เรื่องราวการอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำดำเนินมากว่า 30 ปีแล้ว บนเส้นทางการต่อสู้ที่ยาวนานแต่ประชากรนกกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง และไม่มีการสำรวจพบมาเกือบสามปี ทำให้หลายฝ่ายคิดว่านกแต้วแล้วท้องดำคงได้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว การค้นพบนกแต้วแล้วท้องดำตัวเมียครั้งล่าสุดเมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาทำให้เกิดความหวังว่า จะมีปาฎิหาริย์ในการกอบกู้เผ่าพันธุ์ของนกแต้วแล้วท้องดำไว้ได้หรือไม่
ถ้าคุณคิดว่าการพบนกเพียงไม่กี่ตัวคงจะไม่มีความหวังอะไรเหลืออีกแล้ว ขอให้ลองหลับตาแล้วลืมปัญหาอันยุ่งเหยิงในอดีตไว้ชั่วคราว ลองมองไปไกลๆ มองไปที่ขอบฟ้าถึงเกาะเซเชลส์ ในแอฟริกา และแกะแชตนัมในนิวซีแลนด์ ที่นั่นมีนกอีกสองชนิดที่มีชะตากรรมคล้ายคลึงกับนกแต้วแล้วท้องดำ… แต่ด้วยความช่วยเหลือของมนุษย์ทำให้นกหายากทั้งสองชนิดรอดพ้นจากการสูญพันธุ์ได้อย่างเหลือเชื่อ
เซเชลส์เป็นหมู่เกาะขนาดเล็กในทวีปอาฟริกา ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดียระนาบเดียวกับเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย นกกางเขนเซเชลส์ (Seychelles Magpie-robin: Copsychus sechellarum) เป็นนกเฉพาะถิ่นที่อาศัยอยู่บนเกาะต่างๆ ของเซเชลส์ รวม 8 เกาะ และไม่พบในที่อื่นใดอีก นกกางเขนชนิดนี้ถูกพบครั้งแรกตั้งแต่ปีพ.ศ. 2408 โดยทั่วไปชอบอาศัยอยู่ในป่าทึบที่ราบต่ำตามแนวชายฝั่ง นกกางเขนชนิดนี้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจากสามสาเหตุหลักคือ การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย การมาถึงของสัตว์ผู้ล่าต่างถิ่น และการดักจับนกมาขาย
ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2453 ป่าที่ราบต่ำผืนใหญ่ในหมู่เกาะเซเชลส์หลายแห่งถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิงเพื่อการเกษตร นอกจากนี้สัตว์ที่ติดตามมากับมนุษย์โดยเฉพาะแมวและหนูก็ได้กลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของนกกางเขนชนิดนี้ พอนกกางเขนเซเชลส์เริ่มหายากขึ้น ราคาในตลาดก็แพงตาม จึงเป็นแรงจูงใจให้มีการดักนกมาขายอย่างต่อเนื่อง หลังจากปี 2505 ที่มีรายงานการพบนกครั้งสุดท้ายบนเกาะอัลฟองเซ่ (Alphonse) นกกางเขนเซเชลส์จึงสูญพันธุ์ไปหมดจากเกาะต่างๆ จนเหลือประชากรนกบนเกาะฟริเกต (Fre’gate) เพียงแห่งเดียว และตกอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะการสำรวจเมื่อปี 2508 พบว่ามีนกเหลืออยู่ทั้งหมดเพียง 8-12 ตัวเท่านั้น
