in on December 4, 2019

กลัวฝังใจ แต่ต้องเข้าใจ

read |

Views

เมื่อตอนเด็กๆ ผู้เขียนคิดว่าตุ๊กแกเป็นสัตว์ที่ทั้งน่ากลัวและน่าเกลียด ความน่ากลัวบ่มเพาะมาจากตอนเด็กๆ ที่เชื่อว่าถ้าไม่นอนตอนกลางวันแล้วตุ๊กแกจะออกมากินตับ ซึ่งถ้าจริงอย่างที่ขู่ ก็น่าจะโดนกินตับตั้งแต่ตอนนอนนิ่งๆ นั่นมากกว่า บวกกับความหลอกหลอนของละครไทยที่เกี่ยวข้องกับผีๆ เรื่องไหนเรื่องนั้น

ถ้ามีฉากตุ๊กแกเกาะกำแพงหรือส่งเสียง เป็นอันรู้กันว่าเดี๋ยวผีจะมา ส่วนความน่าเกลียดของตุ๊กแก ก็น่าจะมาจากกการที่ไม่กล้ามองมันอย่างจริงจังเพราะความกลัว เลยยิ่งมโนไปได้อีกว่ามันน่าเกลียดมากกว่าตัวจริง สีฟ้าเรื่อๆ ผสมลายจุดน้ำตาล ถ้าเอาไปพิมพ์ลงบนผ้า คงเป็นลายสวยไม่น้อยเลยทีเดียว

ความกลัวมาทุเลาลงก็เมื่อตอนโตมาแล้ว มาคิดได้ว่าเราตัวใหญ่กว่าตุ๊กแกตั้งเยอะ คงไม่มีทางจะปล่อยให้มากินตับกันได้ง่ายๆ และความเกลียดก็ทุเลาลงเมื่อมาเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกับตุ๊กแกเมื่อครั้งไปเที่ยวเวียดนามยี่สิบที่แล้ว เพราะไปเห็นว่า ที่เกาะแคตบาในอ่าวฮาลอง เขาเอาตุ๊กแกมาตากแห้งมัดขายเป็นกองๆ พอมันแห้งๆ แล้วก็ดูไม่ต่างอะไรกับกองม้าน้ำตากแห้งข้างๆ กัน ซึ่งพอเห็นปุ๊บก็เลือดขึ้นหน้าปั๊บ มาฉุกใจคิดว่าทำไมจึงรู้สึกเสียใจและเป็นเดือดเป็นแค้นที่เห็นเขาจับม้าน้ำมาทำยาบำรุงกำลังได้ขนาดนั้น แล้วตุ๊กแกล่ะ ชะตากรรมก็ช่างไม่ต่างกันเลย จากนั้นมา ก็เลยเลิกเกลียดหรือกลัว

ตอนนี้อยู่เมืองไทย มีบ้านกลางป่ากลางดงที่มีตุ๊กแกเป็นสัตว์ประจำบ้านชนิดหนึ่ง ไม่ต่างอะไรไปกับที่มีแมวและอึ่งอ่าง เพียงแต่สามชนิดนี้ไม่ปรองดองกันมากนัก ดูไปแล้วก็คล้ายๆ กับการ์ตูนทอมแอนด์เจอรรี่และเจ้าหมาบุช เพียงแต่สลับบทบาทนิดหน่อย

ตุ๊กแกตัวใหญ่ จึงต้องกินอาหารชิ้นใหญ่ๆ เช่น แมงมันที่กรูกันออกมาตอนต้นฤดูฝนของเดือนพฤษภาคม เพราะน้ำฝนไหลลงไปท่วมรังในดิน ทำให้ลูกแมงมันบินออกมาเล่นกับแสงไฟและกลายเป็นอาหารให้แก่ตุ๊กแกหลายสิบตัว ที่รอจังหวะดักกินอาหารโอชะนี้ปีละหน จัดว่าเป็นบุฟเฟต์ธรรมชาติที่เอิกเกริกมาก ส่วนฤดูกาลอื่นๆ อาหารของตุ๊กแกก็มีทั้งแมลงอื่นๆตามแต่จะหาได้ จิ้งจก รวมทั้งกบและอึ่งอ่างที่หลงเข้ามาใกล้ๆ รัศมี

