in on February 24, 2016

ของป่าหรือของขวัญ

read |

Views

สองสามเดือนนี้ ถือว่าเป็นช่วงทดสอบความสามารถของมนุษย์เงินเดือนในการหมุนเงินให้ทันกับค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากเทศกาลต่างๆ

 

โดยเฉพาะบรรดาของกำนัลของขวัญ ทั้งคริสต์มาส ปีใหม่ ตรุษจีน วาเลนไทน์.. นี่ยังไม่นับวันเด็ก วันครู และวันเกิด รวมไปถึงการทดสอบความคิดสร้างสรรค์ในการเลือกของขวัญให้ถูกใจผู้รับ ซึ่งผู้เขียนพบว่าการคิดในเชิงนี้เปลี่ยนไปเมื่อตัวเองโตขึ้นและสังคมกับอายุของผู้คนรอบข้างเปลี่ยนไป จากที่เคยเลือกของน่ารักกุ๊กกิ๊ก มาเป็นของใช้ประโยชน์ได้ พอมาถึงตอนนี้ ก็เริ่มมองหาของที่ทำให้ผู้รับเพลิดเพลินใจ เช่น ไม้ประดับไม้ดอกในกระถาง เป็นต้น

หนึ่งในไม้ประดับเหล่านั้น “กล้วยไม้” ดูจะเป็นทางเลือกที่ให้ความสวยงามและรู้สึกพิเศษกว่ากุหลาบหรือมะลิ ยิ่งประเภทที่ไม่เคยเห็น ยิ่งมีความพิเศษมากขึ้นไปอีก แต่ความน่าเป็นห่วงมาเกิดตรงที่ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนมีโอกาสได้ช่วยแปล (ด้วยความหดหู่) รายงานเกี่ยวกับการค้ากล้วยไม้อย่างผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Dr. Jacob Phelps ซึ่งเป็นรายงานร่วมระหว่างองค์กร TRAFFIC และศูนย์วิจัยป่าไม้นานาชาติ (CIFOR) ที่ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการลักลอบค้ากล้วยไม้ป่าที่ทำกันมานานแล้ว โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการค้า ด้วยอยู่ในจุดที่สะดวกต่อการขนส่งข้ามแดนและส่งไปยังจุดขายต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศเจ้ากล้วยไม้กลิ่นหอมและสวยงามเหล่านี้ ไม่ได้มาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อภายในโรงเนอร์สเซอรี่ต่างๆ เหมือนกับกล้วยไม้กำที่ขายกันที่ปากคลองตลาดอย่างที่แม่ค้าเรียกกันว่า บอม โจ ม็อกสี หรือหวายห้าเอ็น เป็นต้น

 

ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือที่รู้จักกันสั้นๆ ว่า “อนุสัญญาไซเตส” นั้น มีกล้วยไม้กว่า 25,000 ชนิดที่ถูกกำหนดอยู่ในความคุ้มครองไม่ให้มีการค้าขายโดยไม่ได้รับการอนุญาต ซึ่งในการอนุญาตแต่ละครั้ง เช่น เพื่องานวิจัยนั้นต้องมีการรับรองว่าจะต้องมีการดูแลรักษาเป็นอย่างดี (ในกรณีของสัตว์ป่า จะรวมไปถึงการขนย้ายที่ไม่ทำให้เกิดความทรมานเเก่สัตว์ป่านั้นๆ ด้วย)  ทั้งนี้ พบว่าทั่วพื้นที่ของประเทศไทย ลาว และพม่า มีกล้วยไม้ที่ขึ้นอยู่ในบัญชีไซเตสไม่น้อยกว่า 1,500 ชนิด ซึ่งจากการสำรวจของ Dr. Jacob Phelps และคณะทำงาน พบว่ามีเกือบ 400 ชนิด ที่ถูกลักลอบเก็บออกจากป่าและนำมาขายกันอย่างโจ่งแจ้ง แต่ทว่า การรายงานของหน่วยงานราชการ กลับระบุไว้ว่า การค้ากล้วยไม้อย่างผิดกฎหมายนี้ “พบเป็นกรณี เพียงเล็กน้อยในบางส่วน” เท่านั้น

จากงานศึกษาชิ้นนี้  สะท้อนให้เห็นว่ากล้วยไม้บางชนิดสูญพันธุ์ไปจากถิ่นอาศัยต่อหน้าต่อตา โดยอ้างอิงจากคำบอกเล่าของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามชายแนวป่าที่พูดกับผู้สำรวจข้อมูลในทำนองที่ว่า ถ้าจะหากล้วยไม้ชนิดนั้น ก็น่าจะมา ตามหาตั้งแต่เมื่อ 3-4 ปีก่อน ตอนนี้ไม่เหลือแล้ว เพราะชาวบ้านแถวนี้เก็บไปขายกันหมดแล้ว มีออเดอร์สั่งมา ซึ่งหากว่าหน่วยงานของรัฐไม่ยอมรับว่ามีการลักลอบค้ากล้วยไม้เกิดขึ้นจริงแล้ว นโยบายและการดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายก็ไม่อาจจะดำเนินไปได้อย่างจริงจัง

ที่น่าเป็นห่วง คือนักนิยมเลี้ยงกล้วยไม้จำนวนมากอาจไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของกล้วยไม้ โดยเฉพาะเวลาที่โรงเรือนกล้วยไม้นำกล้วยไม้ป่ามา “ชุบตัว” และส่งไปขายต่อราวกับเป็นกล้วยไม้ที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยง ความที่กล้วยไม้และพืชป่าต่างๆ ไม่ส่งเสียงร้อง ไม่แสดงกิริยาอาการตื่นคน ตื่นเมืองเหมือนอย่างการนำสัตว์ป่ามาขาย ของขวัญจากป่าชิ้นนี้จึงมีความสวยงามอยู่บนความหดหู่จริงๆ

 

ช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีน ห้างสรรพสินค้าที่มาเลเซียเองก็ต้อนรับความต้องการของลูกค้าด้วยสินค้ารูปแบบต่างๆ มีทั้งแบบสินค้าปลีกย่อย และการจัดกระเช้าขายเป็นชุดๆ ผู้เขียนแวะเข้าห้าง ไปหาซื้อหนังสือและอุปกรณ์กีฬา เดินผ่านบริเวณที่มีกระเช้ารูปแบบต่างๆ วางขายอยู่ เหลือบไปเห็นรังนกในกล่อง น้ำผึ้งในขวด วางสลับไปมากับสินค้าอื่นๆ

เลยทำให้สะท้อนใจ… ตั้งแต่เมื่อไหร่หนอ… ที่เรายอมรับและเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์สามารถไปพรากบ้านพรากครอบครัวของต้นไม้และสัตว์ป่า มาเป็นของขวัญให้คนที่เรารักและห่วงใยได้

ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share