in on March 11, 2015

คืนที่ฟ้าไร้ดาว

read |

Views

“หนูไม่เคยเห็นดาวเลย” เด็กหญิงวัยหกขวบในเมืองส่านซี ประเทศจีนให้สัมภาษณ์ในสารคดีอันทรงพลังเรื่อง Under the Dome ทั้งนี้เพราะนับตั้งแต่เกิดมา ท้องฟ้าในเมืองที่เธออยู่อาศัยก็ถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควันจากการเผาถ่านหิน โรงงานอุตสาหกรรม และควันรถยนต์จนแทบไม่มีวันฟ้าเปิด


ไช้ จิ้ง (Chai Jing) ผู้ผลิตสารคดีเรื่องนี้ เป็นคุณแม่ที่ลูกสาวเกิดมาพร้อมกับเนื้องอกที่ปอดจนต้องเข้ารับการผ่าตัดเมื่อแรกคลอดโดยที่เธอยังไม่มีโอกาสอุ้มลูกเสียด้วยซ้ำ เธอเชื่อว่าลูกสาวเธอเจ็บป่วยเพราะสภาพอากาศที่เลวร้ายในเมืองปักกิ่ง ทุกวันนี้ลูกของเธอไม่สามารถออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์นอกบ้านได้บ่อยนัก…เหมือนเด็กๆ ส่วนใหญ่ในเมืองใหญ่ของจีน…เพราะค่ามลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่สูงกว่าค่ามาตรฐานความปลอดภัยอย่างน่ากลัว

หลังลาออกจากการเป็นนักข่าวโทรทัศน์มาดูแลลูก เธอตัดสินใจใช้เงินทุนส่วนตัวหลายล้านบาททำสารคดี Under the Dome ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับซีรีส์ที่ทำจากหนังสือนิยายของสตีเฟ่น คิงซึ่งพูดถึงเมืองที่จู่ๆ ก็ถูกปกคลุมด้วยหมอกควัน  สารคดีความยาวชั่วโมงกว่าๆ เรื่องนี้ทรงพลังกว่าสารคดีเปลี่ยนโลกอย่าง The Inconvenience Truth ของอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เสียอีก การนำเสนอข้อมูลผ่านภาพถ่าย กราฟ กราฟฟิก การ์ตูน และบทสัมภาษณ์ที่ฟังง่ายและมีชีวิตชีวากว่า ซึ่งอาจเป็นเพราะไช้เป็นนักข่าวเก่าและเรื่องที่นำเสนอเกิดจากประสบการณ์ตรงของเธอ รวมทั้งความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาหมอกควันในเมืองจีนอย่างจริงจัง นอกจากนี้ผู้คนที่เธอสัมภาษณ์ยังเป็นผู้มีผลกระทบหรือได้รับประโยชน์โดยตรงอีกด้วย ที่สำคัญในสารคดีเรื่องนี้ไม่ได้กล่าวถึงเฉพาะปัญหา แต่นำเสนอทางออกที่เคยมีคนทำสำเร็จมาแล้วอีกด้วย

เมืองส่านซีที่เต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรมเริ่มมีหมอกควันครอบคลุมทั้งเมืองมาตั้งแต่สิบกว่าปีที่แล้ว ต้นไม้ยืนต้นตาย ปลาตายลอยเกลื่อนแม่น้ำ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าค่าสารก่อมะเร็งชนิดร้ายแรงชื่อเบนโซไพรีนสูงกว่าค่ามาตรฐานที่กฏหมายกำหนดถึง 290 เท่า คนงานในโรงงานถ่านหินบอกว่าเป็นอย่างนี้ทุกวัน ไม่มีสักวันเดียวที่ไร้หมอกควัน ที่เมืองนี้เองที่เด็กหญิงวัยหกขวบบอกว่า “หนูไม่เคยเห็นดวงดาวเลย” และ “หนูเห็นฟ้าใสๆ น้อยครั้งมาก”

ทุกวันนี้เมืองใหญ่ในเมืองจีนมีวันที่สภาพอากาศเลวร้ายเกินกว่าจะพาเด็กๆ ออกไปเดินเล่นนอกบ้านได้เกินกว่าครึ่ง จากการเก็บสถิติในปี 2557 พบว่าปักกิ่งมีวันที่สภาพอากาศเลวร้าย 175 วัน เทียนจิน 197 วัน ฉีเจียฉวง 264 วัน เสิ่นหยาง  154 วัน เฉิงตู 125 วัน และหลานโจว 112

