in on August 9, 2016

หนทางเลี่ยงมะเร็ง ตอน 1

read |

Views

ราวยี่สิบปีมาแล้วผู้เขียนได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ หนทางเลี่ยงมะเร็ง เพื่อแจกตอบแทนแก่ผู้ตอบแบบสอบถามงานวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยจากมหาวิทยาลัยที่ผู้เขียนสังกัด

งานวิจัยนั้นเป็นการหาข้อมูลพื้นฐานว่า ผู้บริโภคชาวไทยที่อ่านวารสาร หมอชาวบ้าน นั้นมีแนวโน้มในการดำเนินชีวิตที่เข้าหาหรือหลีกหนีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ซึ่งผลการศึกษาทำให้รู้ว่าผู้เขียนไม่เหมาะกับการทำวิจัยในแนวการใช้แบบสอบถามสักเท่าใดนัก เพราะปรากฏว่างานวิจัยชิ้นนี้คณะผู้ทำวิจัยได้เริ่มต้นด้วยความผิดพลาดที่เลือกผู้ตอบแบบสอบถามเป็นผู้สนใจดูแลสุขภาพ อนุมานจากการเป็นผู้นิยมอ่านวารสารหมอชาวบ้าน ดังนั้นผลการศึกษาจึงมีความเบ้ทางสถิติ (skewness) ไปทางที่บอกว่า ผู้ตอบแบบสอบถามไม่ค่อยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง  อย่างไรก็ดีมีประเด็นหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนต้องอึ้งเพราะข้อมูลแจ้งว่า พระในต่างจังหวัดนั้นดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งอาจได้จากผู้ที่ใส่บาตรหรือให้เด็กวัดไปซื้อก็มิอาจทราบได้

หลังจากเขียนหนังสือเล่มดังกล่าวแล้วก็ตั้งใจว่าจะเขียนต่อในรูปของ ข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งฝรั่งเรียกว่า supplement แต่เวลาก็ผ่านไปกว่ายี่สิบปีจนเกษียณก็มิได้มีอารมณ์ในการทำ จนเมื่อราวเดือนพฤษภาคมปีนี้ ผู้เขียนได้เข้าไปดูข้อมูลในเว็บ www.wcrf.org ขององค์กรเอกชนระหว่างชาติที่ไม่หวังผลกำไรชื่อ World Cancer Research Fund (WCRF) องค์กรนี้ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อ 17 ปีมาแล้วโดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และมีสาขาอยู่ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้เขียนได้พบข้อมูลซึ่งทำให้มีความรู้สึกว่า ถึงเวลาที่ควรทำข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับหนังสือหนทางเลี่ยงมะเร็งเสียที แต่ไม่คิดจะพิมพ์เป็นเล่ม เพราะการเผยแพร่ผ่านทางอินเตอร์เน็ทดูเป็นการประหยัดกระดาษรักษาสภาวะแวดล้อมเนื่องจากไม่ต้องใช้กระดาษ

เว็บของ WCRF ให้ข้อมูลเชิงวิชาการเกี่ยวกับปัจจัยที่น่าจะลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งในมนุษย์ โดยปัจจัยทั้งสามนั้นได้แก่ อาหารการกิน (ซึ่งน่าจะรวมถึงพฤติกรรมการบริโภค) น้ำหนักตัวของประชาชน และการเคลื่อนไหวที่ต้องใช้แรง (physical activity) โดยในอดีตที่ผ่านมาเว็บนี้ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงต่อมะเร็งของอวัยวะต่อไปนี้คือ เต้านม ทางเดินอาหารส่วนล่าง ตับอ่อน ตับ ถุงน้ำดี ไต กระเพาะปัสสาวะ และกระเพาะอาหาร ดังนั้นในโลกสีเขียวฉบับนี้ผู้เขียน จะได้นำข้อมูลส่วนที่เรียกว่า Continuous Update Project (CUP) ของ WCRF มาเล่าให้ฟัง

โครงการ CUP นั้นมีวัตถุประสงค์ในการทบทวนผลจากการทำโครงการของผู้เชี่ยวชาญ (ที่องค์กรนี้เชื่อถือว่าเชี่ยวชาญจริงและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน) ซึ่งรับทุนจาก WCRF ไปวิเคราะห์ว่า ปัจจัยทั้งสามที่กล่าวข้างต้นนั้นมีผลต่อความเสี่ยงและการอยู่รอดของประชาชนเนื่องจากมะเร็งเพียงใด เพื่อนำความรู้นี้ไปจัดทำคำแนะนำแก่ประชาชนในปี 2017

