in on December 18, 2017

คิดหน้าคิดหลังก่อนกินโคคิวเท็น

read |

Views

ผู้เขียนมีอาการปวดกล้ามเนื้อที่น่องค่อนข้างบ่อย จึงได้พยายามหาข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ถึงสาเหตุของความน่ารำคาญนี้ แต่ก็หาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ เพราะผู้ที่น่าจะรู้ส่วนใหญ่มักอธิบายกว้างครอบจักรวาฬ ตรงกับอาการบ้างไม่ตรงบ้าง จึงเข้าใจเอาเองในขั้นต้นว่า

คงเป็นไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น ชิ้นส่วนของร่างกายย่อมเสื่อมสภาพไปบ้าง แต่ปรากฏว่ามีเด็กหนุ่มสาวอายุราว 20 ปี บ่นว่ามีอาการเช่นกันในเว็บ pantip ดังนั้นจึงพอคลายกังวลได้บ้างว่า ไม่ใช่เฉพาะ สว. อย่างผู้เขียนเท่านั้นที่เป็น ที่น่าสนใจคือ อาการปวดนี้มักหายไประหว่างการออกกำลังกาย แล้วกลับมาใหม่หนักเบาไม่เท่ากันไร้ความแน่นอน

อาการปวดกล้ามเนื้อนี้ผู้เขียนสังเกตว่า เกิดขึ้นหลังเริ่มกินยาเพื่อปรับความดันโลหิต ดังนั้นจึงเข้าใจและยอมรับว่า อาการดังกล่าวนั้นอาจจะเป็นผลข้างเคียงของการใช้ยาปรับความดันชนิดที่มีผลต่อการทำงานของแคลเซียมที่กล้ามเนื้อ จึงเพิ่มการกินอาหารที่มีแร่ธาตุมากขึ้น อีกทั้งระยะหลังนี้ได้ลองกินแร่ธาตุเสริมคือ แคลเซียมและแมกนีเซียมในลักษณะผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (ที่ได้รับแจกฟรีในการประชุมวิชาการ) ซึ่งก็ดีขึ้นบ้างเป็นพัก ๆ ยังสรุปไม่ได้นัก

 

นอกจากแร่ธาตุแล้ว ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีกชนิดหนึ่งที่มีผู้แนะนำและหยิบยื่นให้ลองกินฟรีดู โดยใช้พื้นความรู้ว่า ตะคริวนั้นอาจเกิดเนื่องจากการออกกำลังกายของผู้เขียนที่อาจมากเกินวัย จนกล้ามเนื้อขาดพลังงานได้ สินค้านั้นคือ โคคิวเท็น (coenzyme Q10)

โคคิวเท็นเป็นสารชีวเคมีที่ผู้เขียนไม่ค่อยศรัทธาว่ากินแล้วจะก่อผลอะไรต่อร่างกาย เพราะเมื่อลองค้นข้อมูลงานวิจัยและจากตำราที่เคยเรียนได้ก่อให้เกิดความสงสัยมากว่า โคคิวเท็นที่กินเข้าไปนั้นสามารถเข้าไปสู่เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อทำงานได้จริงหรือไม่

โคคิวเท็นนั้นเป็นสารชีวเคมีที่ร่างกายเราสร้างขึ้นมาใช้ได้เองจากองค์ประกอบต่าง ๆ ในอาหารที่ร่างกายดูดซึมเข้าไป จึงไม่น่าเรียกว่า วิตามิน (แต่ถ้าอ้างว่าวิตามินดีนั้นร่างกายมนุษย์ก็สร้างได้เอง หลายคนจึงพยายามจัดให้โคคิวเท็นเป็นวิตามิน ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ขัดใจ ว่ากันไปตามสะดวกก็แล้วกัน) โดยหน้าที่หลักของโคคิวเท็นคือ เป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการเคลื่อนย้ายอิเล็คตรอนในระบบสร้างสารให้พลังงานสูงในไมโตคอนเดรียของเซลล์ซึ่งเรียกว่า เอทีพี (ATP ย่อมาจาก adenosine triphosphate)