เกาะฟริเกตในเวลานั้นเหลือป่าเป็นหย่อมเล็กๆ อยู่ไม่ถึง 10 เปอร์เซนต์ ทางตอนใต้และเหนือสุดของเกาะ นอกจากนี้แมวและหนูที่ถูกนำเข้ามาโดยมนุษย์ยังล่าแม่นกและลูกนกกางเขนเซเชลส์เป็นจำนวนมาก จนกระทั่ง Birdlife International องค์กรอนุรักษ์นกสากล นำโครงการควบคุมสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาใช้ในปี 2525 จำนวนของนกจึงกลับมาอยู่ที่ประมาณ 25 ตัว ต่อมาในปี 2531 Birdlife International เริ่มเก็บข้อมูลทางด้านนิเวศวิทยาของนกกางเขนชนิดนี้โดยละเอียด เพื่อทำการวางแผนฟื้นฟูสถานภาพอย่างเป็นระบบ การดำเนินงานของโครงการฯ ได้รับความร่วมมือจากประชาชน และรัฐบาลของประเทศเซล์เชลส์เป็นอย่างดี มีการนำมาตรการหลายอย่างมาใช้ เช่น การปรับปรุงและฟื้นฟูสภาพถิ่นที่อยู่ของนก การให้อาหารเสริม และจัดทำรังเทียมให้นก รวมไปถึงการศึกษาความเป็นไปได้ในการเคลื่อนย้ายนกไปปล่อยบนเกาะแห่งอื่นๆ ที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
สตีฟ พารร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างประเทศ ในเวลานั้นของสมาคมอนุรักษ์นกแห่งอังกฤษ หรือ RSPB ผู้ประสานงานโครงการนี้ เล่าบรรยากาศการทำงานให้ฟังว่า “การทำงานประสบความสำเร็จดีมาก จำนวนนกเพิ่มสูงขึ้นจนถึง 50 ตัว ในช่วงปี 2538-39 แต่เรารู้ว่านกเพิ่มจำนวนขึ้นขนาดนั้นเนื่องจากมนุษย์เข้าไปช่วยให้อาหาร และเสริมรังให้ เพราะข้อมูลจากการสำรวจบ่งชี้ว่ามีอาณาเขตที่นกใช้หากินได้อยู่ราว 9-14 แห่งเท่านั้น หมายความว่าตามความเป็นจริงพื้นที่สามารถรองรับนกได้ไม่เกิน 14 คู่ ยกเว้นจะมีการฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับคืนมา ในระหว่างที่มีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมซึ่งต้องใช้เวลานาน เราจึงริเริ่มโครงการเคลื่อนย้ายนกบางส่วนไปยังเกาะอื่นๆ ที่ยังมีสภาพธรรมชาติที่เหมาะสม ปรากฎว่าแนวทางนี้ได้ผล ปัจจุบันมีนกกางเขนเซล์เชลส์เพิ่มขึ้นกือบ 180 ตัว ( ประมาณ 50 ตัวอยู่บนเกาะฟริเก็ต ที่เหลือกระจายอยู่ในพื้นที่ 3 เกาะที่เรานำไปคืนสู่ธรรมชาติ”
“ความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากนานาชาติ ทำให้การอนุรักษ์นกกางเขนเซเชลส์เป็นที่สนใจของคนทั่วไป คนท้องถิ่นก็เริ่มเห็นความสำคัญของนกชนิดนี้ มีการจัดตั้งองค์กรอนุรักษ์นกแห่งชาติ (Birdlife Seychelles) และกลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่าขึ้นหลายแห่ง มีการคำนวณว่านกกางเขนเซเชลส์ช่วยทำให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นดีขึ้น เพราะทำให้มีการพัฒนาเกิดขึ้นหลายอย่าง และเป็นตัวดึงดูดสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หัวใจของการทำงานที่นี่คือการทำงานแบบมีส่วนร่วม โดยอาศัยข้อมูลด้านนิเวศวิทยาที่ครบถ้วนมาใช้สร้างแผนฟื้นฟูฯ ที่ทุกฝ่ายยอมรับ ล่าสุดรัฐบาลเซเชลส์และองค์กรอนุรักษ์ภายในประเทศ เป็นผู้ดำเนินงานอนุรักษ์ส่วนใหญ่เอง ตามแผนปฏิบัติงานสำหรับปี 2544-2549 โดยมี RSPB คอยให้คำปรึกษาด้านเทคนิค”
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะยืนยันได้ว่าความหวังในการอนุรักษ์ไม่เคยสิ้นสูญ คือเรื่องของนกเขนน้อยสีดำเกาะแชตทัม (Chatham Island black robin: Petroica traversi) นกเขนน้อยชนิดนี้เป็นนกประจำถิ่นที่พบเฉพาะบนเกาะแชตทัม เกาะเล็กๆ กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ของประเทศนิวซีแลนด์
