เรื่องใหญ่เกี่ยวการประมงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้าคือกรณีสหภาพยุโรปให้ใบเหลือง เพื่อให้ไทยกำหนดมาตรการป้องกันและขจัดการประมงผิดกฎหมายแต่ผู้เขียนอยากเริ่มจากเรื่องเล็กๆระดับผู้บริโภคเพื่อนำไปสู่ภาพใหญ่ของการประมงและสถานการณ์ท้องทะเลไทยในปัจจุบัน
คุณรู้หรือไม่ว่าปลาข้าวสาร ปลาสายไหม ปลาฉิ้งฉ้าง แหล่งแคลเซียมขวัญใจคนรักสุขภาพ คือลูกปลากระตักที่ยังไม่โตเต็มวัย ถูกกวาดจับมาด้วยเรือปั่นไฟติดอวนตาถี่ขนาดประมาณครึ่งเซนติเมตร
นานมาแล้วชาวประมงมีความเชื่อว่าปลาข้าวสาร ปลาสายไหม และปลาฉิ้งฉ้างไม่ใช่ลูกปลากระตัก แต่เป็นปลาสายพันธุ์อื่นซึ่งโตเต็มวัยและสมควรนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ ขณะที่ทางการมีข้อกำหนดให้เรือปั่นไฟหาปลากระตักช่วงกลางวันใช้อวนตาถี่ขนาดไม่น้อยกว่า 0.6 เซนติเมตรเพื่อให้ลูกปลาตัวเล็กๆ เล็ดลอดจากอวนออกไปเติบใหญ่ได้ แต่ผู้ประกอบการชาวประมงกลับยื่นขอใช้อวนตาขนาดเล็กกว่า 0.6 เซนติเมตรเพื่อจับปลาเล็กปลาน้อยให้ได้มากที่สุด
เพื่อยุติข้อสงสัยข้างต้น เมื่อปี 2546 กรมประมงจึงตั้งคณะทำงานโดยนักวิจัยและชาวประมงนำปลาข้าวสารและปลาสายไหมที่จับได้ขนาดความยาวเหยียด 2.3-3.7 เซนติเมตร นำมาเลี้ยง มีการบันทึกภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหวเเละผู้แทนชาวประมงสังเกตการณ์ตลอด เวลาผ่านไป 39 วัน พบว่าปลาเหล่านั้นเติบโตมาเป็นปลากระตัก จึงเท่ากับว่าปลาข้าวสาร ปลาสายไหม หรือปลาฉิ้งฉ้างคือลูกปลากระตักนั่นเอง (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่ http://bit.ly/1PvOuVa)
น่าแปลกที่แม้การพิสูจน์ของกรมประมงจะผ่านมาเกินกว่าสิบปีแล้ว แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าปลาข้าวสารและปลาสายไหมคือลูกปลากระตัก ทุกวันนี้ร้านขายสินค้าเพื่อสุขภาพวางขายปลาเหล่านี้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน และมีเมนูยอดฮิตเกี่ยวกับปลาเล็กปลาน้อยเกิดขึ้นเนืองๆ เช่น เมี่ยงปลาสายไหม เป็นต้น เมื่อยังขายได้ ที่สำคัญลูกปลากระตักขนาดปลาสายไหมและปลาข้าวสารราคาดีกว่าปลากระตักโตเต็มวัยถึง 3 เท่าชาวประมงจึงยังคงจับลูกปลากระตักกันต่อไป
กินลูกปลากระตักแล้วงัย? คำตอบคือปลากระตักคือตัวชี้วัดความสมดุลของท้องทะเลทั้งในฐานะผู้ล่าคือกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร และในฐานะผู้ถูกล่าคือเป็นอาหารของปลาหมึกและปลาเศรษฐกิจ เช่น ปลาอินทรี ปลาทรายแดง หากจับลูกปลากะตักมากเกินไป ปลากระตักก็ลดน้อยลง ปลาใหญ่ซึ่งกินปลากะตักเป็นอาหารก็ย่อมน้อยลงตามไปด้วย มิเพียงเท่านั้น เมื่อไม่มีปลากะตักให้จับ ชาวประมงก็เปลี่ยนไปจับกุ้งเเละปลาเป็ดสำหรับแปรรูปไปเลี้ยงสัตว์ซึ่งมีลูกปลาเศรษฐกิจอื่นๆ ปนอยู่จำนวนมาก เคยมีคนทดลองซื้อปลาเป็ดจากสะพานปลามานับพบว่าปลาหนึ่งกิโลกรัมประกอบด้วยลูกปลานับพันตัว จึงกล่าวได้ว่าเริ่มต้นจากการจับลูกปลากระตัก นำมาสู่การหายนะของสัตว์ทะเลสายพันธุ์อื่นต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่