อึ่งอ่างที่มาขออาศัยอยู่ในบ้าน มีชีวิตคล้ายๆ เจ้าหนูเจอร์รี่ มีวิธีเคลื่อนไหวลับๆล่อๆ แฝงกายตามซอกมุมต่างๆ แบบนินจา ผสมผสานกับการเขย่งเท้าเดินถอยหลังคล้ายๆ ลีลาการเต้นของไมเคิลแจ๊คสัน เพื่อหลบให้รอดพ้นจากตุ๊กแกที่เล่นบทแมวทอม เพราะแม้ว่าจะเกาะอยู่ตามคานตามขื่อเป็นส่วนใหญ่ แต่หากว่าต้องการจะลงมา พวกเขาจะเคลื่อนที่ได้ว่องไวมาก ปรู๊ดเดียวมาถึงพื้น เล่นเอาผู้เขียนหัวใจจะวายไปหลายหนเพราะไม่ทันตั้งตัวว่าจะเจอกันในระยะประชิด ต่างคนต่างชะงัก แต่ตัวเราใหญ่กว่า ตุ๊กแกแพ้เลยมุดหายเข้าไปตามซอกฝาบ้าน เป็นอันว่าผู้เขียนรอดพ้นจากการโดนกินตับ

ส่วนแมวที่บ้านที่มาอยู่ด้วยกันที่บ้านรีสอร์ทนี้เป็นบางช่วง ทำหน้าที่คล้ายๆ กับหมา-เดอะบุช ที่ออกมามีบทบาทบางตอนในการ์ตูนทอมแอนด์เจอรรี่เท่านั้น เพราะเมื่อนางแมวบ้านมาถึง นางจะปีนป่ายตามกลิ่นตุ๊กแกไปจนถึงขื่อถึงคาน ถ้าตัวไหนโชคร้าย ก็จะโดนตะปปหางกุดไปบ้าง ประกาศให้รู้ว่าแผ่นดินนี้ใครจอง แม้ว่าผู้เขียน จะไม่ได้หลงรักแมวของลูกมากจนถึงกับเป็นทาสแมว ก็มารู้สึกเอาตอนที่ย้ายมาอยู่ที่นี่เองว่าเราเป็นเพื่อนกันตลอดไปก็ได้ อุ่นใจที่นางมาอยู่ด้วย แต่พอนางกลับไปอยู่บ้านในเมือง ตุ๊กแกก็พากันกลับมาอยู่ที่บ้านป่าเหมือนเดิม ราวกับทอมกับเจอรรี่ที่คงเล่นไล่จับกันต่อไป

ความกลัวเกี่ยวกับสัตว์ที่เราไม่เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของพวกมัน ถือเป็นเรื่องปกติที่ควรจะต้องเปลี่ยนให้เป็นเรื่องไม่ปกติ เพราะเมื่อไม่เข้าใจลักษณะการหากิน ชีววิทยาเบื้องต้น เราก็มักจะกระทำราวกับสัตว์เหล่านั้นเป็นผู้บุกรุกหรือสร้างความรำคาญ ผู้เขียนอธิบายให้แขกที่มาพักเข้าใจอยู่เสมอๆ ว่า เราต่างหาก ที่เป็นผู้บุกรุกบ้านและถิ่นอาศัยของสัตว์เหล่านั้น ส่วนมาก แขกก็จะเข้าใจและยอมรับการมาพักในป่าร่วมกับสิ่งมีชีวิตแห่งป่าเหล่านั้นโดยดี

แต่ที่แน่ๆ ที่ทำได้ง่ายที่สุดและต้องรีบที่สุด คือการเลิกขู่ให้เด็กกลัวสัตว์ต่างๆ โดยใช้คำกล่าวอ้างที่ไม่เป็นจริง แถมเด็กสมัยนี้ ถ้าหลอกว่าตุ๊กแกจะมากินตับหากไม่ยอมนอนก็คงจะไม่ได้ผลดีเท่ากับบอกไปตรงๆ ว่าจะไม่ให้เล่นโทรศัพท์ ถ้าไม่ยอมนอน…

 

 

 

ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share