in on May 16, 2017

พลาสติก 6 อย่างที่ชีวิตนี้ควรบอกลา

read |

Views

นอกจากระบบจัดเก็บขยะระบบคัดแยกและการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพแล้ว เราทุกคนสามารถช่วยแก้ปัญหาที่ต้นตอได้ด้วยการลดการสร้างขยะที่ไม่จำเป็น ถ้ายังไม่คิดว่าขยะพลาสติกเป็นวิกฤติสำคัญของโลกให้ลองพิจารณาตัวเลขต่อไปนี้

  • อุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกเติบโตขึ้นถึง 20 เท่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีปริมาณอยู่ที่ 311 ล้านตันต่อปี และคาดว่าจะสูงถึง 600 ล้านตันภายใน 20 ปีข้างหน้า พลาสติกเหล่านี้แทบไม่เคยหายไปไหน เป็นภาระในการจัดเก็บ และพลาสติกจำนวนมากแตกสลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยกลายเป็นไมโครพลาสติกหมุนวนกลับมาอยู่ในห่วงโซ่อาหาร เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์เอง 
  • มีพลาสติกเพียง 5% เท่านั้นที่ถูกนำมารีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ ราว 10% ถูกนำมาเผากำจัด อีก 40% ถูกฝังกลบ ในขณะที่อีกกว่า 30% หรือหนึ่งในสามไม่ได้รับการจัดการ ถูกทิ้งอยู่ในระบบนิเวศโดยเฉพาะในทะเลและมหาสมุทร

  • ทุกปีมีขยะพลาสติกราว 8 ล้านตันไม่ได้รับการจัดเก็บและถูกพัดลงสู่ทะเล เท่ากับว่ามีรถขนขยะเทขยะพลาสติกลงสู่ทะเลวันละ 1,440 คัน เดือนละ 43,200 คัน หรือกว่า 5 แสนคันรถต่อปี และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็น 1 ล้านคันรถต่อปีในอีก 15 ปีข้างหน้า
  • ปัจจุบันพบว่ามีพลาสติกชิ้นเล็กชิ้นน้อยลอยอยู่ในมหาสมุทรมากกว่า 5.25 ล้านล้านชิ้น รวมน้ำหนักราว 269,000 ตัน ไม่รวมไมโครพลาสติกอีก 4 พันล้านชิ้นต่อหนึ่งตารางกิโลเมตร ที่ทับถมอยู่ก้นทะเลพลาสติกชิ้นเล็กๆ และไมโครพลาสติกเป็นดูดซับสารพิษต่างๆ เมื่อถูกสิ่งมีชีวิตกินเข้าไปก็จะถูกส่งต่อผ่านห่วงโซ่อาหารมายังมนุษย์
  • มีการประมาณว่าทุกปีเต่าทะเล นกทะเล วาฬ โลมา นับแสนตัวต้องตายเพราะการกินพลาสติกเข้าไป เฉพาะในประเทศไทยพบสัตว์ทะเลหายาก เช่น เต่าทะเล วาฬ โลมา ตายจากการกินขยะพลาสติกและเศษเครื่องมือทำประมงเฉลี่ย 300 กว่าตัวต่อปี โดยตัวที่ตายจากการกินคิดเป็น 60% พันตามลำตัวและขาอีก 40%
  • หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คาดว่าจะมีปริมาณพลาสติกในทะเลมากกว่าน้ำหนักปลาทั้งหมดรวมกันภายใน 30 ปีข้างหน้า 
  • ประเทศไทยมีค่าประเมินปริมาณขยะพลาสติกที่ลงสู่ทะเลอยู่ที่ 150,000 – 410,000 ตันต่อปี หรือเฉลี่ย 280,000 ตัน สูงเป็นอันดับห้าของโลก หากประเมินคร่าวๆ ว่าขยะแห้ง 1 กิโลกรัม มีประมาณ 100 ชิ้น หมายความว่าเราทิ้งขยะพลาสติกลงสู่ทะเลปีละกว่า 28,000 ล้านชิ้น
  • หากต้องการให้ประเทศไทยหลุดจาก 10 อันดับแรกของประเทศที่มีขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งคำนวนว่าเราต้องลดขยะให้ได้ปีละ 11,000 ล้านชิ้น หรือประมาณ 30 ล้านชิ้นต่อวัน หากคำนวณประชากรชายฝั่งทั้งหมด 23 จังหวัดประมาณ 20,000,000 คน เราจะทำได้สำเร็จหากทุกคนลดขยะพลาสติกให้ได้ทุกวันวันละ 1.5 ชิ้น

ถ้าต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ต่อไปนี้คือพลาสติก 6 อย่างที่คุณควรบอกลาตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

