in Wild Watch on March 17, 2018

Bangkok wild watch 2017 @Rot Fai Park

read |

Views

เมื่อวันเสาร์ที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา มูลนิธิโลกสีเขียวเเละองค์กรต่างๆ ได้เเก่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เเห่งชาติ (อพวช.), สำนักอนุรักษ์เเละวิจัย องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมอนุรักษ์นกเเละธรรมชาติเเห่งประเทศไทย, กลุ่ม Ecoliteracy & ConservationinAction (ECA) ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เเละกลุ่ม Nature Play&Learn Club พร้อมกับเหล่าอาสาสมัครกว่า 100 ชีวิต ร่วมสำรวจชีวิตป่าในเมืองหลวงเพื่อตรวจสุขภาพกรุงเทพ ในงาน “Bangkok wild watch 2017 @Rot Fai Park. – สำรวจชีวิตป่าในเมืองหลวง” ปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 มี ดร.อ้อย-สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ แม่งานใหญ่ชูธงนำคนเมืองออกมาสำรวจสิ่งมีชีวิตใจกลางกรุงเทพ ใช้เวลาทั้งหมด 2 ชั่วโมง

ปีนี้เเบ่งกลุ่มสำรวจเป็น 6 กลุ่ม ได้เเก่ กลุ่มนกและพรรณไม้ กลุ่มสัตว์หมวด ก. (กระรอก, กระเเต) กลุ่มผีเสื้อ เเมลงเเละเเมง กลุ่มสัตว์หน้าดิน กลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกเเละสัตว์เลื้อยคลาน กลุ่มไลเคนเเละผองเพื่อน ผลจากการสำรวจพบสิ่งมีชีวิตในสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ทั้งหมด 145 ชนิด เเบ่งเป็นสำรวจกลุ่มสิ่งมีชีวิตต่างๆ ดังนี้

กลุ่มสัตว์เลื้อยคลานเเละสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก

นำทีมสำรวจโดยคุณรุจิระ มหาพรม (สำนักอนุรักษ์เเละวิจัย องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์) พบสัตว์เลื้อยคลาน 5 ชนิด ได้เเก่ เหี้ย ตุ๊กเเก จิ้งจกบ้านหางเเบน กิ้งก่าหัวเเดงเเละเต่าเเก้มเเดง ในการสำรวจนี้ เจอเหี้ย 15 ตัว ในสวนที่มีเเหล่งน้ำอยู่อย่างสวนรถไฟก็สามารถพบเจอกับตัวเหี้ยได้ไม่ยากมีขนาดตัวตั้งเเต่ใหญ่จนถึงเล็ก พวกมันบ่งบอกว่าในสวนเเห่งนี้พอจะมีความอุดสมบูรณ์อยู่พอสมควร เนื่องจากมีเเหล่งอาหารที่สำคัญนั่นก็คือบ่อน้ำ ที่มีปลาอาศัยอยู่ นอกจากนี้ตัวเหี้ยยังเป็นหน่วยจัดเก็บซากเน่าเปื่อยของสัตว์ชนิดต่างๆ ได้เป็นอย่างดีเยี่ยม ส่วนตุ๊กเเก จิ้งจกบ้านหางเเบน กิ้งก่าหัวเเดง มักพบตรงบริเวณซอกของต้นไม้เเละยอดกิ่งไม้ มันเป็นผู้ล่าที่ควบคุมกลุ่มเเมลงปีกเเข็งรวมทั้งตัวหนอนที่เป็นศัตรูของต้นไม้ไม่ให้มีจำนวนมากจนเกินไป  นอกจากนี้ยังเจอสัตว์เลื้อยคลานอีกหนึ่งชนิดในน้ำซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น คือ เต่าญี่ปุ่นหรือที่ใครหลายคนเรียกกันว่าเต่าเเก้มเเดง คาดว่ามีผู้นำมาปล่อยทิ้งไว้

ส่วนสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกเจอเพียงกบหนองเเละคางคกบ้าน ซึ่งหลบอาศัยบริเวณพื้นดินชื้นๆ ในช่วงเวลากลางวันเเละจะออกหาอาหารเวลากลางคืน ทำหน้าที่ควบเเมลงตัวเล็กๆ รวมทั้งสัตว์ตัวเล็กๆ เช่น ไส้เดือน ตะขาบ ไม่ให้เพิ่มจำนวนมากเกินไป

กลุ่มสัตว์หมวด ก (กระรอก, กระเเต)

