สุดสัปดาห์ไม่นานมานี้ ฉันไปเขาใหญ่ชนิดขอติดสอยห้อยตามการไปเยี่ยมเยียนต้นไม้มรดกชาติอย่างต้นมะม่วงในตำนานกับต้นสมพงยักษ์ ที่เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เด็กๆ กับคุณครูเกรียงไกร สุวรรณภักดิ์ มา “ขึ้นทะเบียน” เอาไว้ด้วยกัน เป็นบรรดาต้นไม้ใหญ่ๆ ที่ครูเกรียงฯ กับเด็กๆ เห็นร่วมกันว่าควรดูแลไว้ไม่ให้ใครมาตัดเพราะเป็นมรดกของชาติ เป็นของที่สมควรรักษาไว้ให้ลูกหลานของชาติ
นี่มันเป็นโอกาสดีของการได้ไปเดิน “อาบป่า” ชัดๆ จะได้ไปหาจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ สูดไอน้ำมันระเหยจากต้นไม้ที่ขึ้นในธรรมชาติ และรับประจุลบเพิ่มพลังให้ร่างกายจิตใจที่ขาดวิตามินป่ามาหลายปีแล้ว ฉันฝันถึงขบวนแถวของเด็กๆ ที่เดินอย่างสงบเพื่อไปคารวะคุณปู่สมพง ดูเห็ดราไลเคน ฟังเสียงนกอย่างรื่นรมย์ และอยากให้สุดสัปดาห์นั้นมาถึงโดยเร็ว
แต่เมื่อต้องมาเดินป่าบนเส้นทางเดินยาวราว 2.7 กม. ในป่าเขาใหญ่ ตามหลังเด็กวัยอนุบาล-ประถมต้น-ประถมปลายเป็นสิบๆ ที่ข้างหน้า ยังไม่นับอีกหลายสิบที่ตามหลังมาติดๆ พร้อมพ่อแม่เอาจริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ยังไม่ทันถึง 50 เมตรแรก เด็กหญิงข้างหน้าฉันร้องงอแงบ่นเบื่อ กลัวทาก เรามาทำอะไรกันที่นี่ ป่าไม่เห็นมีอะไร สกปรก มีแต่ความน่าขยะแขยง / หลายคนมัวแต่หยุดก้มหน้าหาทากที่อาจเกาะตามขาและร่างกายทุกครั้งที่รู้สึกคันขึ้นมา / ตามมาด้วย รถเราจอดอยู่ไหน หนูจะกลับบ้าน ฯลฯ
50 เมตรแรก มีเห็ดต้นสีขาวหมวกสีแดงสวยงามน่ารักมากขึ้นอยู่ตามสองข้างทางทั่วไป มีเถาวัลย์พันเกลียวกันห้อยลงมาจากเรือนยอดไม้ดิ่งลงมาจนถึงพื้นจนเหมือนใครเอามาผูกไว้ และถ้าฟังให้ดี ก็มีนกส่งเสียงร้องอยู่เสมอ แต่แทบไม่มีเด็กที่ร้องโวยวายคนไหนหยุดดูหรือฟังเพราะกังวลเรื่องทาก ฉันตื่นจากความฝันเฟื่องเรื่องอาบป่าตอนอยู่ท่ามกลางเด็กที่ร้องงอแงเสียงดังตลอดทาง แล้วถามตัวเองด้วยคำถามเดียวกับเด็กว่า ฉันมาทำอะไรที่นี่ กลับตอนนี้ทันไหม
