in on December 21, 2016

Wild vs เถื่อน

read |

Views

ปัจจุบันคนไทยจำนวนไม่น้อยพูดสองภาษา ได้แก่ ไทยและอังกฤษ จนเราดึงเอาภาษาอังกฤษมาใช้ในการสื่อสารทั่วไปในสังคมแทนภาษาแขก โดยเฉพาะคำที่สื่อความคิดหรือภาวะที่เป็นนามธรรม ซึ่งเรามักจะไม่มีคำไทยโดยตรง

ต่างจากคำที่สื่อถึงความรู้สึกและประสาทสัมผัส ภาษาไทยรุ่มรวยคลังศัพท์เหลือหลาย ฝาด เฝื่อน ปะแล่ม สยิว แยกแยะออกมาได้เนียนละเอียดจริงๆ

ใช้ปนสองภาษามันก็ดีตรงที่สื่อความหมายเฉพาะได้เยอะขึ้น แต่ถ้าไม่จำเป็นเราก็ไม่ค่อยอยากใช้ศัพท์ฝรั่งในประโยคไทย ไม่ได้กลัวกระแดะ มันแค่ไม่ได้ใจเหมือนใช้คำไทย และคำที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในชีวิตของนักนิเวศวิทยา ได้แก่ คำว่า wild ภาษาไทยไม่มีคำที่ตรงเลย

Wild ในภาษาอังกฤษหมายถึงชีวิตที่ดำเนินไปโดยธรรมชาติ เป็นอิสระ ไม่เชื่อง ไม่ถูกมนุษย์หรือกติกาในสังคมควบคุม Wildlife จึงหมายถึงชีวิตอิสระในธรรมชาติ ถ้าจะให้แปลว่าสัตว์ป่า พืชป่า ชีวิตป่า ก็จะจำกัดอยู่แต่ชีวิตในดงไม้ ครอบคลุมไม่ถึงปลาในแหล่งน้ำ หรือชีวิตอิสระต่างสายพันธุ์ในเมือง

Wild place หรือ wildland หรือ wilderness ก็เป็นสถานที่ที่ธรรมชาติยิ่งใหญ่กว่าคน ไม่ถูกมนุษย์กำกับให้เชื่อง ความหมายส่วนใหญ่ในปัจจุบันไปทางบวก มีความอัศจรรย์ มีพลัง น่าเคารพยำเกรง บริสุทธิ์งดงาม แม้แต่ wild ที่ใช้บอกเล่าคุณสมบัติของคน ก็ออกไปในทางอิสระเสรี อาจมีบ้างบางกรณีที่หมายถึงหญิงผู้มีเพศสัมพันธ์อย่างไร้ขอบเขต แต่ก็เป็นคนละน้ำเสียงกับส่ำส่อน มั่วสั่ว ไร้คุณค่า เพราะศักดิ์ศรีและอำนาจส่วนบุคคลยังอยู่ที่บุคคลคนนั้น

เมื่อเราใช้คำว่า “ป่า” แทน wild ไม่ได้เต็มความหมาย เราก็หาดูตัวเลือกอื่น ก็มีคำว่า “เถื่อน” คำนี้ไม่จำกัดอยู่กับดงไม้ ดังคำพังเพยไทย “เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า” จะเป็นพื้นที่รกพงหรือทุ่งโล่งอะไรก็ได้

แต่แดนเถื่อนก็ไม่ใช่ wild มันคือที่ไร้กติกากฎหมายขื่อแปของอารยชน ถ้าเป็นกิจกรรมหรือผลิตภัณฑ์ก็คือสิ่งผิดกฎหมาย อย่างเหล้าเถื่อน ถ้ามาประกบกับป่า เป็น “ป่าเถื่อน” ยิ่งร้าย มันคือความรุนแรง โหดเหี้ยมทารุณ เถื่อนในภาษาไทยเต็มไปด้วยความหมายที่เป็นลบ จะสรุปได้ไหมนี่ว่าสังคมไทยสายหลักไม่มองป่าและเถื่อนด้วยสายตาที่เป็นมิตรนัก?

แต่ถ้าเราย้อนไปดูวิวัฒนาการของคำว่า wild ในภาษาอังกฤษ ก็จะพบว่าแต่เดิมมันไม่ต่างจากเถื่อนมากนัก พจนานุกรมอ๊อกซ์ฟอร์ดว่าว่าเป็นศัพท์อังกฤษโบราณ (old English) มีรากมาจากเยอรมัน หมายถึงเถื่อน วิถีป่า ป่าเถื่อน ไร้กติกาการควบคุมเช่นกัน

Wild แต่เดิมเป็นแดนชั่วร้าย ในยุคสมัยที่มนุษย์ยังต้องพยายามสร้างฐานที่มั่นแปลงบ้านเมืองเป็นดินแดนของตัวเอง

