in on March 26, 2019

“ไฟกำลังไหม้บ้านเรา”…เด็กๆร่ำไห้ เมื่อผู้ใหญ่ดูดาย

read |

Views

“ไฟกำลังไหม้บ้านเรา ฉันไม่อยากให้คุณรู้สึกมีความหวัง ฉันอยากให้คุณตื่นตระหนก ฉันอยากให้คุณรู้สึกถึงความกลัวที่ฉันรู้สึกทุกๆ วัน และดังนั้นฉันจึงขอให้คุณลงมือทำเสียที” เกรธา ทุนเบิร์ก (Greta Thunberg) เยาวชนวัย 16 ปีพูดในการประชุมเศรษฐกิจโลกที่เมืองดาวอสเมื่อต้นมกราคม 2562

เกรธาเป็นที่เป็นที่รู้จักของชาวโลกมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เมื่อเธอตัดสินใจหยุดโรงเรียนทุกวันศุกร์เพื่อไปประท้วงเรื่องโลกร้อนที่หน้ารัฐสภาสวีเดนติดต่อกันหลายสัปดาห์เพื่อเรียกร้องให้พวกผู้ใหญ่หันมาแก้ปัญหาแทนการพูดคำสวยๆ และโยนความรับผิดชอบไปอยู่ในมือเด็กๆ อย่างพวกเธอ ภายใต้คำพูดดูดีว่า “เมื่อเด็กๆ โตขึ้น พวกเขาจะช่วยกู้โลก” ซึ่งเธอบอกว่า กว่าเด็กๆ อย่างพวกเธอจะเติบโตมาเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือคนวางนโยบายแก้ปัญหาโลกร้อน โลกก็ถึงจุดที่ย้อนกลับคืนไม่ได้แล้ว


(Coppyright 2019 from – https://www.theguardian.com/)

“การพูดสิ่งที่ฟังดูดี แต่ไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้ช่วยอะไรเราเลย คุณไม่สามารถนั่งรอให้ความหวังมาหา ดังนั้นคุณก็ทำเหมือนเด็กถูกตามใจที่ไร้ความรับผิดชอบ ถ้าจะบอกว่าเราเสียเวลาเรียน ก็ขอบอกว่าผู้นำทางการเมืองของเราเสียมาหลายทศวรรษที่จะยอมรับเรื่องโลกร้อนและลงมือทำอะไรสักอย่าง และเมื่อเวลากำลังจะหมดลงเรื่อยๆ เราจึงลงมือทำกิจกรรม เราเก็บกวาดขยะที่พวกคุณสร้างไว้ และเราจะไม่หยุดจนกว่าเราจะทำสำเร็จ” เธอกล่าวในงานสังคมพลเมืองเพื่อฟื้นฟูยุโรป (Civil Society for Eunaissance)  เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่เพิ่งผ่านมา

หลังจากหยุดเรียนมาประท้วงหน้ารัฐสภาสวีเดนติดต่อกันหลายสัปดาห์ เธอลุกขึ้นมาเรียกร้องให้เยาวชนทั้วโลกหันมากดดันพวกผู้ใหญ่ที่ดูดายให้หันมาลงมือแก้ปัญหาโลกร้อน โดยเขียนจดหมายผ่านสื่อเดอะการ์เดี้ยน ส่งถึงเยาวชนทั่วโลกเรียกร้องให้พวกเขาออกมาแสดงเจตนารมณ์ปกป้องโลก ด้วยการประท้วงครั้งใหญ่พร้อมกันเพื่อแสดงให้พวกผู้ใหญ่เห็นว่าเด็กๆ อย่างพวกเธอห่วงใยโลกใบนี้มากเพียงใด

การพูดแต่ละครั้งของเธอสร้างผลสะเทือน ศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2562 กลายเป็นเป็นจุดเริ่มต้นของปรากฎการณ์ใหญ่ระดับโลก ในนาม “กระบวนการศุกร์เพื่ออนาคต” (Friday for Future) และต่อมาใช้ชื่อ school climate strikes ที่เด็กๆ ประมาณ 1.4 ล้านคนจาก 123 ประเทศทั่วโลกร่วมกันเดินขบวนในเมืองของตน เพื่อเรียกร้องให้ผู้ใหญ่หยุดนิ่งดูดายกับปัญหาโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้น และจะกระทบกับคนรุ่นเขาโดยตรง

(Coppyright 2019 from – https://www.faz.net/)