CUP ให้ข้อมูลว่า โดยทั่วไปแล้วประมาณ 1 ใน 3 ของความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งนั้นสามารถลดได้ด้วยการ ดูแลอาหารการกิน น้ำหนักตัว และการออกกำลังกายให้เหมาะสม ซึ่งคำว่า เหมาะสม นั้นเป็นเรื่องที่ผู้อ่านอาจหาความหมายได้ในเว็บของคนไทยทั่วไป แต่โปรดระวังอย่าเพิ่งคล้อยตาม เนื่องจากอาจไปเจอเว็บขายอาหารเสริมหรือสินค้าไร้สาระต่างๆ ดังนั้นถ้าท่านต้องการทราบความหมายของคำว่า “เหมาะสม” ผู้เขียนจะแนะนำให้เข้าไปเยี่ยมชมเว็บของหน่วยราชการและมหาวิทยาลัยของรัฐ  ต่อจากนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ ใช้หลักการกาลามสูตร 10 ของพระพุทธองค์ทบทวนว่า ข้อมูลที่ได้อ่านนั้นเชื่อได้ประมาณไหน

ประเด็นที่ CUP กล่าวไว้ว่าเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งของประชาชนทั่วไป คือ

1 ภาวะน้ำหนักเกินหรือความอ้วน (Overweight or Obese) เป็นภาวะที่เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งที่ ลำไส้ใหญ่ เต้านม ถุงน้ำดี ไต ตับ หลอดอาหาร รังไข่ ตับอ่อน ต่อมลูกหมาก และมดลูก

คำว่า ภาวะน้ำหนักเกินหรือความอ้วน นั้นส่วนใหญ่เป็นผลที่เกิดจากการกินอาหารที่มีไขมันและ/หรือแป้งมากเกินไป ผู้เขียนเคยถูกเพื่อนที่เล่นแบดมินตันด้วยกันถามว่า เขาพยายามกินอาหารที่มีไขมันน้อยเป็นประจำแต่ทำไมจึงมีหน้าท้องค่อนข้างใหญ่ ผู้เขียนจึงถามถึงพฤติกรรมการกินอาหารแต่ละมื้อและก็ได้คำตอบว่า พยายามกินปลาแทนเนื้อสัตว์อื่นพร้อมกับการกินข้าวสวยไม่ต่ำกว่า 3 จานต่อมื้อ เนื่องจากชอบข้าวเป็นพิเศษ ผู้เขียนจึงต้องอธิบายความให้เพื่อนเข้าใจว่า ข้าวนั้นเมื่อกินเกินความต้องการที่ร่างกายนำไปใช้เป็นพลังงานแล้ว ส่วนเกินจะถูกแปลงไปเป็นไขมัน โดยจุดแรกของร่างกายที่ไขมันจะสะสมและเป็นจุดสุดท้ายที่ร่างกายจะเอาออกมาใช้คือ หน้าท้องหรือพุงนั่นเอง

สิ่งที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพของผู้บริโภคระหว่างการเปลี่ยนแป้งส่วนเกินความจำเป็นของร่างกายไปเป็นไขมันนั้น สามารถอธิบายได้ว่า ในร่างกายเรานั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแป้งไปเป็นไขมันโดยตรงแต่มีความซับซ้อนดังนี้

ท่านผู้อ่านพึงทราบว่า อาหารแป้งที่เรากินนั้นต้องถูกย่อยเป็นน้ำตาลกลูโคสก่อน จึงจะส่งเข้าสู่กระบวนการสร้างสารให้พลังงานที่ร่างกายใช้ได้ในทุกกรณี เราเรียกสารนี้ว่า เอทีพี (ATP มีชื่อเต็มว่า adenosine triphosphate) สารนี้ถูกสร้างในส่วนของเซลล์ที่เรียกว่า ไมโตคอนเดรีย ซึ่งในเซลล์ของเนื้อเยื่อต่างกันมีจำนวนไมโตคอนเดรียต่างกัน  เนื้อเยื่อใดต้องใช้พลังงานในการทำงานมาก (เช่น หัวใจ สมอง ปอด กล้ามเนื้อแขน ขา ฯ) จำนวนไมโตคอนเดรียในเซลล์ของเนื้อเยื่อนั้นมีมาก ส่วนเซลล์ของเนื้อเยื่อที่ไม่ค่อยได้ทำงานอะไร (เช่น หน้าผาก ปลายจมูก ติ่งหู ฯ) มีไมโตคอนเดรียน้อย

