in on March 10, 2016

จากทีเร็กซ์สู่นกกินปลี: สุดยอดการปรับตัวเพื่ออยู่รอด

read |

Views

ในฉากจบของจูราสสิคพาร์คภาคแรก แซม นีล ผู้เล่นบทนำเป็น ดร.อลัน กรานท์ หนีทีเร็กซ์และแรพเตอร์มาขึ้นเรือบินได้ เขาเอนหลังถอนหายใจบนที่นั่ง หันหน้าออกไปมองนอกหน้าต่าง พิจารณาดูนกกระทุงขยับปีกบิน ทิ้งให้คนดูพินิจคำนึงตามเขา..

ไดโนเสาร์วิวัฒนาการกลายเป็นนกได้อย่างไร?

มันเหลือเชื่อน่าอัศจรรย์ที่จะคิดว่าสายพันธุ์ไดโนเสาร์เดินสองขากลุ่มเดียวกันกับทีเร็กซ์ สัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่เทอะทะที่สุดที่โลกเคยมี จะวิวัฒนาการกลายเป็นนกกินปลีตัวจิ๋วขนาดเท่าแมลงภู่ กระพือปีกรัวๆ กินน้ำหวานดอกไม้ในปัจจุบันscreen-shot-2559-03-07-at-4-57-50-pm

แต่เมื่อหันมาดูนกบางชนิด อาทิ ไก่ชน ไก่งวง นกกระจอกเทศ เปรียบเทียบกับเวโลซีแรพเตอร์ วิ่งสองขาล่าเหยื่อ กระโดดหยองแหยงว่องไว มันก็ไม่รู้สึกห่างไกลกันเท่าไหร่ มันมีลักษณะอะไรละม้ายคล้ายคลึงกันอยู่

ในช่วงที่จูราสสิคพาร์คภาคแรกออกฉายเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ความคิดว่าไดโนเสาร์วิวัฒนาการเป็นนกยังเป็นเพียงทฤษฏีที่มีเหตุผลดีทางวิทยาศาสตร์ คือเรารู้จักฟอซซิลบรรพบุรุษนก อาร์คีออพเทอริกซ์ (ซึ่งเด็กรุ่นผู้เขียนจะจำชื่อได้แม่นมาก) แต่เรารู้จักโคตรปู่ทวดมันที่สัมพันธ์โดยตรงกับไดโนเสาร์ไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม หลังจากจูราสสิคพาร์คภาคแรก เราขุดพบหลักฐานฟอซซิลรอยต่อวิวัฒนาการเพิ่มขึ้นอีกมากมาย ส่วนใหญ่จากประเทศจีน จนอาจถือได้ว่ามันไม่ได้เป็นแค่ทฤษฏีอีกต่อไป แต่น่าจะยอมรับได้ว่าพิสูจน์เป็นความจริง

ฟอซซิลที่พบเป็นไดโนเสาร์หลายชนิดที่ยังมีขนนกติดอยู่ด้วย ไม่ได้ย่อยสลายไปเหลือแต่กระดูก มีตั้งแต่ขนนกอ่อนๆ จนถึงขนนกที่มีก้านกลางเป็นหลอดแบบที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน แถมตัวหนึ่งมีขนนกที่ยังรักษาสีดำมันเงาวาวดั่งอีกาไว้ได้ หน้าก็คล้ายอีกา ขนาดเท่าไก่ฟ้า มีปีกพัฒนาดี แต่เล็บนิ้วขาหน้ายังคงอยู่ ขาหลังก็มีปีก แต่เล็กกว่าปีกหน้า และมีหางเรียวยาวพร้อมขนหางตรงปลาย ดูเผินๆคล้ายนกแซงแซวหางบ่วง มันได้ชื่อว่าไมโครแร็พเตอร์

(สมัยที่ผู้เขียนเป็นนักศึกษาโบราณคดีปี 1 เคยช็อคมาแล้วกับความเป็นไปได้ในการรักษาหลักฐานทางชีวภาพในสภาพแวดล้อมบางแห่ง แม้แต่กับสิ่งที่ร่างกายปลดปล่อยออกมาให้ย่อยสลาย เช่น อึบางก้อนยังมีปลายงอนแหลมคงรูปแบบที่เพิ่งออกมาจากรูก้น ทำให้เราได้รู้ว่าคนทะเลทรายในยุคนั้นเขากินอะไรกัน จึงไม่ได้แปลกใจนักที่เราเจอขนนกไดโนเสาร์)

