in on March 31, 2017

ชีวิตแมงเม่า

read |

Views

อากาศของมาเลเซียตอนนี้ถือว่าอยู่ในช่วงของความเปลี่ยนแปลงก่อนที่หน้าร้อน (ตับแล่บ) จะมาเยือน ตอนเช้ามีลมเอื่อยๆ พัดมาให้ชื่นใจ พอตอนกลางวันก็จะมีแดดออกเปรี้ยงปร้าง และฝนตกกระหน่ำในตอนเย็นซึ่งทำให้นอนหลับสบาย จนอยากหยุดวันเวลาเหล่านี้เอาไว้ .. เอ่อไม่ได้จะโรแมนติกอะไรหรอกนะแต่หวั่นใจว่าความร้อนตลอดวันตลอดคืนที่กำลังจะมาเยือนมากกว่า

เมื่อครั้งที่ย้ายมาอยู่ที่มาเลเซียรอบแรกเมื่อสิบห้าปีที่แล้วผู้เขียนจำได้ว่าช่วงที่ต้องเดินสายแนะนำตัวไปตามบ้านญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงของสามีภาพของพัดลมเพดานที่ใบพัดหมุนสะบัดเอื่อยๆเป็นภาพที่สะดุดตามากที่สุดเพราะตอนเด็กๆเป็นคนที่กลัวพัดลมเพดานด้วยความที่เคยมีข่าวจนลือกันว่ามีพัดลมติดเพดานหล่นลงมาขณะใบพัดยังหมุนอยู่ขอข้ามรายละเอียดของผู้ที่นั่งอยู่ข้างล่างก็แล้วกันพอมาถึงที่นี่ก็เห็นตะขอสำหรับเกี่ยวพัดลมที่ติดตั้งอย่างแน่นหนาเป็นส่วนประกอบหนึ่งของโครงสร้างบ้านจึงได้เริ่มไว้ใจพัดลมเพดานที่นี่

กว่า 80 เปอร์เซนต์ของบ้านและอพาร์ทเมนท์ของญาติมิตรที่ไปหาเมื่อสิบห้าปีที่แล้วก็ไม่ค่อยมีใครติดเครื่องปรับอากาศกันเท่าไหร่ประตูหน้าต่างเปิดกว้างแบบไม่กลัวยุงพัดลมเพดานหมุนให้ความเย็นสบายให้ความรู้สึกเหมือนบ้านเเถวต่างจังหวัดเมื่อหลายสิบปีก่อนเวลาเดินออกมาจากบ้านก็ไม่รู้สึกต่างอะไรกับอากาศนอกบ้านไม่มีลมร้อนที่ออกมาจากเครื่องปรับอากาศทั้งของบ้านตัวเองและบ้านข้างๆมาเป่าใส่ให้ร้อนวูบวาบ

มาตอนนี้ หลายบ้านลุกขึ้นมาปิดบ้านให้มิดชิดขึ้นเพื่อความปลอดภัยเพราะการโจรกรรมตามบ้านเรือนมีจำนวนพุ่งสูงขึ้น แข่งกันกับจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกและระดับการเจ็บป่วยที่มีความรุนแรงขึ้น กลายเป็นว่าปัญหาทางสังคม (การโจรกรรม) และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายมีมากขึ้น ผู้ป่วยมีมากขึ้น) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในครัวเรือนผ่านกระเป๋าสตางค์ของคนเมืองที่ต้องเสียเงินติดแอร์และจ่ายค่าไฟที่สูงขึ้นตามจำนวนการใช้เครื่องปรับอากาศ

