in on April 9, 2017

สะพานที่ซ่อมไม่ได้

read |

Views

และโครงข่ายเส้นทางจักรยานที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าเวิร์คสุด ได้แก่ เส้นทางเลียบโครงข่ายระบบคลอง

คลองหลายสายมีทางเลียบให้เดินและปั่นจักรยานสวนกันได้อยู่แล้ว เช่น คลองแสนแสบ แต่มีท่อระบายน้ำเป็นอุปสรรคขวางเป็นช่วงๆ ซึ่งก็ต้องมีสะพานให้ข้าม ปัญหาคือสะพานหลายอันแคบกว่าทางเลียบ ถ้าปั่นจักรยานมาก็ต้องแบกจักรยานเดินขึ้นบันไดสะพาน นอกจากจะไม่สะดวก ยังอันตราย มีโอกาสเสียหลักตกคลองได้ไม่ยาก

มันไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แค่เราแก้ไขปรับปรุงสะพานเหล่านี้นิดหน่อย ทำให้กว้างเท่าทางเดินปกติและมีทางลาดเข็นจักรยานก็ใช้ได้แล้ว

จึงไม่แปลกว่าเมื่อมูลนิธิโลกสีเขียวเปิดตัวแอพพลิเคชั่นมือถือ “ปั่นเมือง” เป็นเครื่องมือให้พลเมืองผู้ใช้จักรยานแบ่งปันข้อมูลการใช้จักรยานในเมืองและรายงานอุปสรรคในการสัญจรแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานส่วนหนึ่งจึงเป็นเรื่องของสะพานเดินข้ามท่อระบายน้ำริมคลองแสนแสบช่วงสุเหร่าบ้านดอน (สถานีสูบน้ำพร้อมศรี 2) ในละแวกซอยทองหล่อ-พร้อมพงศ์ โดยระบุว่ามันแคบ เอียง ชัน และผุชำรุด ทางทีมปั่นเมืองจึงได้ประสานกับกทม.

เมื่อสำนักการระบายน้ำได้รับเรื่อง ก็ส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบในเดือนพฤศจิกายน 2559 พบการชำรุดจริงตามแจ้ง แต่ยังไม่สามารถซ่อมแซมได้ด้วยขาดงบประมาณ

ทางทีมปั่นเมืองคาดคะเนเบื้องต้นว่าไม่น่าจะต้องใช้งบฯ มากนัก มองว่าเราน่าจะระดมทุนได้เองจากเครือข่ายประชาชน จึงสอบถามความเป็นไปได้ในการขออนุญาตซ่อมแซมปรับปรุงสะพานเอง

และในวันที่ 14 ธันวาคม 2559 สำนักการระบายน้ำก็อนุญาตให้เราเข้าซ่อมแซมได้ แต่ขอให้ส่งแบบรายละเอียดการปรับปรุงตามหลักวิศวกรรมโครงสร้างให้ชัดเจน เพื่อความมั่นใจว่ามั่นคงแข็งแรง

ทางทีมปั่นเมืองจึงประกาศหาวิศวกรอาสาทางเฟซบุ๊คผ่านเพจปั่นเมือง ได้วิศวกรอาสาผู้ใช้จักรยานมาลงพื้นที่สำรวจ และพูดคุยแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านบางส่วนในพื้นที่ โดยทางวิศวกรอาสาเสนอให้มีการซ่อมแซมชั่วคราวก่อนเพราะพบว่าพื้นสะพานผุมาก เสี่ยงต่อการถล่ม ซึ่งชาวบ้านก็เห็นด้วย จึงมีการปูไม้อัดหนา 10 มม.เป็นมาตรการซ่อมแซมชั่วคราวกันก่อนปิดปีใหม่

แต่แล้ววิศวกรอาสาได้ลาบวช ผู้เขียนทราบเรื่องจากทีมงาน จึงติดต่อพี่ชายตัวเอง นายระดับ กาญจนะวณิชย์ วิศวกรที่ปรึกษาจากบริษัท RKV ให้ช่วยรับเป็นวิศวกรอาสาของโครงการ คุณระดับก็ลงสำรวจและพบว่าไม่เพียงแต่พื้นสะพานเหล็กที่ชำรุด แต่ตัวโครงสร้างสะพานเองก็ผุชำรุดด้วย ต้องซ่อมแซมทั้งสะพาน พูดง่ายๆ ว่าควรรื้อของเก่าออกแล้วทำใหม่ทั้งหมด เพื่อความปลอดภัย