เมื่อนักวิทยาศาสตร์เอาหลักฐานต่างๆ มาเรียงกันตามลำดับเสมือนช่องการ์ตูนภาพนิ่ง ประกอบด้วยไดโนเสาร์ 120 ชนิด เรื่องราวต่างๆ ก็คลี่คลายออกมา

ทำให้เราพอจะมองเห็นว่าปัจจัยความสำเร็จในกระบวนการวิวัฒนาการของมันคืออะไร

ลักษณะของความเป็นนกพัฒนาขึ้นมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยที่การปรับตัวทุกขั้นตอนให้ประโยชน์อะไรบางอย่างแก่วิถีชีวิตที่เริ่มแหวกแนวออกไป เริ่มจากการวิ่งสองขา ควบคู่ไปกับการปรับกระดูกเชิงกรานที่เกื้อหนุนการเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนไป มีกระดูกกลวงตัวเบาคล่องแคล่ว และมีขนนก จากขนอ่อนไปสู่รูปแบบที่ซับซ้อนขึ้นมีก้านหลอดขน (quill)

ขนนกมีประโยชน์หลายอย่าง มันไม่ได้มีฟังชั่นแค่เป็นปีก ขนนกมีอะไรเหนือชั้นเกล็ดหรือผืนหนังเปล่าๆ อยู่หลายประการ มันช่วยควบคุมอุณหภูมิร่างกายของสัตว์เลือดอุ่นที่มีเมตาบอลึซึมสูงได้ดีพองขึ้นมาก็ทำให้ดูตัวใหญ่น่าเกรงขาม คลี่กางพับบิดขยับ แปลงกายเป็นรูปร่างต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันเราเห็นนกหลายชนิดใช้ในการข่มขู่ศัตรูหรือเกี้ยวพาราสี

ปีกแรกๆ ที่ปรากฎเป็นแผงปีกขนาดเล็ก ซึ่งแต่ก่อนผู้วิจารณ์ทฤษฎีไดโนเสาร์กลายเป็นนกหลายคนเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะมองไม่เห็นประโยชน์ของปีกครึ่งๆ กลางๆ จนคิดว่าธรรมชาติไม่น่าจะคัดเลือกลักษณะนี้ให้สืบทอดต่อกันมาจนกลายเป็นปีกบินได้ แต่ตอนนี้ฟอซซิลมันก็แสดงออกมาชัดแล้วถ้าพิจารณานกวิ่งเร็วที่บินไม่ได้ในปัจจุบันอย่างนกกระจอกเทศ เราก็อาจพอมองเห็นประโยชน์ของแผงปีกสั้นๆ ได้บ้าง มันช่วยในการทรงตัวเวลาที่วิ่งเลี้ยวหักมุมเร็วๆ และอาจมีการใช้งานอื่นๆ ผสมผสานอยู่ด้วย เช่น การแปลงกายที่ได้เล่าไปแล้ว

นอกจากแผงปีกตามแขน ไดโนเสาร์บางชนิดยังพัฒนาแผงปีกทั้งตามแขนและขา เป็นสัตว์สี่ปีกเหมาะแก่การร่อนลงจากกิ่งไม้ และสุดท้ายคือปีกแขนบินได้ที่พัฒนาเต็มที่

ลักษณะสำคัญอีกอย่างคือการพัฒนา wishbone ซึ่งเป็นกระดูกหน้าอกเอกลักษณ์ของนก แปลไทยได้ว่ากระดูกแห่งอธิษฐานหรือกระดูกแห่งความหวังมันเป็นกระดูกไหปลาร้าที่หัวกระดูกเข้ามาเชื่อมหลอมติดกันกับชิ้นกระดูกกลางอก (sternum) เป็นโครงสร้างที่สำคัญมาก เพราะเป็นตัวช่วยให้หน้าอกนกแข็งแรง รองรับการกางปีกบินได้