ในการสร้างเอทีพีนั้นสิ่งหนึ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือ การส่งผ่านอิเล็คตรอน ซึ่งกระบวนการนี้ถ้าเกิดขึ้นในปริมาณมากๆ โอกาสผิดพลาดที่น่ากลัวคือ การเกิดอนุมูลอิสระขึ้นในเซลล์ นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่นักชีวเคมีที่ศึกษาเกี่ยวกับการออกกำลังกายมักกล่าวว่า นักกีฬาหรือผู้ใช้กำลังกายสูงๆ จำเป็นต้องกินอาหารที่มีสารต้านอนุมุลอิสระในปริมาณที่เพียงพอ

ขอให้สังเกตว่าผู้เขียนใช้คำว่า กินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เพราะการได้รับสารต้านอนุมูลอิสระมากเกินกว่าที่มนุษย์ปรกติกินในแต่ละวันนั้น แทนจะลดการเกิดอนุมูลอิสระกลับสามารถเพิ่มปริมาณอนุมูลอิสระได้

ดังนั้นเมื่อใดที่ร่างกายได้รับแป้งสูงกว่าความต้องการของร่างกาย กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีเพื่อทำให้น้ำตาลกลูโคสที่ได้จากแป้งถูกใช้ให้หมดไปจากระบบเลือดนั้น เป็นการส่งเสริมให้เกิดสารตัวกลางที่เรียกว่า อะเซ็ตติลโคเอ็นซามเอ (Acetylcoenzyme A) ซึ่งเซลล์นำไปใช้สร้างเอทีพีได้เป็นลำดับแรก แต่เมื่อเซลล์มีเอทีพีพอแล้วสารนี้จะถูกนำไปสังเคราะห์เป็นสารที่จำเป็นต่อร่างกายชนิดอื่นๆ ซึ่งรวมถึงไขมันด้วย

ขอให้ท่านผู้อ่านเข้าใจด้วยว่า ระหว่างการสร้างสารชีวเคมีใด ๆ ในเซลล์นั้น เซลล์จำเป็นต้องใช้พลังงานจากเอทีพีที่เซลล์มีมากเกินพอ ดังนั้นในกระบวนการเกิดไขมัน จึงจำเป็นต้องมีการส่งผ่านอิเล็คตรอนในเซลล์มากมายซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอนุมูลอิสระที่เป็นปัจจัยหนึ่งของการเพิ่มความเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ของเซลล์ที่อาจส่งผลถึงการเปลี่ยนไปเป็นเซลล์มะเร็ง

2 อาหารหมักเกลือ (Salt-preserved foods) ไม่ว่าจะเป็นผักหรือเนื้อสัตว์ เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะอาหาร

ข้อมูลนี้กล่าวถึงในแวดวงวิชาการเกี่ยวกับมะเร็งมานานแล้ว เป็นการอาศัยหลักฐานจากการศึกษาทางระบาดวิทยาของชาติทางเอเชียตะวันออก คือ ญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องอาหารหมักเกลือ  ตัวอย่างของข้อสรุปเกี่ยวกับผลของอาหารดองเค็มต่อการเกิดมะเร็งนั้น ผู้อ่านสามารถค้นหาได้เองในอินเตอร์เน็ตนั้นเช่น www.nature.com/bjc/press_releases/p_r_jan04_6601511.html

**ถ้าต้องการอ่านรายละเอียดที่เป็นเอกสารตัวจริงสามารถอ่านเพิ่มได้ที่ www.nature.com/bjc/journal/v90/n1/pdf/6601511a.pdf

นอกจากนี้มีข้อมูลจากเว็บวิชาการอื่นๆ อีกมากมาย ที่ค้นได้โดยใช้ Google โดยที่ข้อมูลดังกล่าวนั้นน่าจะทำให้ผู้อ่านที่ชอบกินอาหารออกรสเค็มต้องชะงักได้ เพราะทราบดีว่า นอกจากความเค็มทำลายไตและทำให้มีอาการความดันโลหิตสูงแล้วยังเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะอาหาร เนื่องจากเกลือทำให้เซลล์ของอวัยวะนั้นเกิดความระคายเคืองเป็นระยะเวลานาน