บางคนเชื่อว่ามุมมองความร้ายในธรรมชาติมีรากมาจากคัมภีร์ไบเบิ้ล เราถูกไล่ออกมาจากสวนสวรรค์อีเดนแสนอุดมสมบูรณ์ สนองทุกความต้องการของมนุษย์ และปลอดภัยทุกประการ กระเด็นออกมาอยู่กลางแดนเถื่อน เต็มไปด้วยธรรมชาติท้าทาย คาดเดาไม่ได้ ชีวิตไม่มั่นคง — ก็ไม่แน่ใจว่าควรโทษไบเบิ้ลกันมากแค่ไหน

เทพนิยายฝรั่งหลายเรื่องใส่ความร้ายไว้ในป่า ทั้งหมาป่า แม่มด และสัตว์งามที่ออกมายั่วให้หลง กลับบ้านไม่ได้ ดินแดนไร้ประโยชน์ก็เรียกว่าเป็นที่ wild เหมือนกัน ใช้ปนกับคำว่า wasteland เป็นแนวคิดเดียวกับที่รกร้างว่างเปล่าในภาษาไทย

จนเข้าสู่ยุคแห่งเหตุผล (Age of Reason) วิทยาการรุ่งเรืองในยุโรป นำไปสู่ปฏิวัติอุตสาหกรรม ธรรมชาติถูกทำลายมากมาย ไหนจะตัดไม้เกือบหมดเกาะอังกฤษเพื่อสร้างกองทัพเรือสู้กับสเปน ไหนจะเปิดหน้าดินขุดถ่านหิน ผืนแผ่นดินเป็นแผล แปดเปื้อนด้วยโรงงานสกปรก จนบางกลุ่มเกิดปฏิริยาต้านเป็นกระแส Romanticism หันไปให้ความสำคัญกับความรู้สึก ความงาม และธรรมชาติ

มุมมองต่อพื้นที่ wild และความ wild ทั้งหลายเริ่มเปลี่ยนไป จากที่รกร้างกลายเป็นอารามศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า ที่ที่เต็มไปด้วยความงดงาม เปี่ยมพลัง น่ายำเกรง มีกวีอย่างวิลเลี่ยม เวิร์ดส์เวิร์ธ เป็นผู้เปิดหัวใจผู้คนให้ละเอียดอ่อนสัมผัสธรรมชาติ

ความหมายของ wild ในภาษาฝรั่งจึงเปลี่ยนจากลบมาเป็นบวกเมื่อ 200 ปีมานี่เอง ยิ่งเมื่อเมืองหนาแน่นขึ้น มีมลภาวะมากขึ้น คนป่วยจากวีถีชีวิตในเมืองกันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากศตวรรษที่ 19 ยัน 20 ธรรมชาติก็ถูกนำมาโยงใยกับสุขภาพและการรักษาโรค

ถึงยุคฮิปปี้เสรีชน คำว่า wild มีคุณค่าสุดๆ ไม่ใช่แค่ธรรมชาติต่างสายพันธุ์ในโลกกว้าง แต่รวมไปถึงคุณสมบัติและธรรมชาติในใจคน พอกันทีกับความเชื่องและกติกาสังคมในกรอบ ดิ้นกันหลุดโลก–dance wildly ไปเลย

ความหมายเปลี่ยนเมื่อมุมมองเราเปลี่ยน เราหวนมาเห็นคุณค่าของธรรมชาติดิบเถื่อนก็ต่อเมื่อสังคมเราเข้ายึดครองควบคุมมันได้ เมื่อเราถือไพ่เหนือชะตาชีวิตมัน และเมื่อเราตระหนักว่าเราต้องการมัน การอนุรักษ์ปกป้องธรรมชาติจึงก่อเป็นกระแสขึ้นมาได้

มองฝรั่งดูไทยในประเด็นนี้เราอาจไม่ต่างกันมาก เมื่อ 200 ปีก่อน ขณะที่คำว่า wild เริ่มเปลี่ยนความหมายในยุโรป คนกรุงเทพยังต้องกำพร้าเข้าเถื่อนอยู่ ไปล่าจระเข้ที่มีบันทึกสมัยนั้นว่าราคาถูกกว่าเนื้อหมูบ้าง ไปไล่ต้อนกวางสมันบ้าง จนมันสูญพันธุ์ไปจากโลก

ถึงวันนี้ คนเมืองบางกลุ่มให้คุณค่าแก่ธรรมชาติ ฟื้นความสัมพันธ์ที่ละเอียดอ่อน คลับคล้ายกับกลุ่มกระแส Romanticism ก็มีแซะแขวะว่าโลกสวย

ขณะเดียวกัน บางกลุ่มก็หันไปปลุกเสกคำว่า “เถื่อน” ขึ้นมาใหม่ เช่น กลุ่มมหาลัยเถื่อน มีสร้อยต่อว่า “หลักสูตรที่กระทรวงศึกษาไม่รับรอง” อย่างสนุกสนาน เถื่อนในนิยามใหม่คือความอิสระ ไร้กรอบ ไม่เชื่อง มีความ wild

ใครจะรู้ คนรุ่นต่อไปอาจมีความหมายของ wild อังกฤษปัจจุบันใช้ในภาษาไทย

แต่อย่ารอให้แดนเถื่อนประเทศไทยหายไปหมดก่อนละกัน

อ้างอิง
  1. กรุงเทพธุรกิจ, ธันวาคม 2559
สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share