ที่โดดเด่นมากคือ ตลอดขั้นตอนการพัฒนาลักษณะต่างๆ สู่ความเป็นนก ไดโนเสาร์สาแหรกนี้ลดขนาดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ไดโนเสาร์สาแหรกอื่นมีขนาดใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ บ้าง หรือใหญ่ขึ้นลดลงโตไปอีก ไม่แน่ไม่นอน ไม่มีทิศทางขนาดชัดเจน

เทรนด์การลดขนาดของมันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาเพียง 50 ล้านกว่าปีสู่การเป็นนก คือจากไดโนเสาร์กินเนื้อเดินสองขาน้ำหนัก 160 กว่ากิโลเมื่อ 200 ล้านปีก่อน สู่นกโบราณอาร์คีออพเทอริกซ์ขนาดเท่านกพิราบหนักน้อยกว่า 1 กิโล เมื่อ 150 ล้านปีก่อน

อันนี้ไม่ได้หมายความว่ามันมีวิวัฒนาการเป็นเส้นตรง จากตัว A ไปสู่ B สู่ C แต่มันเป็นเทรนด์หลักของสาแหรก ที่อาจมีแตกแขนงแยกซอยไปเป็นไมโครแร็พเตอร์นักร่อนสี่ปีก ซึ่งสูญพันธุ์ไปทางซอยตันจากเทรนด์สายหลักของวิวัฒนาการนก ในขณะที่พัฒนาการแยกอื่นไปได้ไกลกว่า

การวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว บ่งบอกว่ามันจะต้องมีแรงขับเคลื่อนอะไรบางอย่างในสังคมธรรมชาติยุคนั้นที่บีบเค้นแรงเอาการ คัดเลือกไปสู่ทางออก หลายคนคาดว่าเป็นการหนีผู้ล่าตัวใหญ่ขึ้นต้นไม้จากนักวิ่งหักมุมเฟี้ยวฟ้าว สู่นักปีนตะกาย สู่ปีนแล้วร่อน ไปจนถึงบินได้ ในทุกขั้นตอน ไดโนเสาร์พวกนี้เปิดพื้นที่ชีวิตใหม่ๆ ที่ยังไม่มีใครเข้าครอบครองมาก่อน เวิร์คดีก็แตกแขนงออกไป จนถึงบินได้ โลกใหม่ของชีวิตนกก็เปิดประตูออก กลายเป็นเจ้าเวหาครองอากาศ พร้อมกับตาใหญ่ขึ้นมองเห็นภาพสามมิติได้ดี

เมื่ออุกาบาตยักษ์พุ่งชนโลก 65 ล้านปีก่อน กระตุ้นให้เกิดภูเขาไฟปะทุระเบิดมากมาย ส่งฝุ่นปริมาณมหาศาลไปยังชั้นบรรยากาศ บดบังแสงแดด ส่งผลให้โลกมืดมนเป็นเวลานาน พืชตายมากมายเพราะสังเคราะห์แสงไม่ได้ ไดโนเสาร์ขนาดใหญ่กินเยอะหาที่กำบังได้ยากต้องสูญพันธุ์ไป

แต่นกตัวเล็กๆ พวกนี้สามารถเอาชีวิตรอด มันคล่องตัวกว่า เรียกร้องทรัพยากรน้อยกว่า ปรับตัวได้ในสภาพแร้นแค้น เมื่อฟ้าใสโลกเปิดอีกครั้ง พวกมันก็เบ่งบาน

นกกระจอกจึงเป็นญาติทีเร็กซ์ที่รอดชีวิตมา มันคือไดโนเสาร์เทอะทะที่ปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

ถ้าคนตัวเล็กสร้างสรรค์หาช่องทางแปลกใหม่ได้ในยามวิบาก พัฒนา wishbone กระดูกแห่งความหวัง ส่งเสริมหน้าอกหน้าใจให้เข้มแข็งอดทนได้นานพอ เขาจะเป็นชีวิตกางปีกบินได้ในโลกยุคใหม่แห่งอิสรภาพ

ส่วนไดโนเสาร์ก็ต้องสูญพันธุ์ไป แม้ว่าจะครองโลกมายาวนานถึง 165 ล้านปี

อ้างอิง
  1. ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, มีนาคม 2559
สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share