สิ่งที่เกรธาและเยาวชนกลุ่มนี้เรียกร้องคือให้ผู้ใหญ่กำหนดนโยบายที่จริงจังในการฝังเชื้อเพลิงฟอสซิลไว้ในผืนดิน ยกเลิกการอุดหนุนการผลิตเชื้อเพลิงสกปรก หันมาลงทุนในเชื้อเพลิงสะอาดอย่างจริงจัง และหันมาตั้งคำถามยากๆ ว่าเราวางโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างไร และใครแพ้ ใครชนะ

ความคิดและการกระทำของเกรตาและเยาวชนเหล่านี้เป็นเหมือนภาพสะท้อนระหว่างคนสองรุ่น — ผู้ใหญ่และเด็ก — ซึ่งดูจะเป็นเหมือนกันในทุกที่และทุกสถานการณ์ นั่นคือผู้ใหญ่คิดว่าตัวเองรู้ดีว่าอะไรควรไม่ควร เพราะ “อาบน้ำร้อนมาก่อน” และคิดว่าเด็กๆ มีหน้าที่เรียนหนังสือและเชื่อฟังผู้ใหญ่ ส่วนเรื่องการปกป้องบ้านเมืองและสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ซึ่งจะถึงเวลาเมื่อเด็กๆ พวกนี้โตขึ้น ตรงกันข้ามกับเด็กรุ่นใหม่ที่คิดว่าตัวเองมีความรู้ความสามารถ และอยากมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการปกป้องบ้านเมืองและโลกใบนี้ ซึ่งพวกเขามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ

เหนือสิ่งอื่นใด พวกเขาจะต้องอยู่ในโลกใบนี้ไปอีกยาวนานกว่าพวกผู้ใหญที่จะไม่มีชีวิตอยู่ดูหายนะของโลกที่พวกเขาก่อไว้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง พวกเขากำลังช่วยดับไฟที่กำลังไหม้บ้านของตัวเองอยู่นั่นเอง

“ผู้ใหญ่พูดทุกอย่าง ยกเว้นวิกฤติโลกร้อน พวกเขาทำให้เราเป็นพวกไร้เดียงสาที่พูดไม่เป็น เขาไม่พูดถึงและเปลี่ยนเรื่องเพราะรู้ว่าจะไม่ชนะ แต่เขารู้ว่าเขาไม่ได้ทำการบ้าน เมื่อคุณทำการบ้าน จะรู้ว่าต้องการการเมืองใหม่ ระบบเศรษฐกิจใหม่ และอยากให้ทั้งโลกคิดแบบใหม่ ระบบการเมืองที่มีอยู่เป็นแค่การแข่งขันให้ชนะเพื่อให้เข้าสู่อำนาจ เราต้องหยุดสู้กัน และร่วมมือกันในการดูแลโลกแบบยุติธรรม เพื่อทุกสรรพชีวิต ปกครองสิ่งแวดล้อม นี่ดูเหมือนไร้เดียงสา แต่ถ้าเราทำการบ้านเราจะรู้ว่าเราไม่มีทางเลือก”

“จากรายงาน IPPC เรามีเวลาเหลืออีก 11 ปีก่อนที่เราจะอยู่ในจุดที่ไม่สามารถย้อนคืนกลับสู่สภาพสมดุลที่มนุษย์ควบคุมได้   พวกเราต้องลงมือทำในตอนนี้ ไม่ใช่ตอนโตแล้ว เพราะถึงวันนั้นโลกจะไม่ย้อนกลับคืนสภาพเดิมได้….บางคนบอกว่าเรากำลังต่อสู้เพื่ออนาคตของเรา เราไม่ได้ต่อสู้เพื่ออนาคตของเรา แต่เราต่อสู้เพื่ออนาคตของทุกคน” เกรตาพูดในงานแถลงข่าวหนึ่ง ซึ่งเป็นเหมือนการแสดงเจตนารมณ์ของเด็กรุ่นเธอได้อย่างชัดเจน

จึงอยู่ที่ผู้ใหญ่ที่รับสารว่าจะยังคงดูดายด้วยการผงกศีรษะช้าๆ เหมือนเข้าอกเข้าใจ แล้วยังคงกล่าวปลอบประโลมตัวเองด้วยคำสวยๆ ต่อไป หรือชื่นชมยินดีและสนับสนุนเด็กๆ ด้วยการเริ่มลงมือทำเพื่อปกป้องโลกใบนี้ไว้ให้ลูกหลานเสียที


อ้างอิง

https://www.theguardian.com/environment/2019/feb/15/the-beginning-of-great-change-greta-thunberg-hails-school-climate-strikes

 

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

คุยประเด็นสิ่งแวดล้อมกับอดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

Email

Share