in Wild Watch on December 24, 2013

Bangkok Wild Watch 2013 : สำรวจชีวิตป่าในเมืองหลวง

read |

Views

ชีวิตในสวนลุมฯ และสุขภาพของชาวเมือง ปี 2556

เรื่อง : กองบรรณาธิการโลกสีเขียว , ภาพ : มูลนิธิโลกสีเขียว, มหาวิทยาลัยรามคำแหง

กลับมาอีกครั้งสำหรับการสำรวจที่จะทำให้คุณรู้จักกรุงเทพฯ ในมุมที่นอกเหนือจาก อาคารใหญ่โต ห้างสรรพสินค้า แหล่งรวมความสะดวกสบาย

Bangkok Wild Watch @ Lumpini 2013 ชวนคุณไปรู้จักกรุงเทพฯ ในฐานะ “บ้าน” ของเพื่อนร่วมสังคมเดียวกับเรา ตั้งแต่นกบนฟ้าไป ปลาในน้ำ ไปจนถึงแมลงหน้าดิน ยิ่งออกสำรวจเท่าไร เราจะยิ่งรู้จักสภาพแวดล้อมของกรุงเทพฯ ได้มากขึ้น และแน่นอนว่าสุขภาพของเมืองย่อมส่งผลกับสุขภาพของมนุษย์แน่นอน

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2556 มูลนิธิโลกสีเขียว ร่วมกับองค์กรต่างๆ ได้แก่ สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย, หน่วยวิจัยไลเคน มหาวิทยาลัยรามคำแหง, กลุ่ม Ecoliteracy & Conservation in Action (ECA) ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล, กลุ่ม Siamensis, กลุ่ม Big Tree และกลุ่มใบไม้ พร้อมกับเหล่าอาสาสมัคร กว่า 200 คน ร่วมสำรวจสวนลุมพินี เพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตหลากหลายประเภทร่วมกัน


ในการสำรวจครั้งนี้ แบ่งกลุ่มสำรวจสิ่งมีชีวิตออกเป็น 9 ประเภท ประกอบด้วย กลุ่มสำรวจนก กลุ่มสำรวจพรรณไม้ กลุ่มสำรวจไลเคน กลุ่มสำรวจสัตว์น้ำจืด กลุ่มสำรวจแพลงก์ตอน กลุ่มสำรวจผีเสื้อ แมลง แมง กลุ่มสำรวจสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กลุ่มสำรวจสัตว์เลื้อยคลาน และกลุ่มสำรวจสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก โดยผลการสำรวจพบว่า

กลุ่มสำรวจนก พบ 33 ชนิด (ปีที่แล้ว พบ 37 ชนิด) เป็นนกประจำถิ่น 22 ชนิด นกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ 9 ชนิด นกที่พบมาก คือ อีกา สาลิกา ตีทอง ซึ่งชนิดที่บ่งบอกคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ก็คือ นกตีทอง เพราะเป็นนกที่กินไม้ผล ถ้าเราพบก็แปลว่ามีไม้ผลอยู่บริเวณนั้น และเป็นนกที่อาศัยในโพรงต้นไม้ใหญ่ ฉะนั้นแปลว่าต้องมีไม้ยืนต้นพอสมควร อย่างไรก็ตาม จากการประเมินปีนี้ จำนวนนกและอาหารของนกลดลง

กลุ่มสำรวจพรรณไม้ แบ่งเป็น 5 ประเภท ไม้ยืนต้น 42 ชนิด (45 เปอร์เซ็นต์) เป็นอาหาร และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยให้นกได้, กลุ่มปาล์ม 16 ชนิด (15 เปอร์เซ็นต์) เป็นพื้นที่ทำรังของนกได้, ไม้ดอก 18 ชนิด (10 เปอร์เซ็นต์) น้ำหวานเป็นอาหารของนกได้, หญ้า 20 เปอร์เซ็นต์, พืชปกคลุมพื้นน้ำ 10 เปอร์เซ็นต์

ข้อสังเกตคือ ทุกวันนี้พื้นที่ที่มีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่อย่างจามจุรี ไทร ในกรุงเทพฯ หาได้ยากมาก ทำให้นกขาดทางเชื่อมต่อไปพื้นที่ต่างๆ และตอนนี้พื้นที่ใกล้เคียงอย่างสวนลุมไนท์บาร์ซาร์ที่มีต้นไทรขนาดใหญ่มากก็กำลังจะกลายเป็นพื้นที่พาณิชย์

