in on April 4, 2018

มหัศจรรย์…ต้นไม้พยากรณ์อากาศ

read |

Views

ต้นยางนา เหียง พะยอม และตะเคียนทองบอกว่าวันที่ 7, 21 เมษายน และ 18,28 พฤษภาคมนี้จะมีพายุฝนในภาคอีสาน ส่วนกรมอุตินิยมวิทยาบอกว่าหลังวันที่ 6 เมษายนนี้ กรุงเทพฯ และภาคกลาง และภาคอีสานจะมีพายุฤดูร้อนรุนแรง

 

ตรงกันโดยมิได้นัดหมาย!!!

 

ย้อนกลับไปเมื่อ  29 มีนาคม 2548 ขณะที่อาจารย์นพพร นนทภา นักวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนเเก่น ยืนอยู่ใต้ต้นยางนาในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดอกยางนาก็หล่นลงมาบนศีรษะของเขา ในปีต่อมาดอกยางนาต้นเดิมหล่นในวันที่ 15 มีนาคม 2549

“ผมเอะใจว่าทำไมดอกไม้จากต้นไม้ต้นเดียวกันร่วงไม่ตรงกันในแต่ละปี ทำไมทุกครั้งที่ลูกยางนาร่วงจึงมีพายุฝน และตอนเรียนวิชาป่าไม้รู้ว่าไม้วงศ์ยางนากระจายพันธุ์ด้วยลม เลยตั้งคำถามว่าต้นไม้รู้จักวันฝนตกมั้ย จึงเริ่มเก็บข้อมูล” อาจารย์นพพรกล่าว

จากการเก็บข้อมูลกว่า 10 ปีนำมาสู่ข้อสรุปว่า ต้นไม้สามารถรับรู้มวลอากาศล่วงหน้าได้ แล้ววางแผนออกดอกเพื่อให้ผลแก่จัดและร่วงจากต้นพอดิบพอดีกับวันฝนตก น้ำหลาก หรือพายุลมแรง ดังนั้นหากอยากรู้ว่าฝนจะตกมากหรือน้อย หรือมีพายุฝนเมื่อใด ก็สามารถดูจากได้ช่วงออกดอกจนถึงผลแก่จัดของต้นไม้ หากต้นไม้รู้ในโอกาสต่อมาว่าฝนจะไม่ตก ต้นไม้จะไม่ทิ้งดอกหรือผลไปโดยไม่ให้มีผลแก่บนต้น

การออกดอกและการแก่ของผลและเมล็ดต้นไม้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการวางแผนการดำรงเผ่าพันธุ์ล่วงหน้าของต้นไม้ต้นนั้นๆ !!

ยางนา ยางเหียง ยางกราด เป็นกลุ่มที่ใช้เวลาจากวันที่ดอกร่วงพรู (เกิน 50%) จนถึงวันผลร่วงรวม 90 วัน และบวกลบ 5 วัน เนื่องจากต้นไม้ต้นเดียวกันดอกร่วงไม่พร้อมกัน ส่วนพะยอม เต็ง รัง พลวง และกระบากมีช่วงวันดอกร่วงพรูถึงวันผลแก่จัด 60 วัน บวกลบ 5 วัน เช่น จากการคำนวณจากต้นยางเหียงในหมู่บ้านสีฐานเหนือ ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่าฝนจะตกในวันที่ “นับจากวันนี้ถึง 5 เมษายน ตะวันออก กลาง อีสาน และเหนือบางส่วน ให้ระวังพายุให้ดี ยางนา ตะเคียนทอง กระบาก กราด เหียงเริ่มแก่เยอะมาก โปรดระวัง” อาจารย์นพพรออกคำเตือนในเฟสบุ๊คส่วนตัว Nopporn  Nontapa เมื่อวันที่ 18 มีนาคม

“ยางนาเป็นเจ้าแห่งลมและฝนเพราะต้องใช้ลมพัดพาเมล็ดไปตกที่ไกลๆ และผลต้องงอกภาย 3 วัน หรือหากโดนแดด 3 วันผลยางนาจะเสีย ต้นยางนาจึงเป็นต้นไม้พยากรณ์พายุฝนที่แม่นยำที่สุด ในวันที่ในตกอาจไม่มีเมล็ดต้นไม้วงศ์ยางนาแก่ก็ได้ แต่หากเมล็ดไม้วงศ์ยางนาแก่จะมีพายุลมฝนเสมอ” อาจารย์นพพรกล่าว

ถ้าจะดูเรื่อง Climate Change หรืออากาศแปรปรวนให้ดูต้นยางเหียง เพราะจับผลได้แม่นและไกลถึงอ่าวตังเกี๋ย ปกติต้นยางเหียงที่ขอนแก่นออกดอกเดือนพฤศจิกายน ผลแก่ระหว่างมีนาคมถึงเมษายน แต่ช่วงปี 2558-2561 ต้นยางเหียงที่ขอนแก่นออกดอกช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม และผลแก่ช่วงพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว ดังนั้นจึงเกิดภาวะฝนตกหนักและน้ำท่วมนอกฤดู ตามเส้นทางจากแหล่งกำเนิดฝนถึงต้นยางเหียงที่ใช้พยากรณ์ คือในภาคใต้ ตะวันออก ภาคกลางและภาคอีสาน บางพื้นที่น้ำท่วมรุนแรงกว่าฤดูในปกติเสียอีก

