ช่วงสองเดือนที่ผ่านมา เรื่องราวการปลูกป่าดุเดือดเข้มข้นราวกับละครหลังข่าวจนบางคนเรียกว่า “ดราม่าปลูกป่า” หากตัดอารมณ์และอคติที่ปรากฎอยู่ในเรื่องราวออกไป จะพบว่าทั้งฝ่าย “อยากปลูก” และฝ่าย “อย่าปลูก” ต่างขุดค้นเหตุผลและข้อมูลที่ล้วนมีประโยชน์และทรงคุณค่าอย่างยิ่งมาชี้แจง ซึ่งหากไม่เกิดเหตุการณ์นี้ ชุดข้อมูลเหล่านี้จะถูกวางนิ่งอยู่ในชั้นหนังสือในห้องสมุดหรือ “หอคอยงาช้าง” ต่อไป
ไม่อาจชี้ชัดว่าใครผิดใครถูก แต่ที่แน่ๆ เมื่อผู้นำฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านต่างเป็นเซเล็บที่มีผู้ติดตามทางโซเชียลมีเดียเจำนวนมาก และเมื่อรวมกับการเผยแพร่ตามสื่อกระแสหลักต่างๆ น่าจะมีผู้รับข่าวสารรวมกันแล้วนับแสนราย ผู้ติดตามข่าวจึงได้รับรู้ข้อมูลชุดใหญ่ ถือเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกป่าครั้งใหญ่ที่สุดของสังคมไทยก็ว่าได้
ยกตัวอย่างเช่น นักวิชาการหลายคนหยิบยกงานวิจัยการปลูกป่าชั้นยอดของเอเชียที่ดูเหมือนจะรับรู้กันเฉพาะกลุ่มมาเปิดเผยและเป็นแกนหลักในการวิจารณ์ เช่น งานวิจัยของหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า (Forest Restoration Unit) หรือที่รู้จักกันติดปากว่า FORRU ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่าเขตร้อนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย—เพิ่งรู้นะเนี่ย—หนึ่งในเทคนิคที่ FORRU นำมาทดลองในประเทศไทยคือการฟื้นฟูป่าด้วยพรรณไม้โครงสร้าง (Framework species) และหนึ่งในพื้นที่ตัวอย่างที่ใช้วิธีนี้คือการฟื้นฟูป่าบริเวณต้นน้ำแม่สา อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย ในช่วงปีพ.ศ. 2541 – 2547 โดยปลูกพรรณไม้โครงสร้างพันธุ์ท้องถิ่น 29 ชนิด และดูแลพรรณไม้โครงสร้างอย่างใกล้ชิดในช่วงสองปีแรกด้วยการกำจัดวัชพืช คลุมโคนต้นด้วยกระดาษลังเพื่อป้องกันไม่ให้วัชพืชแก่งแย่งอาหาร ใส่ปุ๋ยเร่งการเติบโตของทรงพุ่ม และป้องกันไฟป่าในระยะแรก พบว่าสามารถเพิ่มพรรณไม้ในธรรมชาติได้อีกกว่า 60 ชนิด นกอีกกว่า 80 ชนิด ซึ่ง 2 ใน 3 เป็นชนิดที่สามารถปรับตัวในพื้นที่ที่มีการรบกวนได้ดี ทำให้ป่ากลับมาได้ภายในเวลา 6 ปี (ดูเพิ่มเติมที่นี่ http://bit.ly/2aF9a00 )
จากภาคทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติ เท่าที่ติดตามข่าวสารพบว่าช่วงนี้มีพื้นที่ปลูกป่าที่เป็นข่าวหลักๆ 3 แห่ง คือภูหลง จังหวัดชัยภูมิและพื้นที่ป่าต้นน้ำปิง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากไฟป่าหน้าแล้งที่เพิ่งผ่านมา ส่วนพื้นที่จังหวัดน่าน เป็นป่าหัวโล้นที่เกิดจากการตัดไม้เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างข้าวโพดมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งแต่ละที่มีวิธีการฟื้นฟูป่าที่แตกต่าง
