in on May 8, 2014

เมืองดาว เทรนด์ใหม่คู่เมืองคาร์บอนต่ำ

read |

Views

ไม่นานมานี้มีข่าวออกมาว่า เด็กจีนในเมืองใหญ่ๆ ไม่เคยเห็นดวงดาว

สิ่งที่บดบังท้องฟ้าตลอดชั่วชีวิต 6-7 ปีของเด็กน้อยคือหมอกควันจากมลพิษ

แต่เด็กเมืองอเมริกันถึง 80% ก็แทบไม่เคยเห็นดาวเช่นกัน

เมื่อปี ค.ศ.1994 เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในคาลิฟอร์เนียจนไฟดับทั้งแอลเอ ชาวเมืองจำนวนไม่น้อยโทรสายด่วน 911 แจ้งข่าวเห็น “เมฆยักษ์ประหลาดเรืองแสงพาดบนท้องฟ้า”

พวกเขาเห็นทางช้างเผือกเป็นครั้งแรก และไม่รู้ว่ามันคืออะไร

สิ่งที่บดบังแสงดาวมาตลอดชั่วชีวิตเขาคือมลพิษแสง

สำหรับเราๆ ทั่วไป มลพิษแสงคือแสงที่ฟุ้งออกมาจากไฟสว่างยามค่ำคืน ยิ่งมากยิ่งพร่า ฟ้าไม่มืดก็ไม่เห็นดาว แต่นอกเหนือจากไฟป้ายโฆษณาแยงลูกตา เรามองว่าไฟเป็นสิ่งจำเป็นเพราะยิ่งมีไฟสว่างเท่าไหร่ ถนนหนทางและบ้านเมืองก็ยิ่งปลอดภัย

แต่ กลุ่มอนุรักษ์ฟ้ามืด (Dark Sky Preservation) กลับเห็นต่าง เขาไม่คิดว่ามลพิษแสงเป็นผลเสียที่จำเป็นต้องแลกกับความปลอดภัย ตามคำนิยามของเขา มลพิษแสงแตกต่างจากแสงไฟสว่างที่ช่วยให้เรามองเห็น มันเป็นเศษแสงที่ก่อความเสียหายและสิ้นเปลือง มาจากการจัดการไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพ ปล่อยให้ฟุ้งเสียออกไปยังบริเวณที่ไม่เกิดประโยชน์ เหมือนถังน้ำมีรู ดังนั้น ถ้าเราออกแบบแสงให้มีประสิทธิภาพ ควบคุมให้ส่องเฉพาะส่วนที่ต้องการเห็นในเวลาที่ต้องการเห็นและในปริมาณที่พอ เพียง พอดิบพอดี ไม่จ้าเกินจำเป็น เราจะสามารถลดมลพิษแสงที่ฟุ้งเสียเปล่าออกไปได้มาก

เมื่อแสงสว่างส่วนใหญ่ที่เราผลิตออกมาไม่รั่วไหลเสียของ นั่นหมายถึงประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน การจัดการความสว่างยามค่ำคืนไม่ให้เกิดมลภาวะแสงจึงประหยัดไฟฟ้าได้มากโข ซึ่งหมายถึงประหยัดเงินและทรัพยากร ในสหรัฐอเมริกาประเมินว่าเฉพาะแค่ไฟถนนส่องผิดที่ก็ทำให้ประเทศสิ้นเปลือง ถึง 2.2 พันล้านดอลล่าร์ต่อปี

ไม่เพียงแค่นั้น มันยังคร่าชีวิตสัตว์จำนวนมาก

มลพิษแสงส่งผลกระทบต่อการจับทิศทางของนกอพยพและสัตว์กลางคืนมากมายหลายชนิด เช่น มอธผสมเกสรพันธุ์พืช ลูกเต่าฟักออกจากไข่ที่มองหาทะเลจากแสงสะท้อนบนแนวคลื่นกระทบฝั่ง ในสหรัฐอเมริกาพบว่าในแต่ละปีนกอพยพมากกว่า 5 ล้านตัวตายเพราะมลพิษแสง ทำให้มันบินชนกระจกบ้าง ทำให้บินวนหลงทางจนเหนื่อยตายบ้าง มันแทรกแซงกลไกการจับคู่ผสมพันธุ์ของหิ่งห้อย นอกจากนั้น มลพิษแสงยังทำให้วงจรชีวิตตามธรรมชาติปั่นป่วนรวนเร ระบบนิเวศเสียสมดุลย์ ถึงขั้นที่นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยเริ่มมองว่า มลพิษแสงสร้างความเสียหายแก่โลกพอๆ กับมลพิษทางเคมีหรือปัญหาโลกร้อน เพียงแต่เราไม่ค่อยตระหนักกัน เรื่องนี้มีรายละเอียดค่อนข้างมากจึงยังขอไม่เล่าในบทความนี้

