in on August 12, 2015

ปลุกจีเอ็มโอรอบใหม่

read |

Views

หลังจากข่าวคราวเกี่ยวกับพืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอห่างหายไปจากหน้าสื่อระยะหนึ่ง ปลายเดือนที่ผ่านมามีข่าวจีเอ็มโอทั้งระดับสากลและระดับประเทศที่น่าติดตามความเคลื่อนไหวเป็นอย่างยิ่ง

เริ่มจากเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม สภาผู้แทนสหรัฐเสียงข้างมากผ่านกฎหมายไม่อนุญาตให้ออกฉลากจีเอ็มโอภาคบังคับด้วยคะแนนเสียง 275-150  ซึ่งถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของกลุ่มบริษัทอาหารและเกษตรที่ผลักดันกฎหมายนี้และถูกคัดค้านมาเป็นเวลานานปี โดยฝ่ายสนับสนุนให้เหตุผลว่าจีเอ็มโอปลอดภัยและหากปล่อยให้แต่ละรัฐที่มีถึง 50 รัฐหรือประมาณ 20,000 เมืองออกกฎหมายติดฉลากของตัวเอง เท่ากับเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายระบบอาหาร ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะถูกส่งผ่านถึงผู้บริโภคในที่สุด

ด้านฝ่ายต่อต้านเรียกกฎหมายนี้ว่า “กฎหมายสีดำ” เพราะลิดรอนสิทธิการรับรู้ของผู้บริโภค หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กฎหมายตัวแม่ในการปกป้องมอนซานโต้” (Mother of all Monsanto Protection Acts) เพราะผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงคือบริษัทด้านการเกษตรขนาดใหญ่ แต่ผู้สูญเสียคือสาธารณะ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะละเมิดกฎหมายระดับรัฐในการห้ามอาหารจีเอ็มโอ รวมทั้งป้องกันไม่ให้องค์การอาหารและยาหรือ FDA ทดสอบความปลอดภัยของส่วนผสมจีเอ็มโอในอาหารก่อนเข้าสู่ท้องตลาด ซึ่งเมื่อกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภา ก็เท่ากับว่ากฎหมายติดฉลากของรัฐเวอร์ม้อนต์จะเป็นโมฆะ และป้องกันไม่ให้รัฐอื่นๆ ออกกฎหมายติดฉลากจีเอ็มโอ ขณะที่ปัจจุบันมี 64 ประเทศที่บังคับใช้กฎหมายติดฉลากอาหารจีเอ็มโอ

นอกเหนือจากความปลอดภัยในอาหาร หนึ่งในเหตุผลผู้ที่เรียกร้องให้มีกฎหมายติดฉลากอาหารจีเอ็มโอให้ต่อสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ก็เพราะว่าในบรรดาสิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับอาหารจีเอ็มโอคือการใช้ยาฆ่าหญ้ากลัยโฟเซตที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในพืชจีเอ็มโอ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ และองค์การสหประชาชาติเพิ่งออกรายงานเมื่อ 23 มิถุนายน 2558 ว่ากลัยโฟเซตอาจเป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งในมนุษย์ (อ้างอิง http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/24-d/blog/53433/)

ในช่วงเวลาเดียวกันในอีกมุมหนึ่งที่แสนห่างไกล สภาปกครองเมืองมอนเต เมส (Monte Maiz) เมืองเล็กๆ ในประเทศอาเจนติน่าที่มีประชาการ 8 พันคน และแวดล้อมไปด้วยแปลงถั่วเหลืองและข้าวโพดจีเอ็มโอได้ออกกฎหมายห้ามฉีดพ่นและเก็บรักษายาฆ่าแมลงและสารเคมีเกษตรที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ หลังจากเกษตรกรในเมืองนี้ฉีดยาฆ่าหญ้าราวด์อัพและกลัยโฟเซตผสมกับยาฆ่าแมลงที่มีพิษร้ายแรงสูง เช่น คลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos)

