in on May 8, 2017

เด็กเมืองขี้เบื่อ

read |

Views

เด็กกับวัยรุ่นที่บ้านสองคนเติบโตในเมืองเเละมีห้วงเวลาที่แตกต่างจากผู้เขียนเหลือเกิน จนต้องมีการปรับจังหวะปรับความเข้าใจกันเป็นระยะๆ เพราะบางทีความคิดจากมุมของแม่ก็ไม่ได้ บรรยากาศไม่เอื้อ สถานการณ์ไม่ให้ หากปล่อยให้คิดจากมุมของลูกเพียงอย่างเดียวก็ไม่ไหว เลยต้องมีกติกาในบ้านมาช่วยดึงช่วยรั้งกันพอสมควร

ถึงแม้ว่าลูกชายทั้งสองคนยังถือว่าอยู่ในโอวาทตามมาตรฐานของเพื่อนๆ ที่เคยมาที่บ้าน เพราะกติกาที่มีมาตั้งแต่ตอนยังตัวเล็กๆ ที่ว่าต้องขออนุญาตก่อนจะดูโทรทัศน์เเละตกลงช่วงเวลาที่สามารถอยู่หน้าจอ ซึ่งยังเป็นไปตามนั้นจนทุกวันนี้บางครั้งผู้เขียนก็ตั้งใจเป็นแม่ใจร้ายไม่ยอมให้อยู่หน้าจอเลยไล่ให้ออกไปเล่นนอกบ้านแทน

นึกไปถึงตอนเป็นเด็กแม่ของผู้เขียนไม่เคยต้องมาคิดแทนว่าเวลานั้นเวลานี้ลูกทั้งสี่คนต้องทำอะไรบ้าง  การหาอะไรทำขณะอยู่บ้านจึงถือว่าเป็นหน้าที่ของแต่ละคน เลือกเอาเองว่าจะทำการบ้าน (หากไม่ทำก็ไปโดนดุที่โรงเรียน) ช่วยงานบ้าน (หากไม่ช่วยก็ได้กินข้าวเย็นช้า) หรือจะเล่นจะดูทีวี (ถ้าเป็นวันหยุด) ก็เลือกทำแล้วแต่จังหวะ แล้วแต่โอกาส จำไม่ได้ว่าเคยพูดคำว่าเบื่อกับแม่ในบริบทเหล่านี้หรือเปล่า อาจจะมีก็ตอนที่ติดตามไปซื้อของใช้ตามตลาดแล้วเจอแบบคุยกับแม่ค้า 1 ชั่วโมง แต่ซื้อของจริงๆ 5 นาที 

ส่วนเวลาที่ดื้อหรือซนเกินปกติ (ประเภทที่ขึ้นไปแอบบนหลังคาบ้านเวลาที่เล่นซ่อนหากับเด็กๆ แถวบ้าน) ก็จะถูกกักบริเวณไม่ให้ออกไปเล่นนอกบ้านอยู่หลายวัน แต่ก็นั่งทำตาละห้อยเวลาที่เห็นเพื่อนๆ เล่นอยู่นอกบ้านได้ไม่นานนัก เพราะในบ้านเองก็มีอะไรให้ทำอยู่หลายอย่าง (ใครที่คุ้นเคยกับกิจกรรมต่อไปนี้ ก็ให้รู้ว่าเรารุ่นเดียวกัน) นับตั้งแต่วาดเสื้อผ้าเพิ่มเติมให้ตุ๊กตากระดาษ สร้างบ้านจากผ้าห่มและหมอน หัดเล่นไพ่แบบต่างๆ เพื่อฝึกทักษะการคิดเลข เล่นขายของ ทำขนมครกไข่นกกระทาขาย (คุณตาผู้ให้ทุนตั้งร้าน) อ่านการ์ตูนเบบี้หนูจ๋า และอื่นๆ อีกมากมาย จนนึกไม่ออกว่ามีเวลาไหนตรงไหนให้เบื่อ

