“ความล้มเหลวในโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าส่วนใหญ่ มักมีสาเหตุมาจากวิธีการที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือการจัดการที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งการมองข้ามความสำคัญของความร่วมมือของชุมชนในท้องถิ่น อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้สามารถแก้ไขได้”
ที่มา: หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2549
ภาพที่ 1: การฟื้นฟูป่าในเชิงระบบนิเวศคื
ท่ามกลางข้อถกเถียงในเรื่องการฟื้นฟูป่ากับวาทกรรม “ป่าไม่ต้องปลูกแต่สามารถฟื้นเองได้” กับ “ปลูกเลยได้ไหม” เพราะถ้ามัวแต่รอให้ป่าหัวโล้นไปเรื่อยๆโดยไม่ทำอะไรอนาคตของลูกหลานจะเป็นอย่างไร
ตอบตามหลักวิชาการแต่อาจขัดใจคนชอบฟันธงก็ต้องบอกว่า ถูกทั้งคู่ และผิดทั้งคู่ เพราะความจำเป็นที่จะต้องปลูกหรือไม่ปลูกขึ้นอยู่กับระดับความเสื่อมโทรมของพื้นที่ ตำแหน่งที่ตั้ง ความชุกชุมของสัตว์ป่าและระยะทางจากป่าสมบูรณ์ที่เหลืออยู่ ถ้าจะตอบให้ชัดจึงต้องพิจารณาเป็นรายพื้นที่ไป
ความจริงข้อสงสัยหลายอย่างของสังคมเกี่ยวกับการฟื้นป่านั้นมีคำตอบอยู่มากพอสมควร เรามีองค์ความรู้ที่ได้จากทำงานวิจัยฟื้นฟูป่าในเชิงระบบนิเวศมายาวนานกว่า 20 ปี มีตัวอย่างการฟื้นฟูป่าทางภาคเหนือที่ประสบความสำเร็จจากพื้นที่เสื่อมโทรมเตียนโล่งกลับมาเป็นป่าที่มีความหลากหลายได้ภายในระยะเวลาแค่ 6 – 8 ปี การปลูกป่าให้เป็น “ป่า” นั้นเป็นไปได้แน่นอนหากเรามีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบนิเวศวิทยาของป่าเขตร้อนและอาศัยแนวคิดการฟื้นฟูป่า เพื่อฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพพร้อมไปกับการสร้างแรงจูงใจและวางแผนร่วมกับชุมชน
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่าเมื่อป่าถูกทำลายหรือถูกแบ่งแยกออกเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย สิ่งที่หายไปไม่ใช่เพียงพื้นที่ป่าเท่านั้นแต่หมายถึงสังคมสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะสัตว์ป่าที่หมดไปด้วย นักปลูกป่าที่เก่งกาจที่สุดและทำงานแข็งขันตลอดปีตลอดชาติโดยเราไม่ต้องเสียค่าจ้างเลยสักบาทก็คือสัตว์ป่า เมื่อกลไกสำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศหายไปย่อมส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อสายใยอาหารพืชพันธุ์หลายชนิดในป่าไม่สามารถขยายพันธุ์ต่อได้ เนื่องจากขาดผู้ทำหน้าที่ผสมเกสรหรือกระจายเมล็ดพันธุ์ความหลากหลายทางชีวภาพในป่าจึงค่อยๆ ลดลง ป่าที่ไม่มีสัตว์ป่าเปรียบไปก็เหมือนเมืองร้างที่รอวันล่มสลาย
เมื่อป่าเสื่อมสภาพสิ่งที่สูญเสียไปคือผลผลิตจากป่าทั้งพืชอาหาร สมุนไพร น้ำผึ้ง เห็ด หน่อไม้ ผักหวาน ซึ่งกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่โดยตรง เมื่อป่าหมดชาวบ้านในพื้นที่จึงได้รับผลกระทบก่อนใครเพื่อน ส่วนในภาพใหญ่การสูญเสียความสามารถในการเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและเก็บรักษาหน้าดินย่อมส่งผลกระทบกว้างไกลต่อสังคมโดยรวม
