in on May 29, 2017

มือปราบลูกผสม

read |

Views

เช้าวันก่อน ขณะกำลังยืนตากผ้าอยู่ตรงสนามหน้าบ้าน ก็มีนกกางเขนบ้านบินโฉบฉิวผ่านศีรษะพุ่งตรงไปที่ผนังบ้าน จิกเอาจิ้งจกตัวน้อยไปเป็นอาหารเช้า อ้าว…นกกินจิ้งจกด้วยเรอะ นึกว่าจะกินแต่แมลงหรือไส้เดือน

แต่เอ.. จะว่าไปดูผาดๆ แล้วจิ้งจกก็ดูเหมือนลูกครึ่งไส้เดือนกับแมลงที่มีขาแค่สองคู่  แบบนี้มันน่าจับนกกางเขนมาเลี้ยงในบ้าน ให้ช่วยกินจิ้งจกในครัวซักหน่อย เพราะชอบออกมากินอาหารที่วางไว้ตรงโต๊ะในครัว จนเป็นคู่อริกับน้องเล็กของบ้านมาตั้งแต่ตอนเด็กน้อยตัวยังเล็กๆ ที่เคยร้องไห้บ้านแตกด้วยความตกใจและโมโหพร้อมฟ้องว่า “จิ้งจก stole my fruits!” (คือแม่เรียก ‘จิ้งจก’ ลูกๆ ก็เลยเรียกเป็นภาษาไทยตามไปด้วย)

เท่าที่ผ่านมา มดและแมลงที่เข้ามาอยู่มาร่วมชายคาเดียวกัน มักจะถูกกำจัดด้วยทักษะและวิธีการการปราบแบบผสมผสานตามแต่ความถนัดของสมาชิกในครอบครัว เพราะด้วยความที่ไม่ชอบใช้ยาฆ่าแมลงทั้งฉีดทั้งพ่น เนื่องจากกลัวว่าจะไม่ใช่แต่มดแต่แมลงเท่านั้นที่จะลงไปนอนดาวดิ้น ลูกชายสองคนที่ชอบนอนดิ้นไปมากับพื้นจะกลายเป็นเหยื่อระยะยาวไปด้วย คุณพ่อบ้านจึงได้ตำแหน่ง “นักแม่นยิงแมลงสาบ” เพราะสามารถยิงแมลงสาบด้วยหนังยางแม่นเหมือนจับวาง เส้นเดียวอยู่…  ส่วนคุณย่า เมื่อครั้งยังมีชีวติอยู่ ก็ได้รับตำแหน่ง “มือปราบมวนข้าว” คอยสกัดตัวมวนที่แพร่พันธุ์ในถังข้าวสาร ด้วยการนำถังข้าวไปตากแดดพร้อมโยนผ้าขนหนูสีขาวผืนเล็กๆ ลงไป ตัวมวนก็จะไต่มาเกาะติดกับผ้า แต่ว่าดึงขาตัวเองออกจากผ้าขนหนูไม่ได้ คุณย่าก็จะเก็บผ้ามาซักล้าง กำจัดมวนไปกับสายน้ำ

มดดำตัวทำรำคาญเป็นหน้าที่ของแม่ที่ต้องคอยเก็บกวาดเศษขนมที่หล่นตามพื้นทันทีที่ลูกกิน เจ้ามดเหล่านั้นจะเกิดสภาวะอดอยากไปโดยปริยาย นอกจากนี้ ยังมีนักวิทยาศาสตร์น้อยที่คอยหลบแม่ ทำการทดสอบว่ามดจะมีวิธีหนีอย่างไร หากว่ามีนิ้วเล็กๆ แปะลงไปบนตัว…

เหตุการณ์มดแมลงในบ้าน ดูจะสงบศึกราวกับพักรบชั่วคราว จนกระทั่งเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ค้นพบแขกไม่ได้รับเชิญก๊วนหนึ่ง เป็นมดสีน้ำตาลโขยงใหญ่ไต่ออกมาจากซอกหลืบต่างๆ ของตัวถังรถ มารุมกินซากแมลงที่เกาะติดอยู่หน้ากระจก หน้าตามดเหล่านี้ไม่ใช่มดบ้าน เลยลองนึกๆ ดูว่าไปพามดจากไหนมาอยู่ด้วย มานึกได้ว่า ขับรถไปจอดอย่างสงบเสงี่ยมใต้ต้นพญาสัตตบรรณอยู่สามสี่วัน ผู้เขียนเดาว่าตัวเองคงจอดรถขวางทางเดินมด หรือไม่ก็เป็นจังหวะที่มดกำลังหาทางย้ายบ้าน มาเจอรถจอดตากแดดอุ่นๆ อยู่แถมมีเบาะนุ่มๆ ซอกมุมเยอะๆ ถือว่าเป็นพร็อพเพอร์ตี้ที่น่าอยู่เอาการ

