ในยามว่าง ผู้เขียนชอบเล่นเกมกระดาน
เมื่อพูดถึงเกมกระดาน คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงเกมเศรษฐี (Monopoly) แต่ในวงการเกมกระดานแล้ว เกมเศรษฐีมิได้อยู่ในสายตา ถือเป็นเกมบื้อๆ ไม่มีชั้นเชิงดีแต่พึ่งโชคทอดลูกเต๋าแล้วเดินต๊อกๆ ไปเรื่อยเจื้อยตามเส้นทางสายเดียวที่กำหนดไว้เหมือนหนูถูกบังคับให้วิ่งตามลู่ โชคดีก็ชนะ ซวยก็ติดคุกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่มีกลยุทธ จึงไม่ฟิน
จริงๆ แล้วโลกของเกมกระดานกว้างใหญ่ไพศาล มันเป็นวงการของมันเองไม่ต่างจากวงการวรรณกรรมหรือวงการหนัง มีแนวเกมแตกสาขากันออกไป มีเทศกาลประจำปีหลายแห่งแต่ใหญ่สุดคือที่เมืองเอสเซน ประเทศเยอรมันนี มีรางวัลเทียบเท่ากับรางวัลออสการ์ มีดารานักสร้างเกมที่แฟนคลับเฝ้ารอเกมใหม่ๆ มีศิลปินวาดภาพเกมยอดนิยม มีนักวิจารณ์เกม ฯลฯ เรียกว่าครบเครื่อง
ในกลุ่มเพื่อนเล่นเกมกระดานของเรามีคุณสฤณี อาชาวนันทกุลเป็นตัวตั้งตัวตี เธอสะสมเกมเยอะมากและขยันอ่านกฎกติกา แถมเขียนคอลัมน์แนะนำเกมกระดานในนิตยสารสารคดีอีกด้วย
เกมที่เราเล่นกันมีหลายแนว อาทิ เกมจัดการทรัพยากร เกมบริหารแรงงาน เกมออกแบบและจัดการพื้นที่ เกมค้าขาย เกมบริหารลอจิสติก เกมจัดการสิ่งแวดล้อม เกมการเมือง เกมสืบสวนหาฆาตรกร ฯลฯ ภายใต้ธีมหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นฉากหนึ่งในประวัติศาสตร์ ฉากโลกแฟนตาซี หรือวรรณกรรมยอดนิยม และบางครั้งก็มีเกมที่นำเสนอกลไกทางชีววิทยาออกมาด้วย
ทุกครั้งที่มีเกมแนวชีวะออกมา สฤณีต้องรีบเรียกเราไปเล่น เพื่อช่วยทดสอบระดับความเจ๋งของเกม
คือความสนุกของเกมมันมีหลายปัจจัย นอกจากกลไกของเกมที่ต้องมีการถ่วงสมดุลย์ระหว่างกลยุทธทางเลือกเล่นที่แตกต่างกันแล้ว เกมยังต้องมีตรรกะที่สอดคล้องกับธีมที่มันนำเสนอ ก็เหมือนกับหนังสือหรือหนังภาพยนตร์ ดาราเล่นดีแค่ไหน ฉากอลัง เทคนิคพิเศษเด่นพราวแค่ไหน แอ็คชั่นมันแค่ไหน ถ้าบทขาดตรรกะที่เป็นเหตุเป็นผลจนเราไม่สามารถคล้อยตามได้ มันก็จะมีอะไรขัดใจทำให้ไม่สนุกเท่าที่ควร เช่น แต่งเรื่องฆาตรกรรมโดยรีดพิษงูเห่าไปหยอดใส่แปรงสีฟัน คนสีฟันแล้วดันดิ้นแด่วๆ ตาย ทั้งๆ ที่พิษงูไม่ได้เข้ากระแสเลือดสักหน่อยนี่มันรับไม่ได้จริงๆ
ถ้าจะเล่นเกมชีวะ ตรรกะพื้นฐานทางชีวะก็ต้องโอ
ภายใต้ธีมวิวัฒนาการ ก็มีเกมออกมา 2-3 เกม
เกมแรกที่เราเล่นกันคือเกม “ซุปดึกดำบรรพ์” (Primordial Soup) เป็นเกมวิวัฒนาการจากอะมีบาเซลล์เดียวสู่ชนิดพันธุ์ที่มีคุณสมบัติต่างๆ ในการอยู่รอด ไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่ (แต่ก็อาจเป็นเพราะตอนนั้นพวกเรายังเล่นเกมไม่ค่อยเป็น) ไอเดียที่เป็นฐานคิดของเกมว่าด้วยความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพกับวัฎจักรแร่ธาตุมันก็เจ๋งดี แต่กลไกเกมทำให้ตัวเดียวที่อยู่รอดคือตัวที่สามารถขนอาหารติดตัวไปไหนต่อไหนได้ตลอดเวลา ตัวอื่นๆ จมขี้ตัวเองตายหมด แบบนี้ก็ไม่เวิร์ค
เกมถัดมา ได้แก่ เกม “ชนิดพันธุ์ครองโลก” (Dominant Species) เป็นเกมที่นับวันรอคอยเล่นกันมาก แต่พอได้เกมมาเล่น นักนิเวศวิทยาอย่างเราเซ็งเป็ดไปเลย เพราะกลไกเบื้องหลังคือเกมสงคราม แข่งบี้เหยียบย่ำกันตลอด ทั้งๆ ที่ยุทธศาสตร์สู่ความสำเร็จในธรรมชาติมันไม่ได้มีแต่การแข่งขันไล่บี้ (competition) แต่มีการร่วมมือเกื้อกูลกัน (cooperation) ควบคู่ไปด้วย ไม่มีชนิดพันธุ์ใดอยู่รอดได้ด้วยการแข่งขันชนะเลิศเพียงอย่างเดียว