3 สารหนูในน้ำดื่ม (Arsenic in drinking water) ปัญหานี้เกิดจากการปนเปื้อนสารหนูทั้งจากของเสียทางอุตสาหกรรมและที่ปนเปื้อนจากธรรมชาติ ข้อมูลทางวิชาการกล่าวว่า สารหนูเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง กระเพาะปัสสาวะ ปอด และผิวหนัง

ผู้เขียนเคยเขียนบทความเรื่องของสารหนูที่ปนเปื้อนในอาหาร เช่น ข้าว ในคอลัมภ์กินดีอยู่ดีนี้แล้ว และจากการค้นคว้าข้อมูลเพื่อเขียนบทความทำให้พบว่า สำหรับบ้านเราแล้วอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกแถวภาคใต้นั้นเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารหนูในแหล่งน้ำ ซึ่งผู้บริโภคพืชผักผลไม้ที่มีการปนเปื้อนของสารพิษนี้มีความเสี่ยงสูงมากต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังซึ่งเรียกว่า ไข้ดำ

โศกนาฏกรรมเกี่ยวกับไข้ดำที่เกิดกับมนุษยชาติอย่างร้ายแรงนั้นพบได้ที่บังคลาเทศซึ่งมีปัญหามะเร็งผิวหนังที่เกิดเนื่องจากสารหนูปนเปื้อนในน้ำบ่อ บังคลาเทศมีความเคราะห์ร้ายเป็นประจำจากพายุขนาดใหญ่ที่พัดจากอ่าวเบงกอลเข้าสู่แผ่นดินใหญ่ ทำให้เกิดการพลิกหน้าดินนำเอาสารหนูซึ่งอยู่ชั้นใต้ผิวดินขึ้นมาปนกับน้ำที่ท่วมหมู่บ้าน ส่งผลให้น้ำบ่อซึ่งใช้ในการอุปโภคและบริโภคมีสารหนูปนเปื้อนในปริมาณสูง

นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ซ้ำเติมชาวบังคลาเทศ คือ ความหวังดีขององค์กรระหว่างประเทศองค์กรหนึ่งซึ่งต้องการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในทางเดินอาหารของชาวบังคลาเทศ เนื่องจากมีน้ำสะอาดเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันไม่พอ จึงเข้าจัดแจงขุดบ่อน้ำโดยขาดความรู้ว่า ใต้ดินของบังคลาเทศนั้นมีสารหนูสูงมาก ชาวบังคลาเทศที่ใช้น้ำจากบ่อซึ่งขุดก่อนศึกษาองค์ประกอบของดินจึงเป็นไข้ดำกันเยอะ

4 เครื่องดื่มอัลกอฮอล์ (Alcoholic drinks) เป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งทางเดินอาหารส่วนล่าง (colorectum คือ ทางเดินอาหารส่วนลำไส้ใหญ่ต่อกับไส้ตรงถึงทวารหนัก) เต้านม ตับ ปากและคอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร

ประเด็นการดื่มเครื่องดื่มอัลกอฮอล์นั้น เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงผลของการไม่ประมาณในการเสพของผู้บริโภค เพราะเป็นที่รู้กันมานานแล้วว่า เครื่องดื่มอัลกอฮอล์เป็นหนึ่งในสารเสพติดที่เมื่อเริ่มบริโภคแล้วมักต้องเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยจนผู้ดื่มมีอาการพิษสุราเรื้อรัง