  1. ช้อนส้อมพลาสติก เราไม่ควรมีข้ออ้างใดๆ ในการใช้ช้อนส้อมพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งเลย เดี๋ยวนี้มีช้อนส้อมน้ำหนักเบาหลากหลายรูปแบบที่คุณสามารถพกพาได้อย่างสะดวก และพยายามปฎิเสธช้อนส้อมพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งทุกรูปแบบ หรือหากได้มาแล้วก็ควรใช้ให้คุ้มค่าที่สุด ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกๆ ที่ได้ประกาศยกเลิกการใช้ช้อนส้อมแบบนี้ โดยได้ผ่านกฎหมายที่บังคับให้ภาชนะแบบใช้แล้วทิ้งทุกประเภทผลิตจากวัสดุธรรมชาติและย่อยสลายได้ภายในปีพ..2563
  2. หลอด เราถูกทำให้กลายเป็นคนติดหลอดโดยไม่จำเป็นเลย หากสังเกตจะพบว่าหลอดพลาสติกเป็นหนึ่งในขยะพลาสติกที่พบบ่อยมากที่สุดตามชายหาด ปัญหาสำคัญของหลอดคือมีขนาดเล็ก ทนทานและยากต่อการจัดเก็บ ทำให้มีโอกาสเล็ดรอดตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้ง่าย สุดท้ายก็ไหลรวมลงสู่ทะเล อยากให้ทุกคนได้ชมคลิปการช่วยชีวิตเต่าทะเลที่มีหลอดติดเข้าไปในจมูก <https://www.youtube.com/watch?v=4wH878t78bw> น่าจะทำให้คุณคิดสักนิดก่อนใช้หลอดครั้งต่อไปและหันกลับมาดื่มจากแก้วโดยตรงเหมือนเดิมทางเลือกอื่นได้แก่การพกพาหลอดสแตนเลสที่เริ่มมีการผลิตออกมาอย่างแพร่หลายซึ่งสามารถล้างและนำกลับมาใช้ได้อีกเรื่อยๆ
  3. ขวดน้ำพลาสติก ร้อยละ 90 ของขยะในทะเลที่พัดพาขึ้นมาตามชายหาดหลายๆ แห่งคือขวดน้ำพลาสติก โดยเฉพาะฝาที่ตกค้างอยู่ตามหาดทรายและซอกหิน ปริมาณการใช้ขวดพลาสติกในปัจจุบันนั้นมากมายมหาศาลแบบที่นึกกันไม่ถึงเลยทีเดียว มีข้อมูลว่าในสหรัฐอเมริกามีการใช้ขวดพลาสติกมากถึงนาทีละ 9 หมื่นขวด ในประเทศไทยมีสถิติว่ามีการใช้ขวดพลาสติกสูงถึงปีละ 4,000 ล้านขวด  แม้ว่าขวดพลาสติกจะรีไซเคิลได้แต่การผลิตขวดพลาสติกก็ใช้พลังงานสูงมาก การผลิตขวดพลาสติกแต่ละขวดต้องใช้ปริมาณน้ำมันถึง 1 ใน 4 ของปริมาตรขวดในการผลิต หมายความว่าถึงจะรีไซเคิลได้แต่เราก็ต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมหาศาลในการผลิตใหม่ ทางเลือกในปัจจุบันมีขวดน้ำแบบสวยๆมากมายให้เราเลือกใช้ อาคารหลายแห่งในปัจจุบันก็มีเครื่องทำน้ำเย็นบริการ ฝึกพกขวดให้เป็นนิสัย นอกจากจะประหยัดเงินแล้ว เรายังช่วยลดการสร้างขยะขวดพลาสติกได้ถึง 2-3 ขวดต่อวันเลยทีเดียว หากท่านเป็นเจ้าของกิจการร้านอาหาร การบริการน้ำดื่มใส่ขวดแก้วสวยๆ นอกจากจะช่วยลดขยะแล้วยังทำให้ร้านดูดีมีระดับขึ้นอีกมาก
  4. แก้วพลาสติก แก้วกาแฟใช้แล้วทิ้งแบบร้อนส่วนใหญ่มีพลาสติกเป็นโครงและย่อยสลายได้ยาก ส่วนแก้วกาแฟเย็น ชาเย็นนั้นแน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นแก้วพลาสติกล้วนๆ ในหลายประเทศปริมาณแก้วกาแฟแบบใช้แล้วทิ้ง เป็นขยะพลาสติกที่ปริมาณสูงเป็นอันดับต้นๆ เป็นรองเพียงขวดน้ำพลาสติกเท่านั้น ลองเปลี่ยนวัฒนธรรมการดื่มกาแฟเสียใหม่ การนั่งดื่มที่ร้านและดื่มจากแก้วจริงๆนั้นไม่ได้ทำให้เสียเวลามากไปกว่าเดิมเท่าไหร่ หรือหาอยากซื้อกาแฟ หรือชาเย็นแก้วโปรดมาละเลียดต่อที่ทำงานหรือที่บ้าน โปรดพิจารณาหาซื้อแก้วกาแฟรูปทรงสวยๆเก๋ๆ เก็บความร้อนเย็นได้ดี นอกจากจะช่วยรักษาคุณภาพของเครื่องดื่มแล้ว คุณยังช่วยลดขยะแก้วพลาสติกไปได้เยอะมาก นอกจากนี้ปัจจุบันร้านกาแฟหลายแห่งยังมีส่วนลดให้กับคนที่นำแก้วมาเอง นอกจากดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังประหยัดเงินได้อีกด้วย  