สารอาหารที่เรากินเข้าไปแล้วถูกย่อยสลายเพื่อการสร้างเอทีพีคือ แป้งและไขมัน (รวมทั้งเอ็ททานอลในเหล้าซึ่งไม่ควรกินเพราะถ้ามีปริมาณสูงสามารถทำลายเซลล์ตับ ส่วนโปรตีนนั้นร่างกายจะไม่แปลงไปเป็นพลังงาน ยกเว้นเมื่อเกิดการขาดแป้งและไขมันอย่างรุนแรง) ในลักษณะการสันดาปโดยมีออกซิเจนจากอากาศที่เราหายใจเข้าไปเป็นตัวช่วย ซึ่งสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงทำให้ได้เอทีพีเก็บไว้ใช้สำหรับการทำงานของเซลล์

มักมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า เราต้องการโคคิวเท็นสักเท่าไรในแต่ละวัน คำตอบนั้นอยู่ในลักษณะว่า ความต้องการสารอาหารของร่างกายแต่ละบุคคลนั้นไม่เหมือนกัน ปัจจัยหนึ่งคือ สภาวะแวดล้อมของแต่ละคนซึ่งมีวิถีชีวิตต่างกันไปเช่น มนุษย์เงินเดือนนั่งทำงานในห้องปรับอากาศย่อมต้องการเอทีพีเพื่อให้พลังงานต่างไปจากนักกีฬาอาชีพที่ต้องออกแรงให้ได้เหงื่อทุกวัน ดังนั้นปริมาณโคคิวเทนที่กล้ามเนื้อของคนที่มีกิจกรรมในแต่ละวันที่ต่างกันย่อมต่างกันไปด้วย

ข้อมูลจากตำราและอินเตอร์เน็ทต่าง ๆ กล่าวค่อนข้างตรงกันว่า การสร้างโคคิวเท็นของมนุษย์นั้นสูงสุดเมื่ออายุประมาณ 20 ปี จากนั้นก็จะลดลงเรื่อย ๆ ตามอายุที่สูงขึ้น ข้อมูลนี้อาจเป็นคำอธิบายว่า ทำไมผู้ที่เล่นกีฬาชนิดที่ต้องใช้กำลังกายสูง เช่น แบดมินตัน เท็นนิส ฟุตบอล บาสเก็ตบอล ฯลฯ จึงขึ้นสู่จุดสูงสุดของอาชีพที่อายุราว 20 ปี เท่านั้น

สำหรับกรณีนักกีฬาที่มีอายุมากขึ้นแล้วยังเล่นได้ดีนั้น ขอยกตัวอย่างเช่น ลีช็องเว่ย (ปีนี้ Lee Chong Wei อายุ 35 ปี) และหลินตัน (ปีนี้ Lin Dan อายุ 34 ปี) ซึ่งต่างเป็นนักแบดมินตันขั้นเทพจำต้องดำรงความสามารถในการเล่นกีฬานี้ด้วยการฝึกซ้อมหนักขึ้นกว่าเมื่อมีอายุราว 20 ปีต้น ๆ และต้องใช้ทักษะที่ได้จากประสบการณ์แข่งขันที่ผ่านมาอย่างมาก เพื่อช่วยในการเอาตัวรอดเมื่อต้องแข่งกับนักกีฬาที่มีอายุน้อยที่ยังมีระบบสร้างพลังของร่างกายสูงกว่า

 