ประชากรของนกเขนน้อยเกาะแชตทัมเริ่มถูกคุกคามและลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วภายหลังการมาถึงของมนุษย์ รัฐบาลนิวซีแลนด์จึงเริ่มพยายามอนุรักษ์นกชนิดนี้ ในปีพ.ศ. 2519 ซึ่งเหลือนกอยู่เพียงไม่กี่สิบตัว ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องพยายามทำทุกวิถีทางทั้งศึกษาหาข้อมูล วางมาตรการปกป้องที่อยู่ของนก รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการอพยพนกชนิดนี้ไปสู่พื้นที่อื่นที่มีความปลอดภัยและเหมาะสมมากกว่า แต่ดูเหมือนว่ามาตรการต่างๆ จะไม่ประสบความสำเร็จได้โดยง่าย เพราะพอถึงปี 2522 มีนกเขนน้อยชนิดนี้เหลืออยู่เพียง 5 ตัวเท่านั้น และในจำนวนนี้มีตัวเมียแก่ๆ อยู่เพียงตัวเดียวชื่อว่า “โอลด์บลู” ทุกคนเชื่อว่ารออีกไม่กี่ปี เรื่องราวทุกอย่างคงจบลงเมื่อโอลด์บลูตาย และนกชนิดนี้คงถูกขึ้นบัญชีว่าสูญพันธุ์อย่างแน่นอน แต่แล้วปาฎิหาริย์ก็เกิดขึ้นด้วยความมานะพยายามของเจ้าหน้าที่อนุรักษ์สัตว์ป่า
โอลด์บลูในเวลานั้นมีอายุ 9 ปีซึ่งถือว่าผ่านเลยวัยสาวที่เหมาะแก่การเป็นแม่พันธุ์ไปนานแล้ว แต่ด้วยความเอาใจใส่อย่างดีของนักวิจัย โอลด์บลูจึงผสมพันธุ์วางไข่ได้เป็นผลสำเร็จ และเพื่อเป็นการช่วยให้โอลด์บลูผลิตทายาทให้ได้มากที่สุดในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ เจ้าหน้าที่จึงทดลองเอาไข่ของโอลด์บลูไปให้นกทอมติ๊ด (Tomtit) นกเขนน้อยอีกชนิดหนึ่งช่วยฟักแทน
ปรากฏว่านกทอมติ๊ดยอมร่วมมือฟักไข่ให้ด้วยดี ปล่อยให้แม่โอลด์บลูตั้งหน้าตั้งตาผสมพันธุ์วางไข่ต่อไปเรื่อยๆ โอลด์บลูตาย ลงเมื่ออายุ 13 หลังจากมีลูกมาทั้งหมด 11 ตัว โอลด์บลูได้กอบกู้เผ่าพันธุ์ของมันเอาไว้ด้วยความช่วยเหลือของมนุษย์ การจากไปของเธอได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการในรัฐสภาของนิวซีแลนด์
ห้าปีต่อมาประชากรของนกเขนน้อยสีดำเกาะแชตทัมเริ่มขยับขึ้นมาเป็น 19 ตัว และเพิ่มเป็นสองเท่าในปีถัดมา นกทอมติ๊ดยังคงรับบทเป็นแม่เลี้ยงช่วยฟักไข่ให้อย่างมีประสิทธิภาพ จนกระทั่งนกชนิดนี้รอดพ้นวิกฤติมาได้ และมีประชากรอยู่ราว 300 ตัวในปัจจุบัน
ชาวเกาะแชททัมซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวประมงและชาวไร่ชาวนาต่างภูมิใจกับนกตัวเล็กๆ ชนิดนี้ถึงขนาดนำชื่อไปตั้งเป็นชื่อเบียร์ท้องถิ่น และใช้รูปนกเขนน้อยสีดำเกาะแชตทัมมาเป็นสัญลักษณ์นำโชคของเกาะ
คำถามสำคัญคือเราจะมีโอกาสทำให้เรื่องจริงเหล่านี้เกิดขึ้นกับกรณีของนกแต้วแล้วท้องดำในประเทศไทยได้หรือไไม่ โอกาสที่อาจต้องแลกมาด้วยเงินงบประมาณ และความรู้ความเชี่ยวชาญในการช่วยเหลือสัตว์ใกล้สูญพันธุ์
โอกาสครั้งสุดท้ายของนกแต้วแล้วท้องดำ ขึ้นอยู่กับความร่วมมืออย่างจริงจังและความรับผิดชอบร่วมกันของทุกฝ่าย
ตั้งแต่ระดับชาวบ้านไปจนถึงนักวิชาการ และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ความพยายามครั้งนี้คือการตัดสินใจของคนไทยว่าจะปกป้องนกแต้วแล้วท้องดำเอาไว้ หรือปล่อยให้มันสูญพันธุ์ไปตลอดกาล