ภาพที่ 2: คู่มือการฟื้นป่าเชิงระบบนิ
ด้วยความเชื่อว่าองค์ความรู้ที่มีพื้นฐานมาจากงานวิจัยจะสามารถช่วยให้การฟื้นฟูป่าประสบผลสำเร็จมากขึ้น หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า (Forest Restoration Unit) หรือที่รู้จักกันติดปากว่า FORRU จึงได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี 2537 ภายใต้การนำของ ดร.สตีเฟน เอลเลียต และคณาจารย์จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลอดระยะเวลาการทำงานต่อเนื่องกว่า 20 ปี FORRU ได้กลายเป็นหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่าเขตร้อนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย และได้ทำหน้าที่เผยแพร่องค์ความรู้ที่ถูกต้องในการฟื้นฟูป่าอย่างกว้างขวาง
น่าเสียดายที่แนวคิด องค์ความรู้และวิธีการที่ได้รับการพิสูจน์แล้วจากงานวิจัยว่าสามารถฟื้นฟูป่าได้จริง กลับไม่ได้ถูกนำไปขยายผลในวงกว้างเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ทุกปีเมืองไทยมีโครงการ “ปลูกป่า” จำนวนมากทั้งของภาครัฐและเอกชนมีการใช้จ่ายงบประมาณมากมายมหาศาลในนามของการปลูกป่าที่ไม่มีการติดตามผลหรือประเมินประสิทธิภาพเลยนอกจากป้ายผ้าและคำพูดสวยๆ ว่าได้ปลูกป่าในใจคนที่ไปร่วม ไม่ใช่ว่าโครงการเหล่านั้นไม่ดีแต่สามารถทำให้คุ้มค่าและเกิดผลกว่านั้นได้มาก
สิ่งแรกที่ผู้ดำเนินโครงการปลูกป่าควรทำคือต้องตอบให้ได้เสียก่อนว่าอะไรคือรากปัญหาที่ทำให้เกิดการบุกรุกป่าตั้งแต่แรก ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ แก้เรื่องสิทธิที่ดินทำกินอย่างเท่าเทียม มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ โอกาสที่โครงการฟื้นฟูป่าจะประสบความสำเร็จย่อมเป็นไปได้ยาก
หากมีข้อตกลงที่แน่ชัดกับชุมชนแล้วและเป้าหมายหลักของการปลูกป่าคือการเร่งการฟื้นตัวของป่าธรรมชาติ สิ่งต่อมาที่ต้องทำความเข้าใจก่อนกำหนดกลยุทธในการฟื้นฟูป่าก็คือสภาพป่าดั้งเดิมของพื้นที่ตรงนั้นเป็นอย่างไร มีความหลากหลายด้านพรรณไม้ขนาดไหน อะไรคือข้อจำกัดของการฟื้นต้วโดยธรรมชาติของพื้นที่บริเวณนั้น ถ้าปล่อยไว้เฉยๆ ป่าจะฟื้นตัวได้เองหรือไม่ ต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ถ้าจำเป็นต้องปลูกควรใช้ไม้ชนิดใดที่จะช่วยเร่งการฟื้นตัวของพื้นที่และไม้ป่ายืนต้นชนิดใดที่เราอาจต้องช่วยนำมาปลูกเสริม เพราะไม่อาจหาเมล็ดจากแม่ไม้ในบริเวณใกล้เคียงได้อีกแล้ว
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดในการกำหนดกลยุทธฟื้นฟูป่าได้ถูกต้อง จะต้องเริ่มจากการประเมินว่าพื้นที่ป่าบริเวณนั้นถูกทำลายจนเสื่อมโทรมถึงระดับใด