ขณะที่ต้นยางนาบ่งบอกว่าปริมาณน้ำจะมากกว่าปกติ หรือภาวะเอลนีโญ ต้นเต็งเป็นต้นไม้ที่บอกภาวะลานิญา หรือภาวะแห้งแล้งได้ ต้นเต็งอยู่ในเขตป่าแล้ง หากเมล็ดได้รับความชื้นมากเกินไป เช่น เกิน 1 วันจะเกิดเชื้อราไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ ดังนั้นหากเห็นต้นเต็งออกดอกหมายถึงฤดูแล้งจะมาเยือน

“หลักนี้เป็นหลักการวิทยาศาสตร์ปฐมภูมิที่อาศัยการคำนวณช่วงอายุดอกจนผลแก่ มีความแม่นยำสูง แตกต่างจากการคาดการณ์แบบภูมิปัญญาชาวบ้านว่าเห็นมดขนไข่ฝนจะตก ซึ่งฝนอาจจะตกหรือไม่ตกก็ได้” อาจารย์นพพรย้ำ

ยิ่งต้นไม้มีอายุมากเท่าไรการพยากรณ์อากาศจะแม่นยำมากขึ้น  เช่น ต้นยางนาอายุ 50 ขึ้นไป และยิ่งมีต้นไม้ชนิดเดียวกันและต้นไม้ต่างชนิดกระจายในพื้นที่ จะยิ่งทำให้เกิดความเชื่อมโยงและสามารถพยากรณ์อากาศได้แม่นยำมายิ่งขึ้น ชนิดที่ไม่แพ้การพยากรณ์อากาศที่ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมมูลค่านับร้อยล้าน

นี้เป็นอีกหนึ่งประโยชน์ของต้นไม้ใหญ่และเป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมเราต้องอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่
การรู้สภาพอากาศล่วงหน้านาน 2-3 เดือนมีประโยชน์อย่างยิ่งในการวางแผนด้านการเกษตรและการดำเนินชีวิตประจำวันดังคำเตือนติดอารมณ์ขันของอาจารย์นพพรว่า “โปรดระวังหลังคาและปลาแห้ง” และสำหรับนักปลูกป่าอย่างอาจารย์นพพร เขาใช้ต้นไม้คำนวณวันเมล็ดแก่และหล่นจากต้นไม้ เพื่อไปเก็บผลมาเพาะโดยไม่ต้องเสียเวลาเข้าป่าบ่อยๆ

“หากมีการพยากรณ์ฝนตกในภาคอีสาน จะมีฝนตกที่เขาอ่างฤาไน นำไปสู่การยกเลิการทำแนวกันไฟในปีนี้ แต่เสริมเกลือและแร่ธาตุในโป่งตามธรรมชาติให้สัตว์ป่าแทน” เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนรายหนึ่งบอกถึงประโยชน์ของต้นไม้พยากรณ์ที่เผยแพร่ในเฟสบุคอาจารย์นพพร

คนกรุงเทพหรือคนเมืองที่ไม่มีต้นไม้วงศ์ยางนาให้ดูวันดอกร่วงพรู ก็สามารถคำนวณวันพายุฝนได้ผ่านต้นไม้ป่าที่ถูกนำมาปลูกในเมืองอย่างต้นพะยอม เมื่อใดเห็นดอกพะยอมสีเหลืองร่วงพรูให้นับไปอีก 60 วัน และจดลงปฏิทินให้เตือนล่วงหน้าหนึ่งวันว่าอย่าเพิ่งนำรถไปล้าง

ขอปิดท้ายด้วยพยากรณ์อากาศประจำปีนี้ ที่อาจารย์นพพรโฟสต์ไว้ในเฟสบุคส่วนตัวเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์เพื่อให้คนไทยประเทศเตรียมรับมือ

“ภาวะอากาศแปรปรวน (Climate Change) เล่นงานเมืองไทยแล้ว ยางนา มะม่วงป่า ฝีหมอบ เจ้าแห่งปริมาณน้ำออกดอกปีเดียวกับเต็ง เจ้าแห่งความแล้ง ขอทำนายจากต้นไม้สองกลุ่มนี้ว่า มีนา-พฤษภาคม น้ำจะมาพร้อมพายุ มิถุนายนถึงสิงหาคม ฝนจะแล้ง กันยาถึงมกราคมน้ำจะท่วม เท่าที่ผมเก็บข้อมูลการสื่อสารของต้นไม้มา 12 ปี ยังไม่เคยพลาดเลย”

เขายังกำชับกับผู้เขียนว่า “ปีนี้ปริมาณน้ำจะมาก น้องๆ ปีน้ำท่วมใหญ่ปี 2554” !!!

โปรดรอดูผลลัพธ์เปรียบเทียบกับคำพยากรณ์ที่ระบุไว้ที่ประโยคแรกของบทความชิ้นนี้นะคะ

หมายเหตุ: ติดตามการพยากรณ์อากาศผ่านต้นไม้ได้ที่เฟสบุ๊ค Nopporn Nontapa


ภาพจากเฟสบุ๊ค Nopporn Nontapa

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

คุยประเด็นสิ่งแวดล้อมกับอดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

Email

Share