in Wild Watch on December 16, 2015

Bangkok Wild Watch 2015: at Suan luang Rama 9

read |

Views

เรื่อง/ภาพ : กองบรรณาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว

กลับมาอีกครั้งในปีนี้กับการสำรวจที่จะทำให้เรารู้จักสิ่งมีชีวิตอื่นนอกจาก คน นก หนู เเมว เเละตึกรามบ้านช่อง ในงาน Bangkok Wild Watch 2015 ซึ่งจัดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม 2558 ที่สวนหลวง ร.9 โดยมูลนิธิโลกสีเขียวร่วมกับองค์กรต่างๆ ได้เเก่ สมาคมอนุรักษ์นกเเละธรรมชาติ เเห่งประเทศไทย, ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยรามคำเเหง, กลุ่ม Ecoliteracy & Conservation in Action (ECA) มหาวิทยาลัยมหิดล, กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเเละสิ่งเเวดล้อม (Siamensis), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เเห่งชาติ (อพวช.) เเละมูลนิธิสวนหลวง ร. 9 พร้อมกับเหล่าอาสาสมัครกว่า 200 ชีวิต ร่วมสำรวจชีวิตป่าในเมืองหลวงเพื่อตรวจสุขภาพกรุงเทพฯ ร่วมกัน

การสำรวจครั้งนี้เเบ่งกลุ่มสำรวจออกเป็น 7 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มสำรวจนก กลุ่มสำรวจพรรณไม้ กลุ่มสำรวจเเพลงก์ตอน กลุ่มสำรวจสัตว์น้ำจืด สัตว์เลื้อยคลานเเละสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก กลุ่มสำรวจสัตว์กลุ่มกระรอก กระเเต กลุ่มสำรวจไลเคน และกลุ่มสำรวจผีเสื้อ แมงเเละเเมลงอื่นๆ โดยผลการสำรวจสิ่งมีชีวิตทั้งหมด 2 ชั่วโมง พบ 248 ชนิด เเบ่งเป็น

กลุ่มสำรวจนก พบนก 56 ชนิด นกส่วนใหญ่เป็นนกที่พบได้ทั่วไปในเขตเมือง ได้เเก่ นกปรอดสวน นกกินปลีอกเหลือง นกตีทอง

ที่น่าสนใจในการสำรวจครั้งนี้คือพบ นกคัคคูมรกต นกอพยพฤดูหนาวที่มีสีสันสวยงามเป็นที่ตื่นตาตื่นใจของนักสำรวจมืออาชีพเเละมือใหม่ นอกจากนั้นยังรายงานพบ เหยี่ยวตีนเเดง ซึ่งเป็นนกอพยพจากรัสเซียตะวันออกไปเเอฟริกาใต้และเป็นครั้งเเรกที่พบในกรุงเทพฯ นักสำรวจสันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะนกชนิดนี้พลัดหลงกับฝูงขณะที่กำลังบินอพยพผ่านประเทศไทยมา

จากการสำรวจพบว่ามีนกหลายกลุ่มทั้งที่กินพืช กินเเมลง หากินตามพื้น หากินบนต้นไม้ รวมถึงหากินบนท้องฟ้า  แสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้ยังมีความอุดมสมบูรณ์และมีอาหารเพียงพอสำหรับเป็นแหล่งอาศัย พักพิงของนกหลากหลายประเภท ทั้งนกท้องถิ่นและนกอพยพ

กลุ่มสำรวจพรรณไม้ พบพรรณไม้ทั้งหมด 60 ชนิด จากการเดินสำรวจภายในบริเวณเกาะ 3  ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสวนหลวง ร.9 ต้นไม้ส่วนใหญ่ที่พบเป็นไม้ยืนต้น ไม้พุ่มเเละไม้มีผล เป็นเเหล่งที่อยู่อาศัยและหากินของนกเเละสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นได้ด้วย สำหรับต้นไม้บางต้นที่สำรวจพบมีอายุปลูกที่เท่ากันเเต่ขนาดลำต้นไม่เท่ากัน เนื่องจากพื้นที่ปลูกบางบริเวณอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล จึงทำให้ดินอุ้มน้ำไว้มากบวกกับพืชบางชนิดที่ไม่ชอบดินชื้นมาก สภาพของต้นไม้ในบางบริเวณจึงเเคระเเกรนกว่าปกติ