FORRU แนะนำปัจจัยในการประเมินที่ควรพิจารณาไว้ดังนี้โดยระดับพื้นที่ต้องคำนึงถึง
– ความหนาแน่นของต้นไม้หากเหลือต้นไม้อยู่น้อยมากๆวัชพืชจะกลายเป็นพืชเด่นทำให้กล้าไม้ไม่สามารถขึ้นได้ง่าย
– การกัดเซาะของหน้าดิน หากมีการกัดเซาะมากอาจเป็นข้อจำกัดในการงอกของเมล็ดและต้องหาพืชคลุมดินเสียก่อน
– ปริมาณของแหล่งพรรณไม้ธรรมชาติ เช่น ปริมาณเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ (seed bank) ตอไม้ที่ยังมีชีวิต ถ้ายังมีมากการปลูกอาจไม่มีความจำเป็นเลย
ส่วนในระดับภูมิทัศน์ควรต้องพิจารณา
– ป่าสมบูรณ์ที่เหลืออยู่ในบริเวณใกล้เคียงเพราะผืนป่าเหล่านี้จะเป็นแหล่งเมล็ดพันธุ์ให้กับพื้นที่ที่เราต้องการฟื้นฟู
– ประชากรสัตว์ป่าที่จะช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์หรือนำเมล็ดไม้จากป่าเข้ามาในพื้นที่เสื่อมโทรม
– ความเสี่ยงในการเกิดไฟเพราะไฟป่ามีผลอย่างยิ่งต่อการอยู่รอดของกล้าไม้
เมื่อพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ร่วมกันจะช่วยให้เราเข้าใจถึงความรุนแรงของการเสื่อมโทรมได้ โดยทางวิชาการด้านนิเวศวิทยาการฟื้นฟู (Restoration Ecology) สามารถแยกระดับความรุนแรงของการเสื่อมโทรมอย่างกว้างๆ ได้ 5 ระดับ ซึ่งแต่ละระดับต้องการกลยุทธในการฟื้นฟูป่าไม่เหมือนกัน หากในพื้นที่ยังมีป่าสมบูรณ์อยู่ใกล้ๆ มีประชากรสัตว์ป่าที่ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ได้มาก มีเมล็ดไม้ มีตอไม้ดั้งเดิมเหลืออยู่บ้าง (เสื่อมโทรมระดับ 1 – 3) การฟื้นฟูควรเน้นไปที่การเร่งการฟื้นตัวตามธรรมชาติ (Accelerated Natural Regeneration) ซึ่งไม่จำเป็นต้องเน้นการปลูก แต่เน้นการควบคุมวัชพืชและดึงดูดสัตว์ที่ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ให้เข้ามาใช้พื้นที่ ในกรณีที่พื้นที่โดยรอบไม่มีป่าสมบูรณ์เหลืออยู่เลย ประชากรสัตว์ป่าก็ไม่เหลือหลอ ไม่มีร่องรอยของไม้พื้นถิ่น (เสื่อมโทรมระดับ 4 – 5) ควรต้องมีการปลูกทดแทนด้วยพืชหลายชนิด หากที่ดินเสื่อมสภาพรุนแรง อาจจำต้องทำการปรับสภาพพื้นที่ก่อน เช่น การปลูกพืชบำรุงดินอย่างพืชตระกูลถั่วก่อนจะเริ่มฟื้นฟูป่าในขั้นต่อไป
ภาพที่ 3: สิ่งสำคัญที่สุดในการกำหนดกลยุ
หนึ่งในเทคนิคที่ FORRU ได้นำมาทดลองในประเทศไทยคือวิธีการที่เรียกว่าการฟื้นฟูป่าด้วยพรรณไม้โครงสร้าง (Framework species) ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นครั้งแรกในการฟื้นฟูป่าฝนเขตร้อนของรัฐควีนส์แลนด์ในออสเตรเลีย หลักการสำคัญของวิธีนี้คือการคัดเลือกพรรณไม้ท้องถิ่นราว 20 – 30 ชนิดที่เมื่อปลูกแล้วจะสามารถเร่งการฟื้นฟูโครงสร้างและการทำงานของป่า และยังดึงดูดสัตว์ที่จะเป็นตัวกระจายเมล็ดพันธุ์ให้เข้ามาอาศัย ช่วยให้เกิดการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ และใช้เป็นพืชนำร่องในการฟื้นฟูป่าได้ดี
