ผู้เขียนไม่ใช่ชาวคาทอลิก แต่มักได้ยินเพื่อนคาทอลิกชื่นชมยินดีกับแนวคิดและการกระทำของสันตปาปาองค์ปัจจุบันที่สันตปาปาองค์ก่อนๆ ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน
ล่าสุดกลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกเมื่อสันตปาปาฟรานซิสออกจดหมายเวียน (encyclical letter) แสดงจุดยืนเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ซึ่งบ่งบอกว่าศาสนจักรภายใต้การนำของพระองค์ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่งยวด เนื่องจากตามธรรมเนียมปฏิบัติ สันตปาปาจะออกจดหมายเวียนในประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเท่านั้น โดยนับตั้งแต่เริ่มดำรงตำแหน่งเมื่อต้นปี 2556 สันตปาปาฟรานซิสออกจดหมายเวียนเพียง 2 ฉบับเท่านั้น ฉบับแรกเมื่อเริ่มเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ เกี่ยวกับความศรัทธาในศาสนา และฉบับล่าสุด เรื่องใส่ใจดูแลเพื่อบ้านของเรา (on care for our common home) โดยจดหมายเวียนฉบับนี้จะเป็นเอกสารสำคัญในเวทีประชุมนานาชาติเรื่องภาวะโลกร้อนที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสในปลายปีนี้ ที่สำคัญคือจดหมายดังกล่าวจะถูกส่งถึงประมุขศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกระดับประเทศ (บิชอป) ทั่วโลก เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเทศนาสั่งสอนต่อไป
ในเอกสารขนาด 192 หน้านี้ นิตยสารไทม์สรุปประเด็นสำคัญไว้ 5 ประเด็นคือ ภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นจริงและกำลังจะแย่ลง, มนุษย์มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน, ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทำต่อคนยากจนมากกว่าคนร่ำรวย, เรา “สามารถ” และ “ต้อง” ทำให้โลกนี้ดีขึ้น และแม้แต่ละคนสามารถช่วยโลกได้ แต่นักการเมืองต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในเรื่องนี้
ขณะที่ได้รับคำสรรเสริญเยินยอจากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชาวคาทอลิกรุ่นใหม่ กลุ่มการเมืองและกลุ่มทุนบางกลุ่มกลับมีปฏิกิริยาตรงกันข้าม ก่อนการเผยแพร่จดหมายเวียนไม่กี่วันนักการเมืองสายอนุรักษ์นิยมต่างทะยอยออกมาให้ความเห็นทำนองเดียวกันว่าสันตปาปาและโบสถ์คาทอลิกควรห่างไกลจากการโต้เถียงเรื่องโลกร้อนและปล่อยให้โลกร้อนเป็นเรื่องของนักวิทยาศาสตร์
“โป๊ปควรอยู่กับงานของตัวเอง ส่วนเราก็จะอยู่กับงานของเราเหมือนกัน” เจม อินโฮฟ นักการเมืองสายปฏิเสธโลกร้อนในสภาคองเกรส และประธานคณะกรรมการวุฒิสภาด้านสิ่งแวดล้อมและงานสาธารณะกล่าว
ส่วนโฆษกของมูลนิธิฮาร์ทแลนด์ มูลนิธิที่ได้รับเงินสนับสนุนจากนักการเมืองพรรครีพับลิกันบอกว่า “ทางแคทอลิกควรตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ก่อน และควรเข้าใจว่าคุณพ่อ (สันตปาปา) ได้รับอำนาจในเรื่องเกี่ยวกับจิตวิญญาณเท่านั้น ไม่ใช่วิทยาศาสตร์”
สิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้นชวนให้นึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในวงการสงฆ์บ้านเรา นับวันคนรุ่นใหม่จะห่างไกลจากศาสนาหรือเห็นว่าศาสนาเป็นเรื่องไกลตัวเนื่องจากการตีความคำสอนแบบดั้งเดิมไม่ตอบโจทย์ปัญหาและอุปสรรคที่สังคมกำลังเผชิญอยู่ แต่เมื่อพระสงฆ์รูปใดลุกขึ้นมากระทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่สงฆ์ส่วนใหญ่ไม่ทำกัน เช่น ปลูกต้นไม้ ทำแนวกันไฟ คำที่มักได้ยินนักคิดนักเชื่อสายประเพณีกล่าวอ้างบ่อยๆ คือ “ไม่ใช่กิจของสงฆ์” ซึ่งอาจเป็นการกล่าวเพื่อปกป้องคงวิถีปฏิบัติตามแนวประเพณีหรือเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของฝ่ายตน
ที่เลวร้ายกว่าคำพูดคือใช้กำลังทำร้ายถึงขั้นเสียชีวิต
17 มิถุนายน 2558 วันที่สันตปาปาฟรานซิสเผยแพร่จดหมายเวียนเพื่อเรียกร้องให้ชาวโลกหันมาปกป้องสิ่งแวดล้อมคือวันครบรอบ 10 ปี มรณภาพของพระสุพจน์ สุวโจ พระนักอนุรักษ์ป่าที่มรณภาพจากการถูกรุมทำร้ายจากคนไม่ทราบจำนวน ด้วยของมีคม ณ สวนเมตตาธรรม อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที 17 มิถุนายน 2548
ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นหลายปีพระสุพจน์ได้กระทำสิ่งที่สังคมรอบข้างมองว่า “ไม่ใช่กิจของสงฆ์” โดยการเดินทางมาจากสวนโมกขพลารามไปตั้งสำนักปฏิบัติธรรมในสวนป่าเมตตาธรรม พื้นที่ 1,500 ไร่ และปลูกป่าเพื่อรักษาแหล่งน้ำและยับยั้งการปลูกพืชเชิงเดี่ยวซึ่งใช้ปุ๋ยยาเคมีจำนวนมากเป็นพิษภัยต่อสิ่งแวดล้อม ภายหลังมรณภาพมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์และกลุ่มพุทธทาสศึกษาได้สืบทอดเจตนารมณ์ของพระสุพจน์โดยปลูกป่าต่อเนื่องกันมา จนมาถึงปี 2556 ระหว่างนั้นมีการมาบุกรุกที่ดิน ยิงปืนข่มขู่ และพบปลอกกระสุนที่หน้าประตูสวนเมตตาธรรม จนเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 ทางมูลนิธิได้แจ้งความดำเนินคดีว่ามีผู้ยึดที่ดินมูลนิธิไปกว่า 400 ไร่ แต่ปัจจุบันคดีความยังไม่คืบหน้า (http://www.komchadluek.net/detail/20150615/208023.html)
จะเห็นได้ว่าไม่ว่าทีใดในโลก เมื่อใดก็ตามที่เราโยนความรับผิดชอบในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติไปให้คนอื่นหรือมือที่มองไม่เห็น เมื่อนั้นก็จะมีผู้กล่าวอ้างว่า “ธุระไม่ใช่” “ไม่ใช่เรื่องของแก” หรือ “ไม่ใช่กิจของสงฆ์” เพื่อที่จะหาประโยชน์เข้ากระเป๋าของตัวเองอยู่ร่ำไป ดังนั้นภารกิจปกป้องโลกควรเป็นภารกิจของทุกคนที่อยู่อาศัยบนโลกใบนี้ ไม่เว้นแม้แต่พระสงฆ์หรือนักบวชในศาสนาใดๆ และไม่ควรมีการใช้คำว่า “ไม่ใช่กิจของสงฆ์” เพื่อสะกัดกั้นคนกลุ่มหนึ่งที่มีเจตนาเผยแพร่แนวคิดและลงมือกระทำเพื่อการปกป้องบ้านของเรา