in on January 10, 2017

บ้านน้องอยู่ฝั่งทางโน้น

read |

Views

ข่าววงใน (วงการนักวิจัยชะนี) เมื่อหลายเดือนก่อน แพร่กระจายในวงเล็กๆ ว่ามีการพบมีชะนีเซียมังนายหนึ่งทั้งไต่ทั้งเดินดินข้ามทางหลวงไปหาสาว เล่นเอานักวิจัยที่นี่ตื่นเต้นกันมากที่พบว่าชะนียอมลงเดินบนถนน ผู้เขียนเองก็ตื่นเต้นไปด้วย แต่เป็นเพราะกลัวว่าจะถูกรถทับตายเสียก่อนมากกว่า

ชื่อเล่นของชะนีนายนี้ จึงไม่พ้นสมญาว่าโรมิโอ ผู้ซึ่งบากบั่นอุปสรรคการจราจรของรถที่แล่นด้วยความเร็วสูง เพื่อไปหาจูเลียตที่อยู่ในป่าอีกฝั่งฟากหนึ่งของทางหลวงสายคารัค (KARAK Highway)  นักวิจัยท้องถิ่นที่นี่เล่าให้ฟังว่า เซียมังคู่นี้เคยอยู่ด้วยกันในป่าบริเวณเกนติ้งซัมปา (Genting Sampah) ที่ได้ถูกตัดถนนผ่านกลางป่า และกลายเป็นทางออกจากไฮเวย์เพื่อไปยังบูกิตติงกี (Bukit Tinggi) จุดท่องเที่ยวที่ชาวมาเลเซียนิยมหลบร้อนไปสัมผัสอากาศเย็นบนเขา ไม่ไกลจากเมืองกัวลาลัมเปอร์นัก

แต่เมื่อมีการตัดถนนผ่าน “บริเวณบ้าน” หรือถิ่นหากินของเซียมังคู่นี้ จึงทำให้เกิดการแบ่งแยกพื้นที่ออกเป็นสองส่วน รวมไปถึงหย่อมเล็กๆ ตรงกลางถนนด้วย ด้วยเหตุนี้ โรมิโอกับจูเลียตจึงต้องข้ามไปมาสองฝั่งถนน เพื่อไปหาอาหารตามต้นไม้เดิมๆ ที่เคยหากิน และเพื่อประกาศให้เซียมังกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 15 ครอบครัว ได้รับรู้ว่า “แผ่นดินนี้เราจอง” อันเป็นปกตินิสัยของชะนี ที่มีพื้นที่หากินเฉพาะและหวงแหนถิ่นอาศัยนัก

นักวิจัยกลุ่มนี้ ยังเล่าด้วยว่า เซียมังทั้งคู่มีลูกชายอยู่ด้วย 1 ตัว ชื่อ โรเจอร์ แต่นับตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา นักวิจัยก็ไม่เห็นโรเจอร์อีกแล้ว จะว่าแยกตัวออกไปก็ไม่ใช่ เพราะโรเจอร์นั้นเพิ่งจะมีอายุครบ 5 เดือนเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาเท่านั้น

ที่เล่ามานี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการที่ถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าได้รับผลกระทบจากการขยายเมือง ขยายเส้นทางการเดินทาง ทำให้สัตว์ในกลุ่มของชะนีได้รับผลกระทบมาก เพราะโดยปกติ ชะนีเป็นสัตว์ที่ไม่ลงเดินบนดิน ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนต้นไม้ หากจะลงมาข้างล่างก็ด้วยเหตุจำเป็นจริงๆ

เมื่อต้นเดือนธันวาคม ทางองค์กร TRAFFIC ซึ่งเป็นเครือข่ายการสำรวจตรวจสอบการค้าสัตว์ป่า โดยมีการทำงานเพื่อให้แน่ใจว่าการค้าสัตว์ป่าและพืชป่ามิได้คุกคามการอนุรักษ์ธรรมชาติ ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง “เมื่อลิงไม่มีหาง” (ดาวน์โหลดฉบับเต็มได้ที่นี่)

รายงานฉบับดังกล่าว เป็นการสำรวจสถานการณ์ของสัตว์ในกลุ่มลิงไม่มีหาง ได้แก่ ชะนี อุรังอุตัง ชิมแปนซี และกอริลล่าที่เข้ามาอยู่ในเมืองตามสวนสัตว์และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่มีการนำสัตว์มาแสดง หรือใช้เป็นตัวประกอบการถ่ายภาพ ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่พบว่า จำนวนที่แจ้งไว้อย่างเป็นทางการ มีน้อยกว่าจำนวนที่พบตามสถานที่ต่างๆ อันเป็นผลมาจากการลักลอบค้าและนำเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งสวรรค์ของบรรดานักลักลอบค้าสัตว์ป่า เพราะกฎหมายที่มีอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ ยังไม่เข้มแข็งพอที่จะทำให้การจับกุมและติดตามคดีเกี่ยวกับลักลอบค้าสัตว์ป่าเป็นไปอย่างเข้มแข็ง

เนื้อหาในรายงานตอนหนึ่งบอกไว้ว่า ในการจับลูกลิงหนึ่งตัวออกมาจากป่า จะต้องแลกกับลิงไม่น้อยกว่า 10 ชีวิต ที่แน่ๆ คือชีวิตของแม่ลิงต้องจบลง ถ้าลองได้ฟังเพลง “ลิงทะโมน” ของน้าหมู พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ (อนุญาตให้ร้องไห้ได้) จะเข้าใจว่าเป็นเพลงที่อธิบายเนื้อหาเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนที่สุด

การท่องเที่ยวอย่างไม่เข้าใจที่ไปที่มาของสัตว์เหล่านี้ จึงทำร้ายประชากรของสัตว์ป่าไม่ต่างกับการขยายถนนตัดผ่านป่า หรือการถางป่าเพื่อทำพืชเศรษฐกิจ ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ปาล์มน้ำมัน ถูกจัดว่าเป็นผู้ร้ายตัวเต็งที่ทำลายป่า ทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่อาศัยของอุรังอุตัง ในขณะที่คนส่วนมากกลับไม่ทันฉุกใจคิดว่า ความน่ารักน่าเอ็นดูของอุรังอุตังอันเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวที่ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางเกี่ยวกับธุรกิจการลักลอบค้าสัตว์ในกลุ่มลิงไม่มีหาง ก็เป็นสาเหตุหลักของปัญหาไม่ต่างกับการสร้างถนน หรือการขยายพื้นที่เพาะปลูก

โรมิโอกับจูเลียตจะอยู่รอดไปอีกนานแค่ไหนไม่มีใครรู้ได้ ผู้เขียนรู้แต่ว่าทั้งคู่อาจจะได้ทักษะในการเอาตัวรอดจากการข้ามถนน หลบหลีกการถูกจับหรือการแหย่แกล้งโดยผู้สัญจรไปมา จนไปลงแข่ง The Amazing Race ได้

หวังว่าความรักของเจ้าจะยืนยง… โรมิโอกับจูเลียต

ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share