แต่มาในวันนี้ เท่าที่เคยได้คุยกับบรรดาแม่ๆ ของเพื่อนลูก สิ่งหนึ่งที่พวกเราพบว่าเป็นเหมือนกันทุกบ้านก็คือการที่ลูกเดินเข้ามาหาแล้วบอกว่ารู้สึกเบื่อจนกลายเป็นคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กเมืองในยุคนี้ เพราะในวงสนทนาดังกล่าว ไม่มีใครบอกว่าเคยเดินไปหาพ่อแม่ของตัวเองแล้วพูดแบบนี้เลย (ไม่แน่ใจว่าถ้าพูดไปแล้วจะได้ไม้เรียวกลับมาหรือเปล่า)

ข้อสรุปอาจไม่ชัดเจนแต่ข้อสังเกตของผู้เขียนพบว่าน่าจะมาจากตัวพวกเราเองที่กลายเป็นพ่อแม่ที่ช่างสรรหาของเล่นสำเร็จรูปเพื่อนสำเร็จรูปที่มาในรูปแบบของเพลย์เดท (Play Date) รวมไปถึงตารางกิจกรรมสำเร็จรูปตั้งแต่เรียนพิเศษ เรียนดนตรี กีฬาที่มีครูสอน และบริการรถรับส่งแบบถึงทุกที่ทุกเวลา แถมยังมีแท๊บเล็ตและสมาร์ทโฟนที่แสนฉลาด สามารถนำสิ่งที่เด็กๆ สนใจมาเสริฟให้ถึงโต๊ะได้อย่างเพลิดเพลิน ระหว่างรอให้ร้านทำอาหาร จึงไม่เป็นอันว่าไม่มีการเสียเวลาไปกับการไม่ทำอะไร

พอมาถึงจุดที่กิจกรรมเหล่านั้นลดน้อยลงหรือว่าเป็นช่วงปิดเทอมแต่พ่อแม่ยังต้องทำงาน เมื่อถูกตัดโอกาสในการเข้าดูสื่อทางช่องทางต่างๆ เด็กเมืองยุคนี้จึงเคว้งคว้าง คำว่าเบื่อจึงเป็นคำพูดที่ถูกนำมาใช้เบิกทางเพื่อเข้าประเด็นการขอทำอย่างอื่น เช่น ดูโทรทัศน์หรือเล่นคอมพิวเตอร์มากกว่าที่จะรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ

มีผู้ปกครองคนหนึ่งบอกว่าการสอนให้ลูกใช้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ เป็นตั้งแต่ยังเล็ก จะช่วยพัฒนาความฉลาดของลูก พร้อมแสดงความเป็นห่วงเพราะในขณะนั้น ลูกของผู้เขียนยังไม่ประสาอะไรกับโลกอินเตอร์เน็ต (หลักฐานยืนยันจากการที่เจ้าคนโตบอกกับน้องว่า จะให้แม่พาไปส่งตามที่อยู่ของเว็ป เพราะเขาเขียนไว้ว่า “go to www.abc.com”) ผู้เขียนได้แต่ตอบไปว่า ไม่เป็นไรหรอก ลูกๆ มีเวลาเป็นเด็กอยู่แค่ 12 ปี พอเป็นวัยรุ่นแล้ว เขาก็จะไม่ค่อยมีเวลาเล่นแล้ว เด็กๆ ในบ้านนี้จึงได้ใช้ชีวิตแบบเล่นนอกบ้านทุกครั้งที่มีโอกาส

อันที่จริงมีงานวิจัยออกมาบอกว่า การปล่อยให้เด็กเบื่อ คือไม่ต้องไปเจ้ากี้เจ้าการหากิจกรรมให้ทำตลอดเวลา เท่ากับเปิดโอกาสให้สมองน้อยๆ ของลูกล่องลอยเข้าไปในโลกแห่งจินตนาการ ช่วยให้มีการสังเกตสิ่งรอบๆ และหาคำตอบให้กับปัญหาต่างๆ เพราะสมองได้ถูกใช้งานให้สำรวจความคิดและความสร้างสรรค์ของตัวเอง พ่อแม่จึงไม่ควรที่จะต้องหาอะไรให้ลูกทำอยู่ตลอดเวลา เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เข้าถึงส่วนนี้ แถมยังเป็นจังหวะดี ให้ลูกได้พักสายตาจากการับแสงจากจอต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กๆ สายตาสั้นเพิ่มมากขึ้น

อ่านเรื่องนี้จบแล้ว ขอให้พาเด็กๆ ในบ้านออกไปเดินหรือเล่นนอกบ้านทันที หากเวลาและสถานที่เอื้ออำนวย

ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share