in on March 29, 2016

ป่าในเมือง หรือ เมืองกลางป่า

read |

Views

ถ้าใครเคยมาเที่ยวที่มาเลเซียแล้วได้ขึ้นไปดูเมืองกัวลาลัมเปอร์จากบนตึกแฝดเปโตรนาส (Petronas Twin Tower) จะเห็นว่า กัวลาลัมเปอร์เป็นเมืองหลวงที่มีภูเขาผุดอยู่ตรงโน้นตรงนี้เต็มไปหมด ยิ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือในวันที่ฟ้าเปิด ก็อาจจะเห็นทิวเขาติติวังศา (Titiwangsa Range) เป็นแนวตะคุ่มๆอยู่และถ้าใครมีโอกาสได้นั่งรถกินลมชมวิวรอบๆ เมืองก็จะเห็นว่าถนนจะโอบล้อมเนินเขาตรงโน้นตรงนี้มีระดับลดหลั่นไปมาอยู่ตลอดเวลา

ภาพโดย: ก้อนทอง ลุร์ดซามี

ด้วยเหตุนี้ในเมืองกัวลาลัมเปอร์และเมืองรอบๆ จึงมีป่าอยู่รายรอบหลายแห่งกลายเป็นแหล่งออกกำลังกายและเดินป่าของคนเมืองซึ่งจากบ้านผู้เขียนเองภายในระยะทางไม่เกิน 15 กิโลเมตร ก็สามารถเดินทางไปป่าแบบนี้ได้ถึงสามสี่แห่ง ทำให้รู้สึกเหมือนว่าเมืองที่อยู่นั้นอยู่กลางป่าหันไปทางทิศไหนก็จะได้เจอ ทั้งเป็นที่ออกกำลังกายและเป็นที่สอนสิ่งแวดล้อมศึกษาเวลามีคนมาขอให้ไปช่วยงานของชุมชนที่อยู่รอบๆ ป่าเหล่านั้น

แต่การที่พื้นที่สีเขียวเหล่านี้จะยืนหยัดอยู่ยงคงกระพันพ้นน้ำมือของนักพัฒนาที่ดินไปได้มากน้อยเท่าไรนั้นมีปัจจัยหลายอย่างมาก ด้วยหลายแห่งตั้งอยู่ในทำเลทองของการจัดสรรที่ดินบางแห่งที่ไม่มีการขีดเส้นรอบไว้ชัดเจนว่าเป็นป่าชุมชนหรือป่าเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ จะถูกขีดเส้นใหม่เป็นโฉนดกลายเป็นที่ดินราคาสูงลิบลิ่วสำหรับปลูกบ้านให้อภิมหาเศรษฐีได้อยู่กันแบบเอ๊กซ์คลูซีฟมีการจัดโซนนิ่งไล่เรียงตั้งแต่รวยรวยมากไปจนถึงรวยเกินความเป็นจริงยิ่งรวยยิ่งอยู่สูง

พื้นที่ป่าเขาเหล่านี้จะพ้นปากเหยี่ยวปากกาของการเปลี่ยนผืนดินเป็นแผ่นโฉนดได้แค่ไหนมีองค์ประกอบต่างๆ มากมายเช่น ความเข้มแข็งและการรวมตัวกันของชุมชมเมืองที่อยู่รอบๆ ป่าผืนนั้น ความเข้าใจถึงความสำคัญของการมีพื้นที่ป่าของเจ้าหน้าที่ระดับสูงและความมั่นคงทางรายได้ของรัฐที่เป็นเจ้าของพื้นที่เหล่านั้น

ความที่รัฐบาลของมาเลเซียมีการแบ่งการปกครองแบบรัฐบาลกลาง(Federal Government) ส่วนกลางและรัฐบาลประจำรัฐ (State Government) แยกออกจากกัน อำนาจหน้าที่การดูแลและความรับผิดชอบก็แตกต่างกันไป ที่น่าสนใจมากคือการเคลื่อนตัวของรายได้จากสินค้าและบริการที่เข้าสู่กระเป๋าทั้งรัฐบาลกลางและรัฐต่างๆ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการ ทำให้มุมมองต่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติมีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก กล่าวคือ ในช่วงปี 1960 อันเป็นช่วงที่ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยางพารา การทำเหมือง รุ่งเรืองนั้น รัฐต่างๆ มีรายได้อย่างเป็นกอบกำจากกิจการเหล่านั้น มากกว่าที่รัฐบาลกลางจะหาได้ แต่เมื่อระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนมาเป็นการบริการต่างๆ รวมทั้งภาษีรายได้ และภาษี GST (Government Service Tax) 6% ที่เพิ่งนำมาใช้เรียกเก็บจากค่าสินค้าและบริการเมื่อเดือนเมษายนปี 2558 นั้นก็เป็นรายได้ที่เข้ากระเป๋าของรัฐบาลกลางเต็มๆ

ความเปลี่ยนแปลงของวิถีการดำเนินธุรกิจจากอดีตมาปัจจุบันรัฐบาลของรัฐต่างๆ จึงเหลือรายได้ที่มาจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและผืนดินเป็นรายได้หลักการเปลี่ยนพื้นที่ป่าไปเป็นพื้นที่หมู่บ้านจัดสรร ถือว่าเป็นรายได้เข้าแต่ละรัฐเป็นกอบเป็นกำ นักธุรกิจและพัฒนาที่ดินจึงเป็นมิตรที่น่าต้อนรับด้วยประการฉะนี้  จากที่เล่ามาจะเห็นว่าการเปิดพื้นที่ป่าอนุญาตให้มีการจัดสรรที่ดินพัฒนาไปในรูปแบบต่างๆ ไม่ได้มีที่มาจากการคอร์รัปชั่นเหมือนกับที่ผู้เขียนนึกในตอนแรกความที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ วางพื้นฐานไว้ตั้งแต่สมัยที่การทำยางพาราและเหมืองแร่เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศผ่านไป 50 กว่าปีเศรษฐกิจเติบโตแตกต่างไปจากตอนที่วางกฎหมายเอาไว้แต่เดิมจึงเกิดสถานการณ์ลักลั่นแบบนี้ขึ้น

จึงไม่น่าแปลกใจที่การเปิดพื้นที่ป่ารอบๆภูเขาสูงให้เป็นทำเลทองในการสร้างบ้านจัดสรรขายด้วยมีบรรยากาศใกล้ชิดกับธรรมชาติเป็นของล่อตาและล่อใจจึงเกิดมาอย่างต่อเนื่องและต่อไปอย่างไม่มีที่ท่าว่าจะสิ้นสุดพอนานเข้าเปิดกันหลายๆโครงการคนอยู่อาศัยเลยรู้สึกเหมือนว่าโชคดีที่บ้านที่ตัวเองอยู่มีป่าตั้งหลายแห่งให้ไปเดินเที่ยวกว่าจะเฉลียวใจว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดพื้นที่ป่าก็สายไปแล้ว

อ้างอิง
  1. ภาพโดย: ก้อนทอง ลุร์ดซามี
  2. ภาพจาก: http://pantip.com/topic/31966844
ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share