ทุ่งนาแดนนี้คงร้างไปอีกนาน…
ด้วยความที่เป็นเพลงที่ได้ยินบ่อยมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ ทั้งจากวิทยุทรานซิสเตอร์ของแม่บ้าน ของข้างบ้าน หรือของรถสองแถวที่นั่งต่อรถเข้าซอยในหมู่บ้าน ท่อนเพลงเหล่านี้ จึงติดอยู่ในความทรงจำแน่นนาน… จะว่าไปเนื้อเพลงลูกทุ่งสมัยก่อน ผูกพันกับบรรยากาศทุ่งนาและชีวิตชาวนามากที่เดียว เช่น สวรรค์บ้านนา กลิ่นโคลนสาบควาย ทุ่งนางคอย และอีกมากมายที่เชื่อว่ามีอยู่แต่ผู้เขียนไม่รู้จัก
ด้วยความที่เป็นเพลงที่ได้ยินบ่อยมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ ทั้งจากวิทยุทรานซิสเตอร์ของแม่บ้าน ของข้างบ้าน หรือของรถสองแถวที่นั่งต่อรถเข้าซอยในหมู่บ้าน ท่อนเพลงเหล่านี้ จึงติดอยู่ในความทรงจำแน่นนาน… จะว่าไปเนื้อเพลงลูกทุ่งสมัยก่อน ผูกพันกับบรรยากาศทุ่งนาและชีวิตชาวนามากที่เดียว เช่น สวรรค์บ้านนา กลิ่นโคลนสาบควาย ทุ่งนางคอย และอีกมากมายที่เชื่อว่ามีอยู่แต่ผู้เขียนไม่รู้จัก
แต่ถ้าสังเกตให้ดี ก็จะรู้ว่าอีกไม่นาน ทุ่งนาจำนวนมากในแผ่นดินไทยคงจะร้างจริงๆ แต่ไม่ใช่เพราะชาวนาอกหักคนรักทิ้งจนไม่มีกะจิตกะใจจะลงมือไถต่ออีกรอบ แต่เป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่างหาก
ผู้เขียนเคยพาคณะครูไปฝึกการสอนสิ่งแวดล้อมศึกษา กิจกรรมหนึ่งที่ใช้ในการเรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนเปิดโอกาสให้เราได้ไปคุยกับชาวบ้านริมน้ำเจ้าพระยา ครั้งหนึ่งได้ไปสัมภาษณ์คุณลุงชาวนา คุยกันถึงความยากแค้นและกำไรอันน้อยนิดจากการทำนาแล้วก็มาถึงคำถามเรื่องแรงงาน ลุงบอกว่าลูกหลานไม่ได้มาช่วยแล้ว เพราะไปเรียนหนังสือในเมืองกันหมด ครูท่านหนึ่งถามออกไปว่าทำไมไม่เรียกลูกหลานกลับมาช่วยทำนา ทำไมถึงส่งไปเรียนเสียหมด
คุณลุงถาม (ย้อน) กลับมานิ่มๆ เนิบๆ ว่า “งั้นครูให้ลูกครูมาทำนากับผมไหมล่ะ ปล่อยให้ลูกผมเรียนหนังสือแล้วจบมาเป็นครูบาอาจารย์บ้าง ให้ลูกของครูมาทำนาแทนลูกผม” เอิ่ม…จบข่าว เพราะความจริงเป็นคำตอบที่ชัดเจน ลูกใคร ใครก็อยากให้ได้ดีมีอาชีพก้าวหน้า
สมัยก่อน ลูกหลานชาวนา โตมากับท้องนา เรียนจบ ป.4 ก็มาช่วยพ่อแม่ทำนาด้วยความชำนาญ เพราะคลุกคลีมาตั้งแต่เด็กๆ พอการศึกษาภาคบังคับขยับลำดับชั้นสูงขึ้น ลูกหลานชาวนาก็ได้โอกาสเรียนสูงขึ้น พอจบออกมาช่วยทำนาบ้าง เข้าเมืองไปหางานอื่นๆ ตามแต่จะมีโอกาส หรือเรียนต่อจนจบปริญญาปักหลักอยู่ในเมือง ซึ่งผู้เขียนเองก็เป็นหลานชาวนาแถวผักไห่เหมือนกัน แต่โดนหอบเข้าเมืองมาตั้งแต่รุ่นตายายโน่นแล้ว