เมื่อปลายปีที่แล้วไช้ทดลองนำเครื่องดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนสีขาวสะอาดตาวางไว้ในห้องเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ในภาพเห็นว่าขณะที่ตาเรามองไม่เห็น แต่เครื่องดักฝุ่นสีขาวกลายเป็นสีดำสนิท วัดค่าฝุ่นละอองได้ประมาณ 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ค่ามาตรฐานของประเทศจีนกำหนดไว้สูงกว่าองค์การอนามัยโลกอยู่แล้วถึง 3 เท่า แต่การทดลองครั้งนี้พบว่าค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงกว่าค่ามาตรฐานของเมืองจีนถึง 5 เท่า

ด้วยความอยากรู้อยากเห็น เธอนำฝุ่นละอองเหล่านี้ไปให้นักวิจัยในมหาวิทยาลัยปักกิ่งตรวจสอบ พบว่ามีสารก่อมะเร็งถึง 15 ชนิด เฉพาะเบนโซไพรีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงที่สุดสูงกว่าค่ามาตรฐานของจีนถึง 14 เท่า ขณะที่ตอนเธออยู่ในโรงงานถ่านหิน สารก่อมะเร็งตัวนี้สูงกว่าค่ามาตรฐานเพียง 9 เท่าเท่านั้น ไช้จึงตระหนักแม้จะอยู่ในเมืองใหญ่และไม่มีปล่องควันโรงงานอยู่ในสายตาค่าของสารพิษเข้มข้นราวกับอยู่ตรงกลางของปล่องควันพิษเลยทีเดียว

เธอบอกว่าเมื่อสิบปีที่แล้วคนปักกิ่งคิดว่าฝุ่นละอองเหล่านี้เป็นแค่หมอกธรรมดา ส่วนเธอในฐานะนักข่าวยังเสียใจมาจนถึงทุกวันนี้ที่คิดว่าควันพิษเหล่านี้จะมีอยู่เฉพาะในเหมืองถ่านหินเท่านั้น ไม่ใช่ในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่ง และสิ่งที่จะเรียกว่ามลพิษย่อมออกมาจากปล่องควันเท่านั้น ส่วนเพื่อนของเธอที่อยู่ที่เมืองเจียงซูก็เถียงว่าไม่มีวันที่เมืองของเธอจะเต็มไปด้วยมลพิษทางอากาศเพราะชีวิตนี้เธอไม่เคยเห็นถ่านหินมาก่อนเลย แต่หารู้ไม่ว่าเมืองนี้เต็มไปด้วยโรงงานเหล็กและโรงงานปูน และทุก 30 ตารางกิโลเมตรจะมีโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน 1 แห่ง

นอกเหนือจากควันพิษจากรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรมโดยรอบ เมืองใหญ่อย่างปักกิ่งยังได้รับควันพิษจากเมืองอื่นที่อยู่ไกลออกไปหลายร้อยกิโลเมตรอย่างเมืองเหอเป่ยซึ่งเป็นแหล่งผลิตเหล็กติดอันดับต้นๆ ของโลก เมื่อไช้กับเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปในโรงงานผลิตเหล็กโดยไม่แจ้งล่วงหน้า เธอได้กลิ่นกำมะถันฉุนกึกซึ่งเกิดจากการเผาถ่านหินลิกไนต์คุณภาพต่ำเป็นเชื้อเพลิง เมื่อถามผู้รับผิดชอบว่าได้กลิ่นหรือไม่ เขากลับบอกว่าเขาไม่ได้กลิ่นอะไรเลย เธอจมูกดีเกินไป เมื่อถามคนงานว่าทำไมไม่ใช้เครื่องกรองอากาศ เขามองเทปบันทึกเสียงแล้วบอกว่าก็เปิดแล้วไง ทั้งๆ ที่ควันคละคลุ้งและหนาแน่นเสียจนเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปตรวจสอบตกหลุมลึก 3 เมตรเพราะมองไม่เห็นทางเดิน และเมื่อลมพัดจากเหอเป่ยไปทางปักกิ่ง คนปักกิ่งก็รับควันพิษเหล่านั้นไปเต็มๆ เพราะไม่มีใครสามารถสร้างกำแพงกั้นลมได้
o-POLLUTION-CHILD-FACE-MASK-e
ในตอนท้ายสารคดีเรื่องนี้นำเสนอแนวทางแก้ปัญหา การศึกษาชิ้นหนึ่งที่ศึกษาสถิติย้อนหลังสิบปีพบว่าเมืองที่มีการเผาถ่านหินมากที่สุดจะที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนหนาแน่นที่สุด และผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดมากที่สุดเช่นกัน ขณะที่ในปี 2556 ประเทศจีนเผาถ่านหินถึง 3.6 พันล้านตัน ซึ่งมากกว่าปริมาณการเผาถ่านหินของทุกประเทศทั่วโลกรวมกันเสียอีก ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าวิธีที่จะทำให้ท้องฟ้าเมืองใหญ่กลับมาเป็นสีฟ้าสดใสคือลดการใช้ถ่านหินเหลือปีละไม่เกิน 2 พันล้านตันและต้องเก็บกู้เถ้าถ่านหินที่กองอยู่ตามเหมืองถ่านหินและโรงงานอุตสาหกรรม แม้จะเป็นเรื่องยากและใช้เวลาแต่เคยมีผู้ทำสำเร็จมาแล้ว ไช้พาไปดูที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษที่เคยประสบปัญหาเดียวกันกับจีนจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเมื่อเกือบร้อยปีที่แล้วและฟื้นฟูเมืองสำเร็จโดยใช้เวลาประมาณ 50 ปี โดยจากกราฟเผยให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเมื่อครั้งใหญ่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีแรก

