ก่อนสิ้นเดือนมิถุนายน ข่าวการตายของลูกช้างที่ถูกรถชนตอนเช้ามืดบนทางหลวงสาย Gerik-Jeli ห่างจากเมืองอิโปห์ไปราวๆ 130 กิโลเมตร ถือเป็นข่าวแสนเศร้า โดยเฉพาะต่อกลุ่มคนที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ช้าง ที่พยายามติดตามและทำความเข้าใจกับการเคลื่อนที่ของกลุ่มช้างป่าในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะผืนป่าเบอลุม (Royal Belum National Park) ทางตอนเหนือของรัฐเปรัค ซึ่งเป็นผืนป่าที่มีรอยเชื่อมต่อกับเทือกเขาสันกาลาคีรี และอุทยานแห่งชาติบางลางในจังหวัดยะลาของประเทศไทย
สาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ไม่อาจจะโทษคนขับรถที่วิ่งเข้าชนลูกช้างอย่างเดียว แต่เบื้องลึกเบื้องหลังที่เป็นสาเหตุจริงๆ มีองค์ประกอบมากกว่านั้น ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา มีสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 2 พันตัว ที่ถูกฆ่าโดยยานพาหนะบนถนน มีทั้ง สมเสร็จ ลิง แมวดาว อีเห็น หมูป่า และที่เป็นข่าวสุดเศร้าเมื่อปีที่แล้ว ก็คือข่าวที่แม่เสือที่กำลังตั้งท้องลูกสองตัว ถูกรถชนตายข้างป่าสงวนราเซา (Rasau Forest Reserve) ในรัฐตรังกานู
เหตุที่มีสัตว์ป่าจำนวนมากตายด้วยอุบัติเหตุจากรถชน ก็เนื่องมาจากการขยายเส้นทางคมนาคมในประเทศมาเลเซียที่มีเส้นทางหลักๆ มากกว่า 60 สายที่เป็นทางหลวง ส่วนพื้นที่ที่ถือว่าเป็น hotspots ก็คือทางหลวงหลัก 5 สาย (เส้นสีฟ้าๆ) ที่วิ่งข้ามผืนป่าต่างๆ ภายใต้วงกลมสีแดงนั่น ถ้านำแผนที่แสดงผืนป่าของมาเลเซียมาเทียบ จะเห็นว่าถนนเหล่านั้นตัดผ่านผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นเมื่อแหล่งอาศัยและหากินถูกตัดขาดออกจากกัน จึงเป็นเรื่องปกติที่สัตว์ป่าจะหาทางข้ามกลับไปยังถิ่นหากินเดิมๆ ทางหลวงเหล่านั้นจึงกลายเป็นสุสานของสัตว์ป่าไปโดยปริยาย
แม้ว่าจะมีการพูดถึง “ทางข้ามของสัตว์ป่า” หรือ Wildlife Crossings ในรูปแบบต่างๆ กัน ทั้งทางลอด สะพานลอย อุโมงค์ แต่ในมาเลเซีย ยังคงขาดแคลนทางข้ามเหล่านี้ และเรื่องที่ต้องมีการคิดต่อ เมื่อการสร้างทางข้ามเกิดขึ้น คือ การป้องกันระวังไม่ให้นักล่าใช้ทางข้ามของสัตว์ป่าเป็นแหล่งดักสัตว์ คล้ายๆ ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์หนีเสือปะจระเข้ แต่ในเมื่อเกิดขึ้นกับสัตว์ป่า คงต้องเปลี่ยนสุภาษิตนี้เป็น “หนีรถปะปืน”
ทางหน่วยงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าได้ระบุว่ามีการติดตั้งป้ายสัญลักษณ์ “ทางข้ามของสัตว์ป่า” ตรงไหล่ทางหลวงทั้งหมด 236 ป้าย ในตำแหน่งที่ถือว่าเป็น hotspots ทั้ง 133 แห่ง แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะลดจำนวนสัตว์ป่าที่ถูกฆ่าบนถนนได้ เพราะการถางป่าเพื่อเปิดเส้นทางคมนาคมก็ยังมีอยู่เรื่อยๆ ทำให้ถิ่นอาศัยของสัตว์อยู่ใกล้กับถนนมากเกินไป หรือบ้านเรือนของคนกระเถิบเข้ามาใกล้กับถิ่นอาศัยของสัตว์ป่ามากเกินไป อันเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันระหว่างคนและสัตว์ป่าตามมา
ความรับผิดชอบต่ออุบัติเหตุรถชนสัตว์ป่า จึงไม่ได้ตกอยู่แค่ที่คนขับรถ ที่ควรจะขับด้วยความระมัดระวังเมื่อแล่นผ่านพื้นที่ป่าต่างๆ เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงเจ้าของโครงการสร้างถนนและทางหลวง ที่ต้องออกแบบให้มีทางข้ามสัตว์ป่ากระจายตามจุดสำคัญต่างๆ มากพอ และเรื่อยไปถึงผู้อนุมัติโครงการก่อสร้างและพัฒนาเมืองและทางหลวง ที่ควรจะมีการศึกษาและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ เพื่อระบุพื้นที่ที่ควรหลีกเลี่ยง ด้วยอาจจะเป็นแหล่งอาศัยสุดท้ายของสัตว์ป่าสงวนและ/หรือใกล้สูญพันธุ์ ก่อนจะอนุมัติโครงการก่อสร้างเหล่านั้น
ก่อนจะสายเกินไปด้วย ช.ช้าง อาจไม่มีที่ให้วิ่งหนีอีกต่อไป