in on May 25, 2017

ใครฆ่าแม่น้ำ

read |

Views

ทุกครั้งที่มีเพื่อนมาเที่ยวบ้าน ฉันมักพาไปดูแม่น้ำน้อยบริเวณด้านหลังตลาดศาลเจ้าโรงทองหรือตลาดร้อยปีวิเศษชัยชาญของจังหวัดอ่างทองพร้อมเล่าตำนานอันรุ่งเรือง ตลาดบ้านฉันและแม่น้ำสายนี้ที่เคยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทั้งผู้คนและสินค้าจากที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างตั้งแต่สิงห์บุรี สระบุรี อ่างทอง อยุธยา ไปสู่เมืองบางกอก

เมื่อเร็วๆนี้ ฉันพาเพื่อนไปดูแม่น้ำน้อยและพบภาพน่าตกใจ บริเวณริมตลิ่งแม่น้ำน้อยที่เคยมีต้นไม้ใหญ่กลายเป็นพนังกั้นน้ำคอนกรีตยาวตลอดแนว ถัดจากตลิ่งเป็นลานดินยื่นลงไปกินพื้นที่ครึ่งหนึ่งของแม่น้ำเป็นแนวยาวราวกับถนนดินขนาดใหญ่ ผักตบชวาขวางทางน้ำอันคับแคบจนมองไม่เห็นสายน้ำ ลานดินทำให้ลำน้ำตื้นเขินจนแพชมวิวของเทศบาลศาลเจ้าโรงทองเอียงกระเท่เร่

เกิดอะไรขึ้นกับแม่น้ำแห่งความทรงจำของฉันและแม่น้ำในตำนานของชาวภาคกลางตอนล่าง?

เมื่อค้นหาข่าวก็พบคำตอบน่าเศร้า มีนาคมปีที่แล้วชาวตลาดศาลเจ้าโรงทองและกลุ่มรักษ์แม่น้ำน้อยร้องเรียนกับทางจังหวัด เรื่องที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างในโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนวิเศษไชยชาญ ระยะทาง 1,900 เมตร วงเงินประมาณ 300 ล้านบาท สร้างแนวป้องกันน้ำท่วมออกจากแนวตลิ่ง 2 เมตร การก่อสร้างบางส่วนรุกแม่น้ำน้อย 6 เมตร มีการถมดินลงในแม่น้ำน้อย 6 เมตรเพื่อนำเครื่องจักรหนักลงไปทำงาน รวม 12 เมตร เหลือช่องทางแม่น้ำประมาณ 10 เมตร เรือใหญ่ไม่สามารถใช้สัญจรได้ ดินหินขวางทางน้ำจนแม่น้ำเริ่มเปลี่ยนทิศทางและตลิ่งฝั่งตรงข้ามเริ่มทรุดตัว โดยทางกรมโยธาธิการชี้แจงว่าภายหลังก่อสร้างเสร็จ ผู้รับเหมาจะปรับพื้นที่ให้เหลือแนวเขื่อน 2 เมตร และคันสโลป 2 เมตร จึงเท่ากับว่าเมื่อแล้วเสร็จจะมีการรุกพื้นที่แม่น้ำ 4 เมตร …จนบัดนี้การก่อสร้างดำเนินมาเกือบสองปีแล้วและยังไม่แล้วเสร็จ

ฉันหวนนึกถึงข่าวดังระดับโลก เมื่อกลางมีนาคม ประเทศนิวซีแลนด์ประกาศรับรองแม่น้ำฟางกานุย (Whanganui)

แม่น้ำความยาวอันดับ 3 ของประเทศ ให้เป็นบุคคลตามกฏหมาย โดยให้ชาวเผ่าเมารีที่ต่อสู้เรียกร้องเรื่องนี้มาเป็นเวลากว่า 160 ปีเป็นตัวแทนตามกฏหมาย โดยรัฐบาลจ่ายเงินเป็นชดเชยต่อการกระทำใดๆ กับแม่น้ำจำนวน 2.8 พันล้านบาท และมอบเงินให้แก่กองทุนฟื้นฟูแม่น้ำอีกหนึ่งพันล้านบาท