กลุ่มสำรวจไลเคน พบไลเคน 11 ชนิด (ปีที่แล้วพบ 12 ชนิด) เป็นไลเคนชนิดที่ทนทานมลพิษ และทนทานมลพิษสูง โดยบริเวณรอบนอกของสวนลุมใกล้ถนนใหญ่ ทั้ง ถนนวิทยุ พระราม4 และสารสิน พบไลเคนกลุ่มทนทานมลพิษสูงมากกว่ากลุ่มทนทานมลพิษ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ “แย่ถึงแย่มาก” ส่วนบริเวณพื้นที่กลางสวนลุม พบไลเคนกลุ่มทนทานมลพิษมากกว่าไลเคนกลุ่มทนทานมลพิษสูง คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ “พอใช้” เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจไลเคน ปี 2553 และ 2555 คุณภาพอากาศในสวนลุมมีแนวโน้มแย่ลงเรื่อยๆ

กลุ่มสำรวจสัตว์น้ำจืด พบปลาน้ำจืด 12 ชนิด ปริมาณเท่าๆ กับปีที่แล้ว เป็นปลาต่างถิ่น 7 ชนิด และปลาท้องถิ่น 5 ชนิด ปีนี้ปลาท้องถิ่นที่หายไปเลยก็คือ “ปลาบู่ใส” ซึ่งกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร พบปลาเข็ม ซึ่งเป็นปลาท้องถิ่นน้อยลง ซึ่งเป็นไปได้ว่าปลากินยุงซึ่งเป็นปลาต่างถิ่นเริ่มยึดครองพื้นที่มากขึ้น

มีปลา 2 ชนิดที่พอจะเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพน้ำได้ คือกลุ่มปลาเกล็ดที่ว่ายน้ำตลอดเวลา คือปลาตะเพียนขาวที่ว่ายน้ำตลอดเวลา ดังนั้นจะใช้ออกซิเจนค่อนข้างเยอะ และอีกตัวคือปลาคาร์ฟที่ต้องการน้ำค่อนข้างสะอาดก็ยังเจออยู่ พบปลาช่อน ปลากราย เป็นกลุ่มปลาล่าเหยื่อที่กินสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ เป็นอาหาร การที่พบปลา 2 ชนิดนี้ แสดงว่ายังมีปลาเล็กหรือกุ้งเป็นอาหารอยู่ แต่จริงๆ ส่วนหนึ่งก็มาจากการให้ขนมปังเป็นอาหารด้วย ส่วนสัตว์น้ำอื่นๆ ที่พบคือ กุ้งฝอย ปูตัวเล็กๆ ที่อยู่ตามลำคลอง และหอย 5 ชนิด

ข้อแนะนำคือ แหล่งน้ำที่ดีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ คือแหล่งน้ำที่มีน้ำตื้นด้วย คือ 1 ใน 3 ของพื้นที่ควรเป็นที่ลาดให้พืชน้ำขึ้นได้ด้วย ช่วงที่พืชน้ำเติบโตมันก็จะมีการดึงแร่ธาตุส่วนเกินออกมา ซึ่งจะทำให้น้ำคุณภาพดีขึ้น และส่วนน้ำตื้นก็จะเป็นแหล่งที่อยู่ แหล่งอาหารให้กับสัตว์น้ำและแมลงที่อาศัยอยู่ได้

กลุ่มสำรวจแพลงก์ตอน จากการเก็บตัวอย่างทั้งริมและกลางน้ำ ทั้งช่วงเวลาเช้าตรู่และช่วงสาย (มีแสงแดดมากขึ้น) พบแพลงก์ตอนทั้งหมด 12 ชนิด แบ่งเป็น แพลงก์ตอนสัตว์ 6 ชนิด และแพลงก์ตอนพืช 6 ชนิด

แพลงก์ตอนสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มที่บ่งชี้คุณภาพน้ำดี น้ำปานกลาง น้ำเสีย และกลุ่มที่ไม่สามารถบ่งชี้คุณภาพน้ำได้ ในครั้งนี้พบแพลงก์ตอน 2 ชนิดที่บ่งบอกถึงคุณภาพน้ำปานกลาง แต่ทั้งจำนวนและชนิดที่พบปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้วประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่ไม่เจอปลาบู่ใสเพราะไม่มีแหล่งอาหาร ในปีนี้ผลสรุปคือคุณภาพน้ำในสวนลุมอยู่ในระดับ “ปานกลาง” ยังเป็นอาหารให้ปลาเล็กปลาน้อยได้อยู่