บรรยากาศที่เคยพบเมื่อตอนนั้น จึงกลายเป็นของหายากขึ้นไปทุกวัน เกือบทุกหลัง ต่อเติมและขยายพื้นที่ครัวออกมาเต็มพื้นที่ว่าง อากาศภายในจึงอบอ้าวเพราะทางลมไม่สะดวกโล่งเหมือนที่เขาออกแบบมาให้ พื้นที่หลังบ้านจึงได้เปลี่ยนไปเป็นพื้นที่สำหรับตั้งเครื่องเป่าลมร้อนจากเครื่องปรับอากาศออกจากบ้าน  แต่บ้านที่ผู้เขียนอยู่ ยังคงเป็นบ้านแบบมาตราฐาน ไม่ได้ก่ออิฐเป็นกำแพงด้านหลังเพื่อให้ครัวไทยหายใจได้สะดวก ควันที่โชยขึ้นมาจากกระทะหรือพวยพุ่งออกมาจากหม้อต้มแกงต่างๆ มีทางออกได้ง่าย ไม่กลับมาคละคลุ้งอยู่ในบ้าน แต่วันไหนที่อากาศร้อนๆ และมีลมร้อนเป่าจากเครื่องปรับอากาศของเพื่อนบ้านมาช่วยเสริมกำลังก็ทำให้ยิ่งร้อนเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงได้เข้าซาวน่าฟรีที่บ้านอยู่บ่อยครั้ง แค่ออกมาทำกับข้าวตอนเพื่อนบ้านเปิดแอร์เท่านั้นเอง

เมื่อปิดหลังบ้านทึบ ก็เป็นเหตุให้ต้องเปิดไฟตลอดเวลาที่ใช้ห้องครัว รวมทั้งมีอุปกรณ์ทำครัวที่ลดควันไฟเหล่านั้นด้วย ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นอุปกรณ์ที่ต้องใช้ไฟฟ้า อย่าให้ต้องนับเลย ว่ามีเครื่องใช้กินไฟเพิ่มขึ้นอีกกี่ชิ้นจากครัวพื้นบ้านปกติ

บางทีจึงรู้สึกว่า ชีวิตคนเมืองนี่คล้ายๆ แมงเม่า วนเวียนอยู่ตรงที่มีไฟเพื่อความจำเป็นและความสะดวกในกิจกรรมประจำวัน หากจะเลือกใช้ไฟน้อยๆ อย่างบ้านผู้เขียน ก็ต้องคิดให้รอบคอบเกี่ยวกับทางออกในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพ เช่น เอาตาข่ายมาติดประตูกันยุงเข้า หรือปัญหาด้านโจรกรรม เช่น ทำกับข้าวตอนเย็นๆ เท่านั้น ไม่ออกมาทำตอนดึกดื่นมืดค่ำ ส่วนถามว่าหลังบ้านสวยงามเรียบร้อยไหม ก็จะตอบได้ตรงๆ ว่าไม่หรอก เพราะถือว่าหลังบ้านเป็นพื้นที่ใช้สอยส่วนตัวจริงๆ ไม่ได้เอาไว้ประดับประดาอะไร และหากเพื่อนจะไม่คบเพราะหลังบ้านไม่งดงามก็คงต้องปล่อยไป

ความจริงตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่นี่ ผู้เขียนต้องเปลี่ยนความคิดที่อยากจะรณรงค์ให้คนอื่นๆ ลุกขึ้นมาทำโน่นนี่เพื่อการอนุรักษ์ เพราะโจทย์นี้ยากกว่าตอนอยู่เมืองไทย ความไม่เนียนในวัฒนธรรมและเชื้อสาย กับการมีระบบโครงสร้างภายในที่จัดการแทนประชาชน จึงทำให้การมีจิตสาธารณะเป็นเรื่องไม่ปกติของที่นี่ จะไปบอกให้ใครใช้ไฟน้อยลง หรือประหยัดเพื่อสิ่งแวดล้อมนี่เป็นเรื่องไกลตัวมาก วันที่มี Earth Hour ของที่นี่ ก็ใช่ว่าจะมีคนสนใจไยดี จัดเงียบๆ หายไปเงียบๆ

ตีลังกาหลายตลบ คิดไม่ออกว่าจะบอกคนอื่นยังไงดี คงต้องหาวิธีแบบจุดไฟนำทางสู่การปฎิบัติดี แล้วแปลงร่างเป็นแมงเม่าตัวแรกที่บินเข้าหาไฟนั้น โดยหวังว่าจะมีแมงเม่าตัวอื่นบินตามมาด้วย เพราะหากเขียนอย่างเดียว ก็คงเหนื่อย หรือถ้าไปพูดที่โน่นที่นี่ ก็คงพูดจนปากเปื่อย ไปไม่ถึงไหน เลยคิดว่าพาบินเข้ากองไฟเลยดีกว่า ไม่ต้องถามตามมา

ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share