in on April 30, 2020

ชมวิว หรือเช็คอิน

read |

Views

ตั้งแต่ย้ายมาทำงานด้านการท่องเที่ยว ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจวิถีการเที่ยวและวิธีการจัดสถานที่เพื่อต้อนรับผู้มาเยือนทั้งไทยและต่างชาติของพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น อย่างเช่นพื้นที่ทำงานของผู้เขียน นับเป็นจุดเล็กๆ ที่กว่า 99% เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาพักและเที่ยวกึ่งผจญภัยกับป่าเขาลำเนาไพรรอบๆ พื้นที่


ภาพจาก: http://www.liekr.com/post_136022.html

ทำให้นึกถึงตอนที่เรียนมหาวิทยาลัย เป็นช่วงที่ได้เดินทางแบบลุยๆ บ่อยที่สุด ที่จำได้มากที่สุดก็คือการไปเที่ยวเขาหลวง จังหวัดสุโขทัย ที่เป็นการรวมกลุ่มเพื่อนและรุ่นพี่ราวๆ สิบคน ไปเที่ยวตามที่ “เขาเล่าให้ฟัง” พวกเราไปซื้อตั๋วที่สถานีรถไฟล่วงหน้าสองสามวัน นั่งรถไฟชั้นสามที่คลับคล้ายคลับคลาว่าเป็นการนอนมากกว่า โดยเอากระดาษหนังสือพิมพ์ปูลงไปที่พื้นคู่กันกับเพื่อนอีกคน เปิดพื้นที่บนเก้าอี้ให้อีกสองคนได้นอนบนเก้าอี้ฝั่งละคน

รถไฟไปถึงพิษณุโลกตอนก่อนรุ่งสาง ลงจากรถไฟแล้วก็ถามทางไปตลาดเพื่อหาซื้อเสบียงสำหรับหุงหากินตอนอยู่บนเขา จนได้เรียนรู้ว่าคนที่นั่นเขาบอกทางกันเป็นทิศ เช่น ไปทางทิศใต้ 300 เมตร แล้วเลี้ยวไปทางทิศตะวันออก พวกเราที่มาจากที่อื่น ยังไม่มีหลักว่าอะไรอยู่ทิศไหน แถมพระอาทิตย์ก็ยังไม่ขึ้น จึงต้องถามทางไปตลอดจนถึงตลาดนั่นเลย พอซื้อของเสร็จ ก็ถามหารถที่จะไปส่งที่เขาหลวง และได้รถสองแถวแบบที่มีหลังคาสูง นั่งปุเลงๆ กันไปถึงเขาหลวงตอนสายๆ

ทริปนั้น ผู้เขียนจำเหตุการณ์เฉพาะเจาะจงไม่ได้มากนัก เพราะรายละเอียดของการตั้งเต๊นท์นอนอาจถูกทับด้วยการไปตั้งเต๊นท์ที่อื่นๆ จำได้แค่ว่า พวกเราต้องตื่นแต่เช้ามืด เพราะนัดกันไว้ว่าจะต้องเดินไปดูพระอาทิตย์ขึ้นตามที่เขาบอกกันมาว่ามันสุดยอด แบบไม่รู้รายละเอียดเส้นทางการเดินมากนัก แต่จำตอนหนึ่งได้แม่นยำว่า คนนำทางบอกว่าให้เก็บมะขามป้อมที่หล่นอยู่ใต้ต้นที่พบระหว่างทางไว้เป็นเสบียง ช่วยให้สดชื่นและดับกระหายได้ดี และคงเป็นเพราะว่าหน้าตาของพวกเราดูสะโหลสะเหลและเหม็นขี้ฟันเอาการ

มาตรฐานในการถ่ายรูปกลุ่มสมัยก่อน มักจะขาดใครคนใดคนหนึ่งในกลุ่มที่เสียสละไปยืนอยู่หลังกล้อง ก็อาจเก็บรูปได้ครบ ถ้ามีก๊วนอื่นอยู่ที่นั่นด้วย ต้องไหว้วานขอยืมมือมาถ่ายรูปกลุ่ม หากโชคดีมีคนรักการถ่ายภาพอยู่ในกลุ่ม ก็จะมีขาตั้งกล้องมาช่วยเก็บภาพทุกคนในรูปหมู่ หลายคนคงมีรูปที่ตาบวมๆ หน้าอืดๆ เพราะนอนไม่พอ และมีพระอาทิตย์เป็นฉากอยู่ข้างหลังติดอยู่ในอัลบั้มภาพเป็นแน่แท้ ภาพที่ถือว่า เป็นสุดยอด คือภาพที่ถ่ายมาแล้วไม่มีนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ หรือสิ่งก่อสร้างใดๆ ตามวิวเหล่านี้ ยกเว้นแต่ป้ายบอกสถานที่ เพื่อให้รู้ว่า มาพิชิตเขานี้ได้แล้ว