สำหรับนักกีฬาไทยที่ต้องเล่นกีฬาชนิดที่ต้องใช้กำลังกายสูง แล้วสามารถเล่นได้คงเส้นคงวาจนมีอายุเกิน 30 ปีนั้น หาได้ยากมาก นักวิเคราะห์ด้านการกีฬาหลายคนกล่าวว่า ความมุ่งมั่นในการซ้อมที่นักกีฬาของเรามีนั้นอาจน้อยกว่านักกีฬาอาชีพในประเทศที่พัฒนาแล้ว (เพราะรายได้ต่ำกว่าต่างชาติมาก) และการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาในการทะนุบำรุงนักกีฬาเด่น ๆ ของเรายังมีค่อนข้างน้อยหรือไปกันไม่ถูกทาง ซึ่งต่างจากชาติที่พัฒนาแล้วในทวีปยุโรปและอเมริกา มีนักกีฬาที่ยังอยู่ระดับต้น ๆ ของโลกที่อายุใกล้ 40 หลายคน ตัวอย่างเช่นในวงการแบดมินตันมีนักกีฬาชายคู่ของเดนมาร์คคือ โบว์ (37 ปี) และมอนเตอร์เซน (34 ปี) ซึ่งเมื่อดูวันเดือนปีเกิดแล้วแทบไม่เชื่อว่าสามารถขึ้นสู่การเป็นคู่มือ 1 ของโลกได้ในบางช่วงของปี 2017 นี้เอง

สำหรับคำถามซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของโคคิวเท็นคือ สารชีวเคมีนี้มีสัมฤทธิผลต่อร่างกายเกี่ยวกับการสร้างเอทีพีแก่ร่างกายมนุษย์หรือไม่ เมื่อพิจารณาจากผู้บริโภคสารนี้ที่ย่างเข้าสู่วัยไม่ฉกรรจ์แล้ว ผู้เขียนพบข้อมูลจากเว็บในอินเตอร์เน็ทของหน่วยงานที่คิดว่าเชื่อถือได้แน่คือ NIH (National Institute of Health) ของสหรัฐอเมริกาซึ่งกล่าวว่า โคคิวเทนนั้นดูจะมีประโยชน์ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ แม้ว่ายังไม่มีผลสรุปที่ชัดเจนนักในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม NIH ไม่ได้กล่าวถึงประโยชน์ของโคคิวเท็นในคนที่มีสุขภาพปรกติแต่อย่างใด

นอกจากประโยชน์ของโคคิวเท็นแล้ว NIH ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของสารชีวเคมีนี้ว่า ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพในคนที่เป็นชิ้นเป็นอันมักกล่าวว่า โคคิวเท็นนั้นมีผลข้างเคียงที่ผู้ (จำต้อง) บริโภคพอทนได้บางประการ เช่น บางคนนอนไม่หลับ ระดับเอ็นซัมบางชนิดในตับสูงขึ้น มีผื่นแดงที่ผิวหนัง คลื่นไส้ (แม้ไม่ได้ดูข่าวการเมือง) ปวดตอนบนของหน้าท้อง (ทั้งที่ไม่ได้เป็นนักมวย) เวียนหัว ปวดหัว แพ้แสง มีอาการกรดไหลย้อน และอ่อนเพลีย (ทั้งที่ไม่ได้ออกกำลังกาย)

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ NIH เตือนว่า หญิงที่เริ่มท้องไม่ควรกินโคคิวเท็นตลอดไปจนถึงช่วงกำลังให้นมลูก และที่สำคัญห้ามลืมคือ ใครก็ตามที่ต้องกินยาชื่อ วอร์ฟาริน ซึ่งใช้บำบัดอาการเลือดข้นนั้น ถ้ากินโคคิวเท็นเข้าไปยานี้จะมีฤทธิ์ลดลงจนไม่เกิดผล

เหตุที่โคคิวเท็นเป็นประเด็นที่น่าสนใจคือ ราคาค่อนข้างแพงและมีข้อมูลว่า กินเข้าไปแล้วถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเพื่อนำไปใช้งานค่อนข้างยาก จำต้องกินในรูปแบบที่พอจะดูดซึมได้บ้างคือ Ubiquinol (อ่านว่า ยู-บิ-ควิ-นอล์) ไม่ใช่ ubiquinone (อ่านว่า ยู-บิ-ควิ-โนน) ดังที่นายแพทย์ Julian Whitaker กล่าวแนะนำไว้ในบทความชื่อ Choosing the right CoQ10 Supplement ซึ่งหาอ่านได้ที่นี่ >>คลิ๊กอ่าน<<