ลักษณะสำคัญของพรรณไม้โครงสร้างได้แก่มีความอึด คือมีอัตราการรอดชีวิตสูงแม้จะปลูกในพื้นที่เสื่อมโทรม เจริญเติบโตได้เร็ว มีเรือนยอดกว้างและหนาทึบเพื่อบดบังแสงให้วัชพืชค่อยๆตายไป และติดดอกออกผลตั้งแต่อายุน้อยๆ เพื่อดึงดูดสัตว์ที่ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ เช่น นกปรอด ค้างคาวกินผลไม้ หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ชะมด อีเห็น ถ้าสามารถขยายพันธุ์ได้ง่ายก็จะยิ่งดี เพราะสะดวกในการทำเรือนเพาะชำ ตัวอย่างพรรณไม้โครงสร้างที่ได้มีการคัดเลือกตามลักษณะดังกล่าว เช่น ตองแตบ (Macaranga dentioulata) โตเร็วมีเรือนยอดทึบ กว้าง ช่วงบังแสงวัชพืชได้ดี มะห้า (Eugenia albiflora) มะขามป้อม (Phyllanthus emblica) ช้าแป้น (Calicarpa arborea) เลี่ยน (Melia toosendan) เป็นไม้ที่ให้ผลขนาดเล็กถึงขนาดกลางดึงดูดนกได้ดี รวมไปถึงทองหลางป่า (Erythrina subumbrans) นางพญาเสือโคร่ง (Prunus cerasoides) เดื่อไทร (Ficus glaberima) อบเชย (Cinnamomum iners) ล้วนเป็นต้นไม้ที่ให้ดอกผลดึงดูดสัตว์ให้เข้ามาหากินและอาศัยทำรังได้
ภาพที่ 4: คำแนะนำ 6 ขั้นตอนในการฟื้นฟูป่าในระดับภู
การคัดเลือกพรรณไม้โครงสร้าง 20 – 30 ชนิดอาจมองดูว่าค่อนข้างเยอะ แต่หากพิจารณาว่าป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์นั้นมีพรรณไม้นับพันชนิด มนุษย์ย่อมไม่สามารถสร้างป่าที่มีความหลากหลายสูงเช่นนั้นได้ สิ่งที่เราทำได้คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของกล้าไม้ธรรมชาติ และดึงดูดสัตว์ที่ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์เข้ามา ซึ่งสัตว์เหล่านั้นจะเป็นตัวนำเมล็ดของพรรณไม้อีกหลายร้อยชนิดเข้ามาสู่แปลงปลูกเอง ในบางกรณีแทนที่จะปลูกต้นไม้ก็สามารถทำคอนไม้ไผ่เพื่อดึงดูดให้นกเข้ามาเกาะพักและถ่ายมูลก็สามารถเพิ่มปริมาณเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ได้ตามธรรมชาติ
งานวิจัยสำคัญของ FORRU ที่พื้นที่ต้นน้ำแม่สา อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย ในช่วงปี 2541 – 2547 คือการพิสูจน์ว่าการดูแลพรรณไม้โครงสร้างอย่างใกล้ชิดในช่วง2ปีแรก ทั้งการกำจัดวัชพืช คลุมโคนต้นด้วยกระดาษลังเพื่อป้องกันไม่ให้วัชพืชแก่งแย่งอาหาร ใส่ปุ๋ยเร่งการเติบโตของทรงพุ่ม รวมไปถึงการป้องกันไฟป่าในระยะแรก สามารถเร่งการฟื้นตัวของป่าได้อย่างรวดเร็วและทำให้ได้พื้นที่ที่มีโครงสร้างหลากหลายเหมือนป่ากลับมาภายในระยะเวลาแค่ 6 ปี จากจุดเริ่มต้นด้วยการปลูกพรรณไม้โครงสร้างเพียง 29 ชนิด สามารถเพิ่มพรรณไม้ในธรรมชาติได้อีกกว่า 60 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นกล้าที่งอกจากเมล็ดที่สัตว์ป่านำเข้ามาตามธรรมชาติ และยังพบนกอีกกว่า 80 ชนิด ซึ่ง 2 ใน 3 เป็นชนิดที่สามารถปรับตัวในพื้นที่ที่มีการรบกวนได้ดี
ภาพที่ 5: รูปแบบการฟื้นฟูป่าในระดับภูมิ