เราประสานกลับไปยังสำนักการระบายน้ำ ได้รับคำแนะนำว่าให้ยื่นขอซ่อมแซม ไม่ใช่สร้างใหม่ เพื่อไม่ให้การดำเนินการยุ่งยากหลายขั้นตอน คุณระดับก็ทำแบบให้สอดรับกับแบบสะพานเดิมของสำนักฯ โดยซ่อมแซมส่วนที่ผุพังทั้งยวงพร้อมปรับปรุงให้สามารถเข็นจักรยานข้ามได้สะดวก

แบบเสร็จ พร้อมยื่นขออนุมัติ แต่ทางสำนักการระบายน้ำก็บอกว่าต้องมีรายชื่อชาวชุมชนและประชาชนผู้สัญจรสนับสนุนการซ่อมแซมประกอบด้วย ทางทีมงานก็ลงไปคุยกับชาวบ้านอีกครั้งพร้อมแบบละเอียด ได้ชื่อผู้สนับสนุนทั้งสิ้น 228 คน ซึ่งชาวบ้านประเมินว่าน่าจะคิดได้คร่าวๆ เป็นร้อยละ 80 ของผู้สัญจรขาประจำ และยังเสนอให้เพิ่มเติมมาตรการกั้นรถมอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพานอีกด้วย

ระหว่างนี้ คุณระดับ วิศวกรอาสาของเรา ก็โพสต์เรื่องผ่านเฟซบุ๊ค บอกเล่าเรื่องราวเพื่อหยั่งเสียงเพื่อนฝูงที่อาจอยากลงขันซ่อมสะพานสาธารณะ ปรากฎว่ามีผู้คนประสงค์จะช่วยเหลือกันจำนวนไม่น้อย พร้อมเมื่อไหร่ให้บอก

วันที่ 7 มีนาคม 2560 เราจึงยื่นแบบและรายชื่อผู้สนับสนุนเพื่อขออนุมัติอย่างเป็นทางการ

ทางเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำแจ้งว่าต้องให้ทางผู้ใหญ่พิจารณาอนุมัติอีกครั้ง

เวลาผ่านไปหนึ่งเดือน เราประสานตามเรื่อง ก็ได้รับทราบว่าทางผู้ใหญ่ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ที่จะออกหนังสืออนุมัติอย่างเป็นทางการ แต่ถ้าหากเราจะดำเนินการซ่อมแซมเองก็จะส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยดูแลให้ได้รับความสะดวก

ท่านไม่กล้าออกหนังสืออนุมัติ แล้วประชาชนคนไหนจะกล้าไประดมทุนชาวเมืองมาซ่อมสะพานเองล่ะคะ เพราะมันจะมีสถานะเป็นสะพานเถื่อน แทนที่จะเป็นสะพานของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน

เป็นพลเมืองตื่นตัวมันไม่ง่ายเลย เรามีปัญหา ทางการไม่มีงบแก้ปัญหา ทั้งๆ ที่เราจ่ายภาษี แต่เราก็พยายามหาทางช่วยเหลือกันเอง หาทั้งผู้เชี่ยวชาญอาชีพวิศวกร หาทั้งทุน ลงขันกันเอง หาทั้งเสียงสนับสนุนทางสังคม

หามาหมดทุกอย่าง แต่เราก็ยังทำไม่ได้

พยายามมองจากมุมของราชการ เป็นไปได้ว่าที่เขาให้อนุญาตเราซ่อมแซมสะพานในเบื้องต้น เพราะทุกคน–ทั้งเขาและเรา คาดว่าเป็นงานปรับปรุงซ่อมแซมเล็กน้อย แต่เมื่อวิศวกรลงมาตรวจสอบจริง กลับพบว่าต้องซ่อมแซมทั้งสะพาน ก็กลายเป็นงานซ่อมแซมใหญ่ขึ้นมา

แล้วทางออกคืออะไรล่ะ?

คิดกันเองตามลำพังไม่ออกแล้ว จึงต้องเขียนเล่าสู่กันฟังในสังคมวงกว้างขึ้น เผื่อใครจะมีไอเดียและความสามารถ เพราะทีมเรามาถึงทางตัน

เราไม่ได้ต้องการทางจักรยานขนาดใหญ่ราคากิโลละพันล้านบาทเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เราแค่ต้องการปรับปรุงเส้นทางเดิน/ปั่นเลียบคลองได้สะดวกสะพานละสี่แสนบาท ราคาสะพานเราค่อนข้างแพงเพราะรถก่อสร้างเข้าถึงไม่ได้ คนงานต้องเดินขนของเข้ามา แต่ก็ใช้งบน้อยกว่าถึง 2,500 เท่า

นี่คือทางเดินทางปั่นที่ประชาชนใช้จริง

กรุงเทพธุรกิจ, เมษายน 2560

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share