นำทีมสำรวจโดยคุณบุตดา โชติมานวิจิต (กลุ่ม Ecoliteracy & ConservationinAction (ECA) ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล) พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม 2 ชนิด ได้เเก่ กระรอกหลากสีพบ  43 ตัว เเละกระเเตพันธุ์เหนือพบ 5 ตัว  จำนวนกระรอกที่พบภายในสวนสาธารณะเเห่งนี้ถือว่ามากพอสมควร เนื่องจากในบริเวณนี้มีอาหารเป็นจำนวนมากซึ่งได้มาจากกลุ่มคนที่มาใช้บริการสวนฯ เเล้วนำมาให้เเละจากอาหารตามธรรมชาติ  การที่พบกระรอกเป็นจำนวนมากอาจมีข้อดีอยู่บ้างนั่นก็คือพวกมันเป็นนักปลูกต้นไม้ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองกรุง เพราะสัตว์กลุ่มนี้มีลักษณะฟันหน้าเป็นฟันเเทะ พวกมันจะเเทะส่วนเนื้อของลูกไม้เเล้วทิ้งเมล็ดมาลงที่พื้นทำให้กระจายพันธุ์ต้นไม้ได้อย่างรวดเร็ว ส่วนกระเเตพันธุ์เหนือที่สำรวจเจอเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินกลุ่มเเมลงบนพื้นดินเเละบนต้นไม้เป็นอาหาร ช่วยกำจัดเเมลงศัตรูของต้นไม้ไปในตัว อย่างเช่น ตัวหนอนที่เจาะเนื้อไม้ เป็นต้น

กลุ่มผีเสื้อ เเมลงเเละเเมง

นำทีมสำรวจโดยคุณทัศนัย จีนทอง (องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ(อพวช.)) พบจำนวนทั้งหมด 36 ชนิด เเบ่งเป็น ผีเสื้อเเละเเมลง 29 ชนิด เเละเเมงมุม 7 ชนิด ในการสำรวจนี้เจอผึ้งมิ้มเป็นจำนวนมากบินตอมกินน้ำหวานอยู่ที่ดอกหญ้า พบมอธหญ้า ผีเสื้อกลางวัน กลุ่มผึ้งต่อเเตน เเละบางบริเวณเจอหนอนผีเสื้อกระทกรกเป็นจำนวนมากที่บริเวณต้นไม้ใหญ่ๆ นอกจากนี้ยังพบผีเสื้อถุงทองธรรมดา ผีเสื้อใบไม้ ผีเสื้อขาวเเคระ ผีเสื้อปีกไข่ใหญ่ เป็นต้น บริเวณใกล้ๆกับโดมเเมลงของสวนรถไฟ พวกมันช่วยทำหน้าที่ผสมเกสรให้กับต้นพืชทั้งเล็กเเละใหญ่ สำหรับเเมงมุมที่พบ 7 ชนิด เช่น พบเเมงมุมชนิดที่บอกว่ามีต้นไม้ใหญ่ คือ เเมงมุมเปลือกไม้สองหาง เเละเเมงมุมใยทองลายขนาน เป็นต้น โดยรวมเเล้วสวนรถไฟเเห่งนี้มีความหลากหลายของเเมลงเเละเเมงมุมค่อนข้างเยอะมาก หากมีเวลาที่ใช้ในการสำรวจมากกว่านี้ก็อาจจะเจอจำนวนชนิดมากกว่าที่พบในการสำรวจนี้

กลุ่มไลเคน

นำทีมโดยมูลนิธิโลกสีเขียวสำรวจพบไลเคน 8 ชนิด เเบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทนทานสูง เเละกลุ่มทนทาน ซึ่งกลุ่มทนทามสูง ได้เเก่ หัตถ์ทศกัณฐ์กุมน้ำเเข็ง ไฝพระอินทร์ ร้อยรู เเละสิวหัวช้างจิ๋ว ส่วนกลุ่มทนทาน ได้เเก่ กลุ่มลายเส้น โดรายากิ สาวน้อยกระโปรงบานบางกอก ในปีนี้หลังจากการสำรวจพบว่าผลของคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างเเย่ เนื่องจากสวนเเห่งนี้มีกลุ่มคนเเละองค์ต่างๆ เข้ามาทำกิจจกรรมจำนวนมากในเเต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็น การพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย ถ่ายละคร หรือเเม้กระทั้งการจัดการภายในสวนของเจ้าหน้าที่ เช่น การใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ในการตัดเเต่งกิ่งต้นไม้ หรือเเม้เเต่การใช้รถขุดขนาดใหญ่เข้ามาใช้เพื่อการปรับพื้นที่ของหน้าดิน ซึ่งอาจเป็นผลทำให้อากาศอยู่ในเกณฑ์ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก หากเทียบกับผลการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2557 ที่เคยสำรวจไว้ พบว่าผลไม่มีความเเตกต่างกัน หากมองโดยภาพรวมบริเวณอยู่รอบๆ สวนรถไฟจะพบว่ามีทางด่วนพิเศษเเละถนนอยู่รอบด้าน อาจส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศเเละไลเคนภายในสวนฯ ได้ด้วยเช่นเดียวกัน