โปรดอย่าคิดว่าเรื่องการประมงมากเกินไป (Over fishing) หรือการประมงที่ผิดกฏหมายเพราะไร้การควบคุมและการรายงาน (IUU) ที่กำลังกลายเป็นประเด็นทางการค้าก่อปัญหาต่อการประมง โดยภาพรวมถูกสหภาพยุโรปแจกใบเหลืองให้แก้ไขครั้งแล้วครั้งเล่าเป็นเรื่องไกลตัวและเราไม่สามารถทำอะไรได้ เราในฐานะผู้บริโภคมีส่วนกำหนดทิศทางการดูแลทรัพยากรในท้องทะเลได้ด้วยการรู้แหล่งที่มาของอาหารของเรา เลือกที่จะปฏิเสธอาหารที่มาจากการประมงที่ผิดกฏหมายและไร้เมตตาธรรมต่อสัตว์เล็กสัตว์น้อย
ต่อกรณีนี้ บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยกล่าวว่า สถานการณ์เรือปั่นไฟที่ทำผิดกฏหมายโดยใช้ไฟล่อปลาออกมาเป็นจำนวนมากแล้วล้อมจับ การออกหาปลาตอนกลางคืนอีกทั้งใช้อวนตาถี่เกินกว่ากฏหมายกำหนดเป็นตัวการสำคัญที่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน ยังไม่เปลี่ยนแปลงเเละนับวันยิ่งรุนแรงขึ้น กล่าวคือนอกเหนือจากการจับลูกปลากระตัก ลูกปลาทู ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจสำคัญของบ้านเราก็พลอยสูญหายไปด้วย
“ผู้บริโภคต้องเข้าใจว่าตอนนี้ทะเลไทยวิกฤตจากโอเวอร์ฟิชชิ่ง (หาปลามากเกินไป) เราต้องรู้ว่าถ้าปล่อยปลาข้าวสาร ปลาสายไหมหรือปลาฉิ้งฉ้างไว้ มันจะเป็นเหยื่อปลาชนิดอื่น และต้องรู้ว่าปลาเหล่านี้ถูกจับมาอย่างไรที่ไหน แต่ทุกวันนี้เราแยกไม่ได้ว่าพวกมันถูกจับมาจากที่ไหนอย่างไรและเมื่อไร ดังนั้นถ้าเลือกได้เราก็ไม่ควรกินปลาพวกนี้เลย เว้นเเต่ว่ารัฐบาลมีมาตรการแน่นอนเด็ดขาดไม่ยอมให้มีเครื่องมือปั่นไฟ เราจึงจะกลับไปกินปลากระตักเหมือนสมัยก่อนได้” บรรจงกล่าว
บรรจงกล่าวว่าท้องทะเลไทยมีความอุดมสมบูรณ์และมีศักยภาพที่จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหากไม่ถูกทำลายด้วยเครื่องมือประมงทำลายล้าง ดังจะเห็นได้ว่าที่อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เมื่อชาวประมงพื้นบ้านขับไล่เรือปั่นไฟออกไป พบว่าสามารถจับปลาตัวใหญ่ได้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
กว่าจะรู้ข้อมูลนี้ผู้เขียนซึ่งเป็นคนรักสุขภาพก็กินลูกปลากระตักในนามของปลาข้าวสาร ปลาสายไหมและปลาฉิ้งฉ้าง แล้วนับหมื่นนับแสนชีวิต เมื่อรู้แล้วจึงคิดว่าเราน่าจะอดเปรี้ยวไว้กินหวาน อดกินลูกปลาไว้กินปลาโตเต็มวัยและปลาชนิดอื่นที่ตัวโตกว่าน่าจะดี นอกจากจะไม่เป็นการทำบาปต่อชีวิตเล็กชีวิตน้อยเกินคณานับโดยไม่จำเป็น ยังเป็นการช่วยต่อชีวิตท้องทะเลไทยอีกด้วย