร / ช็อคโกแลต 1 กิโลกรัม 24,000 ลิตร เป็นต้น
ลองดูคลิปเพิ่มเติมที่นี่ได้จ้า
รายการน้ำแฝงที่ ศาสตราจารย์ Hoeska คำนวณออกมานี้ (แม้จะคิดจากฐานของเนเธอร์แลนด์) ยืนยันว่าน้ำอยู่กับทุกสิ่งในวิถีชีวิต ถึงมันจะไม่ได้ปรากฏอยู่ในรูปน้ำอีกต่อไป
“ปัญหาเรื่องน้ำมักจะผูกพันใกล้ชิดกับโครงสร้างเศรษฐกิจโลก หลายประเทศฝากรอยตีนน้ำไว้กับประเทศอื่น ด้วยการนำเข้าสินค้าที่ใช้น้ำในการผลิตอย่างหนักำหน่วงจากที่อื่น การทำแบบนี้สร้างแรงกดดันให้ทรัพยากรน้ำในการพื้นที่ที่ส่งสินค้าออก ซึ่งส่วนใหญ่ขาดกลไกของการจัดการน้ำอย่างฉลาดและการอนุรักษ์ ไม่ใช่แต่รัฐบาล แต่ผู้บริโภค ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ก็มีส่วนในการจัดการน้ำที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ได้ทั้งนั้น”
สิ่งสำคัญมักมองไม่เห็นด้วยตา การลดใช้น้ำก็เช่นกัน บางทีการงดสเต็กสักมื้อ หรือลดช็อคโกแลตไปสักแท่ง หรือแม้แต่เว้นซื้อยีนส์เพิ่มอีกตัว ก็ช่วยลดน้ำไปมากโขกว่าการนานๆ อาบน้ำหมาที