กลุ่มสำรวจเเพลงก์ตอน พบเเพลงก์ตอน 23 ชนิด เป็นเเพลงก์ตอนพืช 17 ชนิด เเพลงก์ตอนสัตว์ 6 ชนิด แพลงก์ตอนที่พบส่วนใหญ่คือแพลงก์ตอนกลุ่ม Volvox sp., Ceratium sp. เเละ Euglena sp. เป็นพวกที่อยู่ในน้ำที่มีคุณภาพเเย่ เเต่อย่างไรก็ดียังสำรวจพบเเพลงกล์ตอนกลุ่ม Closterium sp. ซึ่งอยู่ในน้ำคุณภาพปานกลาง จึงสรุปได้ว่า เเหล่งน้ำบริเวณที่สำรวจเเพลงก์ตอนจัดอยู่ในคุณภาพเเย่ถึงปานกลาง ซึ่งอาจเกิดจากการปล่อยของเสียหรือสกปรกลงไปในน้ำ เช่น ใส่ปุ๋ยให้กับต้นไม้เเล้วรดน้ำ นำ้จึงชะเอาปุ๋ยที่หน้าดินลงไปในน้ำทำให้เกิดน้ำเสียขึ้น เเละปุ๋ยเหล่านี้ก็กลายเป็นอาหารชั้นดีของพวกเเพลงก์ตอนซึ่งใช้ในการเจริญเติบโตเเละเพิ่มจำนวนมากขึ้น

กลุ่มสำรวจสัตว์น้ำจืด สัตว์เลื้อยคลานเเละสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พบความหลากหลายค่อนข้างมาก โดยสำรวจพบปลาท้องถิ่น 11 ชนิด และชนิดพันธุ์ต่างถิ่น 3 ชนิด ซึ่งปลาท้องถิ่นที่พบมากคือ ปลาตะเพียนขาว เป็นปลาที่ว่ายน้ำตลอดเวลาในบ่อเปิดโล่งๆ จึงต้องการออกซิเจนในน้ำมาก มักพบในแหล่งน้ำคุณภาพปานกลางขึ้นไป การพบปลาตะพียนขาวจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าคุณภาพน้ำยังไม่แย่มากนัก แต่ทั้งนี้ปลาตะเพียนขาวต้องวางไข่ขยายพันธุ์ในแหล่งน้ำไหลเท่านั้น ซึ่งไม่พบในพื้นที่นี้จึงสัณนิฐานว่าเป็นปลาที่นำมาปล่อย  เเละพบปลาขนาดเล็กอย่างพวกปลาบู่ใส ปลาเข็ม ซึ่งอยู่ในเเหล่งน้ำที่มีคุณภาพปาน-กลาง เเต่ก็ยังพบ ปลากินยุง ที่อยู่เป็นฝูงกินลูกน้ำยุงเป็นอาหารเเละเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นซึ่งอยู่ในน้ำเสีย จึงพอสรุปได้ว่าคุณภาพน้ำอยู่ในระดับปานกลางถึงค่อนข้างเเย่นอกจากนั้นยังพบบ่อน้ำที่มีต้นไม้รกๆ ขึ้นอยู่ภายใน จากการสังเกตของนักสำรวจพบว่าน้ำใสกว่าบ่อน้ำบ่ออื่นที่สำรวจ เนื่องจากมีต้นไม้ช่วยดูดเเร่ธาตุส่วนเกินจากในน้ำไปใช้จึงมีสภาพที่ใสกว่าทำให้คุณภาพน้ำค่อนข้างดีกว่าจุดอื่น เเละพบ ปลาช่อน ปลากระสง ปลาชะโด ปลากริม ปลากระดี่หม้อ ซึ่งมีจำนวนชนิดมากกว่าบ่ออื่นที่สำรวจอีกด้วย นอกจากนี้ปลาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่พบนอกจาก ปลากินยุง ได้เเก่ ปลาซัคเกอร์ และปลานิล

