ดูเหมือนภาพมหาเศรษฐีโลกบิล เกตส์ดื่มน้ำที่สกัดจากอุจจาระที่เผยแพร่ไปทั่วโลกจะถูกเบี่ยงเบนความสนใจจากวัตถุประสงค์ของเขาไปสู่เรื่องแปลกแต่จริงหรือเรื่องน่าผะอืดผะอมเสียมากกว่า แต่ภาพนี้ก็จุดประกายความคิดขึ้นหลายอย่าง
ความคิดแรกคือน่าตื่นตาตื่นใจที่มนุษย์เราสามารถนำอุจจาระมาทำน้ำบริสุทธิ์และมีคนดังกล้าดื่ม แต่เมื่ออ่านกระบวนการการผลิตโดยละเอียดก็พบว่าไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ ดังบิลเกตต์บรรยายไว้ในบล็อกของเขาว่า “ผมเห็นกองอึไหลไปตามสายพานตกลงไปที่ถังขนาดใหญ่ ผ่านเครื่องจักรเข้าสู่การต้มและกลั่น สองสามนาทีต่อมาก็ได้ชิมน้ำที่แสนอร่อย และเมื่อศึกษาระบบวิศวกรรมเบื้องหลังที่มาของมัน ผมก็พร้อมที่จะดื่มน้ำจากอึทุกวัน มันปลอดภัย”
แท้จริงแรงบันดาลใจและเหตุผลเบื้องหลังเรื่องนี้เป็นเรื่องน่าส่งเสริม บิล เกตต์บอกว่าในประเทศยากจนมีการนำสิ่งปฏิกูลไปทิ้งเรี่ยราดก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บและปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา มูลนิธิของเขาจึงเกิดโครงการนี้ขึ้น ซึ่งเครื่องที่เรียกว่า ออมนิโปรเซสเซอร์ (Omniprocessor) จะช่วยแก้ปัญหาโดยให้มากกว่าการเผาเพื่อเป็นพลังงาน แต่ยังให้น้ำสะอาดอีกด้วย ซึ่งเครื่องมือนี้จะเปลี่ยนอึของคน 100,000 คนให้เป็นพลังงาน 250 กิโลวัตต์ และน้ำสะอาด 86,000 ลิตร…พูดง่ายๆ ก็คืออึของคนหนึ่งคนเปลี่ยนเป็นน้ำได้ประมาณ 1 ลิตรนั่นเอง ซึ่งเท่ากับการเปลี่ยนสิ่งปฏิกูลให้เป็นขุมทรัพย์ล้ำค่า
อย่างไรก็ตามด้วยวิธีการนำเสนอโดยการดื่มน้ำโชว์ของบิล เกตต์ ประกอบกับต้นทุนค่าเครื่องจักร ประเทศยากจนเหล่านั้นจะตอบรับเทคโนโลยีหรือยอมดื่มหรือใช้น้ำจากอึหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป
อีกหนึ่งความคิดที่ผุดขึ้นมาคือ เมื่อใช้เงินและเทคโนโลยีเป็นตัวตั้งในการแก้ปัญหา สิ่งที่ออกมามักซับซ้อนและแพงเกินกว่าที่คนธรรมดาสามัญจะเข้าถึง และบ่อยครั้งเป็นเรื่องขี่ช้างจับตั๊กแตน ซึ่งน่าจะเป็นคำตอบว่าเหตุใดมูลนิธิบิล เกตต์จึงใช้เงินถึง 80 เปอร์เซนต์สนับสนุนองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอในยุโรปและอเมริกาเพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความยากจนและสุขภาพของคนยากจน แต่เงินเหล่านั้นตกมาสู่มือของคนในประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศในทวีปแอฟริกาและเอเชีย ซึ่งเป็นเป้าหมายการช่วยเหลือคนยากจนของเขาเพียงน้อยนิด ผลงานที่ออกมาจึงดูเหมือนจะเพื่อรับรางวัลมากกว่าถูกนำมาใช้จริง และแท้จริงในประเทศเหล่านั้นล้วนมีภูมิปัญญาหรือเทคโนโลยีง่ายๆ และราคาถูกอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการนำไปใช้หรือไม่ เช่น การหมักอึให้เป็นแก๊สหุงต้ม เป็นต้น
ความคิดสุดท้ายในที่นี้คือ อาจมีบางพื้นที่ในโลกใบนี้มีขาดแคลนแหล่งน้ำจนไม่สามารถหาน้ำดื่มน้ำใช้ในพื้นที่หรือบริเวณเคียงได้เพราะสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศแห้งแล้งจริงๆ แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ในโลกนี้ขาดน้ำเพราะการจัดการและพฤติกรรมการใช้น้ำเสียมากกว่า ดังนั้นเราจึงมีวิธีการจัดการที่ง่ายกว่าและถูกกว่าเครื่องแปลงอึเป็นน้ำ เช่น การไม่ทิ้งสิ่งปฏิกูลหรือสารเคมีจากภาคเกษตรหรืออุตสาหกรรมลงสู่แม่น้ำลำคลอง ซึ่งจะไหลลงสู่ผืนดินและแหล่งน้ำใต้ดินในที่สุด การใช้น้ำอย่างประหยัด และเลือกสุขภัณฑ์ใช้น้ำน้อยเป็นต้น
ผู้เขียนเห็นว่านอกเหนือจากการเห็นเป็นข่าวแปลก สิ่งหนึ่งที่สังคมโลกควรจะได้เรียนรู้จากข่าวบิลเกตส์ดื่มน้ำจากอุจจาระคือการกระตุ้นเตือนให้ตระหนักว่าหากไม่ช่วยกันประหยัดน้ำ สักวันหนึ่งเราอาจไม่มีทางเลือกและต้องดื่มน้ำจากแหล่งเดียวกันกับบิล เกตต์นั่นเอง