เริ่มที่ภูหลง ชัยภูมิ นำโดยพระไพศาล วิสาโล ซึ่งมีพื้นที่เสียหายจากไฟป่าประมาณ 3,000 ไร่ เลือกเปิดตัวด้วยโครงการ “ “หยอดถั่วทั่วภู ฟื้นฟูป่าภูหลง” โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้ถั่ว “ชิงพื้นที่” จากหญ้าคาก่อนที่จะปลูกไม้ยืนต้นอื่น ๆ ต่อไป โครงการนี้ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่าถั่วไม่ใช่พืชพื้นถิ่นและอาจจะเป็นพันธุ์ไม้แปลกปลอมสำหรับป่านั้น ๆ ทว่าเมื่อติดตามในรายละเอียดและฟังคำชี้แจงของเจ้าของโครงการ จะพบว่าบริเวณที่หยอดถั่วเป็นพื้นที่ที่เสียหายจากไฟป่าอย่างสิ้นเชิงและก่อนหน้านี้ไม่ใช่พื้นที่ป่าสมบูรณ์พอที่จะฟื้นฟูตัวเองขึ้นมาได้ นอกจากนี้ไม่ใช่แค่การหยอดถั่วตามชื่อโครงการ แต่ยังมีการหยอดเมล็ดพันธุ์ไม้ยืนต้นพันธุ์ท้องถิ่นด้วย และต่อมามีการปลูกกล้วยเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดิน ตามด้วยการปลูกกล้าไม้ยืนต้นที่มีโครงการปลูกตลอดช่วงฤดูฝน
ส่วนพื้นที่ต้นน้ำปิง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ นำโดยเจ้าถิ่นอย่างนิคม พุทธา กลุ่มบิ๊กทรีและกรีนพีซที่นำอาสาสมัครไปจากแหล่งปลายน้ำอย่างกรุงเทพ รวมทั้งอาสาสมัครในพื้นที่ร่วมกันจัดกิจกรรม “ปลูกต้นไม้ให้ป่าว่าง ฟื้นฟูป่าต้นน้ำแม่ปิง” ด้วยการปลูกกล้วยบริเวณริมลำธารและปลูกไม้ยืนต้นที่มีคุณสมบัติที่กักเก็บน้ำ เป็นพืชอาหารให้สัตว์ป่า และคนท้องถิ่น เช่น สมอพิเภก มะขามป้อม ขี้เหล็ก ไทร สมอภิเพก มะม่วงป่า ประดู่ป่า เพกา ฯลฯ บริเวณที่ถูกไฟป่าเสียหาย ดูเพิ่มเติมที่นี่https://youtu.be/9oCkzU_XFRQ
อีกหนึ่งพื้นที่ปลูกป่าที่โด่งดังและเป็นผู้จุดกระแส “ดราม่าปลูกป่า” ที่ร้อนแรงที่สุดเห็นจะเป็นการปลูกป่าบริเวณเขาหัวโล้น จังหวัดน่านที่เริ่มต้นจากดำริของนักร้องชื่อดังอย่างโจอี้ บอย และผองเพื่อน จนกลายมาเป็นโครงการ “ปลูกเลย” (https://www.facebook.com/plookloei/) โครงการนี้มีความพิเศษตรงที่มี “เซเลบ” ทั้งดารานักร้องและมีการจัดกิจกรรมทั้งที่กรุงเทพและพื้นที่ปลูกป่าจังหวัดน่าน ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายแรกในการปลูกป่าประมาณ 1,800 ไร่ กิจกรรมที่น่าสนใจเช่น การระดมเมล็ดพันธุ์ไม้ยืนต้นเพื่อนำไปเคลือบดินเหนียวที่เรียกว่า “ซีดบอมบ์” (Seed bomb) โดยระดมอาสาสมัครปั้นซีดบอมบ์ที่ท้องสนามหลวงกรุงเทพมหานครได้กว่า 5 หมื่นเมล็ด เพื่อจะนำไปปลูกในช่วงต้นฝนต้นเดือนกรกฏาคมนี้ และ “สัญญากล้า 1 ปี” ที่ชวนคนมาร่วมเพาะเมล็ดพันธุ์แล้วนำกลับไปดูแลที่บ้าน เมื่อครบ 1 ปีแล้วจะนำต้นกล้าส่งคืนให้ผืนป่า