ความสะใจในการไปเที่ยวตอนนี้ เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนโขอยู่ ลองนึกถึงตอนตั้งต้นการเดินทางที่เล่ามา แล้วเทียบกับการเดินทางแบบปัจจุบันนี้ซักหน่อย นี่ถ้าหากว่าเรารวมกลุ่มเดิมและชวนกันไปเขาหลวงอีก เราคงเปิดกูเกิ้ลแมพว่าเขาหลวงอยู่ตรงไหน ค้นข้อมูลว่านั่งรถอะไร ต่อรถไปยังไง จองตั๋วรถไฟหรือรถทัวร์กันทางออนไลน์ แวะตลาดตรงไหนได้บ้าง ไม่ต้องพึ่งพาหรือพูดคุยกับคนท้องถิ่นโดยไม่จำเป็น หรือถ้าต้องถามทางแล้วได้คำตอบว่าไปทางทิศตะวันตก 200 เมตร กูเกิ้ลแมพก็คงจะจัดการให้เราเสร็จสรรพ ดีไม่ดี อาจได้คำตอบจากผู้บอกทาง ว่าให้ดูกูเกิ้ลแมพพร้อมบอกชื่อสถานที่ที่สามารถเสิร์ชหาได้ (อันนี้ ประสบการณ์ตรงได้มาจากตอนที่ไปเที่ยวอินเดีย ตอนไปดูวัดแห่งหนึ่งแล้วไปถามคนแถวๆ นั้นว่าวัดนี้ มีความเป็นมาอย่างไร ชายหนุ่มผู้นั้น ตอบว่า Google พร้อมส่ายหัวสองครั้งเป็นเชิงส่งเสริมให้ลงมือปฏิบัติ)

ผลจากการมีเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ทำให้การท่องเที่ยวมีความสะดวกมากขึ้น มีข้อดีมากมายหลายอย่างจริง แต่บางทีมันก็คล้ายเป็นกับดักกลายๆ มีอยู่ครั้งนึงที่คณะทัวร์ที่นี่ต้องเปลี่ยนสถานที่เดินป่า จากจุดชมวิวที่ไต่ผาขึ้นไปบนมุมสูง เป็นเดินป่าทางราบ เพราะฝนตกลงมาจนทำให้ทางลื่นและอันตราย มีนักท่องเที่ยวร้องไห้ฟูมฟายเนื่องจากผิดหวังมาก เพราะจะไม่ได้ขึ้นไปถ่ายรูปจากมุมที่เห็นเขาโพสต์กันทางสื่อโซเชียล อุแม่เจ้า.. ไม่ห่วงชีวิตและความปลอดภัยหรอกหรือ มิน่าล่ะ ข่าวที่มีคนเสียชีวิตจากการดั้นด้นไปหามุมเพื่อโพสต์รูป มันจึงมีให้ได้ยินเนืองๆ

อีกอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่า เป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับผู้จัดทัวร์หรือเจ้าของกิจการที่พัก ก็คือการตอบสนองความคาดหวังของนักท่องเที่ยว บางคนยึดติดกับรูปที่เห็น มีหมอกลอยอ้อยอิ่งเหนือต้นไม้บนยอดเขา พระอาทิตย์ยอนแสงในยามเย็น แต่ถึงเวลาเดินทางจริงๆ ฤดูกาลไม่เอื้ออำนวย ทำให้เกิดความผิดหวัง ลบล้างความสวยงามและประสบการณ์ที่ดีอื่นๆ ไปเสียหมด ราวกับว่าการเดินทางนั้นไม่มีอะไรดีเลย นึกไปถึงสมัยที่เริ่มเดินทางท่องเที่ยวแรกๆ ทุกขณะของการที่ได้เห็นภาพที่แปลกไปจากชีวิตประจำวัน ฟังเสียงของธรรมชาติหรือภาษาแปลกหู ลิ้มลองอาหารตามแต่ที่จะมีของสถานที่ที่ได้ไปเหล่านั้น ผู้เขียนนึกอยู่เสมอว่านั่นคือจุดฟินของเรา (สมัยนั้นยังไม่มีคำนี้ ใช้แต่คำว่าอินกับบรรยากาศ) หากว่าไปถึงแล้วฟ้าปิด เราก็ไปหาดู หาชิมของที่เปิด หากว่าไปถึงแล้วสถานที่กำลังปรับปรุง เราก็ไปดูว่าเขาทำอะไรให้ดีขึ้น หรือไปดูที่ๆ เปิดให้ดูได้ ไม่ต้องไปให้ถึงจุดเช็คอิน ไม่ต้องไปถ่ายรูปกับป้ายขนาดใหญ่ระบุสถานที่ โดยเฉพาะป้ายที่นำไอเดียป้ายฮอลีวู้ดมาใช้ บางป้ายอยู่ผิดที่เป็นอย่างมาก จากที่เคยมองเห็นทิวเขาทั้งทิว ต้นไม้ทั้งป่า ปรากฏว่าทิวเขานั้นเป็นของร้านหรือรีสอร์ทที่เอาชื่อไปปักไว้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเช็คอินเวลาถ่ายรูปได้ ราวกับว่าทิวเขาเหล่านั้นมีเจ้าของ

อีกไม่นาน เราก็จะได้ออกท่องโลกกันอีก หวังว่าจะเป็นการออกไปเที่ยวพร้อมเปิดประสาทสัมผัสทั้งห้า และปิดสวิชท์(โรค)ประสาทอันจะเกิดจากการตั้งความความหวังไว้สูงเกินกว่าธรรมชาติจะให้ได้ และขอให้มีความสุขกับการไปถึงจุดชมวิว เพื่อชื่นชมความงามของสิ่งที่ได้เห็นได้สัมผัส.. อย่าไปมัวพะวงกับจุดเช็คอินนะ

ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share