กลุ่มสำรวจผีเสื้อ แมลง แมง พบแมลง 93 ชนิด (ปีที่แล้ว พบ 34 ชนิด เนื่องจากปีนี้มีอาสาสมัครมาช่วยกันสำรวจเพิ่มขึ้น) พบผีเสื้อกลางวัน 4 ชนิด, ผีเสื้อกลางคืน 4 ชนิด, แมลงวัน 8 ชนิด, แมลงปอ 10 ชนิด, มด 15 ชนิด, แมงมุม 7 ชนิด, ด้วง 11 ชนิด, เพลี้ยกับมวน 6 ชนิด แมลงที่พบไม่มีตัวไหนเป็นพิเศษ พบได้ทั่วไป, ตัวที่วัดคุณภาพแหล่งน้ำได้อย่างแมลงปอชนิดพิเศษก็ไม่พบ

กลุ่มสำรวจสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบ 4 ชนิด คือ คน แมวบ้าน สุนัข และกระรอกหลากสี

กลุ่มสำรวจสัตว์เลื้อยคลาน พบ 11 ชนิด (ปีที่แล้วพบ 10 ชนิด) ชนิดที่พิเศษกว่าปีที่แล้วคือ “จิ้งเหลนเรียว” ที่น่าตกใจคือ “เหี้ย” ปีนี้พบไม่ถึง 10 ตัว จากปีที่แล้วเกือบ 30 ตัว อาจเป็นไปได้ว่ามีการไปปล่อยข้างนอก หรือซากสัตว์น้อยลง

เต่าส่วนมากที่พบในสวนลุมคือเต่าปล่อย เช่น เต่านา ที่กินหอยเชอรี่เป็นอาหาร เมื่อมาอยู่ในสวนลุมฯ ทำให้หาอาหารไม่ได้
บวกกับเจอขยะพลาสติกทำให้เต่าย่อยไม่ได้ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ส่วนสัตว์ต่างถิ่น (alien species) พบเต่าแก้มแดงหรือเต่าญี่ปุ่น

กลุ่มสำรวจสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พบ 2 ชนิด คือคางคกบ้านและกบหนอง แต่ปกติจะต้องสำรวจช่วงเวลากลางคืนมากกว่าเพราะเป็นเวลาหากิน สัตว์กลุ่มนี้มีผู้ล่าคือแมว

ข้อสรุปจากการสำรวจในวันนี้ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า การสำรวจเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ทำให้เราเป็นสังคมที่มีข้อมูลและความรู้ และเมื่อเรารู้ปัญหาเราก็จะรู้ว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง เช่น มูลนิธิโลกสีเขียวสำรวจข้อมูลด้านคุณภาพอากาศและได้ข้อมูลว่าอากาศบ้านเราอยู่ในขั้นที่แย่เพราะส่วนหนึ่งมาจากควันรถยนต์ มูลนิธิจึงเริ่มโครงการรณรงค์การลดใช้รถส่วนตัว หรือตัวอย่างในวันนี้เมื่อเรารู้แล้วว่าการออกแบบสระน้ำที่เป็นขอบปูนชันมากๆ มีผลต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ ก็ควรเปลี่ยนรูปแบบกับสวนใหม่ที่กำลังจะสร้างตามแนวชานเมืองกรุงเทพฯ

“สวนสาธารณะถือเป็นปอดใจกลางเมืองและเป็นที่หลบภัยของสิ่งมีชีวิตหลายๆ ชนิด แต่สิ่งที่เราพบในแต่ละกลุ่มคือส่วนมากมีแนวโน้มพบสิ่งมีชีวิตน้อยลง การได้มาเป็นหมอเมือง ตรวจสุขภาพเมือง ทำให้เราเริ่มต้นตระหนักเห็นความสำคัญของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในสังคม เพราะตัวชี้วัดเมืองที่ยั่งยืนก็คือ ถ้าสิ่งมีชีวิตอื่นอยู่ได้ เราก็อยู่ได้เช่นกัน” ดร.สรณรัชฎ์ กล่าว

(ดูผลสำรวจ Bangkok Wild Watch @ Lumpini 2012 ได้ที่นี่)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