จะเห็นได้ว่านอกเหนือจากกระแสปลูกป่าครั้งนี้จะให้ความรู้กับสังคมเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านการปลูกป่าที่มีอยู่แล้วอย่างหลากหลาย ขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทดลองปลูกป่าในสนามจริงแบบเปิดเผยต่อสาธารณะครั้งใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าต่อจากนี้จะมีการติดตามผลการปลูกป่าในแต่ละพื้นที่ และจะได้รู้กันว่าการปลูกป่าแบบไหนเหมาะหรือไม่เหมาะกับสภาพพื้นที่ใด ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการทดลองและวิจัยชิ้นใหญ่ที่มีผู้มีส่วนร่วมจำนวนมากกว่าที่เคยเป็นมา และจะนำมาซึ่งองค์ความรู้ใหม่ๆ ตามมาด้วย แน่นอนว่าคำตอบคงไม่ได้มีแค่หนึ่งเดียว
เหนือสิ่งอื่นใด กระแสการปลูกป่าครั้งนี้ช่วยดึงคนทุกเพศทุกวันทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไม่เคยมีมาก่อน จนสามารถเรียกว่า “ปรากฏการณ์” ได้เลยทีเดียว เมื่อโครงการ “หยอดถั่วทั่วภู ฟื้นฟูป่าภูหลง” เปิดรับอาสาสมัครจำนวน 600 คนทางเฟสบุคปรากฏว่ามีผู้สมัครเกินกว่าเป้าหมายภายในเวลาไม่กี่วัน และในวันจริงมีผู้มาร่วมงานจริงกว่า 1,000 คน และต่อมาในการปลูกกล้าไม้ยืนต้นครั้งแรกก็มีอาสาสมัครมาร่วมถึง 600 คน ส่วนโครงการ “ปลูกต้นไม้ให้ป่าว่าง ฟื้นฟูป่าต้นน้ำแม่ปิง” ที่เชียงดาว ซึ่งมีองค์กรร่วมจัดหลายแห่ง มีเสียงกระซิบบอกผู้เขียนว่าเมื่อกรีนพีซเปิดรับอาสาสมัครจากกรุงเทพไปร่วมปลูกป่าที่เชียงดาวจำนวน 60 คน โดยผู้สมัครต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าเดินทางส่วนหนึ่ง เพียง 2 วันมีผู้สมัครมากถึง 600 คน หรือ 10 เท่าเลยทีเดียว และในวันปลูกป่าจริงพบว่ามีกลุ่มคนไปร่วมปลูกป่าแบบเกินความคาดหมาย
ผู้เขียนเห็นว่าเมื่อคนนับพันนับหมื่นเหล่านี้ได้ลงพื้นที่จริงและประจักษ์แก่สายตาถึงป่าที่ถูกไฟไหม้หรือมนุษย์เป็นผู้ตัดทำลายย่อมรู้สึกสลดใจและอยากปกป้อง นับเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ส่งผลสะเทือนยิ่งกว่าการประชาสัมพันธ์ปลูกป่าขององค์กรภาครัฐและเอกชนที่ผ่านมาที่ใช้เงินนับร้อยล้านบาทแต่แทบไม่ส่งผลต่อการลงมือปฏิบัติแต่อย่างใด ต่อให้โฆษณาชิ้นนั้นกระทบใจเพียงใดก็ไม่มีอะไรที่กระทบใจเท่ากับการได้เห็นกับตาและสัมผัสกับบรรรยากาศของสถานที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นป่าแต่บัดนี้เต็มไปด้วยเถ้าถ่านและต้นไม้สีดำยืนต้นตายเป็นแน่
หากไปให้พ้นจาก “สตอรี่” “ตัวละคร” และ “อารมณ์” ที่เกิดขึ้นกับผู้วิพากษ์วิจารณ์ ณ ขณะนั้น ดราม่าปลูกป่าจะไม่ใช่แค่เพียงละครดราม่าที่เป็นทอลค์ออฟเดอะทาวน์ช่วงแรกๆ ดูแล้วจบก็จบกัน แต่มีสิ่งที่พิเศษกว่าคือการลงมือปฏิบัติจริงที่จะส่งผลสะเทือนอันยิ่งใหญ่ทั้งต่อคนที่ไปปลูกป่าและพื้นที่ปลูกป่าไปอีกนานแสนนาน