อย่างไรก็ตาม สังคมโลกเริ่มเห็นความสำคัญ และเมืองใหญ่หลายเมืองเริ่มออกมาตรการลดมลภาวะแสง ล่าสุดได้แก่กรุงนิวยอร์ค นับเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก ใครจะคิดว่ากระบวนทัศน์จะพลิกเช่นนี้ จากเดิมที่สังคมยอมรับว่าเมืองก็ต้องสว่างฟุ้งแสงสีอย่างช่วยไม่ได้ เปลี่ยนมาเป็นว่าการเห็นดาวในเมืองเป็นสิ่งที่เป็นไปได้และควรจะเป็น เช่นเดียวกับที่ไม่กี่ปีก่อนเราเคยคิดว่าเมืองจักรยานเป็นเรื่องเพ้อเจ้อโลก สวยที่ไม่มีวันเป็นไปได้ มาวันนี้มันเป็นเรื่องที่ต้องทำ

แต่ตอนนี้ เมืองฟ้ามืดเห็นดาวกำลังจะเป็นเทรนด์ใหม่

ถ้าใครคิดว่าแสงดาวบนท้องฟ้าเป็นธรรมชาติฟุ่มเฟือยของคนโรแมนติกช่างฝัน ไม่เข้าใจความสำคัญของธุรกิจและการพัฒนา ได้โปรดพิจารณาทบทวนใหม่ ความงาม แรงบันดาลใจ และการเรียนรู้ ล้วนแล้วแต่มีมูลค่ายั่งยืนทางเศรษฐกิจ

ท้องฟ้าเป็นธรรมชาติแท้ที่เราเข้าถึงได้ง่ายที่สุด แค่แหงนหน้าขึ้นมองก็ถึงแล้ว กลางวันเห็นเมฆ กลางคืนเห็นดาว

เมืองเล็กหลายเมืองเล็งเห็นจุดขายนี้ และออกมาตรการปรับเมืองไม่ให้มีมลภาวะแสงมานานแล้ว เขาอาจไม่มีวิวอลังการ ไม่มีป่า ดอกไม้ หรือสัตว์แปลกๆ ไปแข่งในตลาดท่องเที่ยวธรรมชาติ แต่เขามีท้องฟ้าและอากาศสดใส แค่ออกแบบแสงสว่าง จำกัดแรงวัตต์ มีกระบังครอบไฟไม่ให้ฟุ้ง จัดวางในตำแหน่งที่ต้องการจริงๆ ดาวระยิบระยับก็ปรากฏตัวพร่างพราวดวงน้อยสกาว กลายเป็นจุดหมายท่องเที่ยวขึ้นมาทันที เพิ่มมูลค่าด้วยข้อมูลดาว วิทยากรดูดาว และเทศกาลดูดาว

ที่มีชื่อเสียงที่สุดเห็นจะได้แก่บริเวณทะเลสาบเทคาโพ (Tekapo Lake) เมืองทวิเซล (Twizel) ประเทศนิวซีแลนด์ อันที่จริงที่นี่ก็มีมรดกธรรมชาติโดดเด่นอื่นๆ อาทิ นกตีนเทียนดำ ซึ่งไม่พบที่อื่นใดในโลก แต่แสงดาวบนท้องฟ้าของเขากลับมีชื่อเสียงเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว คุณภาพมากกว่านก

พื้นที่อุทยานฯ เมืองเล็กๆ หรือหมู่บ้านในประเทศไทย มีศักยภาพที่จะนำร่องการจัดการไฟสว่างยามค่ำคืนให้ปลอดมลพิษแสงได้ไม่ยาก ลงทุนปรับเปลี่ยนโคมไฟไม่กี่ตังค์ เริ่มด้วยติดตั้งกระบังครอบไฟควบคุมให้แสงส่องลงพื้นไม่ฟุ้งกระจาย

เมืองหนึ่งที่น่าเริ่มมากๆ คือเชียงดาว ทำให้เป็นเมืองดาวสมชื่อไปเลย

แทนที่จะคิดทำกระเช้าไฟฟ้าบุกรุกบริโภคดอยหลวงศักดิ์สิทธิ์ กัดกร่อนเสื่อมโทรมแล้วทิ้ง เปลี่ยนมาถนอมธรรมชาติ สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการจัดการง่ายๆ ใครมาที่นี่ไม่ต้องถ่อขึ้นดอยไปหา “ระเบียงดาว” อยู่บนพื้นราบก็ถึงดวงดาวแล้ว มีเงาดอยหลวงตั้งตระหง่านเป็นพระประธานยามค่ำคืน คิดดูสิว่ามันจะเจ๋งแค่ไหน แถมประหยัดไฟฟ้าในระยะยาวโดยไม่ต้องสูญเสียความสะดวกสบายใดๆ เลย

เชียงดาว–เมืองดาว ขอได้โปรดพิจารณา

อย่าประมาทท้องฟ้ามีดาว นักวิทยาศาสตร์ ศิลปินเอก นักปรัชญา และผู้ปฏิบัติธรรมของโลกกี่คน ได้แรงบันดาลใจมาจากแสงดาว

ท้องฟ้ามีดาวคือท้องฟ้าแห่งจินตนาการและสัจธรรม

อ้างอิง
  1. ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ พฤษภาคม 2558
สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share