เรื่องเกี่ยวกับนาร้างนี้ ผู้เขียนสังเกตมานานแล้ว แต่ไม่รู้จะทำอะไรได้ เพราะอยู่นอกวงการเสียเหลือเกิน แต่เมื่อไม่นานมานี้ ต่อมความสงสัยถูกกระตุกอีก เพราะได้ไปดูการปลูกข้าวที่อำเภอเซอคินชัน (Sekinchan) ซึ่งอยู่ในรัฐสลังงอร์นี่เอง ที่นี่นับเป็นพื้นที่ปลูกข้าวใหญ่เป็นที่สองของมาเลเซีย รองจากรัฐเคดาห์ แต่ให้ผลผลิตมากถึง 70% ของผลผลิตรวมทั้งประเทศ โดยมีผลผลิตต่อพื้นที่สูงถึง 1,360 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่เมืองไทยปลูกได้เพียง 674 กิโลกรัมต่อไร่ในพื้นที่นาปรัง (นาปี 433 กก. / ไร่)*
ทำไมผลผลิตจึงสูงขนาดนี้ ก็คงเป็นเพราะที่เซอคินชันใช้เทคโนโลยีในการปลูกข้าว โดยเริ่มตั้งแต่การเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ทำในแปลงเพาะเลี้ยง โดยปลูกบนกระบะที่เมื่อต้นกล้าโตพอจะนำไปปักดำได้ ก็ลอกออกจากกระบะแล้วม้วนรอเอาไว้ จากนั้น จะป้อนเข้าเครื่องที่วิ่งคร่อมไปบนแปลงนา เครื่องจะตัดออกเป็นกระจุกเล็กๆ แล้วปักดำลงไปในดินที่มีการเตรียมไว้แล้ว (ด้วยเครื่องจักร) หนึ่งแปลง ปักดำเสร็จภายใน 2-3 ชั่วโมง ซึ่งถ้าหากว่าเป็นแรงงานคนปักดำในพื้นที่ขนาดเดียวกันนี้ จะใช้เวลา 2-3 วันในการปักดำ
ระหว่างที่รอให้ต้นข้าวโต คนงานก็จะทำหน้าที่เดินตรวจนา คอยใส่ปุ๋ย กำจัดวัชพืช และฉีดยาตามตารางที่กำหนด ซึ่งคนงานแค่ 1- 2 คน ดูแลพื้นที่ได้ราวๆ 12 ไร่
พอครบ 3 เดือน ก็ใช้เครื่องที่เรียกว่า Rice harvester แบบที่ผู้เขียนเคยเห็นแต่ในหนังสือภาพเครื่องจักรที่เคยเปิดให้ลูกชายดูตอนที่ยังเป็นเด็กน้อย มีคนงานขับคร่อมแปลงนาเพื่อเกี่ยวข้าว ข้าวเปลือกเก็บไว้ในเครื่อง ส่วนที่เหลือของต้นข้าวก็ปล่อยออกมาคลุมนาไว้ข้างหลัง
ทำไมการปลูกข้าวจึงง่ายดายและใช้แรงงานเพียงน้อยนิดขนาดนี้ สิ่งที่ผู้เขียนได้เห็นในวันนั้น ทำให้คิดถึงผืนนาที่เมืองไทยทันที คิดเล่นๆ ว่า จะเป็นไปได้ไหม หากว่าเรานำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในการทำนา ในขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมให้ลูกหลานชาวนาไปเรียนการทำเกษตรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อกลับมาทำงานในถิ่นเกิดเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่รู้จักการบริหารในเชิงธุรกิจด้วย ส่วนการจัดตั้งโรงสี ก็ให้ชาวนารวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์ดำเนินงาน ซึ่งผลกำไรจากการขายข้าวผ่านโรงสี ก็จะกลับมาเป็นการปันผลให้แก่ชาวนาต่อไปได้ด้วย
หากไม่คิดวางแผนและปรับเปลี่ยนให้ทันต่อสถานการณ์ ในระยะเวลาอีกไม่นานนัก เราก็อาจจะกลายเป็นผู้ซื้อข้าวจากประเทศในกลุ่มอาเซียนมารับประทาน เพราะนับจากปี 2556 มาถึง 2557 พื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศไทยลดลงไปแล้วถึง 21% ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลงกว่า 20% เช่นกัน*
อีกหน่อยเราคงได้ยินเพลงนี้บ่อยขึ้น “ทุ่งนาแดนนี้คงร้างไปอีกนาน…”