แต่เดี๋ยวก่อน นี่ฉันก็มาดูเด็กเดินป่านี่นา เด็กเดินป่ายังไงต่างหากที่ฉันควรมาดู ดังนั้นจึงควรเดินต่อไป เดินตามหลังเด็กๆ หลายคนที่ไม่เคยเดินป่ามาก่อน (ก็เหมือนกับฉันตอนเด็ก) หลายคนอาจจะโตอยู่แต่ในเมือง ในห้าง ในห้องเรียนพิเศษนานาวิชา หลายคนอาจไม่เคยจับดิน ปีนต้นไม้ หรือมีแมลงไต่ตัวเลย และถ้าเด็กๆ อยู่แต่ในห้องแอร์มาตลอดชีวิต มันก็ไม่แปลกอะไรที่เขาจะพกพัดลมมือถือใส่ถ่านและใช้มันไปตลอดทาง การเดินป่าหนนี้มันอาจจะเป็นหนแรก (และหนเดียวถ้าเขาเข็ด) เรื่องขลุกขลักคงเป็นธรรมดา อย่างน้อยเขาก็ยังได้รู้จักการเดินป่าสักครั้งในชีวิต แต่ถ้าเขาเกิดหายเข็ดขึ้นมา อยากจะเดินป่าอีก แล้วเกิดสนใจเห็ด ไลเคน นก และต้นไม้ทั้งหลายในป่าอย่างจริงจังขึ้นมาล่ะ เดินๆ ไปทั้งอย่างนี้ ฉันก็ได้เห็นพ่อแม่ของเด็กงอแงที่พยายามปะเหลาะประโลมให้ลูกของตัวเองเดินต่อไป ที่เดินต่อไปไม่ไหว พ่อแม่ก็ยอมเป็นฝ่ายผลัดกันอุ้มลูกเดินข้ามห้วยข้ามไม้ไปจนถึงจุดหมายปลายทางอย่างน่านับถือ
ยังไม่รวมเด็กอีกสักครึ่งหรือเกินกว่านั้นที่เคยเดินป่ามาตั้งแต่งานต้นไม้มรดกชาติปีก่อนที่สนุกสนานกับการเดินไปตามเส้นทางที่ไกลกว่าปกติในชีวิตประจำวัน ต้องลุยน้ำข้ามห้วย ข้ามก้อนหิน หรือไม้ใหญ่ที่โค่น เด็กหลายคนตื่นเต้นเสียงดังเมื่อเห็นกระสุนพระอินทร์ขดตัวเป็นก้อนกลมเล็กบนมือครูเกรียง ดมกลิ่นไม้ใหญ่ที่ล้มอยู่ริมทาง เด็กเล็กบางคู่จูงมือกันเดิน คอยห่วงใยเตือนกันเมื่อพื้นลื่น บางคนที่สนุกตื่นเต้นกับการเดินป่าก็ถามขึ้นว่าเมื่อไหร่เพื่อนที่ตามมาจะเดินมาถึง
ระหว่างทางที่หยุดยืนรอเพื่อนๆ ที่ตามมา ครูเกรียงยืนใต้ต้นไม้ใหญ่ชวนเด็กๆ คุยว่า เมื่อเราเดินเข้ามาในป่าแล้ว ถ้าเงยหน้าดู เราจะเห็นท้องฟ้าน้อยมาก แต่ถ้าต้นไม้ใหญ่สักต้นล้ม เราจะเห็นท้องฟ้ากว้างขึ้น ต้นไม้รอบๆ จะได้รับแสงมากขึ้น และโตเป็นไม้ใหญ่ต่อไป ส่วนต้นไม้ใหญ่ที่ล้มลงไปนั้นก็จะมีปลวก มีด้วงมากิน ในที่สุดจะกลายเป็นปุ๋ยให้ดิน เล่าถึงตรงนี้ เด็กหญิงตัวเล็กคนหนึ่งก็เอ่ยแทรกด้วยเสียงอันดังขึ้นว่า “อ้อ มันไม่หยุดเลย เพราะมันต่อไปๆๆๆ” แล้วเธอก็ยกแขนทำมือวนๆ “มันต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบ” ครูเกรียงจึงพูดต่อว่า “เรียกให้เจ๋งกว่านั้นก็คือ วงจรธรรมชาติ”
ปีนี้ครูเกรียงติดป้ายต้นไม้มรดกชาติเพิ่มให้กับต้นจำปีกับต้นกระทุ่มในป่าเขาใหญ่ ป้ายของครูเกรียงอันเล็กๆ ทำง่ายๆ ไม่ใหญ่โตโอ่อ่า หรือแสดงเกียรติยศศักดิ์ศรีอะไร “เหมือนเอาขยะมาติดต้นไม้ แต่ครูก็ยอมเพื่อให้เด็กได้มารู้จักว่าต้นไม้นี้มีผลไหม มีดอกไม้ มีผลที่เรากินได้หรือเปล่า ถ้ากินไม่ได้ สัตว์จะมาหากินไหม มันมากินตอนกลางวันหรือกลางคืน”