หลักฐานที่ถูกนำมาประกอบการพิจารณากฎหมายนี้คือผลการศึกษาในปี 2557 ของเครือข่ายแพทย์เพื่อผู้ที่สัมผัสสารเคมีเกษตร (Physicians’ Network of Sprayed Peoples) ร่วมกับมหาวิทยาลัย 2 แห่งที่สำรวจสุขภาพประชากรจำนวน 594 คน และเก็บตัวอย่างดินและน้ำ จากที่คาดว่าจะพบอัตราการเกิดใหม่ของผู้ป่วยโรคมะเร็ง 11 รายต่อปี แต่เฉพาะปี 2557 กลับพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่จำนวน 35 ราย ซึ่งมากกว่าที่คาดไว้ 3 เท่า และร้อยละ 50 ของเด็กอายุ 6-7 ปีเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ขณะที่อัตราเฉลี่ยการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจของเด็กวัยนี้คือร้อยละ 10  ในรายงานฉบับนี้ ยังระบุอีกว่าพบโรคภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ โรคเอสแอลอี และโรคข้อรูมาตอยด์เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของอัตราปกติ ภาวะแท้งสูงกว่าปกติ 3 เท่า ส่วนความผิดปกติโดยกำเนิดสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศถึง 72 เปอร์เซ็นต์

ย้อนกลับมาบ้านเรา ข่าวร้อนเกี่ยวกับจีเอ็มโอรอบนี้เริ่มเมื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พยายามนำกฎหมายอนุญาตให้ทดลองพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นาเข้าสู่สภาปฏิรูปแห่งชาติ หลังจากการทดลองพืชจีเอ็มโอถูกยุติไปนับตั้งแต่มะละกอจีเอ็มโอหลุดรอดจากแปลงทดลองสู่ธรรมชาติ เมื่อปี 2547 ผู้ผลักดันอ้างว่าการยุติการทดลองพืชจีเอ็มโอทำให้เกษตรกรเสียโอกาสและทำลายอาชีพเกษตรกร โดยเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. … เข้าสู่การพิจารณา โดยให้เหตุผลว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุดกฎหมายปฏิรูปการเกษตร

อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวถูกถอนออกไป เนื่องจากมีผู้คัดค้านว่าผิดกระบวนการทางกฎหมายเนื่องจากในเอกสารใบนำส่งเอกสารถึงประธาน สปช. ไม่มีรายการนำร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณา และรายงานวาระปฏิรูปครั้งนี้เป็นการรายงานรอบ 2 ซึ่งในรอบแรกไม่มีประเด็นจีเอ็มโออยู่ในรายงานครั้งแรก

ต่อกรณีนี้ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน แถลงว่าจากการรับฟังความคิดเห็นตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ คณะกรรมการอิสระคุ้มครองผู้บริโภคพบว่า การผ่านกฎหมายฉบับนี้ไปโดยเร็วจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ แต่จะเกิดผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน เกษตรกรและกลุ่มธุรกิจด้านเกษตรอินทรีย์ และธุรกิจอาหารอีกหลายกลุ่ม รวมทั้งผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภค (อ้างอิง http://prachatai.org/journal/2015/07/60522)

จากตัวอย่างข้างต้นจึงสรุปได้ว่าทั้งในระดับสากลและระดับชาติ การผลักดันพืชและอาหารจีเอ็มโอเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารล้วนมีเป้าหมายหลักเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มบริษัทเกษตรและอาหารข้ามชาติระดับใหญ่มากกว่าผลประโยชน์ของสาธารณะชนหรือผู้บริโภค ซึ่งกลยุทธ์ที่ผู้สนับสนุนจีเอ็มโอทั่วโลกใช้เหมือนกันคือการเร่งรัดตัดตอนการออกกฎหมายรับรองพืชจีเอ็มโอให้เร็วที่สุด…จึงเป็นสิ่งที่สาธารณะชนต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: Getty Images
  2. ภาพจาก: Greenpeace
ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

คุยประเด็นสิ่งแวดล้อมกับอดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

Email

Share