ในความเป็นจริงโคคิวเท็นนั้นมีพี่น้องหลายตัว เพราะเป็นสารชีวเคมีหนึ่งในตระกูลที่เรียกว่า โคเอ็นซัมคิว (Coenzyme Q) คำว่าเท็นหรือสิบนั้นเป็นการระบุจำนวนของหน่วย isoprenyl ซึ่งเป็นหน่วยไฮโดรคาร์บอนที่ประกอบกันเป็นหางของโมเลกุลของสารชีวเคมีชนิดนี้ โดยโคคิวเท็นนั้นเป็นชนิดของโคเอ็นซัมคิวที่ประกอบอยู่ในระบบสร้างพลังงานในไมโตคอนเดรียของเซลล์ ส่วนโคคิวอื่น ๆ ที่เหลือก็ถูกกระจายกันออกไปทำงานในส่วนของเซลล์ที่ไม่ใช่ไมโตคอนเดรีย

ด้วยจำนวนที่มีมากถึง 10 หน่วยของ isoprenyl ในโมเลกุลของโคคิวเท็นนั้น ได้ส่งผลทำให้สารชีวเคมีนี้มีความสามารถในการละลายในไขมันดีมาก คุณสมบัตินี้จึงทำให้โคคิวเท็นกระจายตัว (ในลำไส้เล็กซึ่งมีองค์ประกอบเป็นน้ำ) เพื่อการถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายยากมาก จำเป็นต้องทำให้โคคิวเท็นอยู่ในรูปที่ผ่านเข้าสู่เซลล์ของลำไส้เล็กด้วยกรรมวิธีขั้นสูง ดังนั้นราคาของโคคิวเท็นจึงต่างกันไปตามยี่ห้อที่ใช้เท็คนิคเฉพาะตัวที่ต่างคิดค้นเอง อย่างไรก็ดีข้อมูลในอินเตอร์เน็ทได้ให้ความรู้โดยรวมว่า การดูดซึมของโคคิวเท็นนั้นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2-3 เท่านั้นเมื่อศึกษาในหนูทดลอง ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษาในมนุษย์ (ซึ่งดูไม่ต่างไปจากการศึกษาในหนู) นั้นสามารถหาอ่านได้จากบทความชื่อ Coenzyme Q10: Absorption, tissue uptake, metabolism and pharmacokinetics. ตีพิมพ์ในวารสาร Free Radical Research หน้าที่ 445–453 ของชุดที่ 40(5) ฉบับประจำเดือนพฤษภาคม ปี 2006

 

สำหรับหน้าที่ของโคคิวเท็นนอกเหนือจากการทำงานในไมโตคอนเดรียแล้ว โคคิวเท็นเป็นสารต้านการออกซิเดชั่นที่ช่วยทำให้การทำงานของเซลล์เป็นไปอย่างราบรื่น มีรายงานว่าโคคิวเท็นนั้นช่วยทำให้สารต้านออกซิเดชั่นอื่นเช่น วิตามินอี ที่ถูกใช้งานแล้วในการกำจัดอนุมูลอิสระในเซลล์ กลับฟื้นคืนมาทำงานได้เหมือนเดิม

ดังที่กล่าวแล้วว่า เซลล์นั้นใช้โคคิวเท็นที่สร้างเองตามธรรมชาติเป็นส่วนสำคัญของการสร้างพลังงานในไมโตคอยเดรียสำหรับเซลล์ โดยบทบาทของโคคิวเท็นนั้นสำคัญมาก ๆ กับอวัยวะที่ต้องทำงานตลอดเวลาห้านลาหยุดคือ หัวใจ อวัยวะที่ต้องทำหน้าที่สร้างหรือใช้งานสารชีวเคมีนานาชนิดที่เข้าสู่ร่างกายคือ ตับ อวัยวะที่ทำหน้าที่ขับของเสียและมีส่วนในการควบคุมความดันโลหิตคือ ไต ตลอดจนอวัยวะที่สร้างเอ็นซัมช่วยในการย่อยอาหารคือ ตับอ่อน เป็นต้น