การสำรวจสัตว์เลื้อยคลานพบตัวเงินตัวทอง ที่ช่วยกำจัดของเน่าเสียอย่างพวกปลาและสัตว์อื่นที่ตายในบริเวณสวนสาธารณะ นอกจากนั้นยังพบ ตุ๊กเเกบ้าน กิ้งก่าบ้าน กิ้งก่าคอเเดง เเละพบชนิดพันธุ์ต่างถิ่น 1 ชนิด คือ เต่าเเก้มเเดง (หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ “เต่าญี่ปุ่น” ) สัตว์ต่างถิ่นในประเทศอเมริกาซึ่งอาจเป็นได้ว่ามาจากการนำมาปล่อยของคน ซึ่งผลเสียของการพบสัตว์ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ก็คือ สัตว์ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นจะเเย่งใช้พื้นที่เเละเเย่งอาหารสัตว์ประจำถิ่น ซึ่งมีการเเข่งสูงอาจทำให้สัตว์ประจำถิ่นอาจสูญพันธุ์หรืออพยพย้ายถิ่นได้

สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกสำรวจพบกบหนอง เพียง 1 ชนิด เนื่องจากสัตว์กลุ่มนี้ออกหากินในเวลากลางคืน

กลุ่มสำรวจสัตว์กลุ่มกระรอก กระเเต สำรวจพบ 5 ชนิด ได้เเก่ กระรอกพบมากที่สุด คือ กระรอกหลากสี รองมาคือ กระเเต ซึ่งช่วยกระจายต้นพืชไปในที่ต่างๆ จากเมล็ดพืชที่กิน เเละพบ กระเล็น สุนัข เเละเเมว ในบริเวณสำรวจด้วย

กลุ่มสำรวจไลเคน พบไลเคน 12 ชนิด ซึ่งเป็นไลเคนกลุ่มทนทานมลพิษสูง 4 ชนิด ได้เเก่ หัตถ์ทศกัณฐ์กุมน้ำเเข็ง ร้อยรู ไฝพระอินทร์ สิวหัวช้างจิ๋ว เเละกลุ่มทนทานมลพิษ 8  ชนิด ได้เเก่ ริ้วเเพร กลุ่มลายเส้น กลุ่มโดรายากิ สาวน้อยกระโปงบานบางกอก ธิดามะกอกดำ ไหทองโรยขมิ้น เเป้งมณโฑ เเละการสำรวจครั้งนี้ไม่พบไลเคนกลุ่มอากาศดีเลย เป็นไลเคนในกลุ่มทนทานมลพิษเเละทนทานมลพิษสูง โดยสำรวจบริเวณใกล้กับศาลามะหาดไปจนถึงอาคารพันธุ์ไม้ทะเลทรายพบไลเคนกลุ่มทนทานมลพิษมากกว่ากลุ่มทนทานมลพิษสูงคุณภาพอากาศจึงอยู่ในระดับ “พอใช้” อย่างไรก็ดีหากเปรียบเทียบกับผลสำรวจไลเคนเมื่อ ปี 2552 พบว่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับ “พอใช้” เช่นเดียวกัน

กลุ่มสำรวจผีเสื้อ แมงเเละเเมลงอื่นๆ พบมากถึง 72 ชนิด ผีเสื้อพบ 12 ชนิด ซึ่งพบผีเสื้อหนอนกาฝากมากที่สุด แมลงอื่นๆ พบ 44 ชนิด โดยมีบทบาทในการผสมเกสรให้กับต้นไม้ และช่วยควบคุมแมลงศัตรูของสัตว์และต้นพืชได้ สำหรับกลุ่มเเมง พบ 17 ชนิด พบเป็นเเมงมุมทั้งหมดเเละพบเเมงมุมสุนัขป่ามากที่สุด ซึ่งบอกถึงบริเวณที่เป็นพื้นที่โล่งและมีต้นไม้อยู่น้อยเนื่องจากเเมงมุมชนิดนี้หากินตามพื้นโดยไม่ชักใยเพื่อล่าเหยื่อ

ภายหลังจากการสำรวจ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า การสำรวจครั้งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก นอกจากจะทำให้เรารู้ว่ามีสิ่งมีชีวิตอะไรอาศัยอยู่ใกล้ๆ ตัวเราบ้างเเล้วยังเป็นการตรวจสุขภาพของป่าที่อยู่ในเมืองเช่นสาธารณะ ถ้าความหลายหลายของสิ่งมีชีวิตมากเเสดงว่าสิ่งเเวดล้อมดี ซึ่งชีวิตต่างๆ อยู่ได้ ชีวิตเราก็อยู่ได้เช่นเดียวกัน

Green world Foundation

ข่าว และ บทความจากทีมงานมูลนิธิโลกสีเขียว เพื่อความเข้าใจในสิ่งแวดล้อมไทย

Email

Share