ไม่กี่วันมานี้มีคนรุ่นใหม่ขอให้ฉันอธิบายความหมายของ “การรู้ภาษาสิ่งแวดล้อม” ในมุมมองของตัวเอง
หลายคนคงจำได้ว่า eco-literacy หรือ environmental literacy เคยเป็นคำยอดฮิตในวงการสิ่งแวดล้อมเมื่อ 20-25 ปีก่อน และก็เหมือนกับคำหลายๆ คำที่ใช้จนเฝือ เบื่อ และเฟดหายไป ทั้งๆ ที่การปฎิบัติจริงยังไปกันไม่ถึงไหน
ถ้ากูเกิ้ลดูก็จะได้นิยามประมาณว่า คือความเข้าใจในหลักการทำงานและความเชื่อมโยงของระบบนิเวศ และการกระทำที่ส่งผลกระทบ เพื่อให้เราสามารถตัดสินใจได้เหมาะสม
แต่เมื่อ 20 กว่าปีก่อนฉันจำได้ว่าฉันสนุกกับคำศัพท์ ‘literacy’ และเมื่อถูกถาม ฉันก็จะขยายความมันตามประสาคนที่เติบโตมากับเทพนิยายและนิทานผจญภัยก่อนนอน ตอนนั้นฉันเพิ่งจะเริ่มพัฒนากระบวนการสำรวจธรรมชาติภาคประชาชน เรียกว่า “นักสืบสายน้ำ” ให้เด็กๆ และคนทั่วไปสามารถตรวจสอบสถานภาพและความเป็นไปของแม่น้ำลำธารได้เอง ดังนั้น ฉันก็จะบอกว่างานที่ทำคือการฝึกให้คนอ่านสภาพแวดล้อมได้เหมือนอ่านหนังสือ การทำความรู้จักสัตว์ชนิดต่างๆ ก็เปรียบเสมือนรู้จักตัวอักษรพยัญชนะ และพอรู้จักชีวิตมัน รู้จักนิสัย รู้ว่ามันชอบอยู่บ้านแบบไหน ชอบกินอะไร มีความสามารถอย่างไร ชอบคบกับใคร ทนอะไรได้แค่ไหน ก็เปรียบเสมือนเรารู้ไวยกรณ์ ผสมคำกันแล้วก็เริ่มอ่านออก รู้ความหมาย รู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น ณ ที่นั้น
เบื้องต้นก็อาจแค่รู้ว่าน้ำสะอาดสกปรกแค่ไหน โดยตัดสินจากชนิดสัตว์น้ำที่พบ เทียบเท่ากับอ่านนิทานเต่ากับกระต่ายง่ายๆ แต่ยิ่งฝึกสังเกต คลังคำและไวยกรณ์ก็ยิ่งแตกฉาน ยิ่งอ่านได้มาก ขยับขึ้นมาอ่านแฮรี่พอตเตอร์ ไปจนถึงเช็คสเปียร์ฉบับธรรมชาติ
ณ วันนี้ ฉันก็ยังยืนยันว่าความรู้ภาษาธรรมชาติดังกล่าวเป็นความรู้สำคัญที่สังคมเราควรรู้กันมากขึ้น แต่ภาษาธรรมชาติไม่ได้จำกัดอยู่แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ช่องทางการรับรู้ความเป็นไปในธรรมชาติมีมากกว่านั้น และมันไม่ยากเกินความตั้งใจจริง
เบื้องต้นเลย ลองพิจารณาดูว่าเราใช้อะไรบ้างในการอ่านสภาพแวดล้อมรอบตัว?
ลองนึกถึงเวลาที่เราเดินทางไปดินแดนใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้จัก ต่างภาษาต่างวัฒนธรรม ในยุคก่อนแอพมือถือ สมัยที่ฉันเป็นสาววัยรุ่น เราไม่มีแม้แต่หนังสือไกด์โลกเหงา ถ้าไปญี่ปุ่นในยุคนั้นก็ไม่มีแม้แต่ป้ายตัวอักษรเอบีซี แต่เราก็ยังหาทางขึ้นรถไฟไปไหนๆ เองได้
เราสังเกตอะไรบ้าง? เรารู้ได้อย่างไรว่าโลกรอบตัวเป็นอย่างไร? ใช้อะไรสัมผัส? เราสื่อสารกับผู้คนอย่างไร?
ไม่เห็นยาก ก็แค่ผงกหัวเชิงถามคนญี่ปุ่นในรถไฟว่า “เกียวโต๊ะ? เกียวโต๊ะ?” ทุกครั้งที่รถจอดสถานี จนกว่าเธอจะผงกตอบบอกว่า “ไฮ้!”
ทำไมเราจึงเดินเข้าโบสถ์ฝรั่งอย่างเงียบๆ รู้ว่าควรสำรวมแม้เราไม่ใช่คริสเตียน? ทำไมเราไม่ปีนขึ้นไปขี่คอรูปปั้นพระเยซู แม้ว่าปกติเราจะชอบปีนป่ายขึ้นเขาขึ้นต้นไม้เพื่อเห็นภาพโลกกว้างๆ จากมุมสูง?