เกมที่สามเป็นเกมวิวัฒนาการแบบเด็กๆ ใช้โชคหยิบไพ่สร้างกายภาพแปลกๆ อย่างเดียว เล่นได้แบบขำๆ แต่ไม่ได้ดาวจากนักชีวะ
ดังนั้น เมื่อสฤณีบอกว่าได้เกมวิวัฒนาการอันใหม่มาชื่อ Evolution ได้รับคำวิจารณ์ดีมาก อยากให้ลองเล่น เราก็เฉยๆ ไม่เนื้อเต้นตามไปด้วย
ตอนที่เล่น เราเพิ่งปั่นจักรยานกลางแดดมา 80 กิโล จะฟุบหลับอยู่แล้ว แต่เล่นได้สองตาก็ตื่นเลย
ในเกมนี้ผู้เล่นทุกคนเริ่มต้นด้วยการเป็นสัตว์กินพืช เราต้องหาทางอยู่รอดโดยสามารถเพิ่มประชากร เพิ่มขนาด และเพิ่มคุณลักษณะพิเศษประจำตัวได้สามประการ ซึ่งอาจเป็นคุณสมบัติที่ช่วยในการป้องกันตัว เลี่ยงภัย หาอาหาร หรือแพร่พันธุ์ก็ตามแต่ คะแนนของเราจะมาจากจำนวนเม็ดอาหารที่กินได้ตลอดเกม และจำนวนสัตว์ที่รอดชีวิตอยู่ได้ในท้ายเกม เราจะไม่รู้กันว่ากินอาหารกันไปได้เท่าไหร่ เพราะต้องเก็บเม็ดอาหารใส่ถุงส่วนตัวตอนจบแต่ละตา
ในแต่ละตาแหล่งอาหารจะมีไม่เท่ากัน บางครั้งเหลือเฟือ บางครั้งอาจจำกัด กลยุทธการหากินจึงสำคัญ แล้วพอสัตว์บางตัวเริ่มวิวัฒนาการไปเป็นสัตว์กินเนื้อไล่ล่าตัวอื่นๆ ความพยายามเอาตัวรอดด้วยการปรับตัวในแนวทางต่างๆ ก็มีความหมายขึ้นมาทันที ถึงขั้นที่สัตว์กินพืชบางชนิดต้องร่วมมือกันปกป้องตนเอง แต่สัตว์ผู้ล่าก็สามารถกินบางชนิดจนสูญพันธุ์ หรืออาหารพืชพรรณไม่พอก็สูญพันธุ์กันได้ ถึงตอนนี้นังเพื่อนที่เป็นสัตว์ผู้ล่าก็คึกคักมาก เพราะเธอวิวัฒนาการมาเป็นสัตว์กินเนื้อตัวโตที่ชาญฉลาด มีความสามารถก้าวข้ามการป้องกันตัวของสัตว์อื่นๆ ที่มันอยากกินได้ ทุกครั้งที่เธอกินอิ่ม เธอจะหยิบถุงใส่เม็ดอาหารมาเขย่า เริงร่ามั่นใจว่าเธอกินได้เยอะกว่าใคร ชนะแน่นอน
แต่พอจบเกม เปิดถุงอาหารออกมา ปรากฎว่าเธอได้ที่โหล่ ฮ่าๆๆๆ
เป็นการปิดเกมที่แสดงสัจธรรมการถ่ายทอดพลังงานผ่านการกินในโลกธรรมชาติได้ตรงตามหลักนิเวศวิทยาอย่างสง่างาม
การถ่ายทอดพลังงานจากดวงอาทิตย์สู่พืช สู่สัตว์กินพืช สู่สัตว์กินสัตว์มีข้อจำกัด พลังงานจะสูญเสียไปถึง 90 % ในแต่ละขั้นของการกิน โลกจึงไม่สามารถรองรับสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ ณ ปลายทางห่วงโซ่อาหารได้มากมายหลายตัว สัตว์พวกนี้จึงมีอยู่น้อยกว่าสัตว์ประเภทอื่นในระบบนิเวศ
เมื่อมนุษย์เพิ่มจำนวนประชากรมากมายขึ้นมาล้นโลก แล้วยังหันไปกินเนื้อมากขึ้น เราจึงต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตอาหาร ยิ่งพยายามฉลาดบีบธรรมชาติให้ผลิตเนื้อป้อนเรา ถางป่าปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ ขุดเชื้อเพลิงฟอสซิลมาทำปุ๋ยเพิ่มผลผลิต จนแผ่นดินผืนน้ำปนเปื้อน ก็ต้องไปเจอกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เราเป็นผู้สร้างขึ้นมา
แต่คิดหรือว่าเพื่อนผู้เล่นเป็นสัตว์กินเนื้อตัวโตมันจะสำนึก แม้ว่าจะแพ้หลุดลุ่ย เธอกล่าวปิดเกมว่า “ประเด็นสำคัญคือพวกแกกลัวชั้นกันลนลานเลย ฮ่าๆๆ”
น่าจะตั้งชื่อเรื่องว่า “สัตว์กินสัตว์ตัวโตบ้าอำนาจ” แต่เกรงว่าอาจเกิดความเข้าใจผิด หาว่ากระทบกระทั่งใครต่อใคร
กรุงเทพธุรกิจ ธันวาคม 2557