in on November 23, 2017

ดอยหลวงเชียงดาวเปลี่ยนไป

read |

Views

ฤดูกาลท่องเที่ยวดอยหลวงเชียงดาวมาถึงแล้ว แต่ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวกำหนดวิธีการจองและจำกัดปริมาณคนขึ้นดอยหลวงใหม่ จากเดิมสามารถขึ้นได้ทุกวัน เปลี่ยนเป็นขึ้นได้เฉพาะศุกร์-เสาร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน-11 กุมภาพันธ์ รวม 15 สัปดาห์ หรือประมาณ 3 เดือน

เมื่อพิจารณาจากช่วงเวลาที่สั้นลงและการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวซึ่งดูจากยอดการจองที่ประกาศทางเฟสบุคของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า คาดว่านักท่องเที่ยวที่ขึ้นดอยหลวงในปีนี้จะลดลงกว่าครึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับฤดูกาลท่องเที่ยวปีที่แล้วที่มีผู้ลงทะเบียนขึ้นดอยหลวงระยะเวลา 4 เดือน กว่า 2 หมื่นคน


ภาพจากคุณ Boss >>> http://www.trekkingthai.com/wordpress/?p=1826#prettyPhoto/0/

ฉันหวนนึกถึงบทสนทนาบนยอดดอยหลวงเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่ฉันและกลุ่มอาสาสมัครขึ้นไปเก็บขยะตกค้างบนดอยหลวงในช่วงปิดฤดูกาลท่องเที่ยว ขณะรอดูพระอาทิตย์ตกดินบนยอดดอยหลวง ฉันได้คุยกับวารินทร์ วรินทรเวช เจ้าของวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทเรื่องการพัฒนารูปแบบการจัดการการท่องเที่ยวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ดอยหลวงที่ถูกนำมาใช้ช่วงปี 2544-2547

หน้าที่การงานทำให้เขาไม่ได้ขึ้นดอยหลวงมากว่า 10 ปี เมื่อกลับมาเห็นอีกครั้งเขาบอกว่า “พูดอะไรไม่ออก” และ “อยากร้องไห้”

วารินทร์ย้อนอดีตให้ฟังว่าจุดที่เรานั่งอยู่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของกวางผา เมื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกิดขึ้น โดยชุมชน ทางการ และนักวิชาการตัดสินใจร่วมกันว่าต้องกำหนดจุดพักแรมและพื้นที่ที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าถึง แทนการปล่อยให้นักท่องเที่ยวท่องไปตามใจชอบ ซึ่งเมื่อนักท่องเที่ยวอยากเห็นภาพพระอาทิตย์ขึ้นและตกดินที่จุดสูงสุด คณะทำงานจึงเปิดยอดดอยหลวงเพื่อชมพระอาทิตย์ตกดินและยอดกิ่วลมเพื่อชมพระอาทิตย์ขึ้น และกำหนดจุดพักแรมบริเวณใกล้เคียงกัน ผลคือกวางผาอพยพไปอยู่ดอยอื่นๆ และเมื่อถูกนักท่องเที่ยวรบกวนน้อยลง กวางผาก็มีที่อยู่และขยายพันธุ์ได้มากขึ้น จากสมัยเริ่มทำการท่องเที่ยวช่วงแรกๆ นานๆ จะเห็นกวางผาสักครั้ง ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจะเห็นกวางผาที่ยอดเขาฝั่งตรงข้ามแทบทุกครั้ง


ภาพจากคุณ Namfon >>> https://www.thetrippacker.com/th/review/DoiLuangChiangDao/8687

“ถ้ามองจากโจทย์เดิมคือเพื่อแก้ปัญหานายพรานขึ้นมาล่าสัตว์และการท่องเที่ยวที่ไม่มีการควบคุม ผมถือว่าสำเร็จ เรารักษาจุดสูงสุดไว้ไม่ได้ แต่รักษายอดเขาอื่นๆ ไว้ได้ ยอดเขาพวกนั้นสมบูรณ์กว่าที่นี่เยอะ ที่ยอดสามพี่น้องมีค้อดอยเชียงดาวบางจุดสูงประมาณตึกสามชั้น และมีกวางผาที่พอเราไปนั่ง เขาจะมองดูเรา เขาไม่กลัว เพราะเขาไม่เคยเห็นมนุษย์ จึงถือเป็นความสำเร็จ แต่ก็สะเทือนใจเมื่อมาเห็นสองยอดถูกทำลาย” วารินทร์กล่าว

ในช่วง 2-3 ปีมานี้กระแสความนิยมการท่องเที่ยวแนวธรรมชาติขยายตัวอย่างรวดเร็ว และหนึ่งในเป้าหมายยอดฮิตของนักล่าเขาคือดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งเมื่อปีที่แล้วมีคนขึ้นดอยหลวงกว่า 2 หมื่นคน แน่นอนว่าคนเหล่านี้มาด้วยเป้าหมายที่แตกต่าง บ้างมาเพื่อทดสอบกำลังกายและกำลังใจของตัวเอง บ้างมาเพื่อปักหมุดหรือเช็คอิน และบ้างมาเพื่อสัมผัสกับระบบนิเวศที่มีความเฉพาะไม่มีที่ใดเหมือน