ส่วนในประเทศจีน เมื่อครั้งที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค (เอเปก) รัฐบาลประกาศห้ามประชาชนเผาเสื้อผ้าญาติพี่น้องที่เสียชีวิตเป็นเวลาครึ่งเดือน จำกัดการใช้รถอย่างเข้มงวด สั่งโรงงานและสถานที่ก่อสร้างเกือบ 2,500 แห่งปิดทำการและลูกจ้างภาครัฐหยุดงาน 6 วัน ส่วนโรงงานในเมืองเหอเป่ยกว่า 2,000 แห่งก็หยุดทำงานด้วย ผลปรากฏว่าท้องฟ้าเมืองปักกิ่งใสขึ้นมาชั่วข้ามคืน จนคนปักกิ่งออกมาชื่นชมความงามของพระราชวังต้องห้ามกันอย่างหนาแน่น ส่วนสื่อต่างประเทศพาเสนอภาพข่าวเปรียบเทียบภาพเมืองปักกิ่งช่วงประชุมเอเปกที่แตกต่างกันอย่างน่าอัศจรรย์

สารคดีเรื่องนี้มีข้อมูลที่คนจีนทุกคนควรมีสิทธิ์รับรู้และเมื่อรู้แล้วย่อมหวาดหวั่น ดังนั้นจึงมีการส่งลิงก์ตามสื่อสังคมออนไลน์อย่างรวดเร็วจนยอดผู้ดูสูงถึง 100 ล้านครั้งภายในเวลาไม่กี่วัน ด้วยรู้ดีว่าสารคดีเรื่องนี้มีพลังมากพอที่จะส่งผลให้เกิดการเรียกร้องเพื่อความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ในประเทศจีน รัฐบาลจีนจึงสั่งปิดช่องทางการเข้าถึงสารคดีไปเรียบร้อยแล้ว ทว่าการปิดกั้นครั้งนี้คงไม่อาจปกปิดซ่อนเร้นความจริงที่คนจีนกำลังเผชิญหน้าและประจักษ์กับสายตาทุกเมื่อเชื่อวันไปได้

จากเมืองจีนสู่เหมืองแม่เมาะ เมื่อเดือนที่แล้วศาลปกครองสูงสุดจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาคดีโรงไฟฟ้าเหมืองแม่เมาะลำปาง โดยสั่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) อพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร พร้อมถมดินกลับเหมือนเดิมและปลูกต้นไม้ทดแทน ภายใน 90 วัน และต่อมาศาลได้พิพากษาให้ กฟผ.จ่ายค่าชดเชยค่าเสื่อมสมรรถภาพสุขภาพและอนามัยให้กับผู้ป่วยมลพิษแม่เมาะที่มีใบรับรองแพทย์จำนวน 131 ราย รวมเป็นเงินประมาณ 25 ล้านบาท คดีนี้ใช้เวลา 11 ปี โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคระบบทางเดินหายไปไปแล้ว 20 คน และผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่อีก 300 คน  ส่วนที่เมืองท่องเที่ยวติดอันดับโลกอย่างกระบี่ การขับเคี่ยวกันระหว่างฝ่ายคัดค้านและฝ่ายสนับสนุนการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 3,200 เมกะวัตต์ก็กำลังเป็นไปอย่างเข้มข้น

คุณคิดว่าคนไทยจะเรียนรู้ประสบการณ์ที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นที่เมืองจีนใน Under the Dome และที่เหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปางบ้างหรือไม่

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://pixabay.com/th/
  2. ภาพจาก: Getty Images
  3. ภาพจาก: Corbis
ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

คุยประเด็นสิ่งแวดล้อมกับอดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

Email

Share