ปีนี้ผู้เขียนได้รับเกียรติให้เข้าเป็นนักศึกษาหลักสูตรสร้างเสริมสังคมสันติสุขรุ่นที่ 6 ของสถาบันพระปกเกล้า ในวันปฐมนิเทศนอกจากจะได้ทราบความเป็นมาของการตั้งสถาบันพระปกเกล้าที่ต้องการเสริมสร้างประชาธิปไตยให้แข็งแรงแล้ว ยังได้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย นอกจากพระราชประวัติ พระราชภารกิจ และการจัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ที่นับว่าเป็นสิ่งมีค่าต่อประวัติศาสตร์ชาติไทยแล้ว คนจำนวนมากคงคุ้นเคยกับพระราชหัตถเลขาที่ใคร ๆ ก็มักจะยกความตอนนี้ขึ้นมาว่า
“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะ สละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟัง เสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”
ผู้เขียนยอมรับว่าก่อนหน้านี้ มีความรู้สึกต่อประโยคแห่งประวัติศาสตร์นี้ก็คือประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าหนึ่งหน้า แต่วันนี้ผู้เขียนคิดว่า นี่เป็นแนวคิดที่ล้ำสมัยมากในยุคนั้น เพราะแม้กระทั่งย้อนหลังไป 80 ปีที่การรับรู้และมีส่วนร่วมของประชาชนยังคงน้อยนิดจนถึงขั้นอาจจะไม่มีเลย พระองค์ยังทรงให้ความหมายแก่ “เสียงอันแท้จริงของประชาชน” แต่จนปัจจุบันนี้ที่ประเทศไทยล้มลุกคุกคลานกับประชาธิปไตยมามากว่า 80 ปี และการรับรู้ของประชาชนและความพยายามในการส่งเสียงของประชาชนจะมีมากขึ้น แต่ตลอดกว่า 80 ปีที่ผ่านมา เสียงอันแท้จริงของประชาชนก็ไม่ได้รับการฟังมากมายนัก กระทั่งปัจจุบัน ไม่เช่นนั้นเราคงจะไม่เห็นการดิ้นรนต่อสู้ของประชาชนในแทบทุกโครงการพัฒนาของรัฐอย่างที่เป็นมาตลอด
โครงการท่าเทียบเรือปากบารา จังหวัดสตูลก็เช่นเดียวกัน
ที่จริงการพัฒนาโครงการที่จะทำให้ประเทศไทยค้าขายได้เพิ่มขึ้นก็ไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่ดี แต่ระบบการประเมินและเทียบ “มูลค่า” ของเรา อาจไม่ได้ทำให้เห็นชัด ๆ ว่าที่จริงแล้วเราไม่ดีตรงไหน เมื่อประชาชนมีที่อยู่ที่กิน มีรายได้มหาศาลจากการท่องเที่ยวที่สตูล อันนั้นเป็นของจริงที่เป็นอยู่ แต่การศึกษาที่ “คาดว่า” จะมีเรือเข้ามาใช้บริการเยอะแยะ เชื่อมการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าสู่ทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา อันนี้เป็นของฝัน เพราะต้องลงทุนทำแบบนี้ก่อนสิ ถึงจะเกิดแบบนั้นได้
งาน Pakbara Paradiso เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนถูกจัดขึ้นเพราะประชาชนต้องการสะท้อนเสียงที่แท้จริง มีทั้งชาวบ้านที่มาถ่ายทอดว่าสังคมชุมชนที่ดำรงอยู่เป็นแบบไหน เศรษฐกิจเป็นแบบไหน และมีทั้งนักวิชาการที่มาบอกว่า โครงการท่าเทียบเรือของไทยตามสูตรที่ว่า “เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าสู่ทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา” เจ๊งมาแล้วกี่แห่ง ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต สงขลา ระนอง นี่คือเสียงอันแท้จริงของประชาชนที่ผู้เขียนได้ยิน
แต่แน่นอนว่า ประเทศต้องทำมาหากินอะไรที่ทำเงินได้ก็ต้องลงทุนเป็นธรรมดา แต่ถ้าจะลงทุนมันก็ต้องดีดลูกคิด คำนวณกำไร – ขาดทุน ทุกมุมให้หมด สิ่งที่ผู้เขียนไม่เคยเห็นเลยไม่ว่าจะโครงการไหน ๆ ของรัฐ คือการศึกษาเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน ที่ให้เห็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ การสร้างงาน ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสังคม ที่ถอดออกมาเป็นเม็ดเงิน และเป็นการถอดข้อมูลออกมาอย่างเป็นธรรม ตามสภาพอันซับซ้อนของสังคมชุมชนนั้น ๆ ผู้เขียนเคยเห็นแต่การถอดข้อมูลออกมาเท่าที่ตาผู้ทำ EIA เห็นในระยะสั้น ๆ ด้วยข้อมูลอันจำกัดของหน่วยงานราชการ ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เสียงที่แท้จริงของประชาชน สุดท้ายลองรวบรวมดูสิว่าโครงการของรัฐ หักต้นทุนเรื้อรังทั้งหลายแหล่แล้ว มีโครงการไหนกำไรมั่ง พอขาดทุนอ้างก็ว่ารัฐต้องลงทุนเพื่อสร้างสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนมีอาชีพ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตซึ่งก็หมายถึงทุกคนได้รับผลดีจากการที่เศรษฐกิจเติบโต ซึ่งก็จริงส่วนหนึ่ง เพราะสุดท้ายก็รวยกันอยู่กลุ่มเดียว ชนชั้นในสังคมก็ถ่างห่างมากขึ้น วันนี้เราก็เห็น ๆ กันอยู่ว่าใครมั่นคง ใครมั่งคั่ง ใครยั่งยืน
การไปปฐมนิเทศหลักสูตรสถาบันพระปกเกล้าที่ผู้เขียนไปเป็นนักเรียน เขาเตือนสติให้ “ฟัง” หมายถึงฟังทุกคน ทุกข้อมูลและทุกความคิดเห็น ไม่ใช่เลือกฟังในสิ่งที่ตัวเองชอบหรือตัดสินแล้วว่าดี เพราะการฟังความเห็นแย้งเป็นการสร้างสติและปัญญาให้กับผู้รับฟัง และจะนำไปสู่ข้อสรุปที่มีความขัดแย้งน้อยที่สุด ไม่ให้ยึดติดอยู่กับเพียงความคิดความเห็นของตัวเองคนเดียว อันนำไปสู่ความขัดแย้งที่ใหญ่โตมากขึ้น
ที่จริงการที่ประชาชนส่งเสียงอันแท้จริงเพื่อให้ข้อมูลและความเห็น น่าจะเป็นคุณูปการแก่ผู้ฟังในการบริหารประเทศและเป็นตัวกรองคอรัปชั่นชั้นดีได้อีกด้วย