ภาพจากคุณ Namfon >>> https://www.thetrippacker.com/th/review/DoiLuangChiangDao/8687

“ก่อนเปิดการท่องเที่ยวเราขึ้นมาสำรวจทุกเดือน กำหนดจุดว่าจะนอนตรงไหน คนขึ้นมาเท่าไร กิจกรรมใดเป็นข้อห้าม เราจำกัดทั้งพฤติกรรมและจำนวนคน ลูกหาบและนักเดินทางทั้งหมดจะต้องผ่านการฝึกอบรม พูดง่ายๆ คือคุณต้องปรับตัวให้เข้ากับพื้นที่ เมื่อก่อนไม่มีแม้กระทั่งการก่อไฟ ห้ามนำเครื่องดนตรีหรือวิทยุขึ้นมา ส่วนลูกหาบและคนนำทางต้องมีความรู้ 3 ด้าน คือด้านพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ คติความเชื่อในพื้นที่ และความสำคัญของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและระบบนิเวศต่างๆ เราจะบอกชัดเจนว่าคุณต้องมาศึกษา คุณต้องมาเรียนรู้ ไม่ใช่เข้ามาเพื่อการท่องเที่ยว แต่พอการท่องเที่ยวบูม ตอนนี้เราคุมอะไรไม่ได้แล้ว

“ก่อนหน้านี้กลุ่มนักท่องเที่ยวต้องประเมินตัวเองก่อนว่าคุณมีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่หรือไม่ แต่นักท่องเที่ยวในปัจจุบันไม่ได้สนใจเรื่องเหล่านี้ ฉันต้องมาปักหมุดให้ได้ ฉันต้องมาเช็คอินว่าฉันมาถึงแล้ว ไม่เตรียมความพร้อมตัวเองเพื่อให้เข้ากับพื้นที่ เลยเกิดความคิดว่า ก็มันหนาว ฉันก็เลยต้องกินเหล้า ฉันก็ต้องก่อไฟ เมื่อฉันเป็นนักท่องเที่ยว เธอต้องบริการฉัน กลุ่มชุมชนที่เดิมเรามองว่าคือนักอนุรักษ์ของท้องถิ่นก็แปรตัวเองไปเป็นนักบริการ”


ภาพจาก @guidejourney >>> https://pantip.com/topic/31555707

วารินทร์บอกว่าปัญหาที่ดอยหลวงเชียงดาวกำลังเผชิญในขณะนี้คือขยะตกค้างและของเสียจากการขับถ่ายของมนุษย์ ซึ่งนอกจากรบกวนพฤติกรรมสัตว์ เช่น กวางผามาคุ้ยขยะหาของกิน ของเสียเหล่านี้ยังส่งผลต่อสภาพทางกายภาพของเขาหลวงอีกด้วย กล่าวคือดินบนดอยหลวงมีความเป็นด่างสูง พืชเฉพาะถิ่นจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับความเป็นด่าง เมื่อมนุษย์ขับถ่ายลงดินก็เท่ากับไปปรุงสภาพดินให้อุดมสมบูรณ์ขึ้น ผลก็คือพืชเฉพาะถิ่น เช่น ชมพูเชียงดาวลดน้อยลง ส่วนกวางผาที่เดิมต้องกินดินที่มีความเป็นกรดโดยธรรมชาติหรือเรียกว่าดินโป่งก็หันมากินดินที่ถูกปรับสภาพให้เป็นกรดจากของเสียของมนุษย์

“เหมือนเราสร้างบ้านไว้หลังหนึ่งแล้วยกบ้านให้เขาไป อีกสิบปีกลับมา สภาพบ้านเราเป็นอะไรก็ไม่รู้ ผมเตรียมวัตถุดิบชั้นดีเมนูอาหารชั้นเลิศไว้ให้คุณทำอาหารที่ดีและมีคุณภาพเพื่อให้คุณขายได้ในราคาที่เหมาะสม ตอนนี้คุณทำอาหารขยะ คือคุณเปลี่ยนมันเป็นอาหารขยะไปเรียบร้อยแล้ว แล้วจะให้ผมพูดอย่างไง ผมพูดไม่ออกเลย อยากจะร้องไห้” ฉันไม่รู้ว่าน้ำเสียงเขาขาดหายไปเพราะลมบนยอดเขาที่พัดกระพือมาพอดี หรือความรู้สึกสะเทือนใจกันแน่

บทสนทนาบนยอดดอยหลวงของฉันกับวารินทร์ผ่านมาไม่ถึงปี แม้จะเป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระและอาจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้กลับพ้องกันอย่างน่าประหลาด เมื่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวก็ประกาศกฎใหม่ชนิดนี้ทั้งนักท่องเที่ยว ลูกหาบ คนนำทาง และบริษัททัวร์ไม่ทันตั้งตัว และมีคนบอกฉันว่าเรื่องนี้ “ดราม่าหนักมาก”

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะรื้อฟื้นระบบนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะแบบดอยหลวงเชียงดาวกลับมาได้หรือไม่….คงต้องรอดูผลลัพท์ว่าเมื่อฤดูกาลท่องเที่ยวสิ้นสุดลง

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

คุยประเด็นสิ่งแวดล้อมกับอดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

Email

Share