นานมาแล้วเคยมีงานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่า การดื่มบรั่นดีหรือวิสกี้ปริมาณน้อยต่อวัน (moderate drinking) นั้นช่วยทำให้มีสุขภาพของระบบหลอดเลือดดี เพราะมีข้อมูลพบว่าในการตรวจศพของคนที่ดื่มสุราในปริมาณนี้แล้วตายด้วยอุบัติเหตุนั้นมีหลอดเลือดสะอาดปราศจากการสะสมของคลอเรสเตอรอล ความจริงเรื่องนี้ไม่น่าประหลาดใจเพราะอาจมองในอีกมุมได้ว่า คนเหล่านี้มักมีโอกาสตายอยู่ข้างทางเพราะมึนเหล้า (แม้จะดื่มแบบ moderate drinking ก็ตาม) ขณะยังหนุ่มสาวก่อนที่ไขมันมีโอกาสเกาะผนังเส้นเลือด อย่างไรก็ดีเมื่อค้นดูผลงานวิจัยในลักษณะเดียวกันแต่ศึกษาในผู้ที่มีการดื่มในลักษณะดื่มหนัก (แล้วไม่ประสบอุบัติเหตุตายเสียก่อน) นั้นกลับออกมาในทางตรงกันข้ามคือ หลอดเลือดของเขาเหล่านั้นมีโอกาสตีบตันเนื่องจากมีไขมันเกาะผนังเส้นเลือดสูงกว่าคนไม่ดื่ม ทั้งนี้เพราะอัลกอฮอล์นั้นเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานสูงกว่าแป้งแต่ต่ำกว่าไขมัน  ดังนั้นผู้

ที่ดื่มหนักย่อมอิ่ม (จนไม่สนใจกินผักและผลไม้) และมีพลังงานเหลือเฟือจนถูกนำไปสร้างเป็นไขมันเพิ่มในเลือดได้

5 เบต้าแคโรตีนในรูปอาหารเสริม (Beta-carotene supplements) มีผลการศึกษาทางระบาดวิทยากล่าวว่า สารอาหารนี้เมื่อกินเป็นอาหารเสริมเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดในคนที่สูบบุหรี่


ข้อมูลดังกล่าวได้ก่อความผิดหวังแก่ผู้มีอาชีพขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีเบต้าแคโรตีนเป็นอย่างยิ่ง เพราะงานวิจัยทางระบาดวิทยาส่วนใหญ่ระบุว่า ผู้ที่กินอาหารที่มีเบต้าแคโรทีนเป็นองค์ประกอบนั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่ำกว่าคนทั่วไป

ท่านผู้อ่านพึงมีสติในการรับรู้ข้อมูลว่า เบต้าแคโรทีนนั้นเป็นสารอาหารที่ปลอดภัยต่อมนุษย์ที่กินสารอาหารนี้จากอาหารธรรมชาติ เช่น ฟักทอง ใบตำลึง มะละกอสุก มะม่วงสุก ฯลฯ เพราะการกินอาหารที่เป็นแหล่งของเบต้าแคโรตีนนั้นโอกาสที่จะได้รับสารอาหารนี้ในปริมาณสูงจนก่อความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งนั้นเป็นไปได้ยาก อย่างเก่งก็เพียงมีผิวออกสีเหลือง (ปรากฏการณ์นี้เกิดมากในคนที่ชอบกินมะละกอสุก ฟักทอง หรือพืชอื่นที่มีเบต้าแคโรทีนสูงมากเป็นพิเศษ) ทั้งนี้เพราะปริมาณอาหารที่กินแบบปรกตินั้นเป็นตัวกำหนดปริมาณเบต้าแคโรทีนไม่ให้สูงเกินกว่าที่ควร

(โปรดติดตามตอนที่ 2 ในเดือนหน้า)

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://www.pexels.com/photo/woman-doing-yoga-near-the-sea-during-daytime-102623/
เเก้ว กังสดาลอำไพ

ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ เป็นนักพิษวิทยาที่กินเงินบำนาญ จึงมีเวลาเขียนบทความเกี่ยวกับความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์อาหารและโภชนาการ ในคอลัมน์ กินดีอยู่ดี โดยใช้ประสบการณ์ที่เคยดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ สอน วิจัยและเป็นประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการในมหาวิทยาลัยมหิดลนาน 31 ปี มาเขียนบทความกึ่งวิชาการที่ประชาชนทั่วไปน่าจะได้รู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคและการเลือกกินอาหารที่ปลอดภัยมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อจะได้ไม่ถูกลวงในภาวะสังคมปัจจุบันที่แทบจะเชื่อใครไม่ได้เลยในอินเตอร์เน็ท

Email

Share