กลุ่มสำรวจนกเเละพรรณพืช

นำทีมสำรวจโดยคุณอุเทน ภุมรินทร์ (กลุ่ม Nature Play and Learn Club) เเละคุณวัทธิกร โสภณรัตน์  (สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST)) พบนกทั้งหมด 47 ชนิด  เช่น นกตีทอง นกกินผลไม้ที่บอกว่าในพื้นที่สวนรถไฟก็ยังมีไม้ผลเเละอาหารเพียงพอสำหรับนกเเละสัตว์กินลูกไม้อยู่  นกยางควาย นกเอี้ยงสาริกาซึ่งมีการปรับตัวให้เข้ากับพื้นที่ในเมืองได้เป็นอย่างดี พวกมันก็จะรอกินเเมลงต่างๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในสนามหญ้า เมื่อมีน้ำจากสปริงเกอร์ถูกปล่อยออกมารดสนามหญ้าพวกเเมลงตัวเล็กๆ ก็จะกระโดดขึ้นมาพร้อมเป็นอาหารให้กับนกยางควายเเละนกชนิดอื่นๆ นอกจากนี้ยังพบนกเค้าจุดเเละนกเค้าโมง นกนักล่าในเวลากลางคืน พวกมันกินเเมลงปีกเเข็งเเละสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กเป็นอาหาร เเสดงว่าในสวนรถไฟยังมีอาหารที่สมบูรณ์พอที่จะให้นกนักล่าเหล่านี้ได้เข้ามาหาอาหาร โดยรวมเเล้วสวนรถไฟถือว่ายังมีความสมบูรณ์อยู่ คือมีพื้นที่สำหรับให้นกต่างๆ ได้มาอาศัย หาอาหาร เเละสืบพันธุ์ 

ส่วนพรรณพืชกลุ่มนกได้เดินสำรวจไปพร้อมกันการสำรวจนก พบต้นไม้ทั้งหมด 28 ชนิด มีประเภทไม้ยืนต้นจำนวนมาก ได้เเก่ ต้นจามจุรี ชมพูพันธุ์ทิพย์ ประดู่บ้าน ไทร เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้นที่ให้ความร่มเงาภายในสวน เเละเป็นเเหล่งอาศัยหลบภัย รวมทั้งเป็นเเหล่งอาหารให้กับสิ่งชีวิตที่อยู่ในสวนเเห่งนี้

กลุ่มสำรวจสัตว์หน้าดิน

นำทีมสำรวจโดย ดร.สมศักดิ์ ปัญหา (ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (ศคช.)) พบสัตว์หน้าดิน 17 ชนิด เช่น กิ้งกือ หอยทากสยาม ตะขาบลายเสือ เป็นต้น สัตว์หน้าดินส่วนใหญ่ที่พบเรามักพบได้ทั่วไป ซึ่งพวกมันเป็นผู้ย่อยสลายซากพืชเเละสัตว์ต่างๆ ได้ดี นอกจากนั้นยังทำให้เกิดระบบหมุนเวียนของธาตุอาหารต่างๆ ในระบนิเวศไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือนอกเมืองก็ตาม

จากการสำรวจทั้งหมดผู้สนใจสามารถอ่านข้อมูลจากการสำรวจในครั้งนี้ได้ที่ >>> http://bit.ly/2HKeK05

ภายหลังจากการสำรวจ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า การสำรวจครั้งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก นอกจากจะทำให้เรารู้ว่ามีสิ่งมีชีวิตอะไรอาศัยอยู่ใกล้ๆ ตัวเราบ้างเเล้วยังเป็นการตรวจสุขภาพของป่าที่อยู่ในเมืองเช่น สวนสาธารณะ ถ้าความหลายหลายของสิ่งมีชีวิตมากเเสดงว่าสิ่งเเวดล้อมดี ซึ่งชีวิตต่างๆ อยู่ได้ ชีวิตเราก็อยู่ได้เช่นเดียวกัน

Green world Foundation

ข่าว และ บทความจากทีมงานมูลนิธิโลกสีเขียว เพื่อความเข้าใจในสิ่งแวดล้อมไทย

Email

Share