งานวิจัยของ FORRU ยังได้เน้นความสำคัญของการทำงานร่วมกับชุมชนตั้งแต่ศึกษาความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นในการคัดเลือกพรรณไม้อาศัยแรงงานจากคนในท้องถิ่นในการเก็บเมล็ดไม้จัดทำเรือนเพาะชำกล้าไม้ และติดตามการเปลี่ยนแปลงของชนิดพันธุ์ในป่าซึ่งเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพและสร้างแรงจูงใจในการฟื้นฟูป่าระยะยาว
การปลูกป่าให้เป็น “ป่า” นั้นมีขั้นตอนและรายละเอียดมากมาย แต่เป็นไปได้แน่นอนหากอาศัยความรู้ทางด้านนิเวศวิทยาและความเข้าใจทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ผู้ดำเนินการปลูกป่าและผู้ปรารถนาที่จะสนับสนุนกิจกรรมปลูกป่าทั้งหลายควรทบทวนตัวชี้วัดความสำเร็จที่นอกเหนือไปจากจำนวนกล้าไม้ จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมและงบประมาณ แต่กำหนดตัวชี้วัดที่ตรวจวัดความหลากหลายทางชีวภาพ การฟื้นฟูนิเวศบริการ (ecosystem service) รวมไปถึงความเป็นอยู่และความร่วมมือของชุมชนท้องถิ่น
การฟื้นฟูป่าเป็นเรื่องท้าทายที่สุดประการหนึ่งของคนในยุคนี้ การเริ่มตระหนักว่าเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการทำลายป่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ความร่วมมือและการตระหนักถึงบทบาทที่ทุกภาคส่วนจะสามารถเข้ามาสนับสนุนให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาความยากจน การส่งเสริมใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสมมีระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพไปจนถึงการผลักดันเรื่องการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนของคนในเมือง เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าการปลูกป่าเป็นสิ่งจำเป็นก็ควรทำอย่างถูกต้องตามหลักนิเวศวิทยาด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนในท้องถิ่น
ภาพที่ 6: งานวิจัยสำคัญของหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่พื้นที่ต้นน้ำแม่สา อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย พิสูจน์ว่าเทคนิคการฟื้นฟูป่าโดยการใช้พรรณไม้โครงสร้างสามารถเร่งการฟื้นตัวของป่าได้อย่างรวดเร็วและทำให้ได้พื้นที่ที่มีโครงสร้างหลากหลายเหมือนป่ากลับมาภายในระยะเวลาแค่ 6 ปี
สิ่งที่เราต้องการฟื้นฟูคือระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์เอื้อประโยชน์ให้กับคนทุกกลุ่ม คนอาจจะสร้างป่าไม่ได้แต่เราสร้างให้เกิดสภาพแวดล้อมและสังคมที่เหมาะสมต่อการฟื้นตัวของป่าได้
หมายเหตุ สนใจศึกษาเพิ่มเติมการฟื้นฟูป่าในเชิงระบบนิเวศ อ่านเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซด์หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่าภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ www.forru.org