  5. ถุงพลาสติก เป็นที่ทราบกันดีว่าถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งหรือถุงก๊อบแก็บเป็น ขยะพลาสติกที่สร้างปัญหาอย่างมากเมื่อถูกทิ้งอยู่ในสภาพแวดล้อม เนื่องจากปริมาณถุงพลาสติกนั้นมีมากมายมหาศาลและหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อมได้ง่ายมาก ปัญหาน้ำท่วม น้ำระบายช้า ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการอุดตันของถุงพลาสติกในท่อระบายน้ำ สิ่งที่เราทุกคนต้องทำให้เป็นนิสัยคือการบอกปฏิเสธการรับถุง แม่ค้าและคนขายส่วนใหญ่ยังติดการหยิบทุกอย่างใส่ถุง สิ่งที่ง่ายที่สุดจึงเริ่มจากการปฏิเสธถุงพลาสติกที่ไม่มีความจำเป็น ในส่วนของการจับจ่ายประจำสัปดาห์ การเตรียมถุงผ้าไปสัก 3-4 ถุงก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย เดี๋ยวนี้แทบทุกห้างร้านยังมีการให้คะแนนสะสมเพิ่มสำหรับคนที่ไม่รับถุงพลาสติก หรือนำถุงมาเองอีกด้วย เข้าร้านสะดวกซื้อคราวหน้าอย่าลืมท่องว่าไม่ต้องใส่ถุง
  6. ภาชนะบรรจุอาหาร เดี๋ยวนี้คนซื้อข้าวกล่องกันมากขึ้น ด้วยชีวิตประจำวันอันยุ่งเหยิงเเละสะดวกสบายในการสั่งอาหารสารพัดเมนู แต่ความสะดวกก็แลกมาด้วยขยะปริมาณมหาศาลไม่ว่าจะเป็นกล่องโฟม กล่องพลาสติก ถุงใส่ซุป ถุงใส่น้ำจิ้มรวมๆ แล้วเป็นขยะพลาสติกกองโตกว่าที่เราผลิตทั้งวันเสียอีก การติดกล่องข้าวประจำไว้ที่สำนักงานหรือสำหรับพกพาจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สะดวก ทำให้เราไม่ต้องเป็นภาระกับสิ่งแวดล้อมมากเกินไปอีกทางที่แก้ได้คือการจัดสรรเวลาประเทศไทยมีอาหารจานด่วนขายอยู่แทบจะทุกหนทุกแห่ง การเดินออกไปรับประทานอาหารจากจานข้าวจริงๆ ในร้านไม่ได้เป็นการเสียเวลามากมายขนาดนั้น แถมยังเป็นการได้ออกกำลังกายสังเกตุชีวิตรอบตัวอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง:

Plastic Pollution in the World’s Oceans: More than 5 Trillion Plastic Pieces Weighing over 250,000 Tons Afloat at Sea. Plos One 10 December 2014 

>>> http://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0111913

>>> http://news.nationalgeographic.com/news/2015/01/150109-oceans-plastic-sea-trash-science-marine-debris/

เพชร มโนปวิตร

นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการเป็นนักเขียน นักแปลและนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการทำงานในองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าหลากหลายองค์กรตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีผลงานตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆมาแล้วกว่า 200 เรื่อง ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เริ่มเป็นคอลัมนิสต์ประจำให้มูลนิธิโลกสีเขียวมาตั้งแต่ปี 2546 และเปิดพื้นที่คอลัมน์ Natural Solution เพื่อต้องการนำเสนอข่าวดี กรณีศึกษาที่น่าเอาอย่าง รวมทั้งแนวคิดสำคัญที่อาจเป็นทางออกของการอนุรักษ์ธรรมชาติและวิกฤติการณ์ต่างๆของโลกในปัจจุบัน

Email

Share