คราวนี้ คุณพ่อบ้านเลยแนะนำว่าให้ไปซื้อยามาฉีดเถอะ มันเยอะเกิน ทั้งรังเลยก็ว่าได้ แต่ผู้เขียนยังอิดออด เพราะห่วงว่ามดไปแล้ว แต่สารเคมีจะยังตกค้างในรถอันเป็นทั้งที่กินและที่นอนของเด็กๆ เวลาที่เราเดินทางไปนู่นมานี่ อย่ากระนั้นเลย ลองหาทางออกอื่นดีกว่า เลยมาพบว่าน้ำส้มสายชูที่มีอยู่ในบ้านนั่นแหล่ะ จับผสมน้ำแล้วมาพ่นๆ ป้ายๆ ตามพื้น ปรากฎว่าเย็นนั้น มดหาย (ไปไหน) หมด แม้จะดีใจที่มดย้ายบ้าน แต่ก็ยังสงสัยอยู่ว่าย้ายไปไหน (ใครรู้ บอกที)

ทั้งเมืองกัวลาลัมเปอร์ และเมืองเปตาลิงจายาที่ผู้เขียนอยู่ ถือว่าเป็นเมืองแบบ “มหานคร” ของมาเลเซีย ที่มียังคงมีต้นไม้และป่าชุมชนขนาดต่างๆ กระจายอยู่ทั่วไปค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับกรุงเทพมหานครของเรา (ดูภาพประกอบให้เห็นกันจะๆ) ถึงแม้ว่าจะมีมด แมลงสาบ จิ้งจก และนก ที่เป็นเพื่อนร่วมสังคมเมืองที่พบเจอจนเป็นเรื่องปกติของทุกบ้าน แต่ที่มาเลเซีย ยังคงมีสัตว์อื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในป่าอย่างสมเสร็จ อีเห็น ที่ต้องเริ่มออกมาผจญเมือง เพราะติดค้างอยู่ตามป่าชุมชนหรือพื้นที่กระเปาะเขียวๆ จำนวนมากที่เห็นอยู่บนแผนที่ รายการมือปราบลูกผสมของเจ้าหน้าที่ จึงเลยเถิดไปถึงการจัดการกับสัตว์เหล่านั้นด้วย

ตัวประกอบหลักของป่าคงไม่พ้นลิง ที่บ่อยครั้งมีปัญหากับโครงการก่อสร้างบ้านจัดสรรหรือคอนโดที่ไปสร้างแถวพื้นที่ชายป่า แน่นอนที่ว่าความอยากรู้อยากเห็น บวกกับอาหารในป่าที่ร่อยหรอ เป็นปัจจัยผลักให้ลิงเหล่านี้ ออกมาเผชิญหน้าและทำความรู้จักกับอาหารตามกองขยะ บางตัวก็กล้าหาญ ไต่ตามรั้วบ้านมาด้อมๆ มองๆ ตามบ้านคน สมัยที่ย้ายมาอยู่ที่มาเลเซียใหม่ๆ บ้านของผู้เขียนอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรที่เพิ่งสร้างเสร็จ ฝั่งตรงข้ามยังเป็นสวนปาล์มและที่รกเรื้อที่ติดกับชายป่า ก็มีลิงแวะเข้ามานั่งกินกล้วยน้ำว้าอยู่ในครัวตอนที่เผลอเปิดหน้าต่างทิ้งไว้ ตกใจทั้งคนเดินเข้าครัวและตัวที่นั่งอยู่ในครัว ผู้เขียนคว้าลูกชาย ลิงคว้ากล้วยน้ำว้าแล้วก็ต่างคนต่างหนีกันไป สองสามวันถัดมา ก็เห็นมีเจ้าหน้าที่เดินถือปืนลูกซองมายิงไล่ลิง 4-5 ตัว ที่วิ่งเข้าวิ่งออกบ้านต่างๆ มารู้ทีหลังว่าไม่ได้ยิงไล่ แต่ยิงให้ตายแบบทำเป็นว่าไม่ตั้งใจ แบบนี้เลยไม่ขอนับว่าเป็นมือปราบลูกผสมอย่างที่เล่าๆ มา

รายงานที่พูดถึงความต้องการลิงไม่มีหางในกิจการสวนสัตว์และสถานที่ท่องเที่ยวที่เคยเล่าไว้ในเรื่อง “บ้านน้องอยู่ฝั่งทางโน้น” เมื่อต้นปีมานี้ ก็ได้พูดถึงการที่หน่วยงานราชการทั้งที่มาเลเซียและประเทศไทย ไม่มีสถานที่ดูแลสัตว์ป่าและศักยภาพด้านบุคลากรอย่างพอเพียงที่จะสามารถรองรับสัตว์ที่ริบไว้เป็นของกลางจากการลักลอบค้าสัตว์ป่าได้ จึงทำให้เข้าใจว่า ทำไมต้อง “ฆ่าตัดตอน” ลิงเหล่านั้น หากจับมา ก็ไม่มีที่จะส่งไปดูแล หากพาไปส่งเข้าป่าที่อื่น ก็คงไม่พ้นต้องออกมาหากินนอกป่าและปะทะกับคนอีก

เราคงต้องคิดให้หนักและจริงจังมากขึ้นว่าจะทำยังไงให้ “คนหากิน สัตว์ก็หากิน เราไม่เบียดเบียนกันและกัน” แบบที่น้าแอ๊ด คาราบาวร้องเอาไว้

ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก…

ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share