“ความฉลาดที่บรรพบุรุษเราเคยมี”
(ความรู้สึกจากผู้ร่วมสำรวจในงาน Bangkok Wild Watch @ Lumpini 2013)

“บางทีก็รู้สึกว่าเราเป็น ethnic

ในขณะที่วิกฤตการเมืองดำเนินไป ชนกลุ่มน้อยพยายามปากเป็นเสียงให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ แบบเงียบสงัด เริ่มต้นจากการสำรวจความหลากหลายของชีวิตในสวนสาธารณะ พื้นที่ปอดและแหล่งหลบภัยของสัตว์ต่างๆ เท่าที่พอจะมี (แม้มันจะถูกสร้างเพื่อความหย่อนใจของคน) ปีนี้ทำเป็นปีที่สอง

คนสำคัญกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ไหม บางคนตอบได้ง่าย บางคนตอบได้ยาก

แต่ที่มั่นใจคือ คนอยู่ไม่ได้ ในโลกที่พืชสัตว์ไม่อาจอยู่ได้ (แต่พืชสัตว์น่าจะอยู่ได้ดี ถ้าไม่มีเรา)

พรุ่งนี้ มะรืนนี้ มะเรื่องนี้ ไม่ว่าการเมืองจะก้าวไปอีท่าไหน โลกและธรรมชาติในสภาพที่ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างหนักหน่วงก็จะดำเนินต่อไป ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาทำอะไร ตั้งแต่เรื่องเล็กยันเรื่องใหญ่ ตั้งแต่ไม่รับถุงพลาสติก ใช้ชีวิตแบบแคร์คนอื่นสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ยันขับเคลื่อนนโยบายกฎหมายปกป้องสิ่งแวดล้อมระดับท้องถิ่นระดับโลก เราย่อมอยู่ในโลกที่แย่ลงไปเรื่อยๆ สำหรับทุกคน ทุกต้น ทุกตัว ไม่เว้นว่าเราจะเป็นไทยไหน ฝรั่งไหน แขกไหนเลย

วันอาทิตย์เราไปสวนลุมฯ ซึ่งเปิดให้พ่อแม่ลูกและผู้สนใจมาร่วมสำรวจด้วยกัน ที่จริงก็อยากจะนึกฝันว่าสักวันชนกลุ่มน้อยจะบานปลายขยายเป็นซูเปอร์มวลมหาประชาชนที่หวนกลับไปมีความฉลาดทางนิเวศ (ecological intelligence) อย่างที่บรรพบุรุษเราเคยมี เพราะในตอนนี้ มนุษย์ทั้งโลกจำเป็นต้องพึ่งพาสิ่งนี้มากที่สุดกว่ายุคสมัยไหนๆ แต่มันเป็นความฉลาดชนิดที่เราดันมีเหลือกันน้อยที่สุด

พ่อแม่ลูก เด็กวัยรุ่น เด็กรุ่นใหม่ ร้อยกว่าคนมาเรียนรู้ด้วยกันเมื่อวันอาทิตย์อย่างกระตือรือร้นและใส่ใจว่าใน สวนสาธารณะอย่างสวนลุมฯ ให้ที่อาศัยดีแค่ไหนแก่สัตว์พืช กระทั่งแพลงก์ตอนที่เรามองไม่เห็นด้วย แค่การมีหรือไม่มีสิ่งมีชีวิตแต่ละตัวแต่ละชนิดส่งผลต่ออีกตัวอีกชนิดเสมอ เด็กๆ ทุกคนเห็นอย่างเป็นรูปธรรมที่นี่ มันเป็นกิจกรรมที่ทำทีไร ก็ให้แต่พลังดีๆ ทุกที

ผลสำรวจพืชสัตว์ไลเคนแพลงก์ตอนที่สวนลุมฯ ปีนี้แย่กว่าปีก่อนและปีก่อนหน้านั้น มีสิ่งมีชีวิตน้อยลง ทั้งชนิดและจำนวน ที่ดำรงชีวิตได้ แม้ที่นี่น่าจะเป็นที่หลบภัยที่ดีแล้ว

เขียนเรื่อยเปื่อยไปไกลมากมาย ที่จริงอยากจะแค่บอกว่า ฉันชอบชนกลุ่มน้อยเผ่าพันธุ์นี้มาก เท่านั้นแหละ”
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

Green world Foundation

ข่าว และ บทความจากทีมงานมูลนิธิโลกสีเขียว เพื่อความเข้าใจในสิ่งแวดล้อมไทย

Email

Share