เรารู้สึกใช่ไหมว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนนับถือกัน
เผลอๆ ในสภาพไร้คู่มือนำเที่ยว ไร้แอพมือถือ เรากลับ “อ่าน” สภาพแวดล้อมรอบตัวอย่างละเอียดรอบคอบมากกว่าในยุคบริการท่องเที่ยวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกเสียอีก
ใช่หรือไม่ว่าก่อนหัดภาษาใหม่เป็นคำๆ เราใช้ใจสัมผัสพลังของสถานที่ และใช้ภาษากายสื่อสารกัน เราสังเกตพฤติกรรมชีวิตท้องถิ่นรอบตัวว่าเขาอยู่อย่างไร กำลังทำอะไรอยู่ และเราลื่นไหลไปกับมัน
กับโลกธรรมชาติก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก การรู้ภาษาสิ่งแวดล้อมหรือภาษานิเวศ เริ่มต้นที่ความละเอียดอ่อนไหวกับสถานที่ที่เราเข้าไปอยู่ ความละเอียดอ่อนไหวทำให้เรามองเห็นความงามในหนองหญ้า แม้ว่ามันไม่มีดอกบัวสีชมพูตระการตา เห็นความงามของป่าผลัดใบในหน้าแล้งที่เต็มไปด้วยใบไม้แห้งกรอบสีน้ำตาล
มันทำให้เราเรียนรู้ที่จะเคารพความสลับซับซ้อนของธรรมชาติและพลังที่ขับเคลื่อนท้องที่ตรงนั้น เมื่อเห็นลำธารน้ำไหลระริกเราก็จะไม่พุ่งไปคิดทำฝายขวางกั้น เพียงเพราะมีความนิยมทำกันเป็นแฟชั่นนโยบาย เพราะเราจะเคารพการไหลของน้ำ มั่นใจว่ามันมีบทบาทที่สำคัญอยู่ในระบบนิเวศ
เราจะมีสวิตช์เช็คความคิดในสมองโดยอัตโนมัติที่จะไม่ไปหักล้างต้านธรรมชาติ แต่จะหาวิธีลื่นไหลไปกับมันและน้อมรับคุณประโยชน์จากธรรมชาติในลักษณะที่มันเป็นอยู่
การมองเห็นความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติแม้ว่าเราจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันมากนักในเบื้องต้น เป็นทัศนคติพื้นฐานสำคัญที่จะนำเราไปสู่การรู้ภาษาและความหมายในที่สุด สมัยฉันสาวๆ เป็นยุคที่อเมริกันกำลังรุ่งเรืองและติดซอสมะเขือเทศมาก ไปไหนกินอะไรก็ชอบราดเคชฉั่บประกาศความเป็นอเมริกัน เชฟฝรั่งเศสจึงไม่ปลื้ม ทำซอสมาอย่างพิถีพิถัน ดันจิ้มซอสมะเขือเทศเฉยเลย ยกตัวอย่างนี้มาไม่ได้จะบอกว่าการกินซอสมะเขือเทศผิด แต่คุณจะไม่มีวันมีโอกาสลิ้มรสการปรุงรสและวัตถุดิบในวัฒนธรรมอื่นเลย ภาษาของเขาที่คุณเก็บได้ก็อาจจะไม่ลึกซึ้ง เพราะคุณไม่เข้าใจชีวิตเขา
นักวิทยาศาสตร์ที่เก่งจริงๆ จึงมักเต็มไปด้วยความถ่อมตน เขาเห็นภาพใหญ่ของความสลับซับซ้อน มันเตือนให้พวกเขาตระหนักว่าเรายังรู้อะไรๆ น้อยแค่ไหน ซึ่งออกจะแตกต่างไปจากเทคโนแครต–เรียกง่ายๆ ว่าช่างเทคนิค ที่มักจะมั่นใจในความรู้ของตัวเองมากเกินไป ไม่ได้เผื่อสำหรับความผิดพลาดในการตัดสินใจ เราจึงได้เขื่อนกั้นปากแม่น้ำมูลที่ปลาร่วมสองร้อยชนิดไม่สามารถว่ายขึ้นบันไดปลาที่ช่างเทคนิคสร้างให้ไปวางไข่บนต้นน้ำได้
อ่านธรรมชาติผิดพลาดมักจะส่งผลกระทบมากกว่าการราดซอสมะเขือเทศบนไก่อบไวน์แดง
ในการทำงานกับธรรมชาติ หลักการป้องกันไว้ก่อนจึงสำคัญและในวันนี้กลายเป็นหลักการที่ยอมรับกันทั่วไป มันเป็นการให้โอกาสตัวเราเองได้ค่อยๆ เรียนรู้เรื่องราวของโลกธรรมชาติ ทั้งศัพท์แสง ไวยกรณ์พื้นฐาน สำนวนย้อนแย้ง ไปถึงความหมายเนียนๆ ระหว่างบรรทัดในโลกมหัศจรรย์ของสรรพสิ่ง
เป็นโลกที่เรามีที่มีทาง เป็นสมาชิกร่วมภาษาวัฒนธรรมอยู่ด้วยกันกับชีวิตอื่นๆ
กรุงเทพธุรกิจ, มีนาคม 2562