ครูเกรียงเชื้อเชิญหลังจากติดป้ายให้กับต้นกระทุ่ม ซึ่งเป็นต้นไม้มรดกชาติต้นที่ 7 ด้วยว่า “เมื่อติดป้ายแล้ว ต้นไม้ก็เป็นของเราทุกคน ถ้าเด็กๆ มาเองก็เดินมาดูได้”
เมื่อเดินมาถึงคุณปู่สมพงก็อาจจะ 2 กิโลแล้ว เด็กๆ ส่งเสียงจ้อกแจ้กยิ่งดังลั่นยิ่งกว่าเดิมเมื่อเด็กๆ เห็นคุณปู่สูงใหญ่แผ่รากพูพอนสูงกว่าเด็ก 2-3 ต่อตัวกัน ปีนี้ต้นไทรที่รัดคุณปู่และโตขึ้นมากกว่าเก่า ไม่นานปู่สมพงอาจจากป่าเขาใหญ่ไป ครูเกรียงถามเด็กๆ ว่าเราจะทำอย่างไรกันดี เด็กบางคนให้ฟันต้นไทรทิ้งไป แล้วครูเกรียงก็ถามต่อว่าแล้วพวกสัตว์ที่ได้มากินผลมากมายจากต้นไทรล่ะจะทำอย่างไร การสนทนาเกี่ยวกับธรรมชาติในป่าเขาใหญ่จึงดำเนินต่อไปได้ไม่จบ
ฉันถามครูเกรียงว่า ทำไมถึงไม่กำหนดให้เด็กๆ เดินป่าอย่างเงียบๆ เพื่อจะไม่รบกวนสัตว์ คุณครูตอบว่ากิจกรรมต้นไม้มรดกชาติ ซึ่งเป็นกิจกรรมประจำปี ต้องการ “สร้างบรรยากาศให้เด็กๆ ได้เข้าถึงธรรมชาติ โดยขจัดความกลัวออกไปหรือทำให้ลืมความกลัว เพราะมีเพื่อนเยอะ ดูสนุกสนาน ผจญภัย ทุกอย่างเป็นเรื่องสนุก รวมทั้งขจัดความวิตกกังวลของพ่อแม่ด้วย เป็นการเปิดโลกธรรมชาติให้เด็กๆ ได้สัมผัสและอยากมาอีก เมื่อเด็กๆ ไม่กลัวป่า การเรียนรู้จะตามมาและเกิดความเข้าใจเพิ่มเติมต่อไป ถ้าทุกอย่างถูกจำกัดตั้งแต่เริ่มต้น จำนวนเด็กที่อยู่ในสายธรรมชาติก็จะค่อยๆ หายไป” ครูเกรียงพยายามหลีกเลี่ยงการรบกวนสัตว์ป่าด้วยการเลือกเส้นทางที่ไม่เปราะบางเช่นเส้นทางใกล้ที่ทำการอุทยานฯ ซึ่งสัตว์คุ้นเคยกับคน
สำหรับฉัน เด็กๆ ก็เป็นลูกสัตว์ชนิดหนึ่งที่ถูกเลี้ยงในเมืองมาตั้งหลายปี นานๆ ทีได้เข้าป่า จะชอบหรือ (ยัง) ไม่ชอบ ก็ส่งเสียงทั้งงอแงทั้งตื่นเต้นดังลั่นดุจเป็นฝูงสัตว์อพยพ ถึงแม้ว่าจะจ้อกแจ้กจอแจถึงขนาดทำให้ฉันอยากหนีกลับบ้านในตอนแรก แต่เมื่อเข้าใจ ฉันก็อยากบอกลุงป้าน้าอาสัตว์ป่าว่า ได้โปรดให้ฝูงลูกสัตว์ผู้ไม่คุ้นเคยป่าบ้างคุ้นเคยบ้างเหล่านี้ผ่านทางสักสองสามชั่วโมง เพื่อที่เมื่อออกจากป่าไป เขาจะได้เป็นลูกสัตว์ที่สร้างสายสัมพันธ์กับธรรมชาติใหม่ได้ และกลับมาที่นี่ใหม่อย่างเข้าใจกว่าเดิม