อีกสี่วันต่อมา ศาลสูงรัฐอุตตระขัณฑ์ ประเทศอินเดีย พิพากษาให้แม่น้ำคงคาและแม่น้ำยมุนาซึ่งเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่กำลังประสบปัญหามลพิษอย่างหนักเป็นนิติบุคคลและมีสิทธิทางกฎหมายเหมือนมนุษย์ การทำให้เกิดมลพิษในแม่น้ำจะมีความผิดเทียบเท่ากับทำร้ายมนุษย์ โดยศาลแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้แทนนิติบุคคลเพื่อดูแลและคุ้มครองสิทธิทางกฎหมายของแม่น้ำทั้งสองสาย และยังสั่งให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการเพื่อรับผิดชอบทำความสะอาดแม่น้ำอีกด้วย

หากแม่น้ำน้อยของฉันเป็นมนุษย์ที่พูดและแสดงความรู้สึกได้ เธอคงร่ำไห้และร้องทุกข์กับการกระทำย่ำยีครั้งนี้

ฉันนึกถึงแม่น้ำอีกหลายสายที่กำลังตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกับแม่น้ำน้อย หนึ่งในนั้นคือแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งรัฐบาลกำลังมีโครงการสร้างถนนเลียบเจ้าพระยาช่วงสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ระยะทาง 14 กิโลเมตร ฝั่งละ 7 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นทางคอนกรีตกว้าง 10 เมตรคร่อมลงในแม่น้ำ โครงการนี้มีเสียงคัดค้านทั้งจากภาคประชาชน องค์กรวิชาชีพด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ว่ายังศึกษาผลกระทบไม่รอบด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม แม้จะไม่ใช่การก่อสร้างอาคาร แต่โครงสร้างขนาดใหญ่ในแม่น้ำเจ้าพระยาจะส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ทางน้ำร่วมกันของประชาชนที่สำคัญน้ำเจ้าพระยาไม่ใช่ของคนกรุงเทพฯ อย่างเดียว ควรมีกระบวนการฟังความคิดเห็นของประชาชนน่าเชื่อถือ (ดูเพิ่มเติมที่ http://www.bltbangkok.com/article/info/3/189)

ที่แม่น้ำน้อยบ้านฉัน ขนาดการสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมความกว้างแค่ 2 เมตร ในขั้นตอนก่อสร้างยังมีการถมดินรุกลำน้ำลงไปถึง 12 เมตร และใช้เวลาก่อสร้างหลายปี ทำให้แนวตลิ่งของอีกฝั่งเสียหายและระบบนิเวศของสายน้ำจะไม่มีวันหวนคืน ฉันไม่อยากนึกภาพเลยว่าหากมีการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างการก่อสร้างระบบนิเวศริมน้ำเจ้าพระยาจะเสียหายเพียงใด และหลังจากสร้างเสร็จจะก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมใหญ่หลวงขนาดไหน เช่น ตอม่อและเสาขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำจะกลายเป็นแหล่งสะสมขยะทั้งตอนน้ำขึ้นและน้ำ ถึงวันนั้นชายฝั่งเจ้าพระยาคงไม่เหลือความงดงามให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติชื่นชมอีกต่อไป

จากกรณีนี้มีผู้เรียกร้องให้มีกฏหมายรองรับให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นบุคคลตามกฏหมาย แต่ในยุคที่ผู้คนพึ่งพาน้ำประปามาตลอดชีวิตพอเปิดก๊อก น้ำก็ไหลออกมา คนไม่น้อยจึงมองภาพไม่ออกว่าแม่น้ำมีคุณูปการใดต่อชีวิตเพราะวิถีชีวิตห่างจากไกลจากแม่น้ำเหลือเกิน ฉันว่าจะดียิ่งกว่าหากมีกระบวนการพาผู้คน…โดยเฉพาะผู้กำหนดนโยบาย…ไปรู้จักและคิดถึงแม่น้ำในฐานะแหล่งแห่งกำเนิดสรรพชีวิตและทรัพย์ของแผ่นดินอันประเมินค่าไม่ได้ แม่น้ำไม่ใช่แค่ทางไหลของน้ำที่ใครจะก่อสร้างหรือทิ้งขว้างสิ่งใดได้ตามใจชอบ

เมื่อได้เห็น สัมผัส และรู้จักย่อมหลงรักและอยากปกป้อง ไม่ยอมให้ใครฆ่าแม่น้ำได้ง่ายๆ

อ้างอิง
  1. ภาพเเม่น้ำน้อย จาก: http://www.siamfocustimenews.com/9144
  2. ภาพเเม่น้ำ Whanganui จาก: http://www.visitwhanganui.nz/
  3. ภาพทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา จาก: http://www.bltbangkok.com/article/info/3/189
ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

คุยประเด็นสิ่งแวดล้อมกับอดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

Email

Share