โคคิวเท็นนั้นถูกนำมาใช้ในคนไข้โรคต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากความบกพร่องทางพันธุกรรมทำให้มีโคคิวเท็นในระดับต่ำ หรือการกินไม่พอเพราะโคคิวเท็นนั้นถึงมีในปลา เนื้อสัตว์และธัญพืช แต่อยู่ในระดับที่อาจต่ำไปสำหรับบางคน จึงทำให้หลังกินอาหารดังกล่าวแล้วไม่สามารถเติมในส่วนที่พร่องไปของร่างกายได้ดีพอ

ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์กล่าวถึงประโยชน์ของโคคิวเทนอย่างไร จากข้อมูลของ NIH กล่าวว่า การเสริมโคคิวเท็นนั้นน่าจะมีประโยชน์บ้างในคนไข้ที่มีอาการเกี่ยวกับโรคหัวใจและเส้นเลือด มีอาการเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อที่เกิดจากผลของยาบางชนิด มีความผิดปรกติในระบบสืบพันธุ์ ฯ แต่งานวิจัยในเรื่องดังกล่าวเหล่านี้ยังไม่ชัดเจนพอที่จะสรุปผลที่แน่นอน

 

ผลสรุปว่าโคคิวเท็นน่าจะมีผลดีต่อผู้ที่มีหัวใจที่ทำงานไม่ปรกตินั้น ได้จากการศึกษาด้านการวิเคราะห์อภิมาน (ศึกษาเกี่ยวกับผลของการศึกษาอื่นที่อยู่ในกรอบงานเดียวกันว่ามีผลไปในทางเดียวกันหรือไม่ซึ่งเรียกว่า meta-analysis) งานวิจัยจำนวนหนึ่งในช่วงปี 2007-2009 ให้ผลออกมาว่าโคคิวเท็นนั้นให้ผลดีในการบำบัดบางอาการของผู้ป่วยที่ทำการผ่าตัดเกี่ยวกับหัวใจ ซึ่งเมื่อได้รับโคคิวเท็นพร้อมกับสารอาหารอื่น ๆ แล้วดูว่าจะมีอาการดีกว่าผู้ไม่ได้รับ ส่วนการกินโคคิวเท็นในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงนั้น ดูแล้วผลไม่มีอะไรดีขึ้นกว่าเดิมนัก

NIH กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงเนื่องจากผลข้างเคียงของยาสตาตินซึ่งใช้ลดไขมันนั้น มีการศึกษาในปี 2010 ว่า น่าจะ แต่ยังสรุปไม่ได้ว่าโคคิวเท็นช่วยให้ดีขึ้นหรือเปล่า อีกทั้งมีงานวิจัยในปี 2012 ที่สนใจดูว่าโคคิวเท็นช่วยให้อาการปวดกล้ามเนื้อเนื่องจากการกินยาสตาตินลดลงหรือไม่ ปรากฏว่าไม่น่าจะได้ผลแต่อย่างไร

มีผู้พยายามใช้โคคิวเท็นแก้ปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ ซึ่งพบว่าในผู้ชายนั้นคุณภาพของตัวอสุจิดูดีขึ้น (เข้าใจว่าเป็นการเทียบกันในกลุ่มผู้ที่บ่มิไก๊ด้วยกัน) แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปว่า การเปลี่ยนแปลงที่ว่าดีขึ้นนั้นช่วยในการแก้ปัญหามีบุตรยากหรือไม่

พื้นฐานความคิดของการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้นอาจมาจากสมมุติฐานที่เข้าใจว่า ไมโตคอนเดรียซึ่งอยู่ในตอนบนของหางตัวอสุจินั้นอาจมีน้อย หรือทำงานในการสร้างเอทีพีเพื่อใช้ในการโบกสบัดหางของตัวอสุจิไม่ดีพอ ผู้ศึกษาคงหวังว่าโคคิวเท็นที่ให้อาสาสมัครจะเข้าไปเสริมการทำงานของไมโตคอนเดรียบริเวณดังกล่าว แต่เมื่อผลการศึกษาออกมาแบบเสียเวลาเปล่านั้น ทำให้พอสรุปได้ว่าโคคิวเท็นคงไม่สามารถเข้าไปทำงานในระบบการสร้างเอทีพีของไมโตคอนเดรียเสียกระมัง

ส่วนประเด็นในการบำบัดมะเร็งนั้นดูยังไม่มีผลอะไร อย่างไรก็ดียังพอมีงานวิจัยในปี 2010 และ 2011 ที่พบว่า การกินโคคิวเท็นของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมนั้นช่วยทำให้ระดับของสารชีวเคมีนี้กลับสู่ระดับปรกติได้ (จากเดิมที่บางคนมีในระดับที่ไม่ปรกติ)

ในปี 2017 นี้ NIH ได้ให้ทุนเพื่อศึกษาผลของโคคิวเท็นต่อการบำบัดอาการกล้ามเนื้ออ่อนล้าของผู้ได้รับยาสตาติน ภาวะเจริญพันธุ์ของสตรีสูงอายุ และผลในการบำบัดมะเร็งเต้านม

ประเด็นที่ต้องคำนึงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกินโคคิวเท็นที่ NIH แนะนำคือ การกินผลิตภัณฑ์โคคิวเท็นนั้น ไม่สามารถแทนที่การกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพหรือการไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปรกติได้ อีกทั้งในการกินสินค้านี้ควรหาความรู้จากแหล่งความรู้ที่ตรงไปตรงมาเช่น แพทย์และนักโภชนาการอาชีพที่ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวกับการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทั้งนี้เพราะในการค้านั้นยากนักในการหาผู้ซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนกล่าวถึงผลข้างเคียงของสินค้า โดยเฉพาะผลที่อาจไปวุ่นวายกับยาบางชนิดที่ผู้บริโภคกำลังกินอยู่ประจำ

มีผู้กล่าวเตือนในอินเตอร์เน็ทว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดอาจมีสารเคมีที่ไม่จำเป็นต้องแจงไว้บนฉลาก ซึ่งอาจเป็นสารที่มีผลบางประการในผู้บริโภคเฉพาะคน ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรคำนึงทุกครั้งที่ต้องการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารว่า หาผู้รู้ที่สามารถตอบคำถามว่า จำเป็นต้องกินจริงหรือไม่ก่อน และเมื่อกินไปสักพักหนึ่งควรหาวิธีตรวจวัดว่า อะไร ๆ ที่ว่าแย่นั้นมันดีขึ้นมาเหมือนคนปรกติหรือไม่ด้วย

เเก้ว กังสดาลอำไพ

ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ เป็นนักพิษวิทยาที่กินเงินบำนาญ จึงมีเวลาเขียนบทความเกี่ยวกับความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์อาหารและโภชนาการ ในคอลัมน์ กินดีอยู่ดี โดยใช้ประสบการณ์ที่เคยดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ สอน วิจัยและเป็นประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการในมหาวิทยาลัยมหิดลนาน 31 ปี มาเขียนบทความกึ่งวิชาการที่ประชาชนทั่วไปน่าจะได้รู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคและการเลือกกินอาหารที่ปลอดภัยมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อจะได้ไม่ถูกลวงในภาวะสังคมปัจจุบันที่แทบจะเชื่อใครไม่ได